ประเทศไทยนับเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ที่มีความลับในคุณประโยชน์ที่ยังไม่รู้อีกมาก และนำไปสู่การค้นคว้า วิจัย เพื่อนำมาเป็นสารตั้งต้นในการคิดค้นวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งที่ไม่เพียงแค่ประโยชน์ในเชิงเกษตรกรรมเท่านั้น แต่ในด้านวงการแพทย์ ยังทำให้เกิดการคิดค้นยารักษาโรค หรือการพัฒนาวัคซีนใหม่ๆได้ในอนาคต
โดยในปีนี้มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มอบรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ประจำปี 2566 ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 41 สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของนักวิทยาศาสตร์ประเทศไทย โดยเฉพาะการค้นหาและพัฒนาสารตั้งต้นจากทรัพยากร”ราไทย” เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนายา จากการวิจัยของ ศ.ดร.วัชรินทร์ รุกขไชยศิริกุล สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2566
สำหรับการวิจัยที่ใช้ราเป็นสารต้นเป็นการค้นพบความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ภาคใต้ ได้แก่ ราเอนโดไฟท์ที่ได้จากพืชสกุลการ์ซีเนีย พืชป่าชายเลนและหญ้าทะเล ราทะเลจากกัลปังหาและฟองน้ำ ราดินจากพื้นที่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ เขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี และป่าพลุสิรินธร จ.นราธิวาส จากการนำมาทดสอบและคัดเลือกยาที่มีศักยภาพสร้างสารต้านจุลินทรีย์และสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพอื่นๆ โดยที่ทราบชนิดของรามากกว่า 120 สายพันธุ์ ที่อาจจะนำไปพัฒนาต่อได้
ศ.ดร.วัชรินทร์ กล่าวว่า ราจัดเป็นแหล่งของสารตั้งต้นจุลินทรีย์ที่รู้จักกันมานาน ตั้งแต่มีการค้นพบยาเพนนิซิลลินที่แยกได้จาก”ราดิน”เมื่อ 50 ปีก่อน ทำให้เกิดการศึกษาสารปฏิชีวนะจากราดินเป็นวงกว้าง รวมถึงราจากแหล่งใหม่ๆ และจากฐานข้อมูล SciFinder ราเหล่านี้ผลิตสารใหม่ที่มีโครงสร้างเมทาบอไลท์จำนวนมาก และแสดงฤทธิ์ทางชีวภาพ และสามารถพัฒนาเป็นยาที่ใช้ได้ในปัจจุบัน ซึ่งตลอดระยะเวลา 15 ปี ที่ได้ร่วมวิจัยกับกลุ่มสหสาขาวิชาการที่ได้ทำการค้นหาวิจัยราด้านเมทาบอไลท์ในพื้นที่ภาคใต้จากราเอนโดไฟท์ ราทะเล และราดิน โดยมีเป้าหมายเพื่อค้นหาผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่เป็นโครงสร้างต้นแบบในการพัฒนาเป็นยา จากการแยกสารจากราเอนโดไฟท์ ราทะเล และราดิน ทำให้ได้คลังผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและฤทธิ์ทางชีวภาพจำนวนมากกว่า 1,100 สาร จำแนกเป็นสารใหม่ได้ถึงร้อยละ 30
จากการทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพในการวิจัยครั้งนี้ ทำให้พบสารต้นแบบ ได้แก่ 1.สารต้นแบบต้านแบคทีเรีย methicillin-resistant Staphylococcus aureus(MRSA) ที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะหลายชนิด 2.สารต้นแบบต้านมะเร็งเต้านมที่มีฤทธิ์ดีเทียบเท่าหรือมากกว่ายามาตรฐานที่ใช้ 3.สารต้นแบบลดไขมันในเลือด α,β-dehydromonnacolin S ซึ่งเป็นอนุพันธ์ใหม่ของยาโลวาสแตติน ที่ออกฤทธิ์ดีกว่าและใช้ในปริมาณที่น้อยกว่า 3-10 เท่า มีความเป็นพิษน้อยกว่า 18 เท่า ซึ่งมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นยารักษาภาวะไขมันในเลือดสูงผิดปกติ ภาวะไขมันพอกตับ และป้องกับการเกิดโรคเบาหวานแบบที่ 2 จากการทดลองในหนูขาวพบว่าสารนี้ไม่มีความเป็นพิษต่อตับและไต และสารลดไขมัน asperidine B ซึ่งเป็นอนุพันธ์ pyrrolidine จากราดิน สามารถออกฤทธิ์ได้เหมือนกับยา cholestyramine และยับยั้งการดูดซึมคอเลสเตอรอลที่เซลล์เยื่อบุผิวลำไส้ และ 4.สารต้นแบบยับยั้งโปรตีนช่องทางผ่านคลอไรด์ ที่เกิดในโรคอุจจาระร่วงและโรคหอบหืด พบว่าออกฤทธิ์ดีมากไม่มีความเป็นพิษต่อเซลล์ปกติ หรือเซลล์ที่ใช้ทดสอบ
“หลังจากกระบวนทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพ ทั้งในระดับห้องปฏิบัติการและทดลองในสัตว์ โดยขณะนี้ได้มีเป้าหมายที่จะเน้นสารต้นแบบลดไขมันในเลือด ที่มีศักยภาพที่จะนำไปพัฒนาเป็นยา แต่ทั้งนี้ก็ต้องศึกษาต่อลงลึกไปอีกเพื่อเทียบประสิทธิภาพและศักยภาพของสารตัวนี้ให้มากขึ้น และการศึกษาในกระบวนการเพาะเลี้ยงราแหล่งใหม่เพื่อผลิตโลวาสแตติน การเพาะเลี้ยงราในสภาวะที่ดีที่สุด คือ การเพาะเลี้ยงในอาหารพีดีบี ความเข้มข้นเท่ากับ 5X ในขวดรูปชมพู่ ระยะเวลาเพาะเลี้ยงประมาณ 21 วัน ด้วยอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส เป็นต้น โดยสามารถพัฒนาจากระดับห้องปฏิบัติการไปสู่ในระดับอุตสาหกรรมได้ รวมไปถึงการขยายการค้นคว้าวิจัยราชนิดใหม่ๆ เพราะอาจจะทำให้พบศักยภาพของราในการพัฒนาต่อยอดไปใช้ประโยชน์ได้เพิ่มมากขึ้น” ศ.ดร.วัชรินทร์ กล่าว
นอกจากนี้ยังมีรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2566 ได้แก่ รศ.ดร. ประสพชัย พัฒน์โรจนโสภณ สาขาวิชาเภสัชกรรมอุตสาหการ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้คิดค้นและพัฒนางานวิจัย การพัฒนาระบบนำส่งยาแบบยึดติดเยื่อเมือก เพื่อการนำส่งยาแบบเฉพาะที่ และการพัฒนานวัตกรรมทางเภสัชศาสตร์สำหรับการนำส่งยา รศ.ดร. ศุภฤกษ์ ประเสริฐธรรม ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้คิดค้นและพัฒนางานวิจัยวิศวกรรมการเร่งปฏิกิริยาเชิงคำนวณเพื่อการคัดกรองตัวเร่งปฏิกิริยาวิวิธพันธุ์และสนับสนุนการวิจัยของนักวิจัยใหม่ในภาคการศึกษาขั้นสูงและอุตสาหกรรมขนาดกลางและเล็ก และรศ.ดร. ชินธันย์ อารีประเสริฐ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ผู้คิดค้นและพัฒนางานวิจัย “การแปรรูปชีวมวลและของเสียประเภทต่าง ๆ ให้เป็นพลังงานหรือผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม
ด้านศาสตราจารย์ ดร. จำรัส ลิ้มตระกูล ประธานคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น กล่าวว่า การเปลี่ยนประเทศไทยจากการเป็นผู้ซื้อเทคโนโลยีมาเป็นผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมเช่นเดียวกับประเทศชั้นนำของโลก จำเป็นต้องศึกษาแนวโน้มของการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในช่วงเวลานั้นๆ ดังนั้นต้องอาศัยปัจจัยด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนด้านการวิจัย เพื่อเร่งสร้างนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยชั้นแนวหน้าให้เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันโครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) และเขตเศรษฐกิจพิเศษอื่น ๆ ของประเทศไทย ให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน และเป็นพลังขับเคลื่อนที่จะช่วยปลดล็อกประเทศให้หลุดจากสภาวะกับดักรายได้ปานกลาง และก้าวไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กลับมา..ขิงคู่แข่ง ด้วยนโยบายเขย่าโลก | จับจ้องมองโลก..อิสรา สุนทรวัฒน์
กลับมา..ขิงคู่แข่ง ด้วยนโยบายเขย่าโลก จับจ้องมองโลก..อิสรา สุนทรวัฒน์ : วันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม 2568
ทักษิณ ปลุกปีศาจ | ห้องข่าวไทยโพสต์สุดสัปดาห์
ห้องข่าวไทยโพสต์สุดสัปดาห์ : วันเสาร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2568
'ดร.ชิดตะวัน' .. เปิดหลุมดำ-หายนะ กาสิโน-พนันออนไลน์!! I อิสรภาพแห่งความคิด กับ..สำราญ รอดเพชร
'ดร.ชิดตะวัน' .. เปิดหลุมดำ-หายนะ กาสิโน-พนันออนไลน์!! อิสรภาพแห่งความคิด กับ..สำราญ รอดเพชร : วันเสาร์ที่ 25 มกราคม 2568
แม้เมืองมีปัญหาเศรษฐกิจแต่บางท่านอาจรวย(ตอนที่1)
แม้ผู้เขียนจะให้สัมภาษณ์และเขียนก่อนล่วงหน้าประมาณสาม
ตื่น!! รับฝุ่นพิษ | ห้องข่าวไทยโพสต์
ห้องข่าวไทยโพสต์ : วันศุกร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2568