เรียนรู้วีถีคนดอยผ่านอาหาร’อาข่า’

เป็นประสบการณ์แปลกใหม่ของคนกรุงกับอาหารที่ไม่คุ้นตา รสชาติไม่เหมือนใคร ที่มาจากวัตถุดิบพื้นถิ่นตามฤดูกาลของคนบนพื้นที่สูง เมื่อกรรณิการ์ วุ้ยยื้อ สาวกรุงที่เป็นสะใภ้อาข่า ซึ่งคลุกคลีกับครอบครัวอาข่ามากว่า 10 ปี สัมผัสอาหารพื้นถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์อาข่าที่มีการส่งต่อภูมิปัญญาอาหารจากรุ่นสู่รุ่น แถมอร่อยและดีต่อสุขภาพ  จุดประกายให้เธอเปิดร้านอาหารอาข่าในกรุงเทพฯ  เพื่อถ่ายทอดวิถีคนบนพื้นที่สูงผ่านอาหาร

กรรณิการ์ วุ้ยยื้อ เล่าว่า ทุกครั้งที่ได้ไปบ้านสามีที่บ้านดอยช้าง อ.แม่สรวย จ.เชียงราย เธอจะเจริญอาหารเป็นพิเศษ เพราะอาหารอาข่าเป็นอาหารที่รสจัดจ้าน ถูกปาก และดีต่อสุขภาพ  จึงมีไอเดียมาเปิดร้านอาหารอาข่าในกรุงเทพฯ ที่ร้าน ME THAI สาขาพระราม 9 ซอย 41 เดิมเป็นร้านกาแฟที่เธอและสามีทำร่วมกัน โดยกาแฟที่ใช้ก็เป็นกาแฟปลูกเองและทำเองทุกขั้นตอนจากสวนที่บ้าน เมื่อตั้งใจจะทำอาหารเธอจึงได้ไปเรียนรู้วิธีการทำอาหารอาข่าและศึกษาเรื่องราวของอาหารอาข่ามาเป็นอย่างดี  การทำอาหารจะรักษาแก่นหลักของอาหารอาข่าไว้อย่างครบถ้วนนั่นคือการใช้วัตถุดิบพื้นถิ่นและการปรุงแบบเรียบง่าย หลายเมนูสามารถสะท้อนถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนอาข่าได้เป็นอย่างดี ซึ่งสิ่งที่เธอให้ความสำคัญที่สุดคือต้องเป็นการทานอาหารร่วมกันหลายๆคน 

สะใภ้อาข่า บอกด้วยว่า “ห่อจาจามะ” ภาษาอาข่าแปลว่า กินข้าวด้วยกัน คือ การชวนมากินอาหารอาข่าด้วยกัน ตามรูปแบบการกินอาหารของชาวอาข่าที่มักจะนั่งตั้งวงกินข้าวด้วยกันทั้งครอบครัวหรืออาจจะมีคนในละแวกบ้านมาร่วมแจมด้วย ซึ่งอาหารอาข่าก็สามารถสะท้อนได้ถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนอาข่าได้เป็นอย่างดี โดยดูได้จากรูปแบบการปรุงอาหารที่เรียบง่ายเน้นวัตถุดิบที่ปลูกได้บนภูเขาสูง และอาหารอาข่าจะใช้วัตถุดิบที่เป็นสมุนไพรให้ความเผ็ดร้อนเพื่อสร้างอบอุ่นให้กับร่างกายเนื่องจากบนดอยจะมีอากาศเย็นตลอดทั้งปี

“ ห่อจาจามะเป็นการรับประทานอาหารอาข่าแบบดั้งเดิมที่นำวัตถุดิบพื้นถิ่นตามฤดูกาลที่ปลูกไว้ทานในครัวเรือนมาปรุงอาหาร อาทิ รากหอมชู ผักเริญ ผักแฉกู่ ที่สำคัญยังมีถั่วเน่าฝีมือแม่ที่เป็นสูตรเฉพาะของที่บ้านอีกด้วย โดยผักจะถูกขนส่งด้วยรถเย็นตรงจากเชียงรายเข้ากรุงเทพฯ ทุกสัปดาห์ อาหารอาข่าจะเป็นอาหารที่ผ่านการปรุงแบบง่ายๆด้วยการต้มหรือผัด รวมถึงอาหารที่ผ่านกรรมวิธีถนอมอาหารแบบดั้งเดิม เช่น ถั่วเน่า ผักดอง และหมูรมเตาฟืน ส่วนการปรุงจะไม่ใช้น้ำปลามะนาวหรือน้ำตาล แต่จะใช้รสชาติเปรี้ยวหวานจากผักที่นำมาปรุงอาหาร และจะใช้พริกกับเกลือเป็นเครื่องปรุงหลักเท่านั้น “ กรรณิการ์ บอก

ส่วนรสชาติอาหารอาข่านั้น กรรณิการ์ เล่าว่า  คนที่ได้มาลองทานอาหารอาข่ามักถูกใจ แม้รสชาติจะแปลกไปจากอาหารที่เคยทาน แต่ก็เป็นความแปลกที่รู้สึกชอบ เมนูที่ถูกใจหลายคนเป็นพิเศษ คือ น้ำพริกแมคคาเดเมีย และลาบคั่วดอย ตนดีใจมากที่มีคนเปิดใจให้กับอาหารอาข่า หลายคนมาทานซ้ำอยู่หลายครั้ง บางคนพาเพื่อนๆ หรือครอบครัวมาทานด้วย ความตั้งใจในอนาคตอยากทำให้ทุกคนได้รู้จักคนอาข่าและอาหารอาข่ามากขึ้นเหมือนกับตนที่หลงรักในรสชาติอาหารและวิถีชีวิตของชาวอาข่า

ผู้สนใจอาหารอาข่าดั้งเดิมแท้ๆ และอยากมาร่วม “ห่อจาจามะ” สามารโทรจองล่วงหน้า 1 วัน ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 082-156-2945 โดยจะรับเป็นโต๊ะกรุ๊ปละ 4 – 10 คน  เพื่อให้ทุกคนได้สัมผัสรสชาติอาหารบนดอยที่หลากหลายเมนูอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาด้วยกันเหมือนอย่างคำว่า “ห่อจาจามะ” พร้อมฟังเรื่องราวความที่มาของวัตถุดิบและการแนะนำเมนูอาหารที่น่าสนใจจากเจ้าของร้าน ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่  FB : ME THAI และ IG : methai_official

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ปลอดประสพ' อ้างอิง2ผู้เชี่ยวชาญ ยืนยัน 'ปลาหมอคางดำ' ผสม 'ปลานิล' ไม่ได้

นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี และ ปลัดกระทรวงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า

'อ.เจษฎา' ฟันเปรี้ยง! มันคือ 'ปลาหมอคางดำที่อ้วน' ไม่ใช่ปลานิลที่กลายพันธุ์

ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก กรณีเจ้าของวังกุ้ง พบ ”ปลานิลคางดำ” ในวังกุ้งคลองด่าน จ.สมุทรปราการ คาดว่าเป็นการผสมพันธุ์ระหว่างปลานิลกับปลาหมอคางดำ ว่า