โคคา โคลา  จับมือกทม.แยกขยะพลาสติกในเมืองกรุง

 นันทิวัต ธรรมหทัย (ซ้าย)-ณัฐภัค อติชาตการ(ขวา) ชวนลุ้นโชคจากการแยกขยะ

ปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นในทุกๆปี เป็นวิกฤตที่ในหลายประเทศทั่วโลกและในประเทศไทยกำลังเผชิญและพยายามหาทางรับมือแก้ไขกับปัญหา  ซึ่งหนึ่งในทางออกที่แสนจะง่ายดายที่สุด คือ การคัดแยกก่อนทิ้งอย่างถูกต้อง เพื่อนำไปรีไซเคิล หรือนำกลับไปใช้ใหม่ แต่กลับพบว่าขยะจำนวนมากไม่ได้รับการคัดแยก มีการทิ้งรวมกันในที่เดียว ทั้งขยะพลาสติก เศษอาหาร ขยะอันตราย และอื่นๆ จึงมีส่วนทำให้การกำจัดขยะ หรือการนำขยะไปรีไซเคิลเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไม่ดีเท่าที่ควร

 สาเหตุการเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะ นอกจากการคัดแยกที่ไม่ถูกวิธี อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญคือ จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ทำให้การบริโภคเพิ่มขึ้นด้วย อย่างในพื้นที่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร  ที่มีจำนวนประชากรตามทะเบียนราษฎรในปี 2565 ถึง 5.5 ล้านคน แต่ถ้ารวมประชากรแฝงและนักท่องเที่ยว ก็จะมีประชากรมากกว่า 10 ล้านคน ตังเลขนี้อาจสะท้อนให้เห็นถึงการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่ดี แต่ในอีกมุมหนึ่งคือ บ่งบอกว่าขยะจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนคนอยู่อาศัย
ปัญหาจัดการขยะในกรุงเทพฯ ทำให้ กทม. ต้องใช้งบประมาณในการจัดเก็บขยะมากกว่า 7,000 ล้านบาทต่อปี จากปริมาณขยะเฉลี่ยวันละ 8,000-10,000 ตัน/วัน หรือระหว่าง 3-3.90 ล้านตัน/ปี จากสถิติ 5 ปีย้อนหลัง โดยปีในปี 2565  มีปริมาณขยะเฉลี่ยวันละ 8,979 ตัน รวม 3.27 ล้านตัน/ปี โดยกำจัดขยะด้วยวิธีฝังกลบคิดเป็นร้อยละ 68 การนำขยะไปทำปุ๋ยหมักร้อยละ 18 ใช้เทคโนโลยีผสมผสาน (RDF) ในการกำจัดขยะร้อยละ 9 และใช้เตาเผาขยะร้อยละ 5  

 จุดรับขยะที่โลตัส

ทั้งนี้ข้อมูลจากสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล กรุงเทพมหานคร ระหว่างปี 2559 – 2563 จากจำนวนขยะมูลฝอยทั้งหมดแบ่งเป็นเศษอาหาร ประมาณ 45% รองลงมาเป็นพลาสติกที่รีไซเคิลไม่ได้เกือบ 20% กระดาษที่รีไซเคิลไม่ได้อีกประมาณ 11% และขยะอื่นๆ เช่น แก้ว โฟม ใบไม้ เป็นต้น

แม้ว่าในช่วงสถานการณ์โควิด19 คลี่คลาย ปริมาณของขยะพลาสติกจะมีแนวโน้มลดลงก็ตาม แต่ปัจจัยการขับเคลื่อนที่สำคัญต้องอาศัยการร่วมมือจากทุกคน โดยเฉพาะการคัดแยกขยะก่อนทิ้งให้ถูกประเภท นอกจากแนวทางการจัดการของภาครัฐ ในส่วนของภาคเอกชน อย่างทาง กลุ่มธุรกิจโคคา-โคล่า ในประเทศไทย ประกอบด้วย บริษัท ไทยน้ำทิพย์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท โคคา-โคล่า (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับ แทรชลัคกี้ เดินหน้าต่อยอดความสำเร็จแคมเปญ “โค้ก ชวนแยก แลกลุ้นโชค กับ Trash Lucky” เป็นปีที่ 3 ส่งเสริมและกระตุ้นให้ผู้บริโภคชาวไทยเปลี่ยนพฤติกรรมการแยกขยะ เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล สร้างระบบกลไกจัดการขยะแบบครบวงจร

พรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์

พรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงสถานการณ์ของขยะในกทม. ว่า ปริมาณขยะในกทม. ในช่วงปี 2558-2562 มีปริมาณเกิน 10,000 ตันต่อวันจริงๆ แต่ ณ ขณะนี้ในปี 2566 ขยะในกทม. มีปริมาณ 8,900 ตันต่อวัน ทั้งนี้ถ้าเทียบในเดือนพ.ค.ปี 2566 กับปี 2565 ขยะมีปริมาณลดลงถึงวันละ 700 ตัน ซึ่งหากสังเกตตัวเลขในแต่ละเดือนปริมาณของขยะมีการลดลง และเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์อาทิ การแพร่ระบาดของโควิด19 หรือการเปิดเมืองหลังโควิด19 แต่ในตอนนี้สถานการณ์ขยะมีแนวโน้มที่จะลดลง นอกจากนี้ขยะกว่า 8,000 ตัน มีการกำจัดแบบ 100% โดยเฉลี่ย 60% ถูกนำไปฝั่งกลบ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นวิธีที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงจำเป็นต้องลดปริมาณน้ำหนักขยะให้มากที่สุดให้ได้ เพราะ 50% ของขยะกทม. เป็นขยะเปียก ซึ่งจะมีผลต่อการนำไปกำจัด ส่วนที่เหลืออาจจะถูกนำไปกำจัดด้วยเทคโนโลยีด้วยเตาเผาประมาณ 300-500 ตันต่อวัน หรือการทำปุ๋ยหมัก เป็นต้น ดังนั้นเริ่มต้นง่ายคือ ประชาชนต้องแยกขยะเปียก และขยะแห้ง ที่จะนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้

“ทั้งนี้เป้าหมายที่วางไว้ของกทม. คือการลดปริมาณขยะจาก 8,900 ตัน ให้เหลือ 8,000 ตัน ภายในปี 2569 ซึ่งการจะต้องมีการวางแผนเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย อย่างโครงการพัฒนาระบบจัดการขยะครบวงจร คือแผนการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยแบ่งงานออกเป็น 3 ระยะ โดยในระยะที่ 1 แคมเปญ ไม่เทรวม คือ ขยะเศษอาหาร และขยะทั่วไป ระยะที่ 2 โครงการปลอดขยะในพื้นที่/สถานที่แหล่งกำเนิดขยะ และระยะที่ 3 ตั้งจุดรับขยะ เช่นที่ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต สำนักงานเขต ปั๊มน้ำมัน เป็นต้น รวมทั้งจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับขยะ และแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อเพิ่มเเรงจูงใจในการแยกขยะ อย่างกิจกรรม Trash Lucky ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายด้วย” พรพรหม กล่าว

ประชาชนร่วมส่งขยะคัดแยก ปีที่ 2

ด้านนันทิวัต ธรรมหทัย ผู้อำนวยการองค์กรสัมพันธ์ การสื่อสารและความยั่งยืน บริษัท โคคา-โคล่า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในการดำเนินโครงการนี้ ไม่เพียงประสบความสำเร็จในแง่การสร้างความตระหนักรู้ถึงความจำเป็นในการแยกวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ออกจากขยะทั่วไป เพราะด้วยจุดรับคัดแยกที่มีเพิ่มมากขึ้น ช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงการนำขยะมาส่งมากขึ้น ซึ่งในแคมเปญในปีที่ 3 ที่ได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรใหม่ อย่างหนึ่งในเครือข่ายผู้ผลิตกระป๋องอะลูมิเนียมรายใหญ่ของโลก ไทยเบเวอร์เรจแคน และผู้นำด้านรีเทลอย่าง เดอะมอลล์ กรุ๊ป และ บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ที่มาร่วมขยายเครือข่ายรีไซเคิลด้วยการเพิ่มจุดรับวัสดุรีไซเคิลให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

