7 เรื่องสั้นซีไรต์ปี  66 แปลกใหม่ ข้ามพรมแดน

ในแวดวงวรรณกรรมไทย งานเขียนประเภทเรื่องสั้นมีเวทีประกวดมากมายและแข่งขันกันอย่างมาก เป็นที่สนใจทั้งนักเขียนและนักอ่าน รางวัลเก่าแก่ที่ได้รับการยอมรับอย่างรางวัลซีไรต์ ปีนี้ประกวดหนังสือรวมเรื่องสั้น มีรวมเรื่องสั้นส่งเข้าร่วมชิงชัย 64 เล่ม  ก่อนคณะกรรมการพิจารณารวมเรื่องสั้นเข้ารอบแรก 17 เล่ม รางวัลซีไรต์ปี 2566 แต่ละเล่มได้รับการแนะนำและถูกพูดถึงในแง่คุณค่าและกลวิธีสร้างสรรค์ที่น่าตื่นเต้น

ล่าสุด คณะกรรมการดำเนินงานรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประกาศผลรางวัลซีไรต์ รอบคัดเลือก (Shortlist) ประเภท “รวมเรื่องสั้น” ประจำปี 2566  โดยมี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานคณะกรรมการดำเนินงานรางวัลซีไรต์ เป็นประธาน ณ ห้อง Auditorium ชั้น 10, C asean อาคาร CW Tower  มีนักเขียน นักอ่าน และนิสิตนักศึกษามาร่วมงานคึกคัก

รวมเรื่องสั้น  7 เล่ม ที่เข้ารอบ Shortlist เรียงตามลำดับตัวอักษร ดังนี้  DIVINE BEING ไม่ใช่มนุษย์ และตัวตนอื่นๆ โดย จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท   สำนักพิมพ์แซลมอน ,FAMILY COMES FIRST ด้วยรักและผุพัง  โดย นริศพงศ์ รักวัฒนานนท์  สำนักพิมพ์แซลมอน ,จักรวาลล้วนวงกลม โดย วัฒน์ ยวงแก้ว  ผจญภัยสำนักพิมพ์,ท่านกัปตัน และเรื่องเล่าของคนอื่น ๆ  โดยศิริวร แก้วกาญจน์  ผจญภัยสำนักพิมพ์,สเปโรโซนาตา ท่วงทำนองแห่งความหวัง  โดยรมณ กมลนาวิน  สำนักพิมพ์สำเภา ,สลายสิ้นซึ่งความหวังรังรอง โดย ตินกานต์ สำนักพิมพ์ระหว่างบรรทัด และอาจไม่เหมาะหากเปราะบาง โดย จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท  สำนักพิมพ์ระหว่างบรรทัด

ดร.อลงกต ใหม่ด้วง ประธานคณะกรรมการคัดเลือก  กล่าวภาพรวมรวมเรื่องสั้นเวทีซีไรต์ปีนี้ว่า  มีหนังสือที่ส่งเข้าประกวด 64 เล่ม มีหนังสือฮาวทู ซึ่งไม่ได้มีลักษณะรวมเรื่องสั้น 6 เล่ม และมีกวีนิพนธ์ 1 เล่ม คงเหลือหนังสือ 57 เล่ม พิจารณา คณะกรรมการคัดเหลือLong List  17 เล่ม และ Short List  7 เล่ม  ภาพรวมมีรวมเรื่องสั้นที่เคยตีพิมพ์ในหน้านิตยสารต่างๆ ที่ล้มหายตายจากไปเยอะแล้ว ส่วนใหญ่มูฟไปสื่อออนไลน์ รวมถึงเรื่องผ่านเวทีประกวด เรื่องสั้นที่เขียนขึ้นใหม่เพื่อรวมเล่มโดยเฉพาะ  หรือเรื่องสั้นชุดเล่าเรื่องราวของตัวละครรายเดียวกันไปตลอดเล่มก็มี

