ในยุค AI ที่ไทยพร้อมใช้ แต่ยังขาดสร้างคนรองรับ

การเกิดขึ้นของ ChatGPT ซึ่งเป็นหุ่นยนต์แช็ตบ็อต (Al Chatbot) สามารถพูดคุยกับมนุษย์อย่างเป็นธรรมชาติ ทำให้เทคโนโลยี AI ไม่เป็นเรื่องไกลตัวอีกต่อไป และเป็นครั้งแรกที่มนุษย์นำเทคโนโลยี AI จากห้องปฏิบัติการมาใช้ในชีวิตประจำวัน  นับเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติ AI

สำหรับประเทศไทย มีการประยุกต์ใช้ AI ในวิทยาการหุ่นยนต์ ทางการแพทย์ ภาคการเกษตร เป็นต้น จึงถึงเวลาที่ทุกภาคส่วนต้องหันมาให้ความสนใจ AI   โดยในช่วงรอยต่อที่สำคัญหลายปีต่อจากนี้ ประเทศไทยจะต้องเร่งปูพรมพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ เพื่อให้ประชากรไทยมีความรู้ด้าน Al Literacy  อีกทั้งต้องปลูกฝังระบบนิเวศการศึกษาและการวิจัยด้านเทคโนโลยี AI  หรือทำให้เรื่องAI  เป็นวาระแห่งชาติเช่นเดียวกับประเทศจีนที่มี “แผนพัฒนา AI แห่งชาติ”

ด้วยเหตุนี้ราชบัณฑิตยสภา ร่วมกับสถาบันนวัตกรรมบูรณาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาวิชาการในโครงการปาฐกถาราชบัณฑิตสัญจร  สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา เรื่อง “ยุคเอไอได้มาถึงแล้ว ประเทศไทยพร้อมรับมือไหม?” ผ่านมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ในประเทศไทย มาระดมสมองเพื่อสรุปประเด็นต่างๆ ให้รัฐบาลใหม่เข้ามาดำเนินการให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

ความพร้อมของประเทศไทยในการรับมือกับโลกยุคปัญญาประดิษฐ์  ศ.ดร. ชิดชนก เหลือสินทรัพย์ ราชบัณฑิตและอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า  ในการก้าวเข้าสู่ยุค AI ต้องแยกออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ มหาวิทยาลัย รัฐบาล และประชาชน โดยมหาวิทยาลัย ถือว่ามีความพร้อมมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์และนักศึกษา แต่ปัญหาคือ งานส่วนใหญ่กลับเน้น algorithms ที่มีอยู่แล้วในสาขาต่างๆ ส่งผลให้ยังอ่อนในเรื่องเกี่ยวกับทฤษฎีด้าน AI ในส่วนของรัฐบาลอยู่ในสถานะที่กำลังตื่นตัว โดยหน่วยงานภาครัฐมีการประยุกต์เทคโนโลยีที่มีอยู่เพื่อใช้งานกับ AI แต่ไม่ได้มีการสร้างขึ้นมาหรือเกิดแนวคิดทฤษฎี AI ใหม่ๆขึ้น แต่ก็มีการกำหนดยุทธศาสตร์เกี่ยวกับแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ  เพื่อการพัฒนาประเทศ แต่ยังขาดการกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน ต่างจากประเทศจีนที่มีการกำหนดระยะเวลาการพัฒนาที่ชัดเจน ทำให้การพัฒนาเห็นภาพชัดยิ่งขึ้น

