‘Soul Connect Fest’ เปิดพื้นที่ฮีลใจคนรุ่นใหม่

ในการใช้ชีวิตแต่ละวันมักจะพบเจออุปสรรคปัญหาและเรื่องรบกวนจิตใจที่ยากจะหาทางออก ทั้งจากหน้าที่การงาน ครอบครัว  การใช้ชีวิต ความรัก และเรื่องความสัมพันธ์  หลายคนเครียด วิตกกังวล ติดหล่ม มูฟออนเป็นวงกลม สุขภาพจิตย่ำแย่ จนถึงเกิดสารพัดคำถามในใจ ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพกายตามมา  ดังนั้น การดูแลรักษาใจให้แข็งแรงอยู่เสมอ ทำความเข้าใจกับตัวเองแต่ละช่วงวัน จะเป็นเครื่องมือช่วยให้ชีวิตมีความสุขมากยิ่งขึ้น

ญาณี รัชต์บริรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะ  กล่าวในงานแถลงข่าวจัดเทศกาล”Soul Connect Fest มหกรรมพบเพื่อนใจ” ว่า  สภาพสังคมและสภาพจิตใจของผู้คนในสังคมไทยปัจจุบันมีปัญหามากมาย ทั้งสุขภาพจิต ความเครียด ภาวะหมดไฟ Burn Out นอนไม่หลับ เด็กวัยรุ่นมีภาวะซึมเศร้า  บางส่วนนำไปสู่การฆ่าตัวตาย แสดงถึงความทุกข์ของคนในสังคม จากการสำรวจดัชนีความสุข 137 ประเทศทั่วโลก ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 60 สังคมไทยต้องการเครื่องมือที่จะพาคนสร้างความมั่นคงภายใน ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันใจ ซึ่งสุขภาวะทางปัญญาเป็นวัคซีนสำคัญ ทำให้รู้จักตัวเองอย่างลึกซึ้ง เมื่อเผชิญกับอะไรที่ยากๆ จะผ่านสถานการณ์นั้นได้ ช่วยป้องกันความทุกข์ ความเครียด พร้อมรับมือด้วยจิตใจที่มั่นคง

ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ ผู้อำนวยการร่วมธนาคารจิตอาสา กล่าวว่า สุขภาวะทางปัญญา คือ ความสุขที่เกิดจากเรารู้จักตัวเอง และเห็นความเชื่อมโยงของเรา ผู้คน สังคม ธรรมชาติ  คนในปัจจุบันจำนวนมากมีความสุขน้อยลง เพราะพึ่งพิงปัจจัยภายนอก เราท่องโลกโซเชียล ทำให้เกิดความคิด ความรู้สึกเปรียบเทียบ รวมถึงโฆษณาถูกออกแบบให้เรารู้สึกขาด ต้องกิน เที่ยว ช้อป หรือต้องสวยหล่อกว่านี้ แต่คนที่มีสุขภาวะทางปัญญาจะเห็นคุณค่าในตัวเอง อย่างไรก็ตาม แต่ละเจเนอเรชัน จะมีความกังวลที่แตกต่างกันออกไป คนทุกเพศทุกวัยควรต้องสำรวจใจตัวเองอยู่เป็นประจำ

สำหรับสุขภาพใจที่แต่ละ’เจเนอเรชัน’  ควรระวัง ดร.สรยุทธ กล่าวว่า  กลุ่ม Baby Boomer เป็นเจนที่อาจจะมีความกลัวอยู่มาก สาเหตุจากเรื่องสุขภาพ เดิมเคยไว้ใจร่างกายตัวเอง ใช้ชีวิตได้ด้วยตนเอง แต่เมื่อถึงช่วงวัยนี้ต้องพึ่งพิงคนอื่น ไม่สามารถควบคุมอนาคตตัวเอง เมื่อต้องเจอเจน X ที่ทำงานหนัก เจนY ที่พูดคุยกันคนละภาษา ทำให้กลุ่มนี้จิตใจอ่อนไหวและเปราะบางมาก

Gen X กลุ่ม Gen X จะพบโจทย์ใหญ่ความเหนื่อย   เพราะเป็นผู้นำองค์กร เป็นหัวหน้าครอบครัว ต้องรับผิดชอบงาน ครอบครัว รวมถึงสุขภาพตัวเอง ตลอดจนความมั่นคงทางอาชีพที่ถูกดริสทรับโดยเอไอ จะเกิดความรู้สึกมีเวลาไม่เพียงพอในแต่ละวัน และรู้สึกว่า ถูกหลงลืมไปจากสังคม ต้องการการเอาใจใส่