ส่วนเนื้อหามีความกว้างขวางและหลากหลายมาก  ส่วนใหญ่เล่าเรื่องราวสังคมโลกร่วมสมัย ความเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้คนตามกระแสเทคโนโลยี มีการอ้างอิงสื่อสังคมออนไลน์ เช่น เฟสบุ๊ก ไลน์ ติ๊กตอก ยูทูป  ที่เด่นๆ เล่าชีวิตท่ามกลางโรคระบาดโควิด- 19 และการล็อคดาวน์  มีการกล่าวถึงอาชีพใหม่ๆ ตัวละครมีอาชีพ อย่างนักสร้างเนื้อหาออนไลน์ หรือคอนเทนครีเอเตอร์ บล็อกเกอร์ ยูทูปเบอร์ แม่ค้าออนไลน์ ไรเดอร์ ร่วมสมัยมาก  หลายเรื่องสะท้อนความสัมพันธ์ครอบครัวร่วมสมัย ซึ่งไม่ใช่ครอบครัวโลกสวย สมาชิกรักกัน แต่เป็นเรื่องเล่าขมขื่น สมาชิกทำลายความรู้สึกกันเองอย่างน่าเศร้า มีหลายเรื่องเล่าอย่างสะเทือนใจ เล่าทั้งครอบครัวในสังคมเมือง สังคมชนบทต่างๆ ย้อนในหน้าหนึ่งประวัติศาสตร์สังคมและการเมืองและสังคมไทย   ไล่จนมาถึงความขัดแย้งในสังคมยุคปัจจุบันพูดถึงความคิด ความเชื่อ ที่ผูกพันกับศาสนา ปรัชญา ลัทธิ ไสยศาสตร์ มีเรื่องสั้นที่คำนึงถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม การทำลายธรรมชาติ ภาวะโลกร้อน

“ เรื่องสั้นปีนี้ยังเล่าภาวะภายในของตัวละครใหม่ๆ  เช่น กลุ่มตัวละคร LGBTQ+ หลายเรื่อง และมีตัวละครต่างชาติ ต่างภาษา หลากหลายถิ่นที่นอกประเทศไทย ให้สำนึกของการเป็นพลเมืองโลก นักเขียนไทยไม่ได้สนใจชีวิตคนไทยเท่านั้น แต่ยังสนใจสมาชิกของพลเมืองโลกประเทศต่างๆ ด้วย  ส่วนรูปแบบมีหลายตระกูลการเขียน  มีทั้งเรื่องสั้นโรแมนติก บางเรื่องไปถึงอีโรติก เรื่องสั้นวิทยาศาสตร์ แฟนตาซี สยองขวัญ บทละครสั้นก็มี หลายเรื่องเป็นบันทึกอนุทิน มีแนวเยาวชนเล่าชีวิตวัยเด็ก แนวทดลองก็ยังมี ใช้วิธีการเล่นรูปแบบอักษร ใช้ตัวอักษรขีดฆ่า การคาดทับ จนถึงการผสมผสานแนวการเขียนต่างๆ เข้าด้วยกันจนแยกไม่ออก บางเล่นนำเสนอย่างหวือหวา ออกแบบรูปเล่นแบบกลับหัวหลับหาง สร้างความหมายให้เรื่องราวได้อย่างสร้างสรรค์  มีการใช้ภาพประกอบเรื่อง ภาพถ่าย ภาพลายเส้น ภาพพิมพ์ รวมถึงการประดิษฐ์สำเนียงภาษารูปแบบใหม่ๆ เฉพาะตัว มีการผสมผสานรูปแบบบทความเชิงสารคดี บันเทิงคดีแบบประชานิยมให้เข้ากับการเขียนเชิงสร้างสรรค์ ภาพรวมทั้งหมดแสดงให้เห็นเรื่องสั้นไทยข้ามพ้นจากเนื้อหาและรูปแบบเดิมๆ ไป นำเสนอภาพชีวิตร่วมยุคสมัย ทำให้ทุกเรื่องราวใกล้ตัว

