อนาคต กทม. อีก 3 ปีข้างหน้า ยุค’ชัชชาติ’

จาก 216 นโยบายของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  ที่ได้ประกาศไว้เมื่อช่วงเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. โดยมีการจัดหมวดหมู่ออกเป็น 9 ด้าน 9 ดี กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่ วันที่ 1 มิ.ย. 2565 ประกอบด้วย 1.ปลอดภัยดี 2. เดินทางดี 3. สุขภาพดี 4. สร้างสรรค์ดี 5. สิ่งแวดล้อมดี 6. โครงสร้างดี 7. เรียนดี 8. เศรษฐกิจดี 9. บริหารจัดการดี

ขณะนี้ผ่านมา 1 ปีเต็ม คงต้องย้อนกลับมาดูกันอีกครั้งว่า ผู้ว่าฯ ชัชชาติ สามารถเดินหน้านโยบายใดไปได้บ้าง เพื่อให้กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองน่าอยู่กว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม  1 ปี ในฐานะพ่อเมืองมีเสียงสะท้อนของประชาชนเริ่มหันมาตั้งคำถามกับผู้ว่าฯ ชัชชาติมากขึ้น ดังผลการสำรวจของ “นิด้าโพล” ศูนย์สำรวจความคิดเห็นสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2566 เมื่อเทียบกับผลงาน 6 เดือน พบว่า 1 ปีผ่านไปคะแนนนิยมเริ่มลดลง

นายชัชชาติ กล่าวว่า การขับเคลื่อนการทำงานหลักให้ความสำคัญกับเส้นเลือดฝอย ประสานกับเส้นเลือดใหญ่ที่เข้มแข็ง เพราะกรุงเทพฯ อ่อนแอที่เส้นเลือดฝอย ที่ชุมชน ท่อระบายน้ำ ฟุตบาททางเดิน ศูนย์เด็กเล็กใกล้บ้าน   ถัดมาการใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนเมือง  เช่น ฟองดูว์ (Fondue) การเปิดเผยข้อมูล (Open Data ) และ Telemedicine  ที่ผ่านมา กทมเป็นสุสานแอปพลิเคชั่น ลงทุนไปแต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ส่วนเรื่องความโปร่งใส่เป็นโจทย์จากประชาชน ทั้งเรื่องส่วยและทุจริต  รวมถึงเปลี่ยนแนวคิดข้าราชการ ใช้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง  

“ จาก 226 นโยบาย ทำไปแล้ว 211 นโยบาย มี 4 นโยบายที่ยุติดำเนินงาน เพราะไม่มีประโยชน์ ในช่วง 1 ปีแรก คือการทำแนวคิดสู่ต้นแบบ แต่ในมิติการศึกษา สาธารณสุข ไม่สามารถนำนโยบายไปปฏิบัติได้ทั้งหมด เพราะหากผิดพลาดจะเกิดผลกระทบรุนแรง จึงต้องทำ Sandbox ต้นแบบเล็กๆ ก่อน คนต่อว่า ทีมงานนี้ไม่มีโครงการขนาดใหญ่เลย ซึ่งโครงการขนาดใหญ่ไม่สามารถทำได้ภายใน 1 ปี แต่ได้สานต่อโครงการของผู้บริหารเดิม อย่าง ปรับปรุงโรงพยาบาลกลาง สร้างอุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอน อุโมงค์ระบายน้ำจากคลองเปรมประชากร อุโมงค์ระบายน้ำคลองทวีวัฒนธรรม สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเกียกกายช่วงที่ 2-3 ภาคขนส่งศึกษาต่อสายสีเขียว สายสีเงิน สายสีเทา รอคุยกับรัฐบาลใหม่ เพื่อให้รัฐลงทุน “ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ แจงเรื่องเมกะโปรเจ็กต์

