สุโขทัยเมืองที่มีความเจริญทางอารยธรรมที่สะท้อนผ่านสถาปัตยกรรมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและศรีสัชนาลัย ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลก เมืองนี้ยังรุ่มรวยศิลปิน มีโอกาสเยือนบ้านสองศิลปินแห่งชาติที่มีถิ่นพำนักที่นี่ รศ. ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2559 ผู้ที่ใช้นามปากกาว่า” ไพฑูรย์ ธัญญา” และประทีป สุขโสภา ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงพื้นบ้าน) พ.ศ.2563 ผู้รังสรรค์ผลงานทรงคุณค่า ในโอกาสที่นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) นางสาวปราณิสา เตียวพิพิธพร ผู้เชี่ยวชาญด้านเครือข่ายและชุมชน นางพรนิภา บัวพิมพ์ ผู้อำนวยการกลุ่มสวัสดิการศิลปินแห่งชาติ พร้อมคณะฯ เข้าเยี่ยมบ้านศิลปินแห่งชาติ
โกวิท ผกามาศ เยี่ยมบ้านศิลปินแห่งชาติ ไพฑูรย์ ธัญญา
บ้านหลังแรกอยู่ใจกลางเมืองสุโขทัย บนถนนจรดวิถีถ่องของ ต.ธานี เข้าไปในซอยเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยแปลงผักสวนครัว เป็นที่ตั้งของบ้านไพฑูรย์ ธัญญา ที่ศิลปินอยู่อาศัย และเขียนผลงานเรื่องสั้นและบทกวี บ้านปูนชั้นเดียวร่มรื่นด้วยแมกไม้เขียวขจี ข้างบ้านมีห้องจัดเก็บหนังสือ มีมุมนั่งทำงานของไพฑูรย์ ธัญญา กับแมวขนปุกปุยคอยอยู่เป็นเพื่อนภายในห้อง เดิมนักเขียนผู้นี้เกิดและเติบโตที่ จ.พัทลุง เส้นทางการเป็นนักเขียนของเขาส่อแววให้เห็นตั้งแต่วัยรุ่น ขณะศึกษาอยู่วิทยาลัยครูสงขลา เพราะนิสัยที่ชอบอ่านหนังสือ
ต่อมาเมื่อเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้เกิดความมุมานะและหมั่นฝึกฝนเขียนเรื่องสั้น ควบคู่ไปการแต่งบทกวี หลังจากเรียนจบสอบเข้าบรรจุครูสอนโรงเรียนระดับประถม ต่อมาได้ตัดสินใจไปศึกต่อในระดับปริญญาโทที่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พิษณุโลก ช่วงเวลานี้เขาได้พบรักและสร้างครอบครัวที่จ.สุโขทัย ก่อนปักหลักชีวิตที่เมืองรุ่งอรุณ ปัจจุบันมีตำแหน่ง รศ.ประจำภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก
ชีวิตของนักเขียนผู้นี้อุทิศทำหน้าที่เป็นเรือจ้างอย่างเต็มที่ ถ่ายทอดทักษะของการใช้ภาษาเพื่องานเขียน ควบคู่ไปกับการประพันธ์เรื่องสั้นและแต่งบทกวี ผลงานของเขาสะท้อนให้เห็นถึงลีลาและกลวิธีในการเล่าเรื่องอย่างมีศิลปะทางวรรณศิลป์ เน้นการแสดงทัศนคติเชิงสร้างสรรค์ที่มีต่อสังคมไทย ด้วยประเด็นที่หนักแน่นและการดำเนินเรื่องกระชับ ชวนให้ผู้อ่านได้ขบคิด เห็นภาพชัดเจนแม้จะถ่ายทอดผ่านตัวอักษร
