คนไทยชมก่อนใคร! ภาพชีวิตในสงครามยูเครน

คำว่า “สงคราม” ดูห่างไกลจากคนไทย โดยเฉพาะคนที่เกิดในเจเนอร์เรชั่น X เป็นต้นไป บางคนได้เคยได้ยินเรื่องเล่า ถึงชีวิตหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย หรือ เรียนรู้จากหนังสือ ประวัติศาสตร์ต่างๆ  แต่จะดีไม่น้อยหากได้ชมภาพถ่ายจากสถานที่จริงจากช่างภาพสงครามระดับโลกอย่าง เจมส์ นาคท์เวย์ ที่นำมาจัดแสดงครั้งแรกในไทยในนิทรรศการรวมผลงานภาพถ่ายสงครามและโศกนาฎกรรมภัยพิบัติ “ James Nachtwey: Memoria Exhibition” ของเจมส์ นาคท์เวย์ จำนวน 126 ภาพ พร้อมการฉายวีดีโอสั้นที่กำกับโดย Thomas Nordanstad  จัดโดย สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ มูลนิธิส่งเสริมการถ่ายภาพ และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครด้วยการสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยณ ชั้น 7 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ผลงานชุดนี้เคยแสดง ณ กรุงปารีส ฝรั่งเศส, มิลาน อิตาลี สตอกโฮล์ม สวีเดน และ มหานครนิวยอร์ก สหรัฐ  เป็นต้น จะเผยให้เห็นถึงชีวิตในขณะเกิดสงคราม และชีวิตหลังสงครามที่ต้องดิ้นรนต่อสู้ของผู้คนและการพยายามใช้ชีวิตหลังจากการสูญเสีย พิเศษสำหรับไทย เจมส์ นาคท์เวย์  นำภาพประวัติศาสตร์ของชีวิตในสงครามยูเครนที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อนให้คนไทยได้ชมก่อนใคร

นิทรรศการ “Memoria” จัดแสดงความทรงจำในการทำงานตลอดชีวิตอันยาวนานกว่า 40 ปี  ซึ่งเขามักจะอยู่ศูนย์กลางของวิกฤตการณ์และสถานที่ที่พังทลายจากสงคราม เพื่อบันทึกภาพเหตุการณ์สำคัญในเสี้ยววินาที ภาพถ่ายแต่ละภาพของเน้นไปที่ผลกระทบของความอยุติธรรมและความรุนแรงอันเป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ขณะเดียวกันทำให้เกิดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ เพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขทั้งด้านมนุษยธรรมและภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างเร่งด่วน

เจมส์ นาคท์เวย์  เคยกล่าวไว้ในงานเปิดนิทรรศการ “Memoria” ที่ Fotografiska Tallinn ว่า สำหรับฉันแล้ว การถ่ายภาพไม่ใช่การยัดเยียดสิ่งที่ผมคิดว่าผมรู้ให้เป็นความจริง มันคือการสำรวจด้วยตาหนึ่งคู่ หนึ่งความคิด หนึ่งหัวใจ เคลื่อนผ่านโลกแห่งความเป็นจริงตามเวลาจริง พยายามบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับผู้คนทีละคน ณ จุดที่เกิดสถานการณ์ความขัดแย้ง เรื่องราวที่สังคมต้องการเพื่อดำเนินไปอย่างถูกต้อง เพื่อประเมินเหตุการณ์ ตัดสินใจอย่างรอบรู้ เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับตัวเราอย่างต่อเนื่อง และในที่สุดภาพถ่ายงานของผมก็ขยายออกไปนอกสงคราม รวมไปถึงสถานการณ์อื่นๆ ที่มีความอยุติธรรม นำไปสู่การเรียกร้องให้มีการแก้ไข ทั้งด้านมนุษยธรรมและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน  ตลอดจนปัญหาสุขภาพที่ต้องได้รับความสนใจมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังได้จัดกิจกรรมฉายภาพยนตร์ War Photographer กำกับโดยคริสเตียน เฟรย์  สารคดีที่เล่าถึงชีวิตและการทำงานเป็นช่างภาพสารคดีสงคราม เจมส์ นาคท์เวย์  และโศกนาฎกรรมภัยพิบัติ และกิจกรรมพูดคุยกับ เจมส์ นาคท์เวย์  ในวันที่ 5 ก.ย.2566 เวลา 16.00 น. ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