ผลงานด้านปลอดภัยดี  ผู้ว่าฯ บอกว่า ใน กทม. มีไฟ 3 แสนดวง มีการแก้ไฟฟ้าที่ดับ และเปลี่ยนเป็นหลอดไฟแอลอีดี เพื่อให้ถนนสว่างขึ้น ติดตั้งกล้องเพิ่ม สามารถจับทะเบียนรถ ตรวจหาบเร่แผงลอย  กล้องเดิมทำงานให้มีประสิทธิภาพขึ้น มีฐานข้อมูลเมือง 28 ชุด จัดทำเป็น 5 แผนที่ความเสี่ยง ทั้งน้ำท่วม อัคคีภัย รถติด อุบัติเหตุ ฯลฯ ปรับปรุงทางม้าลายให้ชัดเจน ทาสีแดงหากเป็นแยกที่สำคัญ ประชาชนใช้งานมาก

ส่วนเรื่องความโปร่งใส เน้นการแก้ปัญหาข้อร้องเรียนผ่านแพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหา   Traffy Fondue พ่อเมืองกรุงเทพฯ บอกว่า  แพลตฟอร์มนี้โปร่งใส ไม่สามารถซุกปัญหาไว้ใต้พรมได้ ปัจจุบันมีประชาชนส่งเรื่องมากว่า 3 แสนเรื่อง แก้ไขไปแล้ว 2.1 แสนเรื่อง  อีก 6.5 หมื่นเรื่องอยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ กทม. ส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว   นอกจากนี้ นำชุดข้อมูลโครงการประมูลต่างๆ มาเปิดเผยต่อสาธารณะ แล้ว 400 เรื่อง จะเปิดเผนเพิ่มอีก 320 เรื่อง เปิดบริการออนไลน์เพื่อลดการพบคน ลดทุจริต  เปิดศูนย์ต่อต้านทุจริต กทม. มีเรื่องทุจริตส่งมา 140 เรื่อง ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจับทุจริต

ปัญหาเศรษฐกิจของชาวกทม. ผลงานที่ผ่านมา ผู้ว่าฯ ชัชชาติ บอกว่า เอกชนร่วมพัฒนาหลักสูตรฝึกอาชีพ เพิ่มหลักสูตรแม่บ้านโรงแรม จบแล้วมีงานทำ นำคนจากชุมชนมาอบรม ฝึกหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุ  เดิมตัดผม ทำขนม ไม่สอดคล้องกับความต้องการปัจจุบัน อยู่ระหว่างพัฒนาออกสินเชื่อช่วยเหลือผู้ค้าหาบเร่ในกทม. ที่มีราว 2 หมื่นราย และปรับคณะกรรมการหาบเร่ให้มีนักวิชาการ ประชาชน เข้ามาร่วมมากขึ้น รวมถึงเดินหน้า 12 เดือน 12 เทศกาล

ในนโยบายเดินทางดี นายชัชชาติ กล่าวว่า เริ่มปรับปรุงทางเท้าไป 221 กิโลเมตร มีมาตรฐานทางเท้าใหม่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก อนาคตปัญหาทางเท้ายุบ  กระเบื้องกระเดิดจะน้อยลง ปรับลานทางเดินเลียบคลองแสนแสบ เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้ เป็น Universal Design นอกจากนี้ เอาคืนทางเท้าให้คนเมือง 140 จุด คืนผิวจราจร ทั้งสายสีส้ม สะพานเชื้อเพลิง สะพานข้ามแยก ณ ระนอง  และมีบริการ BMA FEEDER  รถบัสเชื่อมต่อรถไฟฟ้าฟรี 4 เส้นทาง ติดตั้งจุดจอดจักรยาน 100 จุด จอดได้ 900 คัน เพื่อส่งเสริมคนเมืองขี่จักรยานสู่รถไฟฟ้า ลอกท่อ ลอกคลองและเปิดทางน้ำไหล เร่งทำเพราะเป็นเส้นเลือดฝอย ฝนตก น้ำลงเร็ว ไปสู่อุโมงค์ แต่ยังมีปัจจัยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศส่งผลให้ฝนตกหนักเฉพาะจุด ต้องใช้เวลาในการระบาย

