วัดโพธิ์เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของคนกรุงและต่างชาติ ใครอยากเที่ยววัดโพธิ์ให้สนุกและได้ความรู้แบบเต็มอิ่ม ตอนนี้มีแอปพลิเคชัน “อินไซท์วัดโพธิ์” ” ที่จะช่วยวางแผนการเที่ยววัดโพธิ์ และรู้จักวัดโพธิ์ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือ “วัดโพธิ์” เป็นโบราณสถานสำคัญบนเกาะรัตนโกสินทร์สถาปัตยกรรมมีความโดดเด่นงดงาม และเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย มีตำรับตำรายา ตำรานวดแผนไทย ที่ถูกจารึกบนแผ่นศิลาในวัดไว้มากมายขึ้นทะเบียนมรดกโลก ใครมาเยือนย่านนี้ต้องไม่พลาดเที่ยวชม โดยแต่ละวันมีนักท่องเที่ยวราว 10,000 – 15,000 คน เข้าเยี่ยมชม รวมถึงเป็นฉากในซีรีส์ไทยย้อนยุคที่โด่งดังหลายเรื่อง ถือเป็น soft power สร้างเศรษฐกิจของประเทศไทย
คนส่วนใหญ่มาเที่ยว ถ่ายภาพ เช็คอินสวยๆ แต่ไม่ได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญทางประวัติศาสตร์ จุดประกายให้ ดร.วิลาสินี สุขสว่าง อาจารย์ประจำภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาแอปพลิเคชัน “อินไซท์วัดโพธิ์” ร่วมกับวัดโพธิ์ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เพื่อหนุนการเรียนรู้ประวัติศาตร์ สถาปัตยกรรม ศิลปกรรม วัดโพธิ์ ผ่านระบบ AR ที่พาเดินสำรวจวัดโพธิ์ทุกตารางเมตร พร้อมเสียงบรรยาย ภาพประกอบ ภาพโมเดล 3 มิติ ภาพเก่าเล่าอดีต แค่แสกนผ่านแอป
ดร.วิลาสินี สุขสว่าง กล่าวว่า วัดโพธิ์เป็นศาสนสถานที่เราต้องเคารพ และยังเป็นโบราณสถานที่เราต้องรักษา แต่เราจะเห็นกลุ่มนักท่องเที่ยวปีนป่าย โดยที่ไม่รู้ว่าสถานที่แห่งนี้มีคุณค่าและอายุเกินร้อยปี เมื่อเกิดการหักพังขึ้นมายากจะซ่อมแซมให้เป็นดังเดิมได้ พฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่ไม่เหมาะสมและสร้างปัญหาให้กับสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญแห่งนี้ ผลักดันให้ริเริ่มโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคม “อินไซท์วัดโพธิ์” เพราะถ้าไม่เร่งแก้ไขแต่วันนี้อาจจะสายเกินไปในวันหน้า เลือกวัดโพธิ์เพราะเป็นแหล่งท่องเที่ยวและเรียนรู้ศักยภาพสูง
“ องค์ความรู้เกี่ยวกับวัดโพธิ์มีเยอะมาก แต่ถูกรวบรวมไว้ในหนังสือและเก็บเอาไว้ในห้องสมุด ไม่มีใครได้อ่าน คิดว่าจะนำข้อมูลเหล่านั้นมาทำอย่างไรให้คนทั่วไปเข้าถึงได้และน่าสนใจยิ่งขึ้น แทนที่จะแค่มาชมวัดแล้วกลับไป ทำอย่างไรที่จะดึงเขาให้อยู่ที่วัด สนุกและได้ความรู้นานขึ้น” อ.วิลาสินีเล่าที่มาแอปใหม่นี้
แอปนี้ประกอบด้วย 3 ฟีเจอร์หลักที่จะบอกเล่าข้อมูลพื้นฐานการเข้าชม และอีก 4 ฟีเจอร์เล่น ที่จะพาผู้ใช้ไปเล่นสนุก แถมได้ความรู้ ได้แก่ เตรียมตัวเยี่ยมชม (Plan Your Visit) ใครที่กำลังวางแผนมาเที่ยววัดโพธิ์สามารถดูข้อมูลจาก แอปได้เลย ผังวัดโพธิ์ (Visitor Map) การมีแผนที่ในมือช่วยให้การเดินเที่ยวชมสถานที่ทั่วถึง ไม่พลาดสถานที่สำคัญไป
วัดโพธิ์ในอดีต (Wat Pho in History) ฟีเจอร์นี้จะแสดงพัฒนาการที่สำคัญของวัดโพธิ์ใน 3 สมัย ได้แก่ สมัยรัชกาลที่ 1 สมัยรัชกาลที่ 3 และสมัยปัจจุบัน ซึ่งจะแสดงเป็นแผนผัง 3 มิติ เพื่อให้เห็นภาพว่าวัดโพธิ์ในแต่ละยุคมีหน้าตาเป็นอย่างไร และปัจจุบันวัดโพธิ์เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
