อาลัย'ครูชลธี' จัดพิธีบำเพ็ญกุศลที่วัดไร่ขิง

อาลัยศิลปินแห่งชาติ ครูชลธี ธารทอง นักปั้นมือทองวงการเพลงลูกทุ่ง พิธีบำเพ็ญกุศลจัดที่วัดไร่ขิง

22 ก.ค.2566 – นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กล่าวว่า นายสมนึก ทองมา (ชลธี ธารทอง) ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักแต่งเพลงลูกทุ่ง) พุทธศักราช 2542  ถึงแก่กรรมอย่างสงบ เมื่อวันศุกร์ที่ 21 กรกฎาคม 2566 เวลา 17.57 น. ณ  โรงพยาบาลศิริราช สิริรวมอายุ 85 ปี  โดยทายาทขอพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ วันจันทร์ที่ 24 กรกฎาคม 2566  เวลา  17.30  น. และกำหนดสวดพระอภิธรรมศพ ระหว่างวันที่ 24-31 กรกฎาคม 2566  เวลา  19.00 น. ณ ศาลากองอำนวยการ วัดไร่ขิง พระอารามหลวง ตำบลไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ทั้งนี้ สวธ.จะดำเนินการขอพระราชทานเพลิงศพให้ หลังจากบำเพ็ญกุศลศพต่อไป

โอกาสนี้ คณะกรรมการกองทุนส่งเสริมวัฒนธรรม โดยนางนวลพรรณ ล่ำซำ ประธานกรรมการกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม กล่าวว่า จะมีการสนับสนุนสวัสดิการช่วยเหลือ ได้แก่ มอบเงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิต เพื่อร่วมการบำเพ็ญกุศลศพจำนวน 20,000 บาท ค่าเครื่องเคารพศพ จำนวน 3,000 บาท และเงินช่วยเหลือค่าจัดพิมพ์หนังสือเผยแพร่ผลงาน เมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 150,000  บาท 

สำหรับประวัติโดยสังเขป สำหรับประวัติและผลงานของนายสมนึก ทองมา (ครูชลธี ธารทอง)เกิดวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2480  พื้นเพเป็นชาวจังหวัดชลบุรี และจบการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนประชาสงเคราะห์ อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี ก่อนที่ต่อมาจะย้ายไปอยู่กับญาติ ณ จังหวัดราชบุรี   โดยชีวิตในวัยเด็กของครูชลนั้นลำบากมาก พ่อมีอาชีพรับจ้างทั่วไป ส่วนแม่นั้นก็ตกเลือดตายตั้งแต่ครูชลอายุได้เพียง 6 เดือน เมื่อเติบโตขึ้นครูชลก็รับจ้างทำทุกอย่าง แต่ด้วยที่ชอบ ในการร้องเพลงลูกทุ่งทำให้ได้เป็นนักร้องเพลงเชียร์รำวงของวงดาวทอง

จากนั้นก็ได้ไปเป็นนักร้องในวงดนตรีของ สุรพล สมบัติเจริญ ราชาเพลงลูกทุ่งไทยในสมัยนั้น ทว่าก็มีเหตุให้ครูชลต้องถูกไล่ออกจากวงหลังจากเข้าร่วมได้เพียง 3 วัน เนื่องจากครูชลไม่ได้พักในกรุงเทพฯ ทำให้ต้องเดินทางไปกลับราชบุรี เป็นเหตุให้เข้าวงมาทำงานสายและถูกไล่ออกในที่สุด  แม้เส้นทางวงการเพลงของครูชลธีจะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ก็ประสบความสำเร็จเป็น “เทวดาเพลง” จากการแต่งเพลงให้นักร้องจนมีชื่อเสียงโด่งดัง 

เส้นทางวงการเพลงของ “เทวดาเพลง” หรือ สมนึก ทองมา เริ่มต้นด้วยการเป็นนักร้องสังกัดวง รวมดาวกระจาย ซึ่งเป็นหนึ่งในวงดนตรีลูกทุ่งที่โด่งดังของยุคนั้น (พ.ศ. 2500 – 2516 ) และได้มีโอกาสบันทึกเสียง 4  เพลงแต่ไม่ดังเลยสักเพลง ซึ่งในระหว่างนั้นเองเขาก็ได้เรียนรู้วิชาแต่งเพลงอย่างจริงจังจากครูสำเนียง หัวหน้าวงรวมดาวกระจาย แม้ว่าก่อนหน้านี้จะเคยศึกษาและทดลองแต่งเพลงด้วยตนเองมาบ้างแล้วก็ตาม ซึ่งเพลง “พอหรือยัง” คือเพลงที่เคยแต่งไว้นานแล้ว และเป็นเพลงแรกที่ทำให้เขาเริ่มเป็นที่รู้จัก เนื่องจากมีอดีตนักร้องของวงรวมดาวที่ไปสังกัดใหม่กับวงศรคีรี ศรีประจวบ ขอนำไปร้องจนประสบความสำเร็จ แต่ไม่มีใครเชื่อว่าสมนึกเป็นคนแต่งเพลงนี้ขึ้นมา หลังจากนั้นกลับมีเหตุให้เขาถูกไล่ออกจากวงรวมดาวด้วยความเข้าใจผิดที่ว่า ดังแล้วแยกวง นั่นจึงกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้ชลธีอยากหันหลังให้วงการเพลงและตัดสินใจพาครอบครัวกลับบ้านต่างจังหวัด  แต่แล้วโชคชะตายังคงนำพาให้ชลธีได้หวนกลับเข้าสู่วงการเพลงในฐานะนักแต่งเพลงให้กับนักร้องดังอีกหลายคนอีกครั้ง โดยช่วงที่ตัดสินใจกลับบ้านนั้นเขาได้แวะปั้มน้ำมันแห่งหนึ่งแถวบุคคโล และได้พบกับเด็กล้างรถที่สร้างความประทับใจให้ด้วยน้ำเสียงอันไพเราะ จึงได้มอบเพลงให้ 2  เพลงโดยไม่คิดเงิน