ภายในห้องหนังสือบ้านศิลปินแห่งชาติ ไพฑูรย์ ธัญญา
ผลงานเขียนในนาม ไพฑูรย์ ธัญญา มีทั้งบทกวีและเรื่องสั้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 พร้อมกับเพื่อนนักเขียนรุ่นใหม่ในเขตปริมณฑลรอบ ๆ บ้านเกิด เป็นสมาชิกก่อตั้งของกลุ่มนาคร กลุ่มศิลปวรรณกรรมที่สำคัญของหัวเมืองปักษ์ใต้ เรื่องสั้นเล่มแรกที่ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี พ.ศ. 2530 คือเรื่อง ก่อกองทราย ที่เขียนปี พ.ศ.2527 หลังจากนั้นศิลปินมีผลงานเขียนตีพิมพ์อยู่เรื่อยๆ
นอกจากนามปากกา ไพฑูรย์ ธัญญา นักเขียนยังใช้นามปากกาหลายชื่อด้วยกัน อาทิ กำชำ เชื้อชาวนา ใช้กับผลงานเรื่องการเก็บข้าวด้วย และลีลาอ่อนเหนือเรียวรวง นามปากกา บรรทัดภูทักษิณ ใช้กับผลงานบทกวีเรื่อง มือที่ว่างเปล่า และนามปากกา สีดำ ดอกแคขาว ใช้กับผลงานบทกวี เจ้าร่างน้อยนอนนิ่งบนเตียงต่ำ นอกจากนี้ยังเป็นนักวิชาการเขียนตำราทฤษฎีวรรณกรรมและหนังสือรวมบทความวิชาการซึ่งได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ใน วงกว้าง และเป็นผู้อุทิศตน บ่มเพาะ ปลูกฝัง สร้างนักอ่านและนักเขียนซึ่งเป็นเยาวชน โดยการทำโครงการค่ายวรรณกรรมสัญจรประสบผลสำเร็จยาวนานถึง 25 ปี ปัจจุบันเป็นทั้งครู นักเขียน นักวิชาการ เดินสายมอบความรู้หลายแห่งในแถบภาคเหนือตอนล่าง
“ ในกระแสวงการวรรณกรรม มาถึงจุดที่หมดยุคทองของการอ่าน และโรงพิมพ์ก็น้อยลง เพราะปัจจุบันคือยุคดิจิทัลไปหมดแล้ว นักเขียนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่จะเขียนนิยายในกระแสที่วัยรุ่นชอบอ่าน ส่วนงานเขียนเชิงสร้างสรรค์อาจจะไม่มากเท่า แต่ก็มีเวทีที่รองรับนักเขียนทั้งรางวัลซีไรต์ รางวัลพานแว่นฟ้า หรือรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด แต่ทั้งนี้ยังขาดช่องทางในการเผยแพร่ อีกทางที่ช่วยในการแผยแพร่ทักษะด้านวรรณศิลป์ คือ โครงการศิลปินแห่งชาติสัญจร ซึ่งก็หยุดไปในช่วงโควิด19 “ ไพฑูรย์ กล่าว
หนังสือคลังปัญญาภายในบ้าน ไพฑูรย์ ธัญญา
ศิลปินแห่งชาติบอกด้วยว่า กำลังเก็บข้อมูลเพื่อนำมาเรียบเรียงเขียนนิยายเกี่ยวกบฏผีบุญเรื่องราวในภาคอีสาน เพื่อนำมาเรียบเรียง เรื่องมีความเป็นย้อนยุคตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ส่วนโครงการในอนาคตที่อยากทำเป็นเปิดคอร์สสอนทักษะการเขียนเรื่องสั้น วรรณกรรม บทกวี รวมถึงการใช้ภาษาต่างๆ เพื่อเป็นอีกช่องทางให้กับผู้ที่สนใจอยากเขียนได้เข้ามาศึกษา
