‘มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์’ คว้าอันดับที่ 7 จากกว่า 1,000 สถาบันทั่วโลก พร้อมกับคว้าอันดับ 1 ของประเทศ ในการขับเคลื่อน SDG 5: เป้าหมายด้านความเสมอภาคทางเพศ’ ลุยจัดกิจกรรม Pride @Thammasat: Celebrate with Pride, Unite in Diversity ตอกย้ำ ‘ความเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่เท่าเทียม’ สำหรับคนทุกกลุ่ม
20 มิ.ย.2566 - The Times Higher Education (THE) Impact Rankings สถาบันจัดอันดับมหาวิทยาลัยชื่อดังระดับโลก ได้เผยแพร่ผลการจัดอันดับสถาบันการศึกษาที่ขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ที่ 5 เรื่อง Gender Equality หรือ ความเสมอภาคทางเพศ เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2566 โดยพบว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้รับการจัดอันดับอยู่ที่ 7 จาก 1,081 สถาบันการศึกษาทั่วโลก และถือเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย
รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยในกิจกรรม “Pride @Thammasat: Celebrate with Pride, Unite in Diversity แตกต่างอย่างเท่าเทียม: เป็นตัวเองอย่างมั่นใจบนพื้นที่ปลอดภัยที่เท่าเทียม” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2566 ตอนหนึ่งว่า ในโอกาสครบรอบ 89 ปี มธ. ได้ดำเนินวิสัยทัศน์ด้วยแนวคิด Trinity TU : Equity, Opportunity, Sustainability โอกาสสู่ความเสมอภาคที่ยั่งยืน ซึ่งสะท้อนถึงการให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศ การไม่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมให้เห็นถึงความสำคัญของความเท่าเทียมทางเพศในทุกมิติ
รศ.เกศินี กล่าวว่า มธ.ให้ความสำคัญกับ SDGs เป้าหมายที่ 5 เป็นอย่างมาก ที่ผ่านมามีการดำเนินการที่จะมุ่งไปสู่การลดความเสียเปรียบทางเพศในด้านการศึกษาและการจ้างงาน รวมถึงมีนโยบายที่ไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง และผู้มีความหลากหลายทางเพศ พร้อมทั้งสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับการดำเนินชีวิตของทุกเพศ ตลอดจนการตั้งคณะกรรมการส่งเสริมความปลอดภัยและสร้างความเข้าใจทางเพศ
ตั้งแต่ปี 2562 ที่เข้ามากำหนดนโยบายและแผนปฏิบัติงานของ มธ. โดยตระหนักถึงความละเอียดอ่อนในมิติความแตกต่างระหว่างเพศ ควบคู่ไปกับการจัดทำมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ
รศ.ดร.พิษณุ ตู้จินดา รองอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์รังสิตด้านคุณภาพชีวิต มธ. กล่าวว่า แม้ปัจจุบันสังคมไทยจะก้าวข้ามคำว่าชายและหญิงไปแล้ว อันมาจากความแตกต่างความหลากหลายที่มากขึ้น แต่ก็ยังจำเป็นที่จะต้องพัฒนาเรื่องสวัสดิการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม ซึ่งเป็นสิ่งที่ มธ.ให้ความสำคัญมาโดยตลอด เช่น การจัดสรรโควต้าการศึกษาให้ตั้งแต่ในระดับปฐมวัยจนถึงอุดมศึกษา มีบริการการช่วยเลี้ยงดูบุตร สำหรับการทำให้สถาบันครอบครัวมีความเข้มแข็งมากขึ้น
รศ.ดร.พิษณุ กล่าวต่อไปว่า ทุกนโยบายที่ มธ. ขับเคลื่อน มีการติดตามและรับฟังเสียงจากประชาคมธรรมศาสตร์ทั้งสี่ ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา เจ้าหน้าที่ อาจารย์ รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่มีความร่วมมือกัน เช่น กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ชุมชน องค์การบริหารจังหวัด (อบจ.) ฯลฯ เพื่อให้นโยบายที่ทำสามารถเกิดเป็นรูปธรรมและตอบโจทย์ได้อย่างแท้จริง
