‘ตึกร้าง’ในกรุง ทางออกที่อยู่อาศัยคนจนเมือง?

กรุงเทพฯ เมืองใหญ่เต็มไปโครงการพัฒนาที่ดิน ทำเลดีๆ มีโครงการคอนโด ตึกสูงเกิดขึ้นมากมาย ความฝันจะมีบ้านเป็นของตัวเองสักหลังบนที่ดินในเมืองไม่ใช่เรื่องง่าย ราคาบ้านและที่ดินเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีแนวโน้มเติบโตกว่ารายได้คนเมือง ในช่วง 10 ปีมานี้ราคาบ้านมีแต่ทะยานสูงขึ้น โดยเฉพาะคนจนเมือง ความเหลื่อมล้ำและรายได้น้อยไม่มีทางเลือกด้านที่อยู่อาศัย ทำให้คนจนเมืองไร้ที่อยู่อาศัยยังมีอยู่อีกจำนวนมาก

มีความพยายามเปลี่ยนแปลงเมือง เพื่อเอื้อให้คนทุกกลุ่มในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นผ่านการประชุมแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยอาคารร้างและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยที่อยู่อาศัยในพื้นที่อาคารร้าง จัดโดยสำนักงานพัฒนาที่อยู่อาศัย (สพอ.) กรุงเทพมหานคร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) แนวคิดฟื้นตึกร้างสร้างที่อยู่อาศัย เริ่มจากการสำรวจอาคารร้างในกรุงเทพฯ ของ สพอ. ร่วมกับ มพศ. และทีมทำงานชุมชนตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 พบจำนวนอาคารร้างทั้งลักษณะเป็นอาคารคอนโดและหมู่บ้านจัดสรรที่สร้างไม่เสร็จกว่า 400 อาคาร จึงเกิดแนวคิดการพัฒนาอาคารเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ผู้มีรายได้น้อยที่ขาดแคลนที่อยู่อาศัย ผู้กำลังประสบปัญหาไม่มีที่อยู่อาศัยหรือถูกไล่รื้อ  รวมถึงช่วยคนรุ่นใหม่ในวิกฤตที่อยู่อาศัยราคาแพง

ตึกร้างสร้างไม่เสร็จในเมือง เป้าหมายพัฒนาที่อยู่อาศัยคนจน

นพพรรณ พรหมศรี เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย  ผู้มีประสบการณ์ทำงานด้านที่อยู่อาศัยคนจนเมือง ให้ภาพสถานการณ์ที่อยู่อาศัยในเมืองว่า ทุกวันนี้โอกาสในการซื้อขายที่ดินและมีบ้านเป็นของตัวเองน้อยมาก ไม่เพียงกลุ่มคนจน และผู้มีรายได้น้อยทั่วไป แต่รวมถึงคนชั้นกลาง ด้วยราคาที่ดินและบ้านในเมืองไม่มีลดลงเลย เพราะที่ดินเป็นสินค้าสำคัญต่อการลงทุนธุรกิจ ที่ดินในเมืองที่มีอยู่จำกัดถูกแย่งชิง ทำโครงการพัฒนาต่างๆ ตลอดเวลา คนอยากมีบ้านต้องกู้เงินผ่อนบ้านระยะยาวหรือตัดสินใจซื้อบ้านนอกเมืองใหญ่ เกิดต้นทุนเดินทางสูง โอกาสบ้านหลุดมือก็เยอะ หากรายได้ลดลงหรือตกงาน ขณะที่ภาครัฐขาดนโยบายจัดการปัญหานี้ ส่วน พอช.มีบ้านมั่นคง โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยของคนในชุมชนแออัด ซึ่งก็ต้องอาศัยการเช่าที่ดินของหน่วยงานรัฐ