ส่วนในฝั่งของประชาชน มีความตื่นตัว แต่เพียงไม่รู้ว่าสิ่งที่ใช้ในชีวิตประจำวันใช่ AI หรือไม่ เช่น การพูดแล้วเปลี่ยนเป็นข้อความในมือถือ บางคนใช้ในทางสร้างความเดือดร้อน ไม่รู้เบื้องหลังการทำงานของโปรแกรม AI  และกลัวมาแย่งงานทำ ต้องบอกว่าไม่ต้องกลัวเพราะมีอีกหลายบทบาทที่ AI  ไม่สามารถทำได้ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐในการสร้างองค์ความรู้และเผยแพร่ให้กับประชาชนได้รู้ถึงประโยชน์และอันตรายของAI  ดังนั้นจะเห็นว่าประเทศไทยยังขาดความพร้อมในการทำวิจัยเชิงทฤษฎีด้าน AI อย่างลงลึก แต่มีความพร้อมที่จะประยุกต์ใช้งาน ซึ่งสิ่งสำคัญ จะทำอย่างไรให้นักศึกษามีพื้นฐานคณิตศาสตร์ที่ดีและแม่นยำมากพอ เพื่อให้ไทยไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยี AI ในระดับโลกได้  

การขับเคลื่อนของภาคการศึกษา ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)และภาคีราชบัณฑิต แสดงความเห็นว่า ภาพรวมความพร้อมของไทยที่จะรับมือกับยุคของ AI  ที่จะขับเคลื่อนประเทศไม่ว่าจะเป็นทางด้านนโยบาย ทุนสนับสนุนการวิจัย ความพร้อมก้านโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการพัฒนา AI เช่น ThaiSC  และ LANTA Supercomputer รวมไปถึงการมีระบบข้อมูลเพื่อรองรับการพัฒนาโมเดล AI อย่าง Thai AI Service Platform แฟลตฟอร์มที่แบ่งปันชุดข้อมูลในลักษณะ Open API ส้าหรับนักวิจัยเพื่อนำไปพัฒนาโมเดล AI แต่ก็มี ปัญหาอุปสรรคในด้านข้อมูล คือ Dataset ที่มีคุณภาพมีจำกัด และ PDPA

ศ.ดร.ศุภชัย กล่าวอีกว่า ในส่วนของการต่อยอดงานวิจัยไปสู่เทคโนโลยีที่สามารถใช้งานได้จริง ซึ่งผู้พัฒนา AI ในไทย ส่วนใหญ่จะเป็นมหาวิทยาลัย อาจจะยังไม่มีความเชี่ยวชาญในการต่อยอดสู่ธุรกิจ หรือการต่อยอดโมเดล AI สู่การใช้ประโยชน์ ต้องใช้ต้นทุนสูง ยังขาดแหล่งทุนสนับสนุน และTech Startup ในไทยที่ให้บริการเทคโนโลยี AI ในไทยยังมีน้อย ทางด้านความพร้อมของการพัฒนากำลังคน พบว่าไทยยังขาดการผลิตคนทางด้าน Digital Talent ยังน้อย โดยคาดว่าจะขาดบุคลากรในการสร้างโมเดลด้านดิจิทัลถึง 6 แสนคน ในปี 2570 และกว่าครึ่งจะเกี่ยวข้องกับ AI ส่งผลให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ทั้งนี้อว.ได้มีการพัฒนาหลักสูตร Sandbox ของ AI Engineering Institute ; AIEI โดยมีการใช้ใน 6 มหาวิทยาลัย ที่ประยุกต์ใช้ในหลักสูตร วิศวกรรม คอมพิวเตอร์ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลักสูตร Non-degree ของ บพค. ในโครงการ AI for All เป็นต้น

ศ.ดร.ปรเมษฐ์ มนูญพงศ์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันวิทยสิริเมธี  กล่าวเสริมว่า ในฐานะของผู้สอน สิ่งสำคัญคือให้แรงบันดาลใจแก่ผู้เรียน ในการพัฒนาแนวคิดทางด้าน AI ชี้ให้เห็นเทรนด์การพัฒนา ซึ่งในปัจจุบันก็คือ ChatGPT ดังนั้นไม่เพียงแค่การเรียนรู้และใช้งาน แต่ควรที่จะเข้าใจและพัฒนาเทคโนโลยีได้ด้วย ซึ่งในปัจจุบันนักศึกษาที่จะเป็นผลผลิตในการขับเคลื่อนเทคโนโลยี AI มีไม่เพียงพอ อย่าง อัตราการรับนักศึกษาของสถาบันวิทยสิริเมธี ซึ่งมีโควต้า 20 คนต่อปี แต่ในปีที่แล้วมีการรับนักศึกษาเพียง 1 คน จากผู้ที่สมัครเข้าเรียนกว่า 500 คน  ที่จะสามารถพัฒนาศักยภาพทางด้าน AI ต่อไปได้  สะท้อนให้เห็นว่าการสร้างความรู้หรือพื้นฐานเกี่ยว AI ควรจะมีการเรียนการสอนตั้งแต่ในระดับ ม.ปลาย เพื่อให้เกิดกระบวนการทำความเข้าใจและนำไปต่อยอดได้ในระดับการศึกษาหรือในอนาคตต่อไป

