วิทยาศาสตร์ มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อมนุษย์ไม่ว่าจะเป็นในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ทุกอย่างล้วนขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินชีวิต อาชีพ สิ่งอำนวยความสะดวก การแพทย์ และอื่นๆที่อยู่รอบตัวเรา ที่ต้องใช้หลักวิทยาศาสตร์ในการคำนวน ค้นคว้า และวิจัย เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่มีเหตุรองรับอย่างชัดเจน
ยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิด19 จะเห็นได้ชัดว่าวิทยาศาสตร์มีส่วนสำคัญอย่างมากในการแก้ไขวิกฤตนี้ให้คลี่คลายลง ทั้งการผลิตวัคซีน ยา ชุดทดสอบโควิด-19(ATK) การสร้างห้องความดันลบ การศึกษาและวิจัยสายพันธุ์โควิด19 เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนต้องอาศัยหลักวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้น แต่อาชีพที่เกี่ยวข้องกับสายวิทยาศาสตร์ก็ยังถือว่าขาดแคลนในประเทศไทย โดยเฉพาะนักระบาดวิทยาภาคสนาม นักวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง นิติวิทยาศาสตร์ นักธรณีวิทยาปิโตรเลียม และนักวิศวกรชีวการแพทย์ ในขณะเดียวกันเด็กรุ่นใหม่ความนิยมการเลือกเรียนสายวิทย์ก็ดูทีท่าว่าแนวโน้มที่ลดลงด้วย
ทางบริษัท 3เอ็ม ประเทศไทย จำกัด ในฐานะองค์กรวิทยาศาสตร์ระดับโลก ได้เผยผลสำรวจดัชนีสถานะวิทยาศาสตร์ประจำปี 2566 (3M State of Science Index 2023 – SOSI 2023) ซึ่งจัดทำขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นและความรู้สึกของผู้บริโภคเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ และผลกระทบของวิทยาศาสตร์ที่มีต่อโลกรอบ ๆ ตัวเรา ซึ่งข้อมูลที่ได้จากดัชนีสถานะวิทยาศาสตร์ประจำปี 2566 จะช่วยให้องค์กรต่าง ๆ สามารถคาดการณ์ถึงความท้าทายในอนาคต และพัฒนานวัตกรรมและสร้างสรรค์โซลูชั่นใหม่ๆ ที่ตอบสนองต่อความท้าทายเหล่านั้นได้
สำหรับผลสำรวจดัชนีสถานะวิทยาศาสตร์เป็นการสำรวจประจำปีที่ 3M ได้จัดให้ Ipsos ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยตลาดระดับโลก ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้คนที่มีต่อวิทยาศาสตร์ใน 17 ประเทศทั่วโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ยุโรป ไต้หวัน จีน ไทย และอื่นๆ ในระหว่างเดือนกันยายน – ธันวาคม 2565 โดยได้สำรวจผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มประชาชนทั่วไปประเทศละ 1,000 ราย โดยในปี 2566 นี้ เป็นการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับอนาคตของวิทยาศาสตร์ และความรู้สึกของผู้คนที่มีต่อความเท่าเทียมทางด้านสะเต็ม แรงงานฝีมือ ความยั่งยืน สุขภาพ และนวัตกรรมต่าง ๆ
วิยะดา ศรีนาคนันทน์ ประธานบริหาร บริษัท 3เอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวถึงผลการสำรวจพบว่า คนไทยกว่า 91% เชื่อว่าผลลัพธ์ในเชิงบวกจะเกิดขึ้นได้หากมีการผนึกกำลังในการนำวิทยาศาสตร์มาใช้แก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาระบบสาธารณสุข และการเกษตรที่ยั่งยืน ซึ่งข้อมูลเชิงลึกจากผลการสำรวจนี้จะช่วยให้สามารถขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อผู้คน ธุรกิจ และสังคมในวงกว้าง
