ประเทศไทยตั้งเป้าไว้ว่าในปี 2023 นี้ จะส่งเสริมให้หลายเมืองหรือมากกว่า 15 เมือง เป็นSmartCity หรือเมืองอัจฉริยะ ซึ่งการพัฒนานี้ จะเป็นการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาเมือง มูลค่ามากกว่า 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแนวทางการพัฒนาเมืองดังกล่าว สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับการพัฒนาเมืองของประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียน ที่มองว่า การเติบโตของเศรษฐกิจและเมือง จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนสภาพเมือง ให้เป็นเมืองที่มีศักยภาพเทคโนโลยีทันสมัย และมีนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ ส่งผลทางบวกต่อสภาพชีวิตความเป็นอยู่ การเรียนรู้และการทำงานของผู้คนที่อาศัยในเมืองดีขึ้่น ตลอดจน เป็นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่เมืองได้ง่ายขึ้น
ล่าสุดสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า)ร่วมกับภาครัฐและเอกชนหลายภาคส่วน แถลงการจัดงาน “Thailand Smart City Expo 2023” ที่จะมีขึ้น ระหว่างวันที่ 22-24 พฤศจิกายนนี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีคณะผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ในฐานะผู้ขับเคลื่อนโนบายเมืองอัจฉริยะทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมงาน ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร และผู้ช่วยศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.วิระศักดิ์ ฮาดดา นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย รวมถึงผู้แทนจากกลุ่มผู้แสดงสินค้าภายในงาน ได้แก่ นายภุชงค์ เจริญสุข Enterprise Product Marketing Manager บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวิร์ค จํากัด และนายวชิระชัย คูนำวัฒนา Head of Smart System Solution Business บริษัท เอสซีจี-ซิเมนต์ ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด
ดร. ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการ กลุ่มงานโครงการพิเศษและศูนย์พัฒนาดิจิทัลและนวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวว่า ดีป้าอยู่ภายใต้สังกัด กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ซึ่งการ สนับสนุนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในประเทศไทย ถือว่าเป็นหนึ่งในมาตรการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ โดยกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ จะต้องมีการบูรณาการการทำงานในทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานท้องถิ่น ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาชน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม และตอบโจทย์ความต้องการอย่างตรงจุด ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีเมืองได้รับความเห็นชอบแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เพิ่มเติมจากที่ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา และประกาศเป็นเมืองอัจฉริยะแล้ว 36 พื้นที่ใน 25 จังหวัด
“ความร่วมมือกับ เอ็น.ซี.ซี. ในการจัดงาน “Thailand Smart City Expo 2023” จะเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่จะช่วยผลักดันประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะได้อย่างสมบูรณ์ ผ่านการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่มุ่งเน้นให้คน เป็นศูนย์กลาง เพื่อให้เกิดแผนการพัฒนาเมือง รวมถึงโครงการที่ตอบสนองบริบทของพื้นที่ และความต้องการของประชาชนให้กับผู้บริหารเมือง ทั้งระดับประเทศ จังหวัด และชุมชน อันจะนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน ยกระดับสังคม และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน”ผอ.ดีป้ากล่าว
ในงาน “Thailand Smart City Expo 2023” นี้ “ดีป้า” ยังได้ร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) จัดเวิร์คช้อปเพื่อยกระดับการพัฒนาพิธีมอบรางวัล The Smart City Solution Awards 2023 และยังมีการรวมแหล่งรวมองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเป็นแนวทางให้กับภาครัฐองค์กรส่วนปกครองท้องถิ่น หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้เข้าใจถึงเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับเมืองของตนเพื่อต่อยอดในการพัฒนาเมืองได้อย่างยั่งยืน
