ตามรอย’เสือโคร่ง’ คุ้มครองถิ่นที่อยู่ 4 กลุ่มป่า

สถานการณ์ประชากรเสือโคร่งในป่าไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาไม่มีรายงานลักลอบล่าเสือโคร่ง สัปดาห์ที่แล้ว มีข่าวดีคนไทยจากรายงานสำรวจพบเสือลายเมฆ สัตว์ป่าที่พบยากและมีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม จ.อุบลราชธานี ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการรายงานสำรวจพบและมีหลักฐานชัดเจนถึงการปรากฏตัวของเสือลายเมฆในพื้นที่นี้ โดยเป็นผลจากเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า และเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัยและคุ้มครองสัตว์ป่าร่วมกันปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนเชิงคุณภาพ และเก็บข้อมูลจากกล้อง Camera Trap ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดมยังมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้เและสัตว์ป่า  และเป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่สำคัญ

ตามด้วยรายงานสถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว จ.เชียงใหม่ โดยนายมงคล สาฟูวงศ์ หัวหน้าสถานีฯ ได้ดำเนินการเก็บกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าบนดอยเชียงดาว ตามโครงการการประเมินถิ่นที่อยู่และความหลากหลายของสัตว์ผู้ล่าทางธรรมชาติของกวางผา เป้าหมายสำหรับระบุตำแหน่งที่อยู่อาศัยสำคัญของสัตว์ป่าชนิดพันธุ์ที่มีความเสี่ยงและภัยคุกคามของสถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาวที่ได้รับงบฯ ปี  2566 ในกิจกรรมบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ จากภาพที่บันทึกได้วันที่ 6 ก.ค.2566 พบเสือดาวตัวเต็มวัยเพศเมีย  1 ตัว พบอาศัยบนดอยเชียงดาว ถือเป็นสัตว์ผู้ล่าชั้นสูงสุดของห่วงโซ่อาหารบนดอยเชียงดาว ช่วยควบคุมประชากรกวางผาและสัตว์กินพืชอื่นๆ บนดอยเชียงดาว เพื่อไม่ให้กัดกินพืชพรรณบนดอยเสียงดาวได้รับความเสียหาย  เสือดาวขึ้นบัญชีแดง IUCN อยู่ในข่ายใกล้สูญพันธุ์  บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าเชียงดาวที่ยังอุดมสมบูณ์มาก  ทั้งสองพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภารกิจการลาดตระเวนเชิงคุณภาพของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าช่วยปกป้องรักษาถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าให้อาศัยอยู่อย่างปลอดภัย

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.)  กล่าวว่า วันอนุรักษ์เสือโคร่งโลก ตรงกับวันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี ประเทศไทยดำเนินงานอนุรักษ์เสือโคร่งมาอย่างต่อเนื่อง มีแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่ง ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2553 – 2565) ปัจจุบันเข้าสู่การดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่ง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2565 – 2577) เพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่งอย่างยั่งยืน  โดยมี 4 กลุ่มป่าสำคัญที่มีประชากรเสือโคร่ง คือ กลุ่มป่าแก่งกระจาน กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กลุ่มป่าฮาลาบาลา-บางลาง และกลุ่มป่าตะวันตก โดยเฉพาะพื้นที่เชื่อมต่อมรดกโลกห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร
“ ตัวเลขล่าสุดที่สำรวจในปี 2565 พบประชากรเสือโคร่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือ 100% อยู่ระหว่าง 148-189 ตัว ถือเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ เมื่อเทียบกับปริมาณประชากรในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา สำหรับแนวทางอนุรักษ์เสือโคร่งที่สำคัญกำหนดเป้าหมายอีก 2 กลุ่มป่า เพื่อเพิ่มประชากรเสือโคร่ง ซึ่งก็เกี่ยวข้องกับการเพิ่มปริมาณเหยื่อ เพราะการใช้ชีวิตของเสือจำเป็นต้องอาศัยสัตว์ที่เหยื่อจำนวนมาก รวมถึงแหล่งที่อยู่อาศัยที่อุดมสมบูรณ์เพียงพอ เพื่อสืบต่อสายพันธุ์ เพราะเสือโคร่งถูกจัดให้เป็นสัตว์ที่อยู่บนสุดของปิรามิดผู้ล่า เป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า “ นายอรรถพล กล่าว

สำหรับแผนอนุรักษ์เสือโคร่ง  2565-2577 มี 3 เป้าหมายสำคัญ คือ รักษาและยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองพื้นที่ป่าตะวันตก พื้นที่หลักของการอนุรักษ์เสือโคร่ง เสริมสร้างความเข้มแข็งในการจัดการพื้นที่ ยกระดับการสำรวจติดตามประชากรเสือโคร่งในพื้นที่ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และฟื้นฟูประชากรเสือโคร่งและเหยื่อ ในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว และกลุ่มป่าคลองแสง-เขาสก นอกจากนี้ จะติดตั้งกล้องดักถ่ายสัตว์ป่า หรือกล้อง Camera Trap เพิ่มขึ้นเพื่อติดตามเส้นทางการเดินของเสือโคร่ง การตามติดชีวิตเสือโคร่งจากสัญญาณปลอกคอที่สวมไว้ เพื่อเรียนรู้การดำเนินชีวิต หรือนิเวศวิทยาเสือโคร่ง  สอดส้องชีวิตรวมถึงจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า และเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิจัยและคุ้มครองสัตว์ป่า ได้ร่วมกันปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ( Smart Patrol) นำไปเป็นข้อมูลทางวิชาการเพื่อทำอัตลักษณ์ลายเสือแต่ละตัวเป็นฐานข้อมูล