สำหรับหนังสารคดี  War Photographer ได้ติดตามการทำงานของช่างภาพสงครามเป็นเวลาเวลาสองปีในสงครามที่อินโดนีเซีย, โคโซโว, ปาเลสไตน์ เป็นต้น โดยใช้กล้องขนาดเล็กพิเศษแนบไปกับกล้องถ่ายภาพของเจมส์ นาคท์เวย์  ทำให้ได้เห็นมุมมองของช่างภาพโลก ได้ยินเสียงลมหายใจ ที่สะท้อนถึงแรงจูงใจการทำงานในฐานะช่างภาพสงคราม

เจมส์ นาคท์เวย์ เกิด 14 มีนาคม 1948 เติบโตในแมสซาชูเซตส์และจบการศึกษาจาก Dartmouth College ด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและรัฐศาสตร์ เขาเริ่มต้นในอาชีพช่างภาพกับ Abuquerque Journal ในปี 1976 ก่อนจะย้ายมาอยู่ New York เริ่มทำงานเป็นช่างภาพอิสระ ในปี 1981 ทำงานในต่างประเทศครั้งแรกที่ไอร์แลนด์เหนือ เพื่อนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับความขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่ สู่การเดินทางรอบโลก ทั้งในแอฟริกาใต้ ลาตินอเมริกา รัสเซีย ยุโรปตะวันออก เวียดนาม อัฟกานิสถาน เพื่อบันทึกภาพประวัติศาสตร์ที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นซ้ำ และเคยเป็นช่างภาพให้กับนิตยสาร TIME ตั้งแต่ปี 1984- 2018

ในปี 2003 เขาได้รับบาดเจ็บจากลูกระเบิด ระหว่างทำงานที่นครแบกแดดให้กับนิตยสาร TIME เพื่อบันทึกภาพการบุกอิรักโดยสหรัฐ เหตุการณ์นั้นมีทหารสองนายได้รับบาดเจ็บ พร้อมกับผู้สื่อข่าวของนิตยสาร TIME ส่วนตัวเขายังสามารถถ่ายภาพการช่วยชีวิตโดยแพทย์สนามได้หลายภาพก่อนที่จะหมดสติ ช่างภาพได้รักษาตัวในโรงพยาบาลในสหรัฐจนหายดี หลังจากนั้นได้เดินทางมาบันทึกภาพโศกนาฏกรรมจากคลื่นยักษ์สึนามิที่ถล่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2004 ได้อีกด้วย

ผู้สนใจสามารถชมงาน James Nachtwey: Memoria Exhibition นิทรรศการรวมผลงานภาพถ่ายสงคราม และภัยพิบัติของ เจมส์ นาคท์เวย์ ระหว่างวันที่ 5 กันยายน 2566 – 26 พฤศจิกายน 2566 เวลา 10.00 – 20.00 น. ณ ชั้น 7 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เข้าชมฟรี  ติดตามรายละเอียดได้ที่ http://www.rpst.or.th/

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ประเพณี12เดือน' ภาพถ่ายทันสมัย เปิดมุมมองใหม่

มุมมองใหม่ๆ ที่เปิดเผยความงดงามของประเพณีไทยและบอกเล่าวิถีชีวิตผ่านเลนส์กว่า 200 ภาพ ในนิทรรศการภาพถ่าย“ประเพณี 12 เดือน ร้อยมุมมองวิถีไทย” ไม่เพียงสะท้อนถึงความเป็นไทยที่น่าภาคภูมิใจเท่านั้น แต่ยังพัฒนาวงการถ่ายภาพของประเทศไทย เห็นได้จากที่มี

ตามรอยภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ 'บ้านเขา เมืองเรา'

เปิดโอกาสให้พสกนิกรไทยมีโอกาสได้ร่วมตายรอยเสด็จฯ และชื่นชมพระอัจฉริยภาพด้านการถ่ายภาพของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผ่าน 150 ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ทรงบันทึกไว้ระหว่างการเสด็จฯ ไปยังสถานที่

กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์'บ้านเขา เมืองเรา'

วันที่ 11 ธ.ค.2566 - เวลา 8.50 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จ พระราชดำเนินทรงเปิดงานนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “บ้านเขา เมืองเรา : Theirs and Ours” ประจำปี 2566 ครั้งที่ 17 โดยมี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์