บ้านหลังถัดไป มุ่งหน้าสู่ อ.สวรรคโลกที่บ้านของ ประทีป สุขโสภา ศิลปินเพลงพื้นบ้าน ผู้มุ่งมั่นถ่ายความรู้ที่สั่งสมมากว่า 50 ปี โดยเปิดบ้านให้เป็นสถานที่แสดงและฝึกสอนเพลงพื้นบ้านสำหรับผู้ที่สนใจ แม้ว่าครูเพลงจะมีปัญหาสุขภาพแต่ไม่เคยจะหยุดความตั้งใจถ่ายทอดวิชาให้แก่ผู้ที่สนใจ ที่บ้านครูประทีปพร้อมภรรยาต้อนรับด้วยรอยยิ้มอันอบอุ่น และได้นั่งสนทนากันอยู่ตรงลานกว้างกลางบ้าน
ประทีป สุขโสภา ศิลปินแห่งชาติ
ครูเพลงผู้นี้ได้ฟื้นฟูการเล่นกรับชนิดกลมสองคู่ที่สูญหายให้กลับคืนมา อีกทั้งยังมีความรู้และเชี่ยวชาญการขับร้องเอื้อนเสียง ออกลีลาท่าทาง ไปพร้อมกับมือที่รัวกรับเพื่อสร้างจังหวะของบทเพลง บทเพลงที่ประพันธ์ส่วนใหญ่มาจากนิทานชาดก นิทานพื้นบ้าน ตำนานท้องถิ่น เพลงที่โด่งดังมาก คือ เพลงขอทาน มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวทั้ งทำนองกรับ ทำนองโทน ทำนองโหม่ง ทำให้เกิดมโนภาพ และสุนทรียในยามแสดง
บทเพลงอีกมากมายที่ครูประทีปได้ประพันธ์แต่งเติม เช่น เพลงแห่นาค เพลงแห่นางแมว เพลงรำโทน เพลงแหล่ต่างๆ ซึ่งได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเพลงพื้นบ้านทั้งในระบบ และนอกระบบการศึกษา จนกระทั่งเกษียณจากข้าราชการครูก็ยังทำหน้าที่เป็นครูผู้ส่งต่อความรู้ให้แก่ศิษย์จนถึงปัจจุบัน ลานกว้างหน้าบ้านเป็นห้องเรียนพร้อมกับเครื่องดนตรีกรับคู่กาย ถือเป็นเครื่องดนตรีชิ้นแรกที่เหล่าผู้มาเรียนต้องฝึกจับจังหวะให้ได้เพื่อพัฒนาการเล่นดนตรีในขั้นต่อไป
อธิบดี สวธ.เยี่ยมบ้านประทีป สุขโสภา ที่สุโขทัย
ครูประทีป กล่าวว่า ตลอดชีวิตที่เล่นเพลงพื้นบ้านล้วนมาจากความตั้งใจอยากจะเผยแพร่ศิลปะการแสดงนี้ให้คงอยู่ต่อไป ในอดีตเคยแต่งผลงานเพลงพื้นบ้านมากมาย แต่เสียดายที่ไม่เคยได้เก็บข้อมูลผลงานไว้ ที่ผ่านมาพยายามเก็บผลงานเพื่อนำไปเผยแพร่หรือใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อคนรุ่นหลัง ส่วนผู้เรียนมาจากทั่วประเทศ ตนสอนเท่าที่สอนได้ เริ่มจากพื้นฐานการใช้กรับ เพื่อให้เข้าใจจังหวะและทำนอง ก่อนจะขับร้องไปพร้อมกับเพลง และไปต่อยอดด้วยตัวเอง อีกช่องทาง คือ การศึกษาผ่านคลิปวิดีโอการสอนที่มีในยูทูป สามารถไปเรียนรู้ได้ หรือจะมาเรียนที่บ้านของครูก็ได้ “ ครูประทีป กล่าว
“ ต้องยอมรับในปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่สนใจเพลงพื้นบ้านน้อย บางคนที่สนใจเพราะไม่เคยเห็นการเล่นดนตรีลักษณะนี้ แต่อย่างน้อยก็ดีที่พวกเขายังมีความสนใจที่อยากจะเรียนรู้ความเป็นมา ครูเองยังเล่นดนตรีไหวจะยังเดินหน้าถ่ายทอดความรู้เรื่องเพลงพื้นบ้าน และแต่งเพลงบ้างตามโอกาสให้ศิลปะเหล่านี้ยังอยู่สืบไป” ครูประทีปบอกด้วยรอยยิ้ม ก่อนแสดงเพลงพื้นบ้านพร้อมเล่นกรับให้ชมเป็นพิเศษในโอกาสมาเยือนบ้านศิลปินแห่งชาติ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ประกาศแล้ว 7 เรื่องสั้นเข้ารอบสุดท้ายซีไรต์ ปี 66