เหินฟ้ามาวัดโพธิ์ (Wat Pho from the Sky) ฟีเจอร์นี้จะพาทุกคนเหินฟ้ามาชมวัดโพธิ์ได้จากทุกซอกทุกมุม โดยการตามหามาร์กเกอร์ที่ติดอยู่บนพื้นภายในวัดโพธิ์ เมื่อสแกนมาร์กเกอร์นั้น จะแสดงภาพ AR (Augmented Reality) แผนผังของวัดโพธิ์ขึ้นมา สามารถหมุน ซูมเข้าออกได้
ใดใด ในวัดโพธิ์ (Explore) ฟีเจอร์นี้จะพาไปสำรวจสิ่งที่ห้ามพลาดในวัดโพธิ์ โดยเฉพาะสถาปัตยกรรมและพระพุทธรูปที่สำคัญ นอกจากเราจะเข้าไปดูด้วยตาแล้ว ยังมีเสียงและคำบรรยายที่จะช่วยให้เราเข้าใจเรื่องราวของสิ่งตรงหน้ามากขึ้น ความสนุกที่ห้ามพลาดอีกอย่าง คือ การ “กลับแก้กลบท (Poetry Quizzes)” ในจารึกวัดโพธิ์ที่ติดอยู่ตามเสาในพระระเบียง ชวนใช้แอป แสกน
“ จารึกวัดโพธิ์เป็นโบราณวัตถุที่ได้ขึ้นทะเบียน UNESCO บางส่วนมีรูปแบบเป็นปริศนากลโคลง เมื่อเราเอาแอป ส่องดูที่จารึกนั้น จะปรากฏเป็นภาพ AR และเสียงอ่านเป็นโคลงสี่สุภาพให้เราฟัง ฟังก์ชันนี้จะทำให้เราเดินเล่นได้รอบพระระเบียงโดยไม่รู้ตัวเลยทีเดียว”ดร.วิลาสินี กล่าว
ใครชอบท่องอดีต ในแอปมีเลนส์ย้อนอดีต (Freeze-Frames) เป็นรูปเก่า 100 ปีที่แล้วของมุมต่างๆ ผู้ใช้จะต้องเดินเที่ยวหามุมนั้น ๆ ในปัจจุบันให้เจอแล้วนำมาเทียบกันว่าปัจจุบันวัดโพธิ์มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง เหมาะกับสายชอบถ่ายรูป
จากนั้นชวนไปเดินเล่นจับยักษ์วัดโพธิ์ ผ่านฟีเจอร์ ฉันคือยักษ์วัดโพธิ์ (Yak Wat Pho) ดร.วิลาสินี บอกว่า หลายคนคงไม่รู้ว่ายักษ์วัดโพธิ์หน้าตาเป็นอย่างไร และอยู่ตรงไหน ในวัดเราจะเห็นยักษ์เต็มไปหมด ฟีเจอร์นี้จะมีแผนที่บอกพิกัดยักษ์ต่าง ๆ เมื่อเดินไปเจอ แอป จะอธิบายให้ฟังว่าคือยักษ์อะไร แผนที่จะพาเดินชมรอบวัดโพธิ์จนทั่วไปชมยักษ์รูปแบบต่างๆ การจะตามหายักษ์ให้ครบนั้น เป็นอะไรที่ท้าทาย ดึงให้ใช้เวลาอยู่ในวัดโพธิ์นานขึ้น
หลายคนอาจจะได้ยินชื่อ “ยักษ์วัดแจ้ง” กับ “ยักษ์วัดโพธิ์” ที่มักจะมาคู่กัน ทำให้เกิดความสับสน และมักคิดว่ายักษ์วัดโพธิ์คือยักษ์ตัวใหญ่ๆ บ้างเข้าใจผิดว่ายักษ์วัดโพธิ์คือยักษ์จีนอย่างที่ปรากฎในภาพยนตร์ “ท่าเตียน” (พ.ศ. 2516) ที่เป็นการปะทะกันของยักษ์วัดแจ้งและยักษ์วัดโพธิ์
ดร.วิลาสินีเฉลยยักษ์วัดโพธิ์ตัวจริงมีขนาดเท่าๆ ตัวเรา ตั้งอยู่ในช่องกระจกบริเวณซุ้มทางเข้าพระมณฑปหรือหอพระไตรปิฎก ทำหน้าที่พิทักษ์รักษาหอพระไตรปิฎก ถ้าสนใจเรื่องราวของยักษ์วัดโพธิ์เพิ่มเติมตามไปอ่าน “ตำนานยักษ์วัดโพธิ์” หรือ ลองโหลดแอปฯ อินไซท์วัดโพธิ์ ไปตามหาตัวจริงที่วัดโพธิ์กันได้
การพัฒนาแอป อินไซท์วัดโพธิ์ ในอนาคต ดร.วิลาสินี กล่าวว่า เรื่องราววัดโพธิ์ที่น่าสนใจยังมีอีกมาก ทีมพัฒนาจะเพิ่มเติมข้อมูลเข้าไปในแอปฯ เรื่อยๆ แต่เรื่องที่ท้าทายกว่า ไม่ใช่เรื่องข้อมูลของวัดโพธิ์ แต่เป็นโมเดลธุรกิจที่จะทำให้แอปฯ “อินไซท์วัดโพธิ์” ได้ไปต่อ
“อินไซท์วัดโพธิ์” เป็นแอป ฟรี เราไม่ต้องการให้การเรียนรู้ต้องเสียเงิน ฉะนั้นเราจะอยู่รอดได้ต้องพึ่งโมเดลธุรกิจ เราคิดจะสร้างอินไซท์วัดโพธิ์ให้เป็นแพลตฟอร์มสนับสนุนการท่องเที่ยวและการทำกิจกรรมในวัดโพธิ์ อย่างการจองบัตรเข้าร่วมกิจกรรมพิเศษ เช่น การเขียนภาพสีน้ำในวัดโพธิ์ การทัวร์วัดโพธิ์ตอนกลางคืน หรือการจองสินค้าที่ระลึกคอลเลกชันพิเศษ เป็นต้น ทำได้ผ่านแอปฯ นี้ เท่านั้น รวมทั้งการจองไกด์นำเที่ยวที่มีความรู้ที่ถูกต้องจะรวมอยู่ในแผนต่อไป” อ.วิลาสินี บอก