เสือโคร่งในป่ามีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศ ในฐานะเป็นผู้ล่าอันดับสูงสุด ที่ควบคุมไม่ให้ประชากรของสัตว์กินพืช ที่เป็นเหยื่อมีจำนวนมากเกินไป ช่วยควบคุมความสมดุล สำหรับการมีอยู่ของเสือโคร่งถือเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าและระบบนิเวศเป็นอย่างดี ดังนั้น การอนุรักษ์เสือโคร่ง จึงมีความหมายต่อการรักษาผืนป่าขนาดใหญ่อันเป็นถิ่นอาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด ส่งผลต่อความหลากหลายทางทรัพยากรชีวภาพในพื้นที่นั้นๆ

ที่ผ่านมา เสือโคร่งในผืนป่าของไทยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการทำงานอย่างหนักของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า จากข้อมูลพบเสือโคร่งมากที่สุดในบริเวณผืนป่าตะวันตก ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง จึงเป็นแหล่งอนุรักษ์เสือโคร่งที่สำคัญของประเทศไทย

การอนุรักษ์เสือโคร่งอย่างยั่งยืนและสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ ในปีนี้กรมอุทยานฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดงานวันเสือโคร่งโลก ภายใต้แนวคิด “Move Forward to Sustainable Tigers Conservation ก้าวสู่การอนุรักษ์เสือโคร่งอย่างยั่งยืน” ที่ศูนย์ประชุมมหาวิทยาลัยเจ้าพระยา อ.เมือง จ.นครสวรรค์ วันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา  เพื่อแสดงถึงความสำเร็จของการอนุรักษ์เสือโคร่งในไทย และเพื่อหาแนวร่วมในการอนุรักษ์สัตว์ป่า  ภายในงานมีกิจกรรมการเรียนรู้ นิทรรศการวันอนุรักษ์เสือโคร่ง วงเสวนาตามรอยเสือโคร่งในผืนป่ามรดกโลก  การแสดงจากเยาวชนรอบผืนป่าอนุรักษ์  หรือการนำเสนอผลงานวิจัย   ทำให้คนไทยได้มีโอกาสรู้จักและเข้าใจชีวิตเสือโคร่งมากขึ้น

ทั้งนี้ ความสำเร็จจากการประเมินข้อมูลภาพถ่ายจากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า 1,200 จุด ในพื้นที่อนุรักษ์ 28 แห่ง 6 กลุ่มป่า มีรายงานการสำรวจพบและถ่ายภาพเสือโคร่งได้ในพื้นที่อนุรักษ์ 22 แห่ง 4 กลุ่มป่า ประกอบด้วย กลุ่มป่าตะวันตก กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กลุ่มป่าแก่งกระจาน-กุยบุรี และกลุ่มป่าฮาลาบาลา-บางลาง โดยประเมินว่า ในปี 2565 ไทยมีประชากรเสือโคร่งตัวเต็มวัยประมาณ 148-189 ตัว ซึ่งประชากรเสือโคร่งเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในกลุ่มป่าตะวันตก และมีการเดินทางไปกระจายพันธุ์ในพื้นที่อนุรักษ์อื่นโดยรอบ โดยมีแนวโน้มประชากรเพิ่มขึ้นมากกว่า 100% จาก 41 ตัว ในปี 2557 เป็น 100 ตัวในปี 2565 ซึ่งถือเป็นอันดับต้นในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สำหรับวันเสือโคร่งโลกเกิดขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์เสือโคร่ง กำหนดขึ้นในวันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี วันดังกล่าวกำหนดขึ้นจากการประชุมว่าด้วยเรื่องเสือโคร่งที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ใน ค.ศ. 2010 มีเป้าหมายส่งเสริมให้ทั้งโลกได้มีการปกป้องที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ และเพื่อสร้างความตระหนักของประชาชน ตลอดจนการสนับสนุนสำหรับการอนุรักษ์เสือโคร่ง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อธิบดีกรมอุทยานฯโยน 'ทับลาน' เป็นข้อบกพร่องของกรมป่าไม้ในอดีต ปัดเอื้อนายทุน

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้สัมภาษณ์ถึงเสี

เวียนเทียนด้วยต้นไม้ วันวิสาขูชา ลดฝุ่น PM2.5

วันวิสาขบูชาถือเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสากล ชาวพุทธทั่วโลกร่วมกันทำบุญ เจริญภาวนา และเวียนเทียนรอบพระอุโบสถ พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ และประธานมูลนิธิปลูกต้นไม้ปลูกธรรมะ เนื่องในโอกาสวันวิสาขบูชานี้ มูลนิธิปลูกต้นไม้ฯ

'ผึ้งหลวงหิมาลัย'ดอยผ้าห่มปก ดัชนีความหลากหลายชีวภาพ

การค้นพบผึ้งหลวงหิมาลัยครั้งแรกในประเทศไทยในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก จ.เชียงใหม่  สร้างความฮือฮาให้กับวงการชีววิทยาของไทยและสากล  นายทรงเกียรติ ตาตะยานนท์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อช.)

เปิดยุทธศาสตร์'กุยบุรี' ลดขัดแย้งคน-ช้าง

เนื่องในวันช้างไทย ซึ่งตรงกับวันที่ 13 มีนาคมของทุกปี มีการรณรงค์สื่อสารให้คนไทยตระหนักถึงสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงของช้างไทยจากปัญหาผืนป่าที่ถูกทำลายและลดลง ทั้งด้วยปัจจัยทางธรรมชาติและกิจกรรมจากน้ำมือมนุษย์รบกวนถิ่นที่อยู่อาศัยของช้างสัตว์ประจำชาติ

ยุติค้าสัตว์ป่า ภัยเงียบทำลายระบบนิเวศ

23 ธ.ค.2566 - พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ ประจำปี 2566 ณ ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 3 (ประทับช้าง) จ.ราชบุรี ที่