ต่อมาเด็กล้างรถคนนั้นก็คือ สายัณห์ สัญญา ที่โด่งดังจากเพลง “ลูกสาวผู้การ” และ “แหม่มปลาร้า” จนได้รับฉายา “เทวดาเพลง” จาก ยิ่งยง สะเด็ดยาด คอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ หลังจากนั้นทำให้มีลูกศิษย์และเพลงดังเพิ่มขึ้น อาทิ เสกศักดิ์ ภู่กันทอง “ทหารอากาศขาดรัก”, ยอดรัก สลักใจ“จดหมายจากแนวหน้า” และ “ล่องเรือหารัก”, ก๊อต จักรพันธ์ “วันนี้สวยกว่าเมื่อวาน”, ศรเพชร ศรสุพรรณ “ไอ้ทองร้องไห้”, สดใส รุ่งโพธิ์ทอง “สาวผักไห่”, เสรีย์ รุ่งสว่าง “จดหมายจากแม่”, เอกพจน์ วงศ์นาค “เรารอเขาลืม”, แอ๊ด คาราบาว “เทวดาเพลง”, มนต์สิทธิ์ คำสร้อย “ห่มฝางต่างผ้า”, ดำรง วงศ์ทอง “ทหารก็มีหัวใจ” เป็นต้น ซึ่งผลงานประพันธ์เพลงมากกว่า 2,000 เพลงเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่มีจุดเด่นในการเลือกสรรถ้อยคำในลักษณะของกวีนิพนธ์มาใช้ในการแต่งเพลง เนื้อหามีสาระส่งเสริมคุณค่าวิถีชีวิตไทย ท่วงทำนองเพลงมีความไพเราะตรึงใจผู้ฟัง บทเพลงมีความดีเด่นในศิลปะการประพันธ์ที่ใช้ฉันทลักษณ์หลายรูปแบบ จึงทำให้ทุกบทเพลงยังคงตราตรึงในใจของผู้ฟังเพลงจนถึงปัจจุบัน   นายสมนึก ทองมา(ชลธี ธารทอง) จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักแต่งเพลงลูกทุ่ง) พุทธศักราช 2542

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บอร์ด ICH ขึ้นบัญชี 10 มรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรม ‘งานนมัสการพระธาตุพนม-เสื่อกกจันทบูร-ผ้าหม้อห้อม-ตำนานสุบินกุมาร‘

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมครั้งที่ 3/2567 พิจารณาเห็นชอบให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม

อาลัย ‘สันติ ลุนเผ่’ ศิลปินแห่งชาติ นักร้องเสียงทรงพลังอมตะ ผู้ขับร้องเพลงปลุกใจรักชาติ

10 ธ.ค.2567 - นายประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กล่าวว่า ได้รับการประสานงานจากผู้ดูแลของเรือตรี สันติ ลุนเผ่ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล) พ.ศ.2558 ว่า เรือตรี สันติ ลุนเผ่ ถึงแก่กรรมอย่างสงบ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม

สิ้น'สันติ ลุนเผ่' ศิลปินแห่งชาติ นักร้องเสียงทรงพลัง

นายประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) โดยกองกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม ได้รับการประสานงานจากผู้ดูแลของเรือตรี สันติ ลุนเผ่ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล) พุทธศักราช 2558  ว่า เรือตรี สันติ ลุนเผ่ ถึงแก่กรรมอย่างสงบ เมื่อวันที่ 10  ธันวาคม 2567

ฉลอง'ต้มยำกุ้ง' กระหึ่มโลก ชวนลองเมนูมรดกวัฒนธรรม

โด่งดังก้องโลกกับเมนูต้มยำกุ้งของดีเมืองไทย กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จัดงานฉลองต้มยำกุ้งและเคบายา มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ในโอกาสที่ ยูเนสโก ได้ประกาศขึ้นทะเบียน “ต้มยำกุ้ง” (Tomyum Kung) และ “เคบายา” เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List

ลุ้น'ต้มยำกุ้ง'ขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรม

3 ธ.ค.2567 - นายประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก จะประชุมพิจารณาประกาศขึ้นทะเบียนอาหาร “ต้มยำกุ้ง” ของประเทศไทย และชุด “เคบายา” เสนอโดยสิงคโปร์ ร่วมกับไทย มาเลเซีย อินโ