ด้าน นายสุรพล อุทินทุ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า ในปัจจุบัน การพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศทั่วโลก ในการใช้เป็นเครื่องมือยกระดับคุณภาพชีวิต และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน สำหรับในประเทศไทยของเรานั้น นโยบายด้าน Smart City ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องและเห็นเป็นรูปธรรมแล้วในหลายพื้นที่แล้ว อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในนโยบายของทุกพรรคการเมือง ซึ่งเมื่อจัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว คาดว่าพรรคการเมืองที่จะเข้ามาบริหารประเทศจะเร่งดำเนินนโยบาย Smart City อย่างเต็มรูปแบบด้วย ส่วนความหมายของการเป็น Smart City คือการพัฒนาเมืองหรือท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่สะดวกสบาย ปลอดภัย และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยเครื่องมือในการจัดเก็บฐานข้อมูล ซึ่งจะนำมาบริการจัดการ ตามแต่ละบริบท ภูมิศาสตร์ และรูปแบบความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่นหรือเมืองนั้นๆ ด้วยเทคโนโลยี-นวัตกรรม มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและหลากหลาย เพื่อรองรับความต้องการทุกในทุกด้าน
“ภาคเอกชน จะมีบทบาท นำเทคโนโลยีด้าน Smart City มาใช้เป็นมาตรฐาน ในการพัฒนาโครงการต่างๆ เพื่อให้การบริหารจัดการด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการต้นทุน การบริหารจัดการด้านพลังงาน ด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงยังเป็นการสร้างแบรนด์ทางการตลาด โดยบริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ฯ ในฐานะผู้บริหารศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ได้ใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการศูนย์การประชุมและศูนย์แสดงสินค้าแห่งนี้ ให้มุ่งสู่การเป็น Smart Venue ระดับโลกอย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งในแง่ Smart Energy และ Smart Living โดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ อาทิ ติดตั้งกล้อง CCTV ที่มีระบบ AI ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย ติดตั้งระบบ Building Management System (BMS) ที่เชื่อมต่อกับสิ่งอำนวยความสะดวก ต่างๆ ภายในศูนย์ฯ ควบคุมการใช้แสงสว่าง ปริมาณการใช้ไฟฟ้า หรือน้ำจากส่วนกลาง เพือประหยัดพลังงาน และตอบโจทย์ Sustainability รวมถึงการใช้ระบบชำระเงินแบบไร้เงินสด (Cashless) ตอบโจทย์ Smart Retail เป็นต้น และยังมีเทคโนโลยีอีกมากมายที่เราได้นำมาใช้”นายสุรพลกล่าว
สำหรับงานประชุม Thailand Smart City Expo 202 แบ่งหมวดหมู่เทคโนโลยีออกเป็น 7 ด้านสำคัญสำหรับ Smart City ได้แก่ Smart Telecom, Smart Energy, Smart Living, Smart Industry & Retail, Smart Mobility, Smart Environment และ Smart Healthcare ซึ่งจัดแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีจากบริษัทชั้นนำกว่า 300 บริษัท รวมถึงพาวิลเลียนจากต่างประเทศ ไฮไลท์ที่สำคัญของปีนี้ จะมีการจัดเสวนาระดับนานาชาติ เรื่องทิศทางการพัฒนาเมืองของกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง และเมือง Smart City ต้นแบบจากญี่ปุ่น รวมถึงการประชุม การเสวนาขยายผลจากนโยบายด้านต่าง ๆ ของรัฐบาลที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ในเร็ว ๆ นี้อีกด้วย
ในงาน ยังเป็นเวทีสำหรับผู้บริหารเมืองได้มาสัมผัสถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีล้ำสมัย และผู้บริหารโครงการภาครัฐและเอกชน ในฐานะผู้ซื้อ จะได้มาเลือกสรร และศึกษานวัตกรรมเทคโนโลยีต่าง ๆ ล่วงหน้า ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อดำเนินโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ในขณะเดียวกัน งานนี้ก็จะเป็นเวทีสำหรับเจ้าของเทคโนโลยี บริษัทผู้ให้บริการและผู้แทนจำหน่ายจะได้พบกับผู้ซื้อโดยตรงจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนทั่วประเทศตลอดทั้ง 3 วันของการจัดงาน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ดีป้า' เปิดตัวโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล ยกระดับเกษตรกรชาวสวนทุเรียน
ดีป้า ส่งเสริมเกษตรกรไทยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต เดินหน้าเปิดตัวโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (OTOD ทุเรียนดิจิทัล) ขับเคลื่อนการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลผ่านแอปพลิเคชันภาคการเกษตรสำหรับบันทึก จัดเก็บข้อมูล ติดตามย้อนกลับการเพาะปลูก สร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภค ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ยกระดับสินค้าเกษตรมูลค่าสูงสู่ตลาดโลก พร้อมพัฒนาทักษะและศักยภาพเกษตรกรไทยสู่เกษตรอัจฉริยะอย่างยั่งยืน
ไทยพร้อมจัดงานระดับโลก IEEE International Smart Cities ระดมผู้เชี่ยวชาญ-นวัตกรรมสุดล้ำ ยกระดับไทยสู่เมืองอัจฉริยะ!
สมาคมไฟฟ้าและพลังงานไอทริปเปิลอี (ประเทศไทย) เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการนานาชาติด้านสมาร์ทซิตี้ระดับโลก 10th IEEE International Smart Cities Conference (IEEE-ISC2- 2024)
'ดีป้า' แถลงผลสำเร็จ ยกระดับทักษะโค้ดดิ้ง สร้างรากฐานอนาคตประเทศไทย
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า โครงการ Coding for Better Life สร้างรากฐานอนาคตประเทศไทย คือโครงการในแผนงาน