“แน่นอนว่าในการขับเคลื่อนเราไม่ได้ต้องการหยุดแค่ที่ 7 ของโลก เราคาดหวังที่จะไปได้ไกลกว่านี้ แต่สุดท้ายที่เราเดินมาถึงจุดนี้ได้ ไม่ใช่แค่เพียงนโยบายของผู้บริหารมหาวิทยาลัยอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นเสียงของพวกเราทุกคนที่ช่วยสะท้อนกลับมาว่าอะไรดี อะไรไม่ดี ช่วยกันคิด มีมิติใหม่ๆ มากมาย ที่จะสามารถนำเสนอให้กับมหาวิทยาลัย และสังคมได้” รศ.ดร.พิษณุ กล่าว
รศ.ดร.ชุมเขต แสวงเจริญ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์รังสิตด้านกายภาพ มธ. กล่าวว่า มธ.ไม่ได้มุ่งหวังแต่เพียงการสร้างความเสมอภาคทางเพศเท่านั้น แต่ยังมีการขับเคลื่อนในการลดความเหลื่อมล้ำซึ่งเป็นเป้าหมาย SDGs ที่ 10 โดยการเปิดให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงทรัพยากรอื่นๆ ในรั้วมหาวิทยาลัยได้อย่างเท่าเทียมโดยไม่มีเส้นแบ่ง เช่น การมีรถเมล์ไฟฟ้าในมหาวิทยาลัย ซึ่งมีทางขึ้นลงรองรับรถเข็นได้ทุกรูปแบบ มีเสียงประกาศเมื่อถึงจุดจอดระหว่างทางเพื่อให้ผู้พิการทางสายตาได้ทราบถึงข้อมูล
“ถามว่าธรรมศาสตร์ทำอะไรบ้าง เรามีการให้นักศึกษาแต่งกายตามเพศที่เลือกเองได้ เรามีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับนักศึกษาของเรา เรามีคลินิกสุขภาพเพศธรรมศาสตร์ที่รองรับการให้คำปรึกษาให้กับทุกเพศ เริ่มให้ถูกจุด คลี่คลายปมต่างๆ ตั้งแต่แรก แล้วปัญหาเหล่านั้นมันจะคลี่คลายตามไป” รศ.ดร.ชุมเขต ระบุ
คุณากร ตันติจินดา นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มธ. เป็นพื้นที่แห่งความหลากหลาย ไม่ว่าจะความคิด ความเชื่อ หรือตัวตน แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้เป็นความสวยงามที่เกิดภายใต้ร่มเงาของมหาวิทยาลัย และเพื่อจะให้ความหลากหลายต่างๆ อยู่ร่วมกันได้ เชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าการสร้างความเท่าเทียมในทุกมิติคือสิ่งสำคัญอย่างมาก ทั้งทางโอกาส การปฏิบัติ และทางเพศ
“ตลอดหลายปีที่ผ่านมาพื้นที่แห่งนี้เดินทางมาไกลมากในเรื่องของความเท่าเทียมอย่างการแต่งกายตามเพศสภาพได้ เรายกเลิกคำนำหน้านามได้ เราสามารถจัดกิจกรรมเหมือนในวันนี้ได้ ผมในฐานะนักศึกษาปัจจุบันขอขอบคุณที่ทุกคนร่วมกันผลักดันประเด็นเหล่านี้ร่วมกันมา และหวังว่าจะร่วมกันต่อยอดไปสู่ประเด็นเชิงสังคมมากขึ้น ให้เกิดความเท่าเทียมในสังคมไทยอย่างแท้จริง” คุณากร กล่าว
เจสซี่ กิระนา จัสมิน ชูว์เทอร์ นางแบบและนักแสดง กล่าวว่า อยากให้ทุกคนเริ่มด้วยการเปิดใจรับความเปลี่ยนแปลง และเห็นอกเห็นใจมนุษย์ด้วยกัน เนื่องจากเป็นสิ่งที่สำคัญมากในทุกการขับเคลื่อนทางสังคม ตอนนี้ส่วนตัวกำลังผลักดันเรื่องความแตกต่างในด้านการพัฒนาสมอง และบางครั้งต้องเผชิญการตีตราว่าการมีส่วนมาขับเคลื่อนเรื่องนี้ต้องเป็นภาวะแบบนี้ กระทั่งโรคหรือเพศก็ตาม จนถูกผลักให้เป็นอื่น
ทั้งนี้ เชื่อว่าทุกๆ คนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยพังทลายกรอบพวกนั้นได้ แค่เริ่มด้วยการโอบรับ รวมถึงเปิดพื้นที่ในจิตใจให้คนกลุ่มต่างๆ ที่มีความหลากหลายได้ทำตามความฝัน ทำสิ่งที่ต้องการจะทำ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างประโยชน์ต่อให้กับสังคมได้ ดังนั้นทั้งสิ่งที่กำลังมีการขับเคลื่อนอยู่ รวมถึงกิจกรรมในวันนี้ด้วย อยากให้เป็นสิ่งที่ช่วยให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญในข้อนี้