“ นอกจากนี้ มีกลุ่มคนตกหล่นที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและโอกาสต่ำกว่าคนในชุมชนแออัด ประกอบด้วยคนไร้บ้านใช้ชีวิตในที่สาธารณะ มีรายได้ไม่สม่ำเสมอ กลุ่มคนที่อยู่ห้องเช่าราคาถูกตามชุมชน แต่ก็อยากมีบ้าน  มีห้องเช่าราคาถูก เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ อีกทั้งคนชั้นกลางมีแนวโน้มเป็นครอบครัวเดี่ยวเพิ่มขึ้น รวมถึงคนรุ่นใหม่ บัณฑิตจบใหม่ ที่รายได้ไม่สูงนัก ทิศทางข้างหน้าที่อยู่อาศัยเช่าราคาไม่แพง คือ คำตอบ ซึ่งหอพัก ห้องเช่า ราคาไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท คนจนรับไหว ส่วนคนชั้นกลาง ราคา 3,000-4,000 บาท  “ นพพรรณ กล่าว

เธอย้ำเมืองที่เป็นธรรมต้องประกอบด้วยคนทุกภาคส่วน การพัฒนาเมืองเราจะเห็นคนลงแรงทุกสถานะ ทุกอาชีพ ทั้งคนขายของ คนขายแรงงาน คนหาเช้ากินค่ำ การถูกกีดกันที่อยู่อาศัย แสดงถึงความเหลื่อมล้ำ เมืองที่น่าอยู่ ทุกคนต้องมีที่อยู่อาศัยเหมาะกับสถานะทางเศรษฐกิจและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของตนเอง

สำรวจอาคารร้างในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

เมื่อ กทม. ฟื้นสำนักงานพัฒนาที่อยู่อาศัย ประกาศจะปรับปรุงตึกร้างเป็นเป้าหมายแรก หวังเพิ่มสวัสดิการด้านที่อาศัยให้คนจนเมือง เลขาธิการ มพศ.ระบุจากนโยบายที่เขียนไว้ต้องเดินหน้า หาแนวทางขยับ เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมในเชิงปฏิบัติเพราะทุกเขตของกรุงเทพฯ มีอาคารร้าง ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หากสามารถนำมาปรับปรุงเป็นห้องเช่าราคาถูก จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกลับคืนมา  ถือเป็นทางเลือกที่อยู่อาศัย เป็นหลักประกันชีวิต ช่วงโควิดโรงงานปิด คนตกงาน ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน หลุดมาเป็นคนไร้บ้านจำนวนมาก ปัจจุบันมีคนไร้บ้าน 1,500-2,000 คน ในกรุงเทพฯ

“ การชุบชีวิตตึกร้างมาเป็นที่อยู่ราคาถูก จะช่วยหยุดคนเข้าสู่วงจรคนไร้บ้านหน้าใหม่ และช่วยคนชั้นกลางมีเงินเหลือหมุนเวียนจับจ่ายใช้สอยด้านอื่นๆ ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น “ 

ภาพชีวิตชุมชนบนอาคารร้างในเมืองใหญ่ 

อย่างไรก็ตาม นพพรรณระบุแนวทางพัฒนาที่อยู่อาศัยนี้ไม่ง่าย มีปัญหาและอุปสรรคมาก มีประวัติทางกฎหมายต่างๆ ทำให้ทิ้งร้างมานาน  ควรสร้างกลไกการพูดคุยกับเจ้าของตึกร้างให้ชัดเจน โจทย์ใหญ่ต้องมีทีมเจรจา ค้นหาอาคารร้างที่เหมาะสมในแง่การปรับปรุงไม่ลงทุนสูงมาก หากนำมาทำที่อยู่เพื่อเช่าไม่ผิดกฎหมาย เจ้าของอาคารต้องยินดีให้ใช้อาคารเป็นที่อยู่อาศียเช่า ด้านงบประมาณปรับปรุงอาคารร้างเบื้องต้น กทม.มีแนวคิดตั้งกองทุนที่อยู่อาศัย หรืออีกแนวทางหาภาคีเอกชนร่วมพัฒนาที่อยู่อาศัยและบริหารจัดการ ซึ่งที่อยู่อาศัยบนพื้นที่ร้างจะต้องมีหลายระดับตอบโจทย์คนจน คนมีรายได้น้อย คนชั้นกลาง คนจบใหม่ บนหลักความปลอดภัยเป็นที่อยู่อาศัยเช่าที่มีความมั่นคง มีหลักประกันคุ้มครองผู้เช่า ไม่ขึ้นราคาค่าเช่าอย่างไม่เหมาะสม 