28 ส.ค.2566 - เวลา 14.30 น. คณะกรรมการดำเนินงานรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) จัดงานแถลงข่าวการประกาศผลรางวัลซีไรต์ รอบคัดเลือก (Shortlist) ประเภท “รวมเรื่องสั้น” ประจำปี 2566 โดยมี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานคณะกรรมการดำเนินงานรางวัลซีไรต์
89 ปี ทวี รัชนีกร สร้างศิลป์สะท้อนสังคม
ทวี รัชนีกร ชื่อชั้นเป็นที่เคารพยกย่องในฐานะศิลปินชั้นครูที่มีอุดมการณ์รังสรรค์ผลงานสะท้อนสังคม ซึ่งทวี รัชนีกร เป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่มีโอกาสเรียนกับท่านโดยตรง ปัจจุบันอาจารย์ทวี อายุ 89 ปี และกำลังมีงานแสดงครั้งใหญ่”นิทรรศการ 89 ปี ทวี รัชนีกร “ ณ หอศิลป์ทวี รัชนีกร อ.เมือง จ.นครราชสีมา
ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์ นักเขียนหญิงคว้าซีไรต์กวีนิพนธ์ ปี 65
2 ธ.ค.2565 - เวลา 14.00 น. ดร.สุเมธ ตันติเวชกุลประธานคณะกรรมการดำเนินงานรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) คณะกรรมการดำเนินงานรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน และคณะกรรมการตัดสิน พร้อมด้วยผู้ให้การสนับสนุน แถลงข่าวประกาศผลการตัดสินรางวัลซีไรต์ ประเภ
อวดโฉม 7 เล่มกวีนิพนธ์ เข้ารอบซีไรต์ปี 65
ปีนี้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ดร.สุเมธ ตันติเวชกุลทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการดำเนินงานรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) เป็นครั้งแรก ในงานแถลงข่าวประกาศผลรางวัลซีไรต์ รอบคัดเลือกประเภท “กวีนิพนธ์” ประจำปี พ.ศ. 2565
'นักเขียนซีไรต์' ชี้ทางสว่าง 'ลุงโทนี' ถ้าอยากเป็นอมตะต้องอ่านนวนิยายเรื่อง 'อมตะ' ที่ได้รับรางวัลซีไรต์
'นักเขียนซีไรต์' ชี้ทางสว่าง'ลุงโทนี'ถ้าอยากเป็น อมตะ ต้องอ่านนวนิยายเรื่อง'อมตะ' ได้รับรางวัลซีไรต์แล้วจะรู้วิธีเป็นอมตะ ชี้ ความเป็นอมตะไม่ใช่ไม่เผาหรือมีคนพูดถึงหรือกราบไหว้บูชาหรือก่นด่าไปตลอดกาลแต่คือการบรรลุธรรม
'นักเขียนซีไรต์' เผยเหตุผลจำเป็นต้อง 'เป็นสลิ่มต่อไป'
วิมล ไทรนิ่มนวล นักเขียนรางวัลซีไรต์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ว่าเป็นสลิ่มต่อไป...