อธิบดีศน.ยัน'ครูกายแก้ว' ไม่เข้าหลักศาสนา

จากกระแสของครูกายแก้วที่มีผู้นำมาประดิษฐานที่บริเวณลานโรงแรม เดอะ บาซาร์ แบงค็อก รัชดาภิเษก ที่ผ่านมานั้น นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา (ศน.) กล่าวว่า เสียงวิพากษ์วิจารณ์การนำครูกายแก้วมาประดิษฐานมีทั้งผู้ที่เชื่อและเคารพศรัทธา และผู้ที่ไม่เชื่อและไม่เคารพนับถือ รวมทั้งมีเครือข่ายทางพระพุทธศาสนาต่างๆ เรียกร้องให้รื้อถอนหรือย้ายออกไป เพราะทำให้เกิดความไม่สบายใจ เพราะมีรูปลักษณ์ที่ดูน่ากลัวและอาจให้โทษ ก่อให้เกิดความวิตกกังวล โดยในส่วนของโรงแรมเจ้าของพื้นที่ได้หารือร่วมกับกรุงเทพมหานคร โดยจะมีการจัดทำออกแบบโดมครอบรูปปั้นครูกายแก้วเพื่อไม่ให้ปรากฎต่อสายตาสาธารณชน เพื่อลดความไม่สบายใจ และยังมีการขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งศน.ด้วยว่าเป็นการกระทำที่ผิดต่อศีลธรรมอันดีหรือไม่
นายชัยพล กล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 31 กำหนดว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนาและย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติหรือประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนาของตน  แต่ต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยไม่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งการสักการะหรือบูชารูปปั้นดังกล่าว ไม่นับว่าเป็นศาสนา เนื่องจากไม่ครบองค์ประกอบของการเป็นศาสนา ซึ่งต้องประกอบด้วย ศาสดา ศาสนธรรม ศาสนทายาท ศาสนสถาน และศาสนพิธี 

ส่วนประเด็นการสักการะรูปปั้นเป็นการดำเนินการ โดยปราศจากการบังคับหรือถูกชักจูง ถือเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ที่สามารถเลือกปฏิบัติตามความเชื่อของตนที่อาจแตกต่างจากบุคคลอื่น ขณะเดียวกันองค์การทางศาสนาต่างๆ ได้หารือโดยมีความเห็นดังนี้ องค์การทางศาสนาพุทธ เห็นว่า ครูกายแก้วไม่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา เป็นความเชื่อส่วนบุคคล องค์การทางศาสนาคริสต์ เห็นว่า เป็นความเชื่อของแต่ละบุคคล การนับถือของแต่ละศาสนา รวมถึงผู้ที่ไม่นับถือศาสนามีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ ขอให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ส่วนองค์การทางศาสนาฮินดู เห็นว่า ปัจจุบันสื่อมีบทบาทสูงในการให้ข้อมูลควรให้ความรู้ที่ถูกต้องปัจจุบันประเทศไทยมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม จึงต้องเรียนรู้และเข้าใจหลักปฏิบัติในการอยู่ร่วมกัน  ประเด็นเรื่องครูกายแก้วถือเป็นความเชื่อของแต่ละบุคคลในการบูชากราบไหว้
 อธิบดี ศน. กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ครูกายแก้วยังไม่ปรากฎในพระไตรปิฎกหรือปุคคลบัญญัติต่างๆ ของพระพุทธศาสนา รวมถึงไม่ปรากฎในพระคัมภีร์หรือสอดคล้องกับบุคคลทั้ง 5 ศาสนา (พุทธ อิสลาม คริสต์ พราหมณ์-ฮินดู ซิกข์) ซึ่งเป็นเพียงปรากฎการณ์ทางความเชื่อ ดังนั้น ประชาชนควรยึดมั่นในหลักคำสอนของศาสนาที่นับถือ ซึ่งสอนให้ทุกคนเป็นคนดี อย่างไรก็ตาม หากมีผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบพิธีกรรม การจำหน่ายเครื่องสักการะบูชา วัตถุมงคลที่มีการโอ้อวดคุณวิเศษเกินจริงอาจเข้าข่ายความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ‪341-343‬ หรือหากมีการหลอกลวงให้หลงเชื่อนำข้อความอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560ด้วย
ที่อาคารเรียนรวม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ศ.พิเศษ ร.ท.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ ราชบัณฑิต กล่าวตอนหนึ่งในการบรรยายพิเศษ “บูชาครูกายแก้ว สังคมได้อะไร” จัดโดยหลักสูตรพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต ภาคเสาร์ – อาทิตย์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร)  ว่า  ครูกายแก้วนั้น ตนเชื่อว่ามาจากคนที่สร้างขึ้นเพื่อหวังประโยชน์ทางธุรกิจ เช่น จตุคามรามเทพ ไอ้ไข่ เป็นต้น กรณีครูกายแก้วถ้ายุติ ไม่ยับยั้ง ต่อไปจะมีการสร้างเหรียญ นิมนต์พระไปปลุกเสกด้วย จะทำให้เกิดการซื้อขายกันมาก การเกิดกระแสไม่เห็นด้วยถือว่าดีแล้ว คนไทยส่วนใหญ่แม้นับถือพุทธศาสนา แต่ก็มักหาที่พึ่งทางใจจากเทพ และโดยเฉพาะชาวบ้านที่มุ่งให้มีกินมีใช้ แม้จะบอกเป็นพุทธก็พร้อมที่จะเสียหลักการพุทธ เพื่อนำเทพเจ้าอื่นเข้ามา ปรากฎการณ์ครูกายแก้วที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นความเป็นพุทธแท้ของคนไทยมีมากน้อยเพียงใด เพราะการเป็นพุทธแท้เมื่อเกิดภัยต่อพระศาสนา ต้องพร้อมที่จะป้องกัน กล้าประกาศหลักการของพระพุทธศาสนา
 ศ.พิเศษ ร.ท.ดร.บรรจบ กล่าวต่อว่า ถ้ามุ่งนับถือครูกายแก้ว เพื่อหวังโชคลาภ ตนมองว่าเมืองไทยมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์เยอะมาก ทั้งพระพุทธรูปโดยเฉพาะพระพุทธรูปทันใจ และยังมีรูปเหมือนครูบาอาจารย์ มองว่าน่าจะพอแล้ว แต่ที่ขอแล้วมีทั้งคนได้ และคนไม่ได้อยู่ที่อะไร ขึ้นอยู่กับบุญของคนขอด้วย เป็นเรื่องที่น่าศึกษา ทุกวันนี้ครูกายแก้วอยู่ในฐานะอะไรก็ยังไม่ชัดเจนว่า เป็นมนุษย์ หรือเป็นโอปปาติกะ (ผู้เกิดผุดขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยพ่อแม่ อาศัยอดีตกรรม ได้แก่เทวดา พรหม สัตว์นรก เปรต อสุรกาย) เป็นเทพ หรือเป็นอสูร ต้องหาสถานะตรงนี้ก่อน เทพกับอสูรล้วนมีฤทธิ์ แต่หากเป็นอสูร อยู่ระดับไหน เพราะหากเป็นอสูรระดับไปตกทุคติภูมิ (ภูมิไม่ดี) พวกนี้จะมีฤทธิ์ในทางไม่ดี แต่หากเป็นอสูรใกล้ชิดเทวดาใกล้สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จัดเป็นอสูรที่เป็นเทพ ซึ่งเท่าที่ดูครูกายแก้วไม่น่าจะเป็นอสูรประเภทนี้ แต่ก็ไม่สามารถบอกว่าเป็นอสูรประเภทใด เพราะจะไปขัดศรัทธาของคนที่นับถือ อย่างไรก็ตามเห็นว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สง่างามในบ้านเราปัจจุบันก็มีมากพอแล้ว คงไม่ต้องไปเอาของที่ไหนเข้ามาอีกแล้ว ผู้ที่ศรัทธาครูกายแก้วเป็นการหาที่พึ่ง เมื่อมีคนสร้างปรากฎการณ์ ก็หวังไปหาที่พึ่ง แต่ตนก็ยืนยันว่าเมืองไทยมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้พึ่งมากพอ ไม่ต้องไปนำมาเพิ่มจากไหนแล้ว   