“ คำว่า วรรณกรรมสร้างสรรค์ ไม่ได้หมายถึงจรรโลงอย่างเดียว แต่ให้เสรีภาพแสดงความคิด วิพากษ์วิจารณ์แง่ลบได้ เราตีความถึงความริเริ่มสร้างสรรค์ ความแปลกใหม่ เราตื่นเต้นมากกับการได้อ่านเนื้อหาใหม่ๆ ตัวละครใหม่ๆ โลกใหม่ๆ สถานการณ์ใหม่ๆ ที่เราไม่เคยอ่านมาก่อนในเรื่องสั้นในรอบ 5-10  ปีที่ผ่านมา แต่ละเล่มภาษาแปลกใหม่ ใช้สำนวนภาษาของตัวเอง เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป และโควิด ทำให้ความคิดอ่านไม่เหมือนกัน  วิธีสื่อสารไม่เหมือนเดิม นี่คือ ความสดใหม่ หลายเล่มที่เข้ารอบเล่าเรื่องชีวิตตัวละครต่างประเทศ  แสดงถึงความสนใจนักเขียนไทยมีความเป็นโลภาวิวัฒน์ “ ประธานกรรมการ

ในทัศนะนักเขียน นักวิจารณ์ ดร.จิรัฏฐ์ เฉลิมแสนยากร กรรมการคัดเลือก กล่าวว่า นวัตกรรมสร้างเรื่องเล่าแบบใหม่ ความคิดริเริ่มมาพร้อมเจเนอเรชั่น และมาพร้อมสำนึกความเป็นพลเมืองโลกถูกนำเสนอในหลายเล่มเข้ารอบ มากกว่านั้นการตั้งคำถามกับพรมแดนความเป็นมนุษย์พร่าเลือนจากเอไอ ประเด็นแปลกใหม่ ทำให้รูปแบบการเล่าใหม่ๆ ถูกสร้างขึ้นมารองรับ  อย่างเล่ม DIVINE BEING ไม่ใช่มนุษย์ และตัวตนอื่นๆ โดย จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท    เน้นเรื่องปัญญาประดิษฐ์

ดร.อรพินท์ คำสอน  กรรมการคัดเลือก   กล่าวว่า 7 เล่ม ซีไรต์ แสดงพลังของงานวรรณกรรมผ่านภาษาและกลวิธีต่างๆ ปะทะกับเรา เราถูกเรื่องเล่าในวรรณกรรมกดข่ม เป็นความน่าสนใจของนักเขียนยุคนี้ อีกอย่างเมื่อก่อนวรรณกรรมซีไรต์จะมีกรอบ แต่ปีนี้มีความร่วมสมัย โดยเฉพาะการพูดถึง LGBTQ  เป็นประเด็นร่วมสมัยนักเขียนให้ความรู้คนอ่าน ขณะเดียวกันแสดงสภาวะที่เป็นจริงของสังคม โลกยุคนี้ถูกย่อด้วยโลกาภิวัฒน์ ทำให้นักเขียนก้าวข้ามสังคมไทย พาเราโลดแล่นไปไกล สังคมที่เราไม่รู้ได้รู้ผ่านตัวงานตามจินตนาการและความจริงที่นำเสนอ

สาคร พูลสุข กรรมการคัดเลือก และนักเขียนคุณภาพ กล่าวว่า นักเขียนกล้าและซื่อสัตย์ต่อความคิดของตัวเอง บางเล่มเสนอชายรักชายออกมาได้หมดจดงดงาม เป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย แต่นักเขียนทำได้ดี ไม่ได้สร้างสรรค์ในรูปแบบเก่าๆ ที่เราเจอ นักเขียนรุ่นใหม่กล้าสร้างภาษาและวิธีเล่าเรื่องของตัวเอง รอบนี้มีหลายเล่มน่าสนใจและอ่านสนุก

ผลงาน 7 เล่มที่ผ่านเข้ารอบเวทีซีไรต์ปีนี้ พิสูจน์ให้เห็นความก้าวหน้าของวงการวรณกรรมไทยและนักเขียน ส่วนผลงานเล่มใดจะคว้ารางวัลซีไรต์ จะเป็นนักเขียนซีไรต์หรือนักเขียนที่มีงานโดดเด่นต้องติดตามกัน สำหรับงานพบนักเขียนจะจัดในเดือนกันยายนนี้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชัยพัฒนาแฟร์ สัญจร นครนายก น้อมรำลึก ร.9

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี นายกกิตติมศักดิ์และประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา พระราชทานพระราชานุญาตให้มูลนิธิชัยพัฒนาจัดงาน “ชัยพัฒนาแฟร์” ขึ้น เพื่อแสดงแนวคิดด้านการพัฒนา