วิยะดา กล่าวต่อว่า สิ่งที่สำคัญ คือ การสร้างความเท่าเทียมทางด้านสะเต็ม: STEM – วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์) ต้องทำอย่างจริงจังให้เกิดความหลากหลายและการให้โอกาสแก่ทุกคน เป็นส่วนช่วยส่งเสริมการคิดค้นด้านนวัตกรรมและการทำงานร่วมกัน จากข้อมูลจากผลสำรวจ ระบุว่า 86% ของผู้ตอบแบบถามในประเทศไทย เชื่อว่าวิทยาศาสตร์มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรกลุ่มที่เปราะบางที่สุดของโลก และ 88% เมื่อเทียบกับ 84% ในระดับโลก ต้องการทราบว่านักวิทยาศาสตร์มีมุมมองอย่างไรต่อปัญหาทางด้านสังคม ซึ่ง 91% ของคนไทย เมื่อเทียบกับ 94% ในระดับโลก เชื่อว่าผลลัพธ์เชิงบวกจะเกิดขึ้นได้หากผู้คนผนึกกำลังในการนำวิทยาศาสตร์มาใช้ในการแก้ไขปัญหา ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาระบบสาธารณสุข และการเกษตรที่ยั่งยืน
“ยิ่งไปกว่านั้น 89% เชื่อว่าโรงเรียนควรกำหนดให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรวิทยาศาสตร์ที่สอนแก่นักเรียน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้นักเรียนมีความชอบในวิทยาศาสตร์ พร้อมทั้งสนับสนุนให้เยาวชนรุ่นต่อ ๆ ไปมีความตระหนักรู้ คิด และมีส่วนร่วมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตั้งแต่วัยเด็ก
การรับรู้ถึงความสำคัญทางด้านสะเต็ม เป็นสิ่งที่ผู้คนมีความเห็นตรงกันและรับรู้ได้ในวงกว้าง โดย 89% ของคนไทยเห็นตรงกันว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านสะเต็มจะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของอนาคตได้” วิยะดา กล่าว
อย่างไรก็ตาม มีแรงงานอีกจำนวนมากที่ไม่ได้รับโอกาสในการนำศักยภาพของตนออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ ผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทยเห็นว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน มีแรงงานที่มีศักยภาพที่ยังไม่ได้รับโอกาสซ่อนอยู่ในกลุ่มแรงงานสาขาสะเต็มถึง 87% และ 79% ผู้หญิงไม่ได้นำศักยภาพด้านสะเต็มของตนออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ 86% ของคนไทยเห็นว่าจะต้องมีการดำเนินการอย่างจริงจัง เพราะ 89% กลุ่มด้อยโอกาสมักไม่ได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษาในสาขาสะเต็ม
วิยะดา แสดงความเห็นว่า จึงควรมีการส่งเสริมโครงการที่เกี่ยวกับการศึกษาในสาขาสะเต็มในประเทศไทย ด้วยการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย โดย 3M ได้มีการจัดกิจกรรม เช่น การจัดค่ายวิทยาศาสตร์สำหรับเด็ก ประจำปี 2566 กิจกรรม 3M Tech Talks สำหรับนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่หลากหลายและเท่าเทียม และในปีนี้ได้มอบทุนจำนวน 50,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 1,768,000 บาท เพื่อสนับสนุนศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ซึ่ง 99.99% เป็นเด็กไร้สัญชาติ เชื่อว่านี่เป็นอีกจุดเริ่มต้นในการบ่มเพาะนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่