นันทิวัต กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังได้มุ่งมั่นที่จะเร่งดำเนินการในส่วนของการผลิตขวดหรือบรรจุภัณฑ์  rPET โดยในส่วนของกฎหมายได้มีการระบุว่า ทางบริษัทใดที่จะจำหน่าย rPET ได้ ต้องผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ก่อน ซึ่งในประเทศไทยมีบริษัทที่ผลิตขวด rPET ได้มีอยู่ 2 บริษัท แต่ได้รับการรับรองจาก อย. มีเพียง 1 บริษัท ซึ่งขณะนี้ทางโคคา-โคล่า ก็จะเร่งดำเนินการในการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็น rPET ให้ได้ภายในปีนี้

ณัฐภัค อติชาตการ ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท แทรชลัคกี้ จำกัด (Trash Lucky) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 6 เดือนของแคมเปญโค้ก ชวนแยก แลกลุ้นโชค กับ Trash Lucky ปี 2 ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภคชาวไทย และสามารถเก็บรวบรวมวัสดุรีไซเคิลได้กว่า 70,000 กิโลกรัม โดยกว่า 9,500 กิโลกรัมเป็นขวดพลาสติก PET ที่ใช้แล้ว หรือเทียบเท่า 428,760 ขวด นำกลับเข้าสู่ระบบการรีไซเคิลที่ถูกต้อง และในปีที่สามนี้คาดว่าจะได้รับการตอบรับที่เพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ ผู้บริโภคสามารถคัดแยกและส่งวัสดุรีไซเคิล ในกิจกรรมโค้ก ชวนแยก แลกลุ้นโชค กับ Trash Lucky ปีที่3 ได้ที่จุดรับรีไซเคิลทั่วกรุงเทพฯ และได้นำร่องเริ่มต้นขยายพื้นที่เพิ่มการตั้งจุดรับ 5 จุดในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งดำเนินการและกำกับดูแลโดย บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) รวมทั้งสิ้น 69 จุด โดยระยะเวลากิจกรรมเริ่มขึ้นตั้งแต่วันนี้- 31 ธันวาคม 2566.

จุดรับขยะที่ปั๊ม SHELL

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อากาศเปลี่ยนแปลง ‘กทม.’ อุณหภูมิลดลง ‘เหนือ-อีสาน’ หนาวเย็น ‘ภาคใต้’ ฝนตก

พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้แล้ว

เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ร่วมกับกทม. ชวนสายรักษ์โลกสืบสานประเพณี “ลอยกระทงดิจิทัล 2024” ใจกลางกรุง บนลาน Skywalk วันที่ 14-15 พ.ย.นี้

นางสาวพุทธชาด ศรีนิศากร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการตลาด บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) ร่วมกับกรุงเทพมหานคร ตัวแทนหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจ ร่วมเปิดงาน เทศกาลลอยกระทงกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2567 โดยมี นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประธานในพิธี โดยเอ็ม บี เค

สส.รทสช. จี้ ‘ผู้ว่าฯกทม.’ เร่งแก้ปัญหาคนแร่ร่อน นอนเกลื่อนถนนริมคลองหลอด

สส.เกรียงยศ จี้กทม.เร่งแก้ปัญหาคนแร่ร่อนนอนเกลื่อนถนนริมคลองหลอดใกล้ศาลาว่าการกรุงเทพมหานครแค่เอื้อม หวั่นชาวต่างชาตินำภาพไปเผยแพร่จะเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดีกับเมืองท่องเที่ยว ดักคออย่าโยนให้แต่กระทรวงพม.

พยากรณ์อากาศ 24 ชม. ‘เหนือ’ สัมผัสหนาวต่ำสุด 18 องศาฯ ‘กทม.’ 23 องศาฯ

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยตอนบน