มูลนิธิลอรีอัล และยูเนสโกประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับรางวัลเกียรติยศระดับนานาชาติ Laureate ในโครงการทุนวิจัยลอรีอัล เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ For Women in Science ประจำปี 2566 จำนวน 5 ท่าน แก่นักวิทยาศาสตร์หญิงจาก 5 ภูมิภาคของโลก ผู้มีผลงานวิจัยอันยอดเยี่ยมเป็นประโยชน์ต่อสังคม ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ โดยพิธีมอบรางวัลจะจัดขึ้นที่สำนักงานใหญ่ของยูเนสโกในกรุงปารีส พร้อมโอกาสเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 25 ปีของโครงการทุนวิจัยลอรีอัล เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ ด้วยความร่วมมือจากยูเนสโก
ผู้ได้รับรางวัลเกียรติยศระดับนานาชาติจากโครงการฯ ในสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ, คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ทั้ง 5 ท่าน ได้รับการคัดเลือกโดยคณะกรรมการอิสระ ซึ่งมีประธานคณะกรรมการ คือ ศาสตราจารย์อาเทอร์ อาวีลา (Artur Avila) ศาสตราจารย์ประจำสถาบันคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์, นักวิจัยพิเศษจากสถาบันคณิตศาสตร์บริสุทธิ์และประยุกต์ (Instituto de Mathematica Pura e Aplicada หรือ IMPA) กรุงริโอเดอจาเนโร ประเทศบราซิล และผู้ได้รับรางวัลเหรียญฟีลดส์ในปี 2557
รายชื่อผู้รับรางวัลเกียรติยศนานาชาติโครงการทุนวิจัยลอรีอัล เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ ด้วยความร่วมมือจากยูเนสโก ครั้งที่ 25 ทวีปแอฟริกา และรัฐอาหรับ ได้แก่ ศาสตราจารย์ซูซานา นูเนส (Suzana Nunes) สาขาเคมีศาสตราจารย์สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและสิ่งแวดล้อม และวิศวกรรม, รองอธิการบดีฝ่ายคณะและวิชาการ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกษัตริย์อับดุลเลาะห์ (KAUST) ซาอุดิอาระเบีย เธอได้รับรางวัลจากผลงานที่โดดเด่นของเธอในการพัฒนาตัวกรองเมมเบรน ที่เป็นนวัตกรรมชนิดใหม่ ซึ่งใช้ในการแยกสารทางเคมี ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง ขณะที่ คาร์บอนฟุตพรินท์อยู่ในระดับที่ต่ำลง ผลงานวิจัยของเธอได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามีประโยชน์เป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะกับอุตสาหกรรมน้ำ, ปิโตรเคมี และเภสัชกรรมในการสร้างสิ่งแวดล้อมที่มีความยั่งยืนยิ่งขึ้น
ทวีปละตินอเมริกา และแคริบเบียน ได้แก่ ศาสตราจารย์อนามาเรีย ฟอนต์ (Anamaría Font) สาขาฟิสิกส์ศาสตราจารย์สาขาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเซ็นทรัลแห่งเวเนซุเอลา ศ.อนามาเรีย ฟอนต์ ได้รับรางวัลจากการมีส่วนสนับสนุนที่สำคัญในด้านฟิสิกส์อนุภาคทฤษฎี โดยเฉพาะการศึกษาทฤษฎีสตริง (String Theory) งานวิจัยของเธอช่วยทำให้ผู้คนได้ทำความเข้าใจ เกี่ยวกับการเกิดแรงโน้มถ่วงและโครงสร้างของแรงโน้มถ่วงที่มีผลต่อสสาร ซึ่งความรู้เหล่านี้ช่วยอธิบายและทำความเข้าใจในเรื่องหลุมดำ รวมทั้งช่วงเวลาในระยะแรกภายหลังจากที่เกิดเหตุการณ์การระเบิดครั้งใหญ่หรือบิ๊กแบง (Big Bang)
ทวีปอเมริกาเหนือ ศาสตราจารย์อาวีฟ เรเจฟ (Aviv Regev) สาขาชีวสารสนเทศศาสตร์รองประธานบริหารและผู้อำนวยการโลกฝ่ายวิจัยและการพัฒนาในช่วงต้นเจเนนเทค บริษัท เจเนนเทค/โรช (Genentech/Roche) ซานฟรานซิสโก ศ.อาวีฟ ได้รับรางวัลจากผลงานการบุกเบิกของเธอ ในการนำคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์มาใช้ในการปฏิวัติชีววิทยาของเซลล์ งานวิจัยของเธอทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถค้นพบ และแยกแยะลักษณะของเซลล์นับล้านล้านตัวที่อยู่ภายในร่างกาย รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถ ของนักวิทยาศาสตร์ในการถอดรหัส และพุ่งเป้าหมายไปที่กลไกที่ก่อให้เกิดโรคเพื่อพัฒนาการวินิจฉัย และการบำบัดรักษาให้ดียิ่งขึ้น