บริบทของไทยที่ต้องเตรียมพร้อม ดร.เทพชัย ทรัพย์นิธิ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์เนคเทค และอุปนายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย อธิบายว่า บริบทที่ต้องพร้อมแบ่งออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่  1.ด้านกำลังคนของประเทศ ยังขาดศูนย์กลางเพื่อรวมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ ทำให้กำลังคนที่มีความสามารถไม่เพียงพอ และศักยภาพทางเทคโนโลยีมีจำกัด  2.ด้านการประยุกต์ใช้งานของภาคธุรกิจ คือ การใช้งาน AI ในภาคธุรกิจที่จำกัด งานงิจัยและนวัตกรรมในประเทศยังไม่พร้อมสู่การใช้งาน ความปลอดภัยในการประยุกต์ใช้ AI และมาตรการการส่งเสริม ไม่เพียงพอ 3.ด้านจริยธรรมและกฎหมาย โดยหลักเกณฑ์จริยธรรมของ AI ยังไม่ถูกนำไปใช้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะยังขาดกฎหมายและกฎระเบียบที่เหมาะสม 4.ด้านปัจจัยสนับสนุนของประเทศ เช่น การขาดศูนย์กลางขับเคลื่อนแบบบูรณาการ เป็นต้น

ดร.เทพชัย กล่าวต่อว่า  จากที่กล่าวข้างต้นหากไทยมีความพร้อมแล้วทุกด้านจะทำให้มีผลลัพธ์ที่น่าพอใจโดยที่มีการประเมินไว้เกิดขึ้นภายในปี 2570 ตามแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ เพื่อการพัฒนาประเทศ พ.ศ.2565-2570  คือ เกิดการลงทุนด้าน AI เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อปี สามารถผลิตกำลังคน AI ได้ 30,000 คน ส่งผลการขับเคลื่อนนวัตกรรมกว่า 100 นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับ AI ที่สร้างมูลค่ากว่า 4.8 หมื่นล้านบาท โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ เกษตรและอาหาร การใช้งานและบริการภาครัฐ การแพทย์และสุขภาวะ โลจิสติกส์และการขนส่ง การศึกษา ท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ความมั่นคงและปลอดภัย อุตสาหกรรมการผลิต พลังงานและสิ่งแวดล้อม การเงินและการคลัง เป็นต้น 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เหรียญที่มีสองด้านของ AI ในสังคมไทย

ประเทศไทยมีการเติบโตด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วในหลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ บริการและในการเข้าถึงข้อมูลต่างๆอันนำไปสู่ปัญหาของสังคมเช่น

นายกฯ นั่งหัวโต๊ะ ถกสภานโยบายอุดมศึกษาฯ หวังพัฒนาองค์ความรู้ขั้นสูง

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2567 โดยมี น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

2567 ประเทศไทย กับ AI ไม่ใช่กระแสวูบวาบ แต่จะอยู่กับเราตลอดไป

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่ทำให้ตอนนี้ เรื่องของ AI (Artificial Intelligence) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ดูจะเริ่มใกล้ตัวคนเรา เข้ามามากขึ้นทุกที จนทำให้ต่อไปในอนาคต คำว่า สังคมปัญญาประดิษฐ์ ดูจะเป็นเรื่องที่อยู่ไม่ไกลจากตัวเรา