ในช่วงเวลาที่โลกกำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงทั่วทุกภูมิภาค รวมทั้งทวีปเอเชียและประเทศไทย องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกออกมาระบุว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญได้ปรากฏขึ้นตั้งแต่ต้นกรกฏาคมที่ผ่านมา และถูกคาดการณ์ว่า จะลากยาวนับจากปีนี้ ส่งผลให้อุณหภูมิในหลายพื้นที่สูงขึ้น เกิดภาวะแห้งแล้งผิดปกติ และอาจเกินเป้าหมายที่โลกอยากจำกัดไว้ที่ 1.5 องศา นำมาสู่เวทีเสวนาเชิงนโยบาย Dialogue Forum ‘El Nino,จากโลกร้อน สู่โลกแล้ง’ รวมผู้เชี่ยวชาญมาวิเคราะห์เอลนีโญจะซ้ำเติมสถานการณ์ขนาดไหน เกษตรกรไทยจะตั้งรับปรับตัวระดับพื้นที่ได้อย่างไร จัดโดยสำนักข่าว Bangkok Tribune และองค์กรพันธมิตร เมื่อวันก่อนที่ SEA Junction หอศิลป์กรุงเทพ
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต และคณะทำงานระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กล่าวว่า องค์การสหประชาติประกาศขณะนี้โลกกำลังเผชิญภาวะโลกเดือดแล้ว อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น และจะมีความรุนแรงขึ้นและถี่ขึ้น อีกปรากฏการณ์เป็นสภาพอากาศแปรปรวน เพราะโลกกำลังเข้าสู้ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า เอลนีโญ ยุโรป ญี่ปุ่น เจอคลื่นความร้อน ปัจจุบัน อุณหภูมิโลกเฉลี่ยสูงขึ้น 1.1 – 1.2 องศาเซลเซียส อนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร โลกไม่เคยเจอปรากฎการณ์นี้มาก่อน การออกประกาศเพื่อกระตุ้นเตือนนานาประเทศ เพราะปลายปีนี้จะมีการประชุม COP 28 ที่ดูไบ ผู้นำทั่วโลกจะร่วมมือลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เร็วขึ้นได้อย่างไร ปัจจุบันโลกต้องลดปล่อยก๊าซ 18% ต่อปี ซึ่งเป็นไปไม่ได้ มีทางเดียว คือ มาตรการต้องติดลบ ปล่อยเป็นศูนย์ยังไม่พอ ปัจจัยทางธรรมชาติด้วย หนทางแคบ โอกาสมันยากขึ้น เจน X เจน Y ได้รับผลกระทบเหนื่อยแล้ว แต่เจน Z หนักกว่า อุณหภูมิจะสูงขึ้นอีก ปัจจุบันอุณหภูมิโลกเฉลี่ยสูงขึ้น 1.1 – 1.2 องศาเซลเซียส อนาคตจะเป็นอย่างไร โลกไม่เคยเจอปรากฎการณ์นี้มาก่อน
“ ปรากฎการณ์เอลนิโญล่าสุดคาดการณ์ต่อเนื่องอย่างน้อย 2 ปี ขณะนี้กำลังเข้าสู่โหมดสูงสุด ประมาณเดือน พ.ย. – ธ.ค. แล้วจะลงๆ มา กลางปีหน้า แต่มันยังอยู่ในโหมดของความร้อนแรงต่อเนื่องถึงมกราคม ปี 2568 จึงจะสงบลง เอลณีโญเกิดขึ้นแล้ว ส่งผลกระทบหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องน้ำ ต้องเฝ้าติดตามอีก 6-9 เดือนหน้า อนาคตหนี้ไม่พ้นแล้งท่วมหนักขึ้น รายละเอียดแต่ละพื้นที่จะต้องวิเคราะห์ต่อไป ไอพีซีซีคาดการณ์อนาคต จากอุณหภูมิเฉลี่ย ณ ปัจจุบัน เพิ่มขึ้น 1 องศา ภายใน 20 ปี อุณหภูมิสูงสุดและต่ำสุดรายวันก็เพิ่ม แนวโน้มเป็นเช่นนั้น อนาคตฝนก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน “ นักวิชาการด้านภัยพิบัติ กล่าว
รศ.ดร.เสรี กล่าวว่า อุณหภูมิไม่มีทางต่ำลง เมษาร้อนที่สุด เราต้องผ่านแล้งที่จะถึง 6 เดือนข้างหน้าไปให้ได้ ส่วนอีก 3 เดือนข้างหน้า กันยายนยังมีฝน เข้าตุลาฝนเบา ฝนหาย อาศัยน้ำจากชลประทานไม่ได้ ยิ่งเดือนพฤศจิกายนยิ่งหายหนัก ปลายฝนปีนี้ไม่ดี เกษตรกรที่ปลูกข้าวตอนนี้ต้องตระหนักเรื่องน้ำ มีการกักเก็บน้ำไว้หรือเปล่า เพราะใช้น้ำฝนอย่างเดียวไม่รอด ถ้าไม่เก็บน้ำตอนนี้มีปัญหาแน่ มีการคาดการณ์จะเสียหาย 5 หมื่นล้าน เกษตรกรรมสำคัญต้องบริหารจัดการน้ำให้ดี และมีการปรับปรุงพันธุ์ข้าว พันธุ์พืชให้ทนร้อน ทนแล้งมากขึ้น มีตัวอย่างไทยเผชิญเอลนีโญปี 58-59 นาปรังลดลง 7 ล้านไล่ นาปี 2 ล้านไร่ รวม 9 ล้านไร่ ปีนี้อาจจะเบากว่า อย่างไรก็ตาม นาปรังจะหายไป 5-6 ล้านไร่ ผลผลิตจะไม่ดี ซึ่งเกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางอาหารที่จะรุนแรงขึ้น
ด้าน ฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า เอลนีโญเกิดขึ้นแน่และเริ่มส่งผลกระทบแล้ว ปัจจุบันลักษณะฝนจะตกบริเวณชายขอบของประเทศ ด้านฝั่งรับลมไม่ว่าจะเป็นฝั่งมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ปะทะขึ้นมา ไม่ว่าจะภาคใต้ ภาคตะวันตกยาวขึ้นไปภาคเหนือ เห็นได้จากน้ำท่วมน่าน เชียงราย ลงมาอีสาน ฝนตกไม่ลงเขื่อน ขณะนี้ปริมมาณน้ำฝนที่ตกเลยลงเขื่อนน้อย และฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 19 % ทั้งนี้ รูปแบบฝนที่เกิดในประเทศไทยกับเอลนีโญที่เกิดในปี 62 กับปี 63 คล้ายกับปีนี้มาก ดังนั้น ในปี 67 จากการรวมข้อมูลกับกรมอุตุนิยมวิทยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้ตรงกันปีหน้าแนวโน้มมีปริมาณน้ำน้อย สทนช.ได้ออกประกาศ 15 ฉบับ ตั้งแต่ ม.ค.ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงสภาพอากาศแปรปรวน
จากสถิติปี 62 และปี 63 ต้นฤดูฝนมีปริมาณน้ำ 16,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนต้นปี 66 มีปริมาณน้ำ 17,000 ลบ.ม. ลักษณะปริมาณน้ำต้นทุนคล้ายกัน ต้นเดือน พ.ย.66 จะมีปริมาณน้ำจะน้อยกว่าปี 65 เกือบพันล้านลบ.ม. ส่วนปี 67 จะคล้ายกับปี 63 แนวโน้มน้ำแล้ง ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างช่วงเวลานี้ต้องกักเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะเจ้าพระยา หากฝนไม่ตก บวกกับหน้าแล้งไม่มีน้ำต้นทุนเติม จะได้รับผลกระทบน้ำเค็มหนุน ต้องนำน้ำที่มาจากแหล่งเก็บกักน้ำเค็มเพื่อทำประปา นี่คือ ภาพที่จะเห็นต่อไป
ก่อนหน้านี้ สทนช. เสนอมาตราการหลากหลายกักเก็บน้ำ หาแหล่งน้ำสำรอง ทำฝนหลวง ในฤดูฝนมีมาตราการต้องเสริมแหล่งเก็บกักน้ำ ส่งเสริม อปท.ให้สร้างแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็ก โดยการสูบน้ำเข้าสู่แหล่งน้ำขนาดเล็กเพื่อการเกษตรและอุปโภค ใช้งบประมาณที่ท้องถิ่นมีประมาณ 5 แสนบาท สนทช.พยายามสื่อสารให้ อปท.เข้าใจ มีตัวอย่างคลองมะขามเฒ่าที่ อ.อู่ทอง ปริมาณน้ำ 30 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่งน้ำไม่ถึงปลายคลอง ต้องสูบน้ำเสริมน้ำช่วย เพื่อทำนาในCrop แรกให้รอด
