26 ส.ค.2566 - ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยว่า ตนได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลใหม่เกี่ยวกับข้อเสนอนโยบายควบคุมยาสูบของประเทศไทย 12 ข้อ เพื่อให้รัฐบาลใหม่พิจารณาดำเนินการอย่างเร่งด่วน ดังนี้ 1.เร่งรัดการให้สัตยาบันในพิธีสาร “การขจัดการค้ายาสูบที่ผิดกฎหมาย” เพื่อยกระดับการควบคุมยาสูบผิดกฎหมาย/หนีภาษี ที่ทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้จากภาษียาสูบปีละกว่าหมื่นล้านบาท 2.ปรับอัตราภาษีบุหรี่ซิกาแรตให้เหลืออัตราเดียว ลดปัญหาบุหรี่ไทย เสียเปรียบบุหรี่ต่างประเทศ จากการจัดเก็บภาษีบุหรี่ 2 อัตราที่ใช้อยู่ในขณะนี้ 3.ร่างแผนการทยอยขึ้นภาษีบุหรี่ยาเส้นมวนเอง เพราะอัตราภาษีถูกมากซองละ 10-12 บาท ต่ำกว่าบุหรี่ซิกาแรต 6-7 เท่า ทำให้มีคนสูบยาเส้นมีมากถึง 4.5 ล้านคน จากคนสูบบุหรี่ทั้งหมด 10 ล้านคนเศษ 4.แก้ปัญหาชาวไร่ยาสูบที่ได้รับผลกระทบจากความต้องการใบยาสูบลดลงอย่างจริงจังเป็นระบบและต่อเนื่อง โดยช่วยเปลี่ยนอาชีพ ส่งเสริมการปลูกพืชทดแทน
ศ.นพ.ประกิต กล่าวต่อว่า 5.เพิ่มความเข้มแข็งของการควบคุมยาสูบของคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบจังหวัด ทั้งด้านนโยบาย อัตรากำลัง และงบประมาณ โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กฎหมายห้ามสูบบุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้าในที่สาธารณะ 6.เสริมความเข้มแข็งของกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค ที่ยังขาดอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานตามกฎหมายและนโยบาย 7.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงควบคุมส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบที่กระทรวงสาธารณสุขผลักดัน ซึ่งถูกคัดค้านจากฝ่ายที่เสียประโยชน์มาหลายปี 8.ลดจำนวนบุหรี่ปลอดภาษี ที่อนุญาตให้ผู้เดินทางเข้าประเทศไทยนำเข้าได้จาก 10 ซองต่อคน ให้เหลือ 1 ซองต่อคน จะทำให้รัฐบาลเก็บภาษียาสูบส่วนนี้เพิ่มขึ้นปีละหลายร้อยล้านบาท ซึ่งสิงคโปร์ ศรีลังกา เนปาล ห้ามบุหรี่ปลอดภาษีสำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศ ขณะที่ฮ่องกงให้นำเข้าได้ 19 มวน และออสเตรเลียไม่เกิน 50 มวน 9.กำหนดให้ยารักษาช่วยเลิกบุหรี่อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของกองทุนประกันสุขภาพทั้ง 3 กองทุน
ศ.นพ.ประกิต กล่าวอีกว่า 10.ควรคงกฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าต่อไป กำชับให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมศุลกากร กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม บังคับใช้กฎหมายห้ามนำเข้าห้ามขายอย่างจริงจัง ให้กระทรวงศึกษาธิการ กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดให้ความรู้และพิษภัยบุหรี่ไฟฟ้าแก่เด็กนักเรียนทั่วประเทศ 11.ต้องกำหนดมาตรการป้องกันการแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบจากธุรกิจยาสูบและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และข้าราชการประจำของกระทรวงต่าง ๆ และ 12.ปัญหาการควบคุมยาสูบที่สำคัญที่สุดคือ ยังขาดการมีส่วนร่วมของกระทรวงหลักอื่น ๆ ทั้งกระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ต้องมีทิศทางและเป้าหมายในการปฏิบัติตามข้อกำหนดของอนุสัญญาควบคุมยาสูบฯ ที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี ทั้งนี้ หวังว่ารัฐบาลใหม่จะพิจารณาและดำเนินการ ข้อเสนอทั้ง 12 ข้อโดยเร็ว เพื่อลดความสูญเสียของสังคมจากยาสูบทุกประเภท ที่สำคัญขอให้รัฐบาลพิจารณากฎหมายควบคุมยาสูบอย่างรอบคอบ ไม่ควรเร่งรัด และต้องไม่ให้บริษัทบุหรี่ล็อบบี้ยิสต์ หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง มีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าที่ดีที่สุดของไทย
“แม้ไทยจะมีการควบคุมยาสูบมามากกว่า 30 ปี แต่ผู้บริหารประเทศ ทั้งฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ รวมทั้งข้าราชการระดับสูง และนักวิชาการในมหาวิทยาลัยบางส่วน ยังไม่เข้าใจว่าการควบคุมยาสูบเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องทำงานประสานเสริมให้การควบคุมยาสูบมีประสิทธิภาพ ลดจำนวนคนสูบบุหรี่อย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นเพียงกระทรวงสาธารณสุข และสสส. เพราะการควบคุมยาสูบต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งรัฐและเอกชน งบประมาณ และบุคลากรที่เพียงพอในการขับเคลื่อนงาน ที่จำเป็น รัฐบาลจะต้องลงทุนในการลดความสูญเสียจากการสูบบุหรี่ ทั้งด้านคุ้มครองสุขภาพประชาชนและความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการรักษาโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ จากข้อมูลล่าสุดพบว่า การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุการเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนเวลาอันดับหนึ่งของชายไทย ซึ่ง 1 ใน 3 ยังเสพติดบุหรี่และเลิกไม่ได้” ศ.นพ.ประกิตกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เอกชนแนะ สร้าง Ecosystem ด้านสุขภาพ เพื่อเป็นศูนย์กลาง Medical Hub ของอาเซียน
ประเทศไทยมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ผ่านการพัฒนา Ecosystem ด้านสุขภาพที่ครบวงจร ซึ่งไม่เพียงส่งเสริมเศรษฐกิจ แต่ยังยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