แอป “อินไซท์วัดโพธิ์” ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายแค่ให้ผู้ใช้ได้เล่นสนุกและความรู้จากการเที่ยวเท่านั้น แต่เชื่อว่านวัตกรรมนี้จะสร้างผลกระทบต่อสังคม ทั้งแง่วัฒธรรม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ
“ เราอยากเห็นพฤติกรรมในการมาท่องเที่ยววัดโพธิ์ที่เปลี่ยนไป จากการมาชมอย่างเดียว เป็นการได้สำรวจไป รอบ ๆ ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอันดีงามของไทย ไม่พลาดชมจุดที่น่าสนใจ เมื่อนักท่องเที่ยวสามารถใช้เวลาในจุดนี้ได้นานขึ้น เมื่อเหนื่อยหรือหิว ก็อุดหนุนร้านค้าในชุมชนรอบๆ นอกจากจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในภาพใหญ่แล้ว ยังสามารถช่วยดึงเม็ดเงินเข้าสู่ชุมชนได้อีกด้วย” ดร.วิลาสินี กล่าว
การใช้แอป ทำให้เที่ยววัดโพธิ์เพลิดเพลินมาก สนใจดาวน์โหลดแอป อินไซท์วัดโพธิ์ ได้ฟรี ทั้งบน App Store และ Google Play ตามแผนจะพัฒนาโครงการไปยังสถานที่สำคัญอื่น ๆ โดยวัดถัดไป คือ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ถือเป็นวัดสำคัญ วัดดัง และได้รับผลกระทบจากกระแสความนิยมจากนักท่องเที่ยวในการแต่งชุดไทยและหามุมถ่ายรูปในโบราณสถานเช่นกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เริ่มแล้ว! งาน สัปดาห์ “วันภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยแห่งชาติ” ปี 2567 ที่วัดโพธิ์
เริ่มต้นวันแรกด้วยความคึกคัก สำหรับการจัดงานสัปดาห์ “วันภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยแห่งชาติ” ปี 2567 ซึ่งจัดขึ้นปีละครั้ง เท่านั้น โดยความร่วมมือระหว่างกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกับ
“วัดโพธิ์” งดงามติดอันดับโลกหนึ่งเดียวจากไทย และ 1 ใน 10 ของเอเชียสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมมากที่สุด ประจำปี 2024 “พระเทพวัชราจารย์” หรือ “เจ้าคุณเทียบ” ปลื้มเผยนักท่องเที่ยวต้องการมาชมความงามของพระนอนวัดโพธิ์
เมื่อวันที่ 19 ก.ค.ทริปแอดไวเซอร์ เว็บไซด์ท่องเที่ยวรายใหญ่ที่สุดของโลก ได้ประกาศผลการจัดอันดับสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมมากที่สุดในเอเซีย ประจำปี 2024
“วัดโพธิ์” จัดเทศกาลสงกรานต์ยิ่งใหญ่เฉลิมฉลองการเป็นมรดกโลก 11 – 17 เม.ย.นี้
เมื่อวันที่ 10 เม.ย. สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (ปสฤทธ เขมฺงกโร ) เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามหรือวัดโพธิ์ กรรมการมหาเถรสมาคม เปิดเผยว่า วัดโพธิ์ จะจัดงานเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี 2567
ทีมนักแสดง 'WATERFALL a new musical' พักซ้อม ทัวร์วัดพระแก้ว-วัดโพธิ์
เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งโมเมนต์สุดประทับใจจริงๆ สำหรับนักแสดง และทีมงานจากจากละครเพลงอินเตอร์เรื่องใหม่ WATERFALL a new musical ที่ได้แรงบันดาลใจจาก ข้างหลังภาพ เดอะมิวสิคัล ปรากฏการณ์ความร่วมมือครั้งสำคัญของยอดฝีมือจาก บรอดเวย์ และ ถกลเกียรติ วีรวรรณ พร้อมด้วยทีมงานละครเวทีไทย