สำหรับสิ่งที่จะเสนอต่อรัฐบาลใหม่ ผอ.สทนช. กล่าวว่า เป็นการประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำที่ชัดเจนถึงกลุ่มเกษตรกร โดยใช้กลไกหน่วยงานรัฐที่มี เพื่อให้เกษตรกรตัดสินใจกล้าที่จะเสี่ยงหรือไม่ ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีแผนการระบายน้ำอยู่แล้ว แม้ว่าเกษตกรไม่ฟัง เมื่อระบายน้ำปริมาณน้ำจะลงมาเลี้ยงเฉพาะระบบนิเวศ เพื่อผลักดันน้ำเค็ม ฉะนั้นน้ำที่ส่งในคลองไม่เต็มที่ เมื่อปิดประตูสิ่งที่เกษตรกรหวังว่า น้ำต้นทุนจะมี ซึ่งน้ำฝนคือความหวังสุดท้าย
อย่างไรก็ตาม จากการคาดการณ์ สทนช.ในภาคอุตสาหกรรม ฐนโรจน์ระบุปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับฤดูนี้และฤดูถัดไป ส่วนการประเมิน เราประกันความเสี่ยงไม่ได้ ในฤดูฝนมีฝนตกมาเติมในพื้นที่อีอีซี ดังนั้น เราต้องสูบน้ำจากท้ายเขื่อน ต้องสูบจากคลองวังโตนดมาเติมที่อ่างเก็บน้ำบางประแสร์ สูบจากแม่น้ำบางประกงหรือคลองพระองค์ไชยานุชิต ผันน้ำจากจากแม่น้ำเจ้าพระยา ขณะนี้มีน้ำบางส่วนจากฝนตก ต้องสูบทอนมาให้ได้มากที่สุดก่อน ส่วนกรณีพิพาทคนตัดสินใจว่าสูบหรือไม่สูบอยู่ที่คณะกรรมการลุ่มน้ำ สูบน้ำผันน้ำข้ามลุ่มมา ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการเพื่อป้องกันความเสี่ยง ส่งผลต่อน้ำอุปโภคบริโภค และส่งผลต่อการท่องเที่ยว ภาพรวมการจัดการน้ำทั่วประเทศปริมาณน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมมีประมาณ 1-2 % ในลุ่มน้ำต่างๆ ยกเว้นภาคตะวันออกจะให้ความสำคัญกับแหล่งท่องเที่ยวก่อน พยายามจะหาน้ำนอกลุ่มน้ำมาสูบเติม การลงทุนรัฐบาลได้ลงทุนประกันความเสี่ยง เพื่อไม่ต้องแย่งน้ำกับภาคการเกษตร
ด้าน ทรงพล พูลสวัสดิ์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า ปกติการทำนาปีถึงฤดูกาลต้องทำ แต่ปีนี้กรมชลประทานประกาศชะลอการทำนาปีต่อเนื่อง แต่เกษตรกรภาคกลางถ้ามีน้ำปลูกกันตลอด เกี่ยวแล้วก็ทำนาต่อ ส่วนน้ำที่ส่งตามระบบชลประทานมีปริมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับหน้าปกติที่น้ำจะเต็มคลองส่ง ตอนนี้ที่ จ.อ่างทอง คิวส่งน้ำ 7 วัน แล้วจะแห้งไป 15-20 วัน โอกาสที่เกษตรกรจะเสียหายจากภัยแล้งในฤดูฝนมีแน่ เป็นเรื่องที่แปลก เกษตรกรจะเชื่อเมื่อถึงเวลา น้ำไม่มีแล้ว เกษตรกรทำไปแล้ว จะทำอย่างไรอีก 4 เดือนไม่มีน้ำจะทำอย่างไร
ประฏิพัทร กล่ำเพ็ง ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์ จ.ชัยนาท กล่าวว่า สถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยาปริมาณน้ำต้นทุนน้อย พื้นที่ของเราขึ้นตรงกับสำนักชลประทานที่ 10 มีนโยบายจัดสรรรอบเวรส่งน้ำ สูบ 7 วัน หยุดสูบ 7 วัน มุ่งเน้นช่วยเหลือพื้นที่ทำเกษตรไปแล้วให้รอดก่อน จะเก็บเกี่ยวนารอบแรกทั้งหมดสิ่นสุดเดือนสิงหาคมนี้ คาดว่าด้วยราคาข้าว เกษตรกรจะทำต่อรอบสองแน่นอน จึงเตรียมแผนสำรองเติมเต็มแหล่งน้ำสำรอง ตอนนี้มีน้ำตุนในพื้นที่ 80% นาข้าวไม่ใช้น้ำ 24 ชม. เราจะส่งน้ำให้นาข้าว 1 ส่วน กักเก็บ 1 ส่วน แม้รัฐมีนโยบายลดทำนาต่อเนื่อง แต่ต้องเอาความจริงมาคุยกัน ข้าวเกวียนละหมื่น ลูกต้องเรียน ข้าวก็ต้องกิน ของก็ต้องใช้ ถ้าเราไม่ทำนาต่อเนื่อง จะให้ปลูกข้าวโพด ทำไม่ได้ พื้นที่ราบลุ่ม นโยบายใช้พืชน้ำน้อยใช้ได้บางพื้นที่ หรือพื้นที่สุ่มเสี่ยง แต่ถ้าพื้นที่มีภูมิคุ้มกันแล้ว ไม่สุ่มเสี่ยง ต้องให้โอกาสชาวนาทำนา เพราะเราไม่สามารถเอาเสื้อตัวเดียวมาใช้ได้ทั่วประเทศ