 “  จาก 400 อาคารร้างที่สำรวจ  จะทดลองนำร่องในพื้นที่อาคารร้างสูง 6 ชั้น บริเวณแยกแม้นศรี ซึ่งอยู่ในที่ดินสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์  ตามแผนจะพัฒนาและปรับปรุงให้เป็นทั้งห้องเช่าของคนจน และคนไร้บ้านย่านหัวลำโพง ซึ่งตามชั้นตอนต้องร่วมกันออกแบบห้องพักตามความต้องการ เมื่อปรับปรุงตึกเสร็จจะมีแผนพัฒนาด้านใด อาชีพ อาหาร สวัสดิการ  “ นพพรรณให้ข้อมูล

คนไร้บ้านใช้พื้นที่อาคารร้างพักผ่อน

นอกจากโมเดลชุบชีวิตตึกร้างแล้ว ทางมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยมีข้อเสนอแนวทางการจัดการที่อยู่อาศัยในสังคมเมืองอีก 2 รูปแบบ เธออธิบายว่า โมเดลแรกใช้ศักยภาพชุมชนบ้านมั่นคงมาบริหารจัดการช่วยเหลือผู้เช่าที่กระกระจัดกระจายหาห้องเช่าราคาถูก  ซึ่งโครงการบ้านมั่นคงจะมีที่ดินว่างของชุมชน นำที่ดินนั้นมาพัฒนาจัดทำเป็นห้องเช่าราคาถูก  นำร่องใน 3 พื้นที่ ประกอบด้วยศูนย์พักคนไร้บ้าน จ.ปทุมธานี มีจำนวน 5 ห้อง ,ที่ดินซอยเลียบวารี 79 จำนวน 10 ห้อง  และศูนย์พักคนไร้บ้าน บางกอกน้อย  8 ห้อง  ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการออกแบบก่อสร้าง พื้นที่เหล่านี้มีสมาชิกคนไร้บ้านอาศัย มีการเพาะปลูก ตั้งกองทุนค่าน้ำ ค่าไฟ   

อีกโมเดลสร้างใหม่ โดยใช้พื้นที่ว่างเปล่าของหน่วยงานต่างๆ หน่วยงานรัฐ  โดยเช่าที่ดินนำมาทำเป็นห้องเช่าราคาถูก  เห็นว่าอาจจะเป็นแนวทางที่ง่ายกว่าการเจรจาพัฒนาที่อยู่อาศัยอาคารร้าง

 ส่วนสถานการณ์การอยู่อาศัยชุมชนบนซากอาคารร้าง 2 แห่ง คือ ชุมชนสิรินเพลส และชุมชนจรัญ 95/1   นพพรรณเผยว่า ชุมชนจรัญ 95/1 ซึ่งมีคนไร้บ้านและคนยากจนจำนวนหนึ่งอาศัยอยู่บนตึกร้าง ไม่สามารถพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยต่อได้ เพราะเป็นที่ดินที่จะถูกเวรคืนก่อสร้างสะพาน รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเตรียมหาที่อยู่ใหม่รองรับคนกลุ่มนี้ ส่วนชุมชนตึกร้างสิรินเพลส ย่านซอยรามคำแหง 81 ที่มีผู้อาศัยหลายร้อยคน มีอุปสรรคด้านกฎหมายหากจะพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยให้เช่า และอาคารร้างมีขนาดใหญ่มากต้องใช้งบประมาณมหาศาล

ทั้งนี้ จะต้องติดตามต่อไปว่า ซากคอนกรีตทั่วกรุงทั้งตึกร้างที่มีคนอาศัยหลับนอนและตึกร้างที่แสนเปล่าเปลี่ยว จะกลายเป็นบ้านหลังใหม่ให้คนจนเมืองได้หรือไม่

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!

เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์

ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน

ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”

การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ

“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”

‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต

โค้งสุดท้าย 26 กองทุนฯทั่วไทย ลุ้นรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’

กรุงทพฯ/(16 ธ.ค. 67) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567

พอช. หนุน “ศูนย์กระจายสินค้าชุมชน” โมเดลสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจชุมชนฐานราก ที่กาญจนบุรี

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี จัดพิธีเปิดศูนย์กระจายสินค้าชุมชนตำบลหนองตากยา