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'วันอาสาฬหบูชา' เปิดพื้นที่อนุรักษ์วิถีแห่งศรัทธา

วันอาสาฬหบูชา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ปีนี้ ตรงกับวันที่ 20 กรกฎาคม 2567  ถือเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสน อาสาฬหบูชา ย่อมาจากคำว่า "อาสาฬหปูรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ" อันเป็นเดือนที่ 4 ตามปฏิทินของประเทศอินเดีย ตรงกับวันเพ็ญ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย มักตรงกับเดือน ก.ค. หรือ

ศรัทธาพุทธศาสนาในเจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์

เนื่องในโอกาสคล้ายวันประสูติสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒนวรขัตติยราชนารี ทรงเจริญพระชนมายุ 67 พรรษา วันที่ 4 กรกฎาคม 2567 นับเป็นโอกาสอันดียิ่งที่พสกนิกรชาวไทยจะได้แสดงออกถึงความจงรักภักดีด้วยการบำเพ็ญคุณงามความดีถวายพระกุศล

เจริญพระพุทธมนต์เฉลิมพระเกียรติกรมพระศรีสวางควัฒนฯ ที่วัดป่าบ้านตาด

28 มิ.ย.2567 ที่ศาลาใหญ่ วัดเกสรศีลคุณ (วัดป่าบ้านตาด) ต.บ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี พระราชวชิรธรรมาจารย์ วิ. (สุธรรม สุธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดเกสรศีลคุณ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ในพิธีเจริญพระพุทธมนต์เฉลิมพระเกียรติสมเด็

'ตักบาตรหาบจังหัน' วิถีงดงามบ้านหาดสองแคว

ประเพณีตักบาตรหาบจังหัน เป็นวัฒนธรรมประเพณีชาวบ้านหาดสองแคว จ.อุตรดิตถ์ หรือชาวไทยเชื้อสายลาวเวียงที่อาศัยอยู่ในหาดสองแคว ที่พบเห็นได้ยามเช้าของทุกวันที่ชาวบ้านออกมารอใส่บาตรพระ ด้วยชุมชนแห่งนี้ผูกพันกับวัด คนในชุมชนยึดถือปฏิบัติและสืบทอดกันมายาวนานจากรุ่นสู่รุ่น 

ตั้ง4คณะอนุกรรมการ เร่งทำข้อมูลเสนอ'ครูบาศรีวิชัย'ต่อยูเนสโก

18 มิ.ย.2567 - นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า  ในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเสนอวาระครบรอบ 150 ปี ชาตกาล ครูบาเจ้าศรีวิชัย เพื่อให้องค์การยูเนสโกรับรองและร่วมเฉลิมฉลอง ครั้งที่ 1/2567

'วิสาขบูชา' ไทย-ลาว สืบทอดศรัทธาวิถีพุทธ

วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของศาสนาพุทธ เป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา 3 เหตุการณ์ คือ ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ประเทศไทยและเพื่อนบ้านในลุ่มน้ำโขงอย่าง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวที่มีประชาชนส่วนใหญ่นับถือ