โบราณวัตถุจำนวนมากกว่าแสนชิ้นที่เป็นสมบัติล้ำค่าของชาติเก็บรวบรวมอย่างเป็นระบบและปลอดภัยตามมาตรฐานคลังพิพิธภัณฑ์ระดับโลกที่อาคารคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ซึ่งจัดสร้างขึ้นใหม่ โดยออกแบบและวางระบบการบริหารจัดการให้เป็นคลังเปิด (Visible Storage) จึงเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการศึกษาเรียนรู้ ค้นคว้า วิจัยโบราณวัตถุ ตั้งแต่ปูนปั้น เครื่องปั้นดินเผา โลหะ แก้ว ไม้ หนังสัตว์ กระดูก และผ้าสมัยโบราณ
การนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ไปทรงเปิดอาคารคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จ.ปทุมธานี และทอดพระเนตรนิทรรศการประวัติความเป็นมาของอาคารคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และห้องคลังโบราณวัตถุภายในอาคาร ด้วยความสนพระทัย โดยมี นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม นายอดิเทพ กมลเวชช์ รองผู้ว่าฯปทุมธานี นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เฝ้าฯ รับเสด็จ
ความเป็นมาของอาคารแห่งนี้ กรมศิลปากร (ศก.) น้อมนำแนวพระราชดำริในกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ได้พระราชทานไว้เกี่ยวกับการจัดสร้างคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติให้มีพื้นที่เพียงพอต่อปริมาณโบราณวัตถุที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี ปรับปรุงพัฒนาให้เป็นสถานที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุอย่างเป็นระบบตามมาตรฐานพิพิธภัณฑ์วิทยา เพื่อการอนุรักษ์โบราณวัตถุของชาติ และใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นด้วยการเปิดให้บริการศึกษาค้นคว้า วิจัย
ต่อมา พ.ศ. 2545 ศก.ได้ย้ายโบราณวัตถุจากคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เดิมใช้พื้นที่อาคารจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มาจัดเก็บ ณ อาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก จ.ปทุมธานี โดยจัดวางตามหมวดหมู่ประเภทวัสดุตามหลักการอนุรักษ์โบราณวัตถุ ออกแบบห้องคลังต่างๆ ให้เป็นคลังเปิดเพื่อการศึกษาที่เปิดให้ผู้เข้าเยี่ยมชมมองเห็นได้จากภายนอกผ่านผนังกระจก
จากนั้น พ.ศ.2559 รัฐบาลมอบหมายให้ วธ. โดย ศก. ก่อสร้างอาคารคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหลังใหม่ในพื้นที่ว่างของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กาญจนาภิเษก ออกแบบให้เป็นอาคารคลังโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุโดยเฉพาะ ตั้งแต่รูปแบบอาคารที่คำนึงถึงการควบคุมความร้อน ความชื้นจากภายนอกอาคาร ติดตั้งระบบควบคุมสภาพแวดล้อมภายในอาคารเพื่อปกป้องและรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ให้มีความยั่งยืนและปลอดภัยตามมาตรฐานคลังพิพิธภัณฑ์สากล ได้แก่ ระบบจัดเก็บตามประเภทวัสดุของโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ระบบตรวจสอบและควบคุมอุณหภูมิความชื้น ระบบปรับอากาศ ระบบป้องกันอัคคีภัย ป้องกันภัยธรรมชาติ และการโจรกรรม โดยกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงวางศิลาฤกษ์อาคารคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ วันที่ 1 ต.ค.2559
อาคารคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กขนาดใหญ่พิเศษ ความสูง 4 ชั้น ตัวอาคารมีพื้นที่ใช้สอยภายนอกและภายในรวม 30, 000 ตารางเมตร สามารถรองรับโบราณวัตถุได้มากถึง 200,000 รายการ รูปทรงอาคารเป็นทรงไทยประยุกต์ ออกแบบโดยนำเส้นสายฐานบัวอันเป็นเอกลักษณ์ในงานสถาปัตยกรรมไทยเข้ามาใช้เป็นกรอบโครงด้านนอกของอาคาร เพื่อสร้างเอกลักษณ์ไทยด้วยวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่ มีการระบายอากาศที่ดี สามารถนำแสงธรรมชาติเข้ามาใช้ในอาคาร และเหมาะสมกับสถานที่ตั้งที่มีภูมิอากาศร้อนชื้น วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในอาคารเป็นประเภทเหล็ก คอนกรีต อลูมิเนียมและกระจกเป็นหลัก ไม่ใช้วัสดุประเภทไม้ ลดโอกาสมีแมลงเข้ามาอยู่อาศัยทำลายโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่อยู่ภายในอาคาร
ปัจจุบันมีโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ เก็บรักษาในคลังกลางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จำนวนรวม 113,849 รายการ จัดเก็บในห้องคลังขนาดใหญ่ รวม 10 ห้อง แบ่งห้องคลังในแต่ละชั้นตามน้ำหนักโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และประเภทวัสดุเพื่อความปลอดภัยในการเก็บรักษา การเคลื่อนย้าย และการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ประกอบด้วยห้องคลังโบราณวัตถุประเภทหินและปูนปั้น ห้องคลังโบราณวัตถุประเภทโลหะ 3 ห้อง ห้องคลังโบราณวัตถุประเภทเครื่องปั้นดินเผาและแก้ว 2 ห้อง ห้องคลังโบราณวัตถุประเภทไม้ 2 ห้อง และห้องคลังโบราณวัตถุประเภทหนังสัตว์ ผ้า กระดาษ กระดูก งา และเขาสัตว์ 2 ห้อง
คลังกลางแห่งใหม่ออกแบบและวางระบบการบริหารจัดการให้เป็นคลังเปิดเพื่อให้บริการในรูปแบบของคลังเพื่อการศึกษา (Study Collection) ตามแนวพระราชดำริกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้บริการใน 2 รูปแบบ คือ การเข้าศึกษาตามอัธยาศัยในพื้นที่บริการทั่วไป ได้แก่ ห้องสมุด ห้องสอบค้นฐานข้อมูลโบราณวัตถุ และใช้บริการสำเนาไฟล์ภาพถ่ายโบราณวัตถุ อีกรูปแบบบริการการศึกษาชิ้นงานโบราณวัตถุ ซึ่งต้องยื่นคำร้องขออนุญาต เมื่อได้รับอนุญาต เจ้าหน้าที่จะอำนวยความสะดวกนำเข้าศึกษาโบราณวัตถุในพื้นที่ควบคุมชั้นใน โดยจะเปิดให้บริการแก่นักศึกษา นักวิจัย และประชาชนเข้าศึกษาโบราณวัตถุในคลังนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย. นี้ ตรงกับวันพิพิธภัณฑ์ไทย
ใครสนใจเรื่องราวโบราณวัตถุเข้ามาคลังกลางหรือไม่สะดวกเดินทางก็มีบริการบนแพลตฟอร์มออนไลน์สามารถชมบรรยากาศห้องคลังโบราณวัตถุ และโบราณวัตถุชิ้นสำคัญในมุมมอง 360 องศา ผ่านทางแอพพลิเคชั่น Virtual Smart museum และ FA Discovery เพื่อให้โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่เก็บรักษาในคลังนี้เกิดประโยชน์แก่ทุกคน คนทุกเพศทุกวัยสามารถเรียนรู้ สร้างความตระหนัก รักหวงแหน และมีส่วนร่วมปกป้องคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
บูรณะวัดไชยวัฒนารามนำชีวิตชีวาสู่มรดกโลก
วัดไชยวัฒนาราม จ.พระนครศรีอยุธยา งดงามทรงคุณค่า เป็นหนึ่งในหลักฐานที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่และรุ่มรวยทางวัฒนธรรมของกรุงศรีอยุธยาอดีตเมืองหลวงอันยิ่งใหญ่ วัดเก่าแก่แห่งนี้เป็นโบราณสถานสำคัญของอยุธยา และเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาที่โดย
'4วัด1วัง'เที่ยวมรดกโลกอยุธยายามราตรี
กระแสตอบรับดีสำหรับโครงการท่องเที่ยวโบราณสถานยามค่ำคืนในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปีนี้กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ยกระดับท่องเที่ยวโบราณสถานยามราตรีเปิดโบราณสถานให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมเพิ่มขึ้นเป็น 5 แห่ง ประกอบด้วย
สคส.กรมสมเด็จพระเทพฯ
กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานพรปีใหม่ 2568 ปีมะเส็งงูเล็กแก่พสกนิกรไทย เพื่อความเป็นสิริมงคล ชีวิตก้าวหน้า
ย้อนเวลา 4 วัด 1 วัง เมื่อครั้งต้นกรุงฯ
ชวนแต่งชุดไทยเดินทางย้อนเวลากลับไปสู่ช่วงต้นกรุงศรีอยุธยา ดื่มด่ำกับบรรยากาศโบราณสถานยามค่ำคืนที่งดงามในงาน “ 4 วัด 1 วัง เมื่อครั้งต้นกรุงฯ” ภายใต้แนวคิด “ย้อนเวลา ส่องวิถี ปลุกแสงสี พระนครศรีอยุธยา” โดยจะจัดกิจกรรมตามวัดและโบราณสถานที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์
กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดงาน'สานสายใยเพื่อผลิตภัณฑ์สายใจไทย'
29 ต.ค.2567 - เวลา 09.00 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานมูลนิธิสายใจไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานเปิดงาน“สานสายใยเพื่อผลิตภัณฑ์สายใจไทย ครั้งที่ 26 ” ณ ลิฟวิ่ง ฮอลล์ ชั้น 3 สยามพารากอน
กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดเทศกาลน้ำมันเมล็ดคามีเลีย ภัทรพัฒน์ ณ เอ็มสเฟียร์
18 ต.ค.2567 - เวลา 14.30 น.สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดงาน “เทศกาลน้ำมันเมล็ดคามีเลีย ภัทรพัฒน์” โดยความร่วมมือระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนา และบริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ณ เอ็ม กลาส