นอกจากนี้ผลการสำรวจดังกล่าว ยังพบว่าคนไทยถึง 90% มีความเห็นตรงกันว่าภาคอุตสาหกรรมต้องการแรงงานทักษะเฉพาะทาง ทางด้านสิ่งแวดล้อมผู้คนเฉลี่ย 73% มีความกังวลว่าภัยภิบัติทางธรรมชาติจะทวีรุนแรงขึ้น ในขณะที่ 70% กังวลเรื่องปัญหามลพิษทางอากาศ อีก 69% กังวลเรื่องมลพิษพลาสติก และ 92% กังวลเกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งคำตอบของการบรรเทาผลกระทบเหล่านี้ได้คือ การพึ่งพาวิทยาศาสตร์ เพราะ 89% เชื่อว่าวิทยาศาสตร์จะสามารถช่วยบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ ในขณะที่รถยนต์ไฟฟ้าเริ่มแพร่หลายมากขึ้นทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับโลก ผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทยกว่า 91% เห็นตรงกันว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะสามารถช่วยลดมลพิษได้ อีกทั้งยังเชื่อว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าจะเกิดขึ้นทั่วโลก โดย 88% เชื่อว่าภายในปี 2575 ประเทศต่างๆ จะต้องการให้รถยนต์ที่ผลิตขึ้นใหม่เป็นรถยนต์ไฟฟ้า หรือรถยนต์ไฮบริด
ทั้งนี้บทสรุปของผลสำรวจดัชนีสถานะวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย สะท้อนให้เห็นว่าผู้คนต้องการฟังความคิดเห็นของนักวิทยาศาสตร์มากขึ้น อยากให้เพิ่มความหลากหลาย ความเท่าเทียม การให้โอกาสและการโอบรับทุกคน (DE&I) ที่อยู่ในตลาดแรงงานฝีมือมากขึ้น และเห็นตรงกันว่าบริษัทต่างๆ ควรดำเนินงานเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) และเชื่อว่ารถยนต์ไฟฟ้า (EV) จะมีบทบาทสำคัญต่อการก้าวไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน ถือเป็นอีกจุดเริ่มต้นที่จะช่วยขับเคลื่อนและเตรียมความพร้อมสู่โลกอนาคต
“การเข้าใจถึงความรู้สึกของผู้คนต่อวิทยาศาสตร์และผลกระทบของวิทยาศาสตร์มีบทบาทสำคัญในการปรับเปลี่ยนวิธีคิดและแนวทางในการสร้างนวัตกรรมเพื่อการแก้ไขปัญหาต่างๆ ผลการสำรวจดัชนีสถานะวิทยาศาสตร์เป็นข้อพิสูจน์ประการหนึ่งว่าโลกอนาคตจะพึ่งพาการค้นพบทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น และ 3เอ็ม มุ่งมั่นที่จะใช้วิทยาศาสตร์เป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของเราในทุกๆ เรื่อง ทั้งการดำเนินธุรกิจ การสนับสนุน DE&I ในสาขาสะเต็ม การพัฒนาทักษะแรงงานฝีมือ และการมีส่วนร่วมกับชุมชน” วิยะดา กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลสำรวจดัชนีสถานะวิทยาศาสตร์ได้ที่ 3M.com/ScienceIndex.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชวนนักศึกษาจบใหม่ด้าน 'วิศวะ-วิทย์ฯ' ร่วมงาน Online Job Matching
โฆษกรัฐบาลเชิญชวนนักศึกษาจบใหม่ ด้านวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ทุกสาขา ร่วมงาน Online Job Matching สร้างโอกาสร่วมงานกับบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลกจากไต้หวัน
ตั้ง‘ศ.ดร.ชูกิจ’ผอ.สวทช. บอร์ดชี้วิสัยทัศน์โดดเด่น
บอร์ด กวทช.มีมติเสนอ “ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์” เป็น ผอ.สวทช. คนใหม่
ชวนชม 'ฝนดาวตก' รับปีใหม่ อัตรา 120 ดวงต่อชม. ไร้แสงจันทร์รบกวน เห็นทั่วประเทศ
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ชวนชมปรากฏการณ์ "ฝนดาวตกควอดรานติดส์ ต้อนรับปีใหม่" หลังเที่ยงคืนของวันที่ 3 มกราคม 2565 ตั้งแต่เวลา 02:00 น. เป็นต้นไป