ไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศ ที่คาดว่าจะต้องเผชิญความเสี่ยง และได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งอุณหภูมิร้อนขึ้น การเกิดภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำ รวมถึงไฟป่าตามมา หรือหลายพื้นกลับต้องเจอสถานการณ์น้ำท่วมอย่างรุนแรงและฉับพลัน ในช่วงวงจรการเกิดสภาพอากาศแบบ “เอลนีโญ “หรือสภาพอากาศแห้งแล้งในปีนี้ ซึ่งนักวิชาการคาดว่าสำหรับประเทศไทยจะเจอเอลนีโญลากยาวไปถึง 3 ปี เป็นข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนว่า เราควรจะต้องมีการเตรียมการรับมือ กับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ โดยเฉพาะภาวะโลกร้อนอย่างจริงจังแล้ว และอาจต้องทำงานในเชิงรุกแก้ปัญหา
จากเหตุผลดังกล่าว ในแง่ความรับผิดขอบของภาครัฐ ทำให้ล่าสุดกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ได้ปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่และโครงสร้างการทำงาน โดยเปลี่ยนชื่อกรมเป็น”กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม” (Department of Climate Change and Environment : CCE) ซึ่งเป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 5 ก.ค.2566 เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของของสถานการณ์โลก แต่ถ้าเรียกแบบชาวบ้านสั้นๆ ง่ายๆ อาจเรียกได้ว่า “กรมโลกร้อน” ก็ว่าได้
บทบาทหน้าที่ของ”กรมโลกร้อน ที่ว่านี้ คือ มีภารกิจด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมของประเทศโดยตรง ทั้งการเสนอแนะและจัดทำนโยบาย การทำแผน และมาตรการเกี่ยวกับการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ การทำงานที่นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ที่เป็นตัวเร่งให้โลกร้อน นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่จัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจก ระดับประเทศและระดับพื้นที่ ตลอดจน จัดทำรายสถานการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ โครงสร้างของกรม หน่วยงานภายในแบ่งออกเป็นสำนักเลขานุการกรม ,กองขับเคลื่อนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, กองขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจก, กองยุทธศาสตร์และความร่วมมือระหว่างประเทศ, กองส่งเสริมการมีส่วนร่วมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และศูนย์วิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม จะเป็นศูนย์ติดตามและคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แจ้งเตือน สำหรับแก้ไขปัญหา การรับมือ และปรับตัวกับความเสี่ยงเชิงพื้นที่ที่มีแนวโน้มจะเกิดถี่ขึนในอนาคตด้วย
การปรับปรุงโครงสร้างครั้งนี้ สะท้อนถึงการให้ความสำคัญต่อประเด็นปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย และการขับเคลื่อนงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม มุ่งบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี พ.ศ.2573 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG emission) ภายในปี พ.ศ. 2608
เถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัด ทส. โฆษกประจำ ทส. กล่าวว่า การเปลี่ยนชื่อกรมใหม่เป็นไปตามเทรนด์โลก เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบทั่วโลก ประเทศไทยต้องร่วมขับเคลื่อนแก้ปัญหา การปรับโครงสร้างเป็นกรมส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีภารกิจใหม่เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon neutrality กรมนี้จะติดตาม กวดขัน และกำกับดูแล ส่วน Net Zero GHG emission ต้องมีการทำงานที่ชัดเจนเพื่อบอกนานาขาติ ไทยเอาจริงเรื่องภาวะโลกร้อน แม้ไทยจะเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 0.8% เป็นอันดับที่ 22 ของโลกก็ตาม แต่เผชิญปัญหาความรุนแรงของสภาพภูมิอากาศไม่น้อย ปีที่ผ่านมา เจอภัยแล้ง น้ำท่วม ส่วนปีนี้มีการพยากรณ์ไทยจะเจอแล้งจากเอลนีโญ่ ซึ่งกรมนี้จะมีภารกิจร่วมแก้ปัญหาด้วย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทุกกระทรวงต้องช่วยสนับสนุนการดำเนินงาน เพราะล้วนมีส่วนเกี่ยวข้อง
สมศักดิ์ สรรพโกศลกุล อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศรุนแรงขึ้น จำเป็นต้องมีหน่วยงานที่มีความชัดเจนด้านภารกิจขับเคลื่อนความเป็นกลางทางคาร์บอน การเปลี่ยนชื่อกรมแสดงความแน่วแน่แก้ไขปัญหา ซึ่งมีภารกิจขับเคลื่อนการปรับตัวเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น การลดก๊าซเรือนกระจกเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วน เกษตร อุตสาหกรรม คมนาคม ซึ่งจากการจัดทำโพลเพื่อสอบถามถึงความตระหนักของประชาชนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งการกำหนดผู้รับผิดชอบการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ชัดเจน พบว่า ประชาชนเกือบ 90% เห็นด้วยกับการเปลี่ยนชื่อและเสริมภารกิจใหม่
กรมน้องใหม่ ยังมีภารกิจเสนอแนวทางตามพันธกรณีของอนุสัญญา พิธีสาร และความตกลงระหว่างประเทศ และระดับภูมิภาคที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการประสานความร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงองค์กรในประเทศและต่างประเทศ เพื่อดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ นอกจากนี้ยังรวมถึงการวิจัย พัฒนา ถ่ายทอด และส่งเสริมเทคโนโลยีการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมด้วย