ทวีปเอเชียและแปซิฟิก ศาสตราจารย์ลิเดีย โมรอว์สกา (Lidia Morawska) สาขาโลกและวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมศาสตราจารย์พิศิษฐ์, คณะวิทยาศาสตร์โลก และภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีควีนส์แลนด์ อสเตรเลีย และผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการนานาชาติเพื่อคุณภาพอากาศ และสุขภาพ ศ.ลิเดีย ได้รับรางวัลจากงานวิจัยที่ยอดเยี่ยมของเธอในสาขามลภาวะทางอากาศ และผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์และสิ่งแวดล้อม โดยพุ่งเป้าไปที่ฝุ่นละอองในชั้นบรรยากาศ การทุ่มเทเป็นพิเศษของเธอ และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นได้สร้างสะพานที่เชื่อมโยงวิทยาศาสตร์ที่เป็นปัจจัยพื้นฐานกับนโยบาย และการปฏิบัติในโลกแห่งความเป็นจริง เพื่อการสร้างอากาศที่สะอาดสำหรับทุก ๆ คน
ทวีปยุโรป ศาสตราจารย์ฟรานเซส เคอร์วาน (Frances Kirwan) สาขาคณิตศาสตร์ ศาสตราจารย์เรขาคณิตของซาวิเลียน มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ศ.ฟรานเซส ได้รับการยกย่องจากผลงานที่ยอดเยี่ยมในด้านคณิตศาสตร์บริสุทธิ์ที่นำเรขาคณิต และพีชคณิตมารวมเข้าด้วยกันเพื่อพัฒนาเทคนิค ในการทำความเข้าใจการจัดประเภทวัตถุทางเรขาคณิต นักฟิสิกส์ทฤษฎีได้นำเทคนิคต่าง ๆ เหล่านี้ไปใช้ในการค้นหาคำอธิบายจักรวาลของเราในทางคณิตศาสตร์ ผลงานล่าสุดของเธอยังมีแนวโน้มที่จะช่วยนักวิทยาศาสตร์ในการแยกข้อมูลที่สำคัญออกจากชุดข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อน
สำหรับ มูลนิธิลอรีอัล และยูเนสโกได้ทำงานร่วมกันมาเป็นเวลา 25 ปี ในการส่งเสริมสตรีในงานวิทยาศาสตร์ผ่านการมอบรางวัลนานาชาติ ทุนวิจัยลอรีอัล เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ For Women in Science และโครงการสนับสนุนสตรีนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ทั้งนี้ ตั้งแต่ก่อตั้งโครงการทุนวิจัยลอรีอัล เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ เชิดชูเกียรตินักวิทยาศาสตร์หญิงกว่า 4,100 คน ครอบคลุมผู้ได้รับรางวัลเกียรติยศนานาชาติจำนวน 127 คน และนักวิจัยหญิงรุ่นใหม่กว่า 4,000 คน 52 โครงการในประเทศต่าง ๆ กว่า 110 ประเทศ
ช่วงปลายทศวรรษ 19 นั้น มีจำนวนนักวิจัยหญิงคิดเป็นสัดส่วน 27% ของนักวิจัยทั่วโลก และในปี 2557 สัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 30% ปัจจุบัน มีนักวิจัยที่เป็นผู้หญิง 1 คนในทุก ๆ 3 คน (33%) แม้ว่าจำนวนผู้หญิงที่ประกอบอาชีพทางวิทยาศาสตร์จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในสาขาวิจัย แต่ความก้าวหน้าดังกล่าวก็ยังไม่เพียงพอ อุปสรรคที่มองไม่เห็นยังคงมีอยู่ โดยในยุโรปมีนักวิทยาศาสตร์อาวุโสสัดส่วนเพียง 18% และสมาชิกสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติทั่วโลกเพียง 12% เท่านั้น ขณะเดียวกัน รางวัลโนเบลในสาขาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติที่เป็นของผู้หญิงก็มีไม่ถึง 4%
อเล็กซานดรา พัลท์ (Alexandra Palt) ผอ. มูลนิธิลอรีอัล ตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงเวลาของคนรุ่นหนึ่งนั้น โครงการทุนวิจัยลอรีอัล เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ได้มีส่วนสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงด้วยการยกระดับความสนใจที่มีต่อผู้หญิงจากทุก ๆ ทวีป ผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าในทุก ๆ สาขา และลอรีอัล ยังคงมุ่งมั่นแนวทางนี้ เนื่องจากถือว่าภารกิจนี้เป็นภารกิจที่มีความสำคัญ
“เราไม่สามารถส่งเสริมให้วัยรุ่นหญิงกำหนดทางเดินเข้าสู่อาชีพทางด้านวิทยาศาสตร์ได้ โดยปราศจากการรับประกันว่า พวกเธอจะมีเสรีภาพที่จะเบ่งบานท่ามกลางความเสถียรในที่ทำงานอย่างเต็มรูปแต่เรายังคงเดินหน้าสร้างแรงบันดาลให้กับคนรุ่นต่อไปก้าวสู่วงการวิทยาศาสตร์”ผอ.มูลนิธิลอรีอัลกล่าว.