Gen Y ช่วงวัยนี้ถูกคาดหวังให้รับผิดชอบ ถือเป็นเจนที่ถูกการเหมารวม (Stereotype) หนักที่สุด เจนนี้เติบโตมาในช่วงโซเชียลมีเดีย ซึ่งไม่เอื้อต่อการมีสุขภาวะทางปัญญาของคน พาเราไหลไปสู่อดีตและอนาคต ไม่เชื่อมโยงกับตัวเอง และเกิดการเปรียบเทียบตลอดเวลา เจน Y มีแนวคิดอยากทำศัลยกรรม รวมถึงต้องทนกับการเปลี่ยนแปลงในสังคม และแบกรับแรงกดดันมาก รวมทั้งเรื่องความรักในยุคโซเชียลมีเดีย ไม่เอื้อต่อการมีความสัมพันธ์ และการเรียนรู้ที่จะปรับตัวเพื่อมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น ทุกวันนี้แค่ปัดซ้าย ปัดขวาในแอป ก็ไม่ได้ทำการบ้านยาก ไม่เข้าถึงความสัมพันธ์ที่มีความหมายต่อชีวิต  เมื่อผิดหวัง สูญเสีย ส่งผลกระทบทางใจ จากการสำรวจกลุ่มเจนนี้เจ็บป่วยภาวะซึมเศร้าจำนวนมาก

Gen Z กลุ่มเจนนี้รู้สึกว่าโลกอุดมด้วยเครื่องมือและข้อมูล เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีเอไอ ทำให้ได้อะไรมาง่ายๆ ในชีวิต กดดันตัวเอง โลกส่วนตัวสูง  ขาดความอดทนหรือเฝ้ารอความสำเร็จ   เช่นเดียวกับกลุ่ม Gen Alpha ซึ่งต้องการการเข้าใจจากคนใกล้ชิด

สำหรับงาน Soul Connect Fest ที่จะจัดขึ้น ดร.สรยุทธ บอกว่า เหมาะกับคนทุกช่วงวัย  เป็นเรื่องของใจ การกลับมาเชื่อมต่อกับจิญญาณของตนเองด้วยเครื่องมือและแนวทางจากภาคีเครือข่ายที่ทำงานเรื่องสุขภาวะทางปัญญา ตนชอบคำว่า There’s Something for everyone หมายความว่า มีบางอย่างสำหรับทุกคน ไม่ว่าทุกข์ สุข หรือ เฉยๆ  มาที่งานจะช่วยจุดประกายให้พบสิ่งที่ตามหา สิ่งนั้นอาจมีอยู่แล้วตรงหน้าคุณก็ได้

สุขภาพจิตสำคัญต่อสุขภาพกายอย่างไร นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) กล่าวว่า มีผลการศึกษาคนที่มีความสุข ไม่เครียด จะมีภูมิต้านทานดีกว่าคนที่เครียด สุขภาวะทางปัญญาทำให้เราสามารถจัดการกับความคิด ความเชื่อ ความคาดหวัง  และความรู้สึกได้ดียิ่งขึ้น ทำให้ไม่ตกอยู่ในวังวนของอารมณ์ ทั้งความเศร้า โกรธ เสียใจ หรือดีใจ ซึ่งอารมณ์ส่งผลต่อสุขภาพกาย ความเครียดสะสมก่อให้เกิดโรคมากมาย มีการพูดถึงขนาดเป็นตัวการก่อโรคภูมิต้านทานผิดปกติ หรือ  SLE เป็นโรคที่ภูมิต้านทานกัดกินเนื้อเยื่อตัวเอง ทำให้ร่างกายแย่ลง ผลจากจิตใจ ถ้ามีปัญญาจะกำกับดูแลใจตัวเองได้ดี  จะเครียดหรือเศร้าไม่นาน  ต้องฝึกฝน เมื่อจัดการกับอารมณ์ ความรู้สึกตัวเองได้ ทำให้เกิดความสบายใจ 

“ สุขภาวะในมิติของจิตปัญญา คือ การรู้จักตัวเอง การสร้างความสัมพันธ์ที่เหมาะสมระหว่างเรากับตัวเอง เรากับคนรอบข้าง เรากับสิ่งแวดล้อม   ถือเป็นแกนในสุขภาวะทางกาย ทางใจ และทางสังคม เชื่อมโยงและพัฒนาต่อไปอย่างยั่งยืน  สุขภาวะทางปัญญาที่ดีนอกจากเห็นคุณค่าในตัวเอง จะมีจิตสาธารณะพร้อมช่วยเหลือผู้อื่น “ นพ.สมศักดิ์ กล่าว

แอนชิลี สก๊อต-เคมมิส สาวสวยเก่ง เจ้าของตำแหน่ง “มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2021” ชวนทุกคนสร้างพลังใจ พร้อมบอกว่า เคยเจอบูลลี่ในโลกโซเชียล แต่เลือกที่จะปล่อยวาง บอกตัวเองไม่เป็นไรๆ เดี๋ยวมันก็ผ่านไป สามารถจัดการกับจิตใจตัวเองด้วยจนถึงปัจจุบัน เป็นตัวเอง ไม่ต้องเปรียบเทียบกับใคร เพราะในสังคมมีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบเรา ต้องฝึกฝนจิตใจตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ ตอนนี้รับมือได้กับทุกสถานการณ์ คุณแม่สอนให้จ้องความรู้สึกตัวเอง นอกจากนี้ ยังใช้งานศิลปะเป็นเครื่องมือในการผ่อนคลาย เวลาเพนท์รูปรู้สึกสบายใจ