เชอริศา อินทร์พิมพ์ นักขับเคลื่อนด้านความเท่าเทียม กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างอาจเริ่มที่ตนเอง ในความหมายที่ว่าต้องตั้งหลักให้ได้ว่าจะไม่ยอมจำนนกับการถูกละเมิดสิทธิไม่ว่าจะประเด็นใดก็ตาม และลุกขึ้นสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง เพราะถ้าเริ่มแรกถ้าไม่รู้สึกถึงผลกระทบ หรือไม่ตระหนักถึงสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นก็ไม่อาจนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงได้
“ในภาพอนาคตอาจต้องคำนึงถึงในเรื่องความเป็นธรรมไปด้วยในสังคม เพราะว่าทุกวันนี้เราก็เข้าใจเรื่องความเท่าเทียมกันมาแล้วพอสมควร แต่ในประเด็นของกลุ่มต่างๆ ที่อยู่ในสังคมอาจจะยังไปไม่ถึง” นักขับเคลื่อนด้านความเท่าเทียม กล่าว
ญาณกร พรมปัญญา ประธานชุมนุมสันทนาการ มธ. กล่าวว่า ถ้าเกิดหลายคนมองว่าเรื่องความหลากหลายเป็นเรื่องใหม่หรือเข้าใจยาก สิ่งที่แรกที่จะทำได้เพื่อสนับสนุนประเด็นนี้ก็คือการรับฟัง เพื่อเปิดใจว่าสิ่งที่เขากำลังทำ ภาพสังคมที่เขาฝันเป็นแบบไหน ไม่ต้องเห็นด้วยก็ได้ แต่ลองพยายามทำความเข้าใจ และถ้าสามารถช่วยตอบโจทย์อะไรได้ก็อยากให้สนับสนุน เพราะเพียงเท่านั้นก็เป็นการทำให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้มีความหลากหลายเหล่านั้นแล้ว
“ขอฝากว่าต่อไปจะมีคนอีกหลายเจเนอเรชั่นมากๆ ที่จะเกิดมาอยู่บนโลกของเรา และความหลากหลายทางเพศจะมีมากไปกว่านี้มาก ก็เลยอยากให้พวกเราเริ่มด้วยการทำให้สังคมเป็น Save Space สำหรับทุกคน” ญาณกร กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'บ้านแสนอยู่ดี' ที่อยู่อาศัยที่เป็นมิตร นวัตกรรมธรรมศาสตร์เพื่อคนทั้งมวล
แม้ว่าที่อยู่อาศัยจะเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่จำเป็นต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์ หากแต่มีที่อยู่อาศัยจำนวนไม่น้อยที่เหมาะสมกับการอยู่อาศัยเพียงช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น
โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง 'ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์' ดำรงตำแหน่ง อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ต้องไม่ยอมมัน! อดีตรองอธิการบดี มธ. ปลุกขวางแก้ รธน. ทำลายความถูกต้อง-เป็นธรรม
ความพยายามในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราครั้งนี้ หากทำได้สำเร็จ จะเป็นลดความสำคัญของความซื่อสัตย์สุจริต และมาตรฐานทางจริยธรรม
ธรรมศาสตร์ เปิดตัว 7 นวัตกรรมเพื่อสังคม ส่งมอบ 'SIT-TO-STAND' ดูแลผู้สูงวัย กทม.
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดตัว “7 นวัตกรรมเพื่อสังคมสูงวัย” ตอบโจทย์ปัญหาประเทศ เตรียมพร้อมรับมือ Super Aged Society พร้อมมอบนวัตกรรม SIT-TO-STAND TRAINER อุปกรณ์เสริมสร้างกล้ามเนื้อ
สร้างภูมิคุ้มกัน 'พลัดตกหกล้ม' 10-11 ก.ย.นี้ เชิญชมนิทรรศการ 7 นวัตกรรมธรรมศาสตร์ เพื่อสังคมสูงวัย
เพราะทุกห้วงยามแห่งการร่วงหล่น มีหลายชีวิตพลัดหลงในกาลเวลา โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Complete
'เกษียร' แย้ง 'พุทธทาส' เมื่อไหร่เอาศาสนกิจมาเป็นเกณฑ์กำหนดการเมือง เมื่อนั้นจะได้เผด็จการโดยธรรม
ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ นักรัฐศาสตร์อาวุโส มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก Kasian Tejapira ว่า ประชาธิปไตยไม่ได้มีไว้เพื่อ