“ ผมไม่อยากให้โทษกลุ่มชาวนา การใช้น้ำทั่วประเทศต้องดูในภาพรวม ผมไม่อยากให้ชาวนาและเอลนีโญเป็นแพะ อยากให้เอาความจริงมาคุยบนโต๊ะ ผลกระทบของไทย น้ำไม่มี ขึ้นอยู่กับอะไร ดังนั้น การพูดถึงให้คนตระหนักเรื่องเอลนีโญต้องนำปัญหามาคุยกันก่อน การบริหารจัดการน้ำนับตั้งแต่ พ.ค.-พ.ย.เมื่อปีก่อน ซึ่งมีน้ำมาก เราใช้น้ำไป8 พันล้านลูกบาศก์เมตร ส่งผลให้การใช้น้ำในปีนี้มีน้ำต้นทุนไม่เพียงพอ ดังนั้นเอลนิโญเป็นตัวบ่งชี้ แต่สิ่งที่ดีสุดคือการบริหารจัดการน้ำ หมดยุครณรงค์แล้ว ต้องใช้เทคโนโลยีออกแบบวางแผนการใช้น้ำ “ ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำระบุ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'อ.เสรี ศุภราทิตย์' จับตาพายุในมหาสมุทรแปซิฟิกจะเกิดขึ้นอีก 6 ลูก บางลูกกระทบภาคใต้
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต และรองประธานมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ โพสต์ภาพกราฟิกพร้อมข้อความทางเฟซบุ๊กระบุว่า "พายุจ่ามี" ส่งอิทธิพลไม่มากต่อประเทศไทยแต่ควรไม่ประมาทเพราะความชื้นในทะเลมีสูง
สทนช. เผย 18 จังหวัดยังจมบาดาล
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ทำการสรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 29 ก.ย. 67 เวลา 7.00 น.
สทนช. อัปเดตสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ เตือนรับมือฝนตกหนัก 30 ก.ย.-1 ต.ค.
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 26 ก.ย. 67 เวลา 7.00 น. 1.ปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด ได้แก่ ภาคเหนือ : จ.เชียงใหม่ (159 มม.) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จ.ศรีสะเกษ (50 มม.) ภาคกลาง : จ.ลพบุรี (74 มม.)
'อ.เสรี ศุภราทิตย์' อัปเดตแผนที่จุดเสี่ยงภัยน้ำท่วมเชียงใหม่
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต และรองประธานมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ โพสต์ภาพกราฟิกพร้อมข้อความทางเฟซบุ๊ก
เช็กเลย! 'สถานการณ์น้ำ' ภาพรวมทั้งประเทศ
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ เวลา 7.00 น. ดังนี้ 1.ปริมาณฝนสะสม 24 ชม. สูงสุด
'อ.เสรี ศุภราทิตย์' เปิดพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติจากอิทธิพลพายุโซนร้อน 19-23 ก.ย.
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต และรองประธานมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ โพสต์ภาพกราฟิกพร้อมข้อความทางเฟซบุ๊กระบุว่า แชร์ให้ตระหนักไม่ควรมีการสูญเสียอีกเฝ้าระวังพื้นที่