ใครที่กำลังอัดอั้นตันใจหรือรู้สึกชีวิตยากที่จะก้าวเดินต่อไป  รวมถึงคนที่อยากสำรวจ ค้นหาหาตัวตน เพื่อเติมเต็มการเติบโตของตัวเอง ชวนมาเทศกาล “Soul Connect Fest มหกรรมพบเพื่อนใจ” ซึ่ง สสส. จับมือภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาวะทางปัญญา สถาบันอุดมศึกษา องค์กรภาควิชาการ องค์กรภาคสังคม  70 องค์กร จัดขึ้นต่อเนื่อง 4 วัน แบ่งเป็น 2 ส่วน  ภาควิชาการจัดงานประชุมวิชาการระดับชาติเครือข่ายความรู้สุขภาวะทางปัญญา ครั้งที่ 1 ในวันที่ 17-18 ส.ค. 2566 ณ อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ส่วนงาน Soul Connect Fest 2023 มหกรรมพบเพื่อนใจ วันที่ 19-20 ส.ค. 2566 ณ Lido Connect สยามสแควร์ เปิดพื้นที่เพื่อฮีลใจคนรุ่นใหม่ผ่านกิจกรรมหลากหลาย ทั้งนิทรรศการ เวิร์คชอป การแสดง หนัง ศิลปะ ดนตรี ฯลฯ  มาพักผ่อน ผ่อนคลาย ปล่อยใจ  ลดความกังวล ความเหนื่อยล้า  รับฟังเสียงความต้องการจากภายใน ภายในงานมีห้องคลายใจกับนักจิตวิทยาการปรึกษา ชวนทุกคนมาบอกเล่าเรื่องราวและความรู้สึกที่ไม่อยากจะเปิดเผยกับใครกับผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมจะรับฟัง เปิดพื้นที่ปลอดภัยให้ได้คลี่คลายความรู้สึกที่หนักเกินจะแบกรับ ได้เข้าใจและกลับมามองเห็นหัวใจตัวเองชัดเจนขึ้น เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันใจก่อนไปรับมือกับปัจจุบันได้อย่างเต็มที่

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โชว์ต้นแบบรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ลดฝุ่นอากาศสะอาดทุกลมหายใจ

"อากาศบริสุทธิ์ใน กทม.เป็นจริงได้ ด้วยจุดเปลี่ยนร่วมมือร่วมใจ ให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้" ด้วยแนวคิดข้างต้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ทำความรู้จัก “เชื้อดื้อยา” จากผลงานประกวดภาพวาดการ์ตูนคอมมิค

การสื่อสารในประเด็น “เชื้อดื้อยา”เพื่อให้คนส่วนใหญ่ รับรู้ เข้าใจ ถึงผลกระทบ และร่วมกันป้องกัน เป็นเรื่องที่องค์กรที่ทำงานด้านนี้ได้พยายามทำมาอย่างต่อเนื่อง

โฟกัสเชียงใหม่ต้นแบบความสำเร็จ งดขายเหล้าเทศกาลพร้อมเป็นตาสับปะรด

เชียงใหม่ต้นแบบความสำเร็จ ทุกเทศกาลประกาศงดขายงดดื่มเหล้า ทราบล่วงหน้า 15 วัน ประชุมหน่วยงานเกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือ ภาคประชาสังคมพร้อมใจเป็นตาสับปะรดร้องเรียน

'สมศักดิ์' ดึง สสส. ช่วย 'นับคาร์บ' ชวนคนไทยลดโรค NCDs ต้นเหตุคร่าชีวิตคนไทยชั่วโมงละ 45 คน ผจก.สสส.เดินหน้าพัฒนาฐานข้อมูลเชื่อมท้องถิ่นลดเสี่ยง

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุน สสส. คนที่ 1 กล่าวในการเป็นประธานประชุมกรรมการกองทุนฯ ครั้งที่ 8/2567 ว่า จากข้อมูลพบว่ามีผู้เสียชีวิตจาก NCDs 400,000 คนต่อปี คิดเป็นชั่วโมงละ 45 คน

‘สมัชชาสุขภาพ ครั้งที่ 17’ ปิดฉากชื่นมื่น บรรลุ 2 นโยบายฯ สร้างเศรษฐกิจยุคใหม่

สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ปิดฉากลงอย่างชื่นมื่น สมาชิกกว่า 3,000 ชีวิต ให้การรับรอง 2 ระเบียบวาระ “พลิกโฉมกำลังคนเพื่อสังคมสุขภาวะ - การท่องเที่ยวแนวใหม่ สู่สุขภาวะและเศรษฐกิจ

จับตาปลดล็อก..ควบคุมเหล้าเบียร์ กฎหมายใหม่เปิดช่องขายได้ทั่วถึง

รายงานองค์การอนามัยโลก (WHO) ปี 2567 ชี้ว่าแนวโน้มการบริโภคแอลกอฮอล์/หัวประชากร และผลกระทบต่อสุขภาพมีความซับซ้อนและแตกต่างกันตามภูมิภาคต่างๆ ที่น่ากังวลคือ ในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีแนวโน้มจะมีการดื่มที่สูงขึ้น