นอกจากนี้ มีการเปิดศูนย์วิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 15 ก.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งจะเป็นศูนย์ข้อมูลกลางเชื่อมโยงข้อมูลไปสู่ทุกภาคส่วน ตลอดจนส่งสัญญาณเตือน ไม่ว่าจะประขาชน องค์กรเอกชน โดยเฉพาะทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ซึ่งมีการเปิดศูนย์ย่อยนำร่อง 3 แห่ง ที่ จ.กระบี่ เลย และเชียงใหม่ โดยมีแผนจะขยายให้ครบทุกจังหวัด
จากงานเดิมของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม “กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม”ยังมีโครงสร้างอีกส่วนหนึ่งที่แตกต่างจากบทบาทหน้าที่เดิม ที่เป็นงานยกมาจากกองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (กปอ.) ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)
พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการ สผ.กล่าวว่า กรมใหม่เป็นไทม์มิ่งสำคัญ จะช่วยให้การขับเคลื่อนการทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก้าวกระโดดอย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งในมุมกว้างและเชิงลึก ถ้าพิจารณาแรงกดดันที่เข้ามาในประเทศไทยนั้น มีทั้งเรื่องภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และแรงกดดันด้านการค้าการลงทุนเริ่มจะแสดงให้เห็นถ้าไม่ยกระดับการทำงานให้รวดเร็วทุกมิติ จะไม่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงและแรงกดดันที่ถาโถมมาได้ทัน ด้าน สผ.จะตัดกองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปร่วมกับกรมใหม่ เพื่อทำให้การทำงานรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เดิมตั้งกองนี้รองรับภารกิจเร่งด่วนบนเวทีโลก
นอกจากนี้ ยังมีหลายส่วนที่เชื่อมโยงกับกรมใหม่ได้ โดยเฉพาะความหลากหลายทางชีวภาพ ขณะนี้ทุกเวทีเน้นการคิดร่วมกันด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภุมิอากาศกับการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อบริหารอนุสัญญาให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งกองทุนสิ่งแวดล้อมในการกำกับของสผ. มีการยกระดับให้เงินสนับสนุนแก้ภาวะโลกร้อน ทุกการพัฒนาต้องมีแผนลดโลกร้อน
ณัฐริกา วายุภาพ นิติพน รองผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) กล่าวว่า อบก. เป็นหน่วยงานมีภารกิจให้บริการเทคนิควิชาการเฉพาะด้าน ภารกิจไม่ซ้ำซ้อนกรมใหม่ หาก อปท. จังหวัด ภาคเอกชน ต้องการทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจก อบก.ให้บริการประเมินการลดก๊าซเรือนกระจก การตั้งเป้าหมาย และรับรองปริมาณการลดก๊าซ รวมถึงการพัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิตในระดับโครงการ ผู้พัฒนาโครงการต้องการความมั่นใจสิ่งที่ทำลดปล่อยก๊าซได้เท่าไหร่ หรือโครงการปลูกป่าดูดซับกักเก็บในเนื้อไม้ อบก. สนับสนุนให้การรับรอง เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพบุคคลากรที่เกี่ยวข้องเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก กรม CCE จะหนุนเรื่องการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผนึกกำลังร่วมกับ TGO ขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์และมีประสิทธิภาพสูงสุดทุกฝ่ายต้องทำงานร่วมกันเท่านั้น ถึงจะเกิดผลสำเร็จและเป็นไปได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เตรียมรับมือหมอกควัน-ฝุ่นพิษ 2568
ใกล้จะเข้าสู่ฤดูกาลฝุ่นช่วงเวลาที่ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จะเริ่มสูงขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาประเมินช่วงหลังวันที่ 23 ตุลาคม 2567 ประเทศไทยตอนบนจะเริ่มมีฝนที่ลดลง และจะมีมวลอากาศเย็นแผ่เข้ามาบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
กรมลดโลกร้อน หนุน 8 แนวทางเสริมความเข้มแข็งเครือข่ายฯ เน้น “รุก รับ ปรับตัว รวมพลังสามัคคี ลดโลกร้อน”
กรมลดโลกร้อน ทำงานเชิงรุกเสริมแกร่งเครือข่ายภาคประชาชน และภาคีความร่วมมือ จัดประชุมใหญ่เสริมความเข้มแข็ง เน้น“รุก รับ ปรับตัว รวมพลังสามัคคี ลดโลกร้อน”
“พัชรวาท” เชื่อมั่น 78 ปธส.11 เป็นพลังสำคัญ ร่วมแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง
“พัชรวาท” มอบที่ปรึกษา ปิดหลักสูตร ปธส.11 หลังอบรมเข้ม 4 เดือน ชี้จะเป็นภาคีเครือข่ายสำคัญร่วมแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ
เปิดรายงานคุณภาพสิ่งแวดล้อมปี 67 ยังคงวิกฤต!
ร่างรายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2567 สะท้อนให้เห็นสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมสาขาต่างๆ ของประเทศไทยในระหว่าง พ.ศ. 2566 – 2567 ปีล่าสุด หลายสาขามีความน่าวิตก ตั้งแต่การปลูกพืชเศรษฐกิจหลักในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม การตกค้างสารเคมีทางการเกษตรในดิน
TGO จับมือ KBank วิเคราะห์สถานการณ์ตลาดคาร์บอนไทยเติบโตต่อเนื่อง ชี้ต้องให้ความรู้ สนับสนุนเงินทุน และเร่งพัฒนาให้ได้มาตรฐานสากล
วันที่ 23 กรกฎาคม 2567 ณ K+ Building สามย่าน และ Facebook Live โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (TGO)