ซิง ฉู่ (Xing Qu) รองผอ.ยูเนสโก กล่าวว่า หลายปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงความสำคัญมากกว่าที่เคยเป็นมาของวิทยาศาสตร์ในการจัดการกับความท้าทายต่าง ๆ ที่ร้ายแรงที่โลกกำลังเผชิญอยู่ทุกวันนี้ การทำให้วิทยาศาสตร์มีประสิทธิภาพนั้น เราต้องสนับสนุนบุคลากรที่มีทักษะความสามารถในวงการที่มีทั้งหมด ยูเนสโก ในฐานะที่เป็นหน่วยงานของสหประชาชาติ ที่มีอำนาจหน้าที่โดยเฉพาะในด้านวิทยาศาสตร์ และทำให้ความเสมอภาคทางเพศเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญระดับโลก มีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการเพื่อยุติการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบกับผู้หญิง และเด็กผู้หญิง โครงการเพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ของลอรีอัล-ยูเนสโกจึงเป็นตัวอย่างของการเป็นพันธมิตรที่สมบูรณ์แบบของการป่าวประกาศและวิสัยทัศน์ให้กับผลงานและงานวิจัยที่โดดเด่นของนักวิทยาศาสตร์หญิงหลายท่าน และพิธีมอบรางวัลเกียรติยศนานาชาติของลอรีอัล-ยูเนสโกครั้งที่ 25 จึงเป็นการเชิดชูผู้หญิงที่มีความสามารถและความเป็นเลิศในวิทยาศาสตร์สาขาต่าง ๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของอนาคตพวกเราทุกคน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อัญเชิญองค์ 'ครูบาเจ้าศรีวิชัย' ประกาศเกียรติคุณ เผยแผ่พุทธศาสนา 'ศรีลังกา'
'มูลนิธิอาจารย์วารินทร์' ร่วมกับคณะธรรมทูต อัญเชิญองค์ 'ครูบาเจ้าศรีวิชัย' พร้อมประกาศเกียรติคุณเผยแผ่พุทธศาสนาประเทศศรีลังกา หนุนเสนอชื่อบุคคลสำคัญของโลก
CEA ร่วมเปิดงานเทศกาลเชียงรายเมืองออกแบบเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 3 ชูศักยภาพเชียงราย 'เมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ' ของยูเนสโก
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ในฐานะหน่วยงานร่วมขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ เชียงราย ภายใต้เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network: UCCN)
ยูเนสโก ขึ้นทะเบียน แกนกลางปักกิ่ง (Central Axis) เป็นมรดกโลก
ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ประกาศขึ้นทะเบียนแกนกลางปักกิ่ง (Central Axis) เป็นแหล่งมรดกโลกแห่งใหม่ โดยแกนกลางปักกิ่งมีความยาว 7.8 กิโลเมตร
ยก ‘ภูพระบาท’ เป็นมรดกโลก
คนไทยได้เฮ! อีก ยูเนสโกขึ้นทะเบียน "ภูพระบาท" จ.อุดรธานี
ยูเนสโกขึ้นทะเบียน 'ภูพระบาท' เป็นมรดกโลก
น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) เป็นประธาน การแถลงข่าวการประกาศขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์