ส่วนการยกระดับสิ่งแวดล้อม ปลูกต้นไม้แล้ว 4 แสนต้น สวน 15 นาที ทำแล้ว 28 แห่ง 26 ไร่ มีPet Park 5 แห่ง มีน้องๆมาใช้4,500 ตัว เรื่องฝุ่น PM2.5 เดิมมีเซ็นเซอร์ 70 จุด จึงรวบรวม เซนเซอร์ฝุ่นเข้าระบบ 622 จุด จะพัฒนาสู่1,000 จุด สำหรับโครงการแยกขยะ “ไม่เทรวม”  เอกชนร่วม 6,400 ราย  ส่งผลขยะลดลง 300-700 ตันต่อวัน  ปัจจุบันมีปริมาณขยะ 8,700  ตันต่อวัน ประหยัดงบฯ  ติดตั้งคอกเขียวบนถนนสายหลัก  สุขภาพดีก็มีคลีนิกเพศหลากหลาย 22 แห่ง มีหน่วยมอเตอร์ไซด์ฉุกเฉิน หมอถึงชุมชนผ่าน Mobile Medical Unit ใน 104 ชุมชน

เมืองน่าอยู่ สังคมต้องดี ผู้ว่าฯ กทม. บอกว่า การแก้ปัญหาคนไร้บ้าน ทำต่อเนื่อง เปิดจุดบริการคนไร้บ้าน หรือ Drop In เป็นจุดรวมการส่งต่ออาหาร ทำทะเบียนคนไร้บ้าน ทำบัตรประชาชน   จากการตรวจนับคนไร้บ้านทั้งกรุงเทพฯ ล่าสุดร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมฯ  มูลนิธิที่เกี่ยวข้อง คนไร้บ้านลดลง 490 คน จากปี 65 นอกจากนี้ ได้ส่งต่ออาหารส่วนเกินผ่าน Bangkok Food Bank ช่วยกลุ่มเปราะบาง จะขยายผลต่อ เพิ่มค่าตอบแทนคณะกรรมการชุมชน

นอกจากนี้ มีการส่งเสริมการเรียนรู้ เด็กเล็กก่อนวัยวัยเรียน (2-6 ปี) ปรับค่าอาหารกลางงัน  ค่าวัสดุอุปกรณ์  อุดหนุนค่าอาหาร ค่าชุดนักเรียน พัฒนาสวัสดิการครู เพิ่มวิชาชีพเลือกเสรี

“ เราจัดสรรงบกลางปี 66 กว่า 5,024 ล้านลงเส้นเลือดฝอย จัดสรรงบ 2 แสนบาทต่อชุมชน ชุมชน 2,000 แห่ง ต้องมีแนวคิดพัฒนาชุมชน ฟังเสียงประชาชน มีเสียงกังวลจะเกิดทุจริต เรานำ ปปช.มาอบรมประชาชน เพื่อป้องกัน  จัดทำงบประมาณแบบ Zero Base Budgeting มีมูลค่างบฯ กว่า 1,000 ล้านบาท โครงการตามเขตที่ไม่จำเป็นตัดทิ้ง “

อนาคตของ กทม. ในอีก 3 ปีข้างหน้า นายชัชชาติ กล่าวว่า  จะเน้นการทำงานปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน อย่างทางเท้าดี 1,000 กม.  ทางเดินริมแม่น้ำ 153 กม. ศาลาที่พักผู้โดยสาร 476 หลัง ความปลอดภัย ผ่าน CCTV ป้องกันภัยอาชญากรรม  เปลี่ยนไฟ  แก้ไขจุดเสี่ยงที่มีอยู่  จัดหาเครื่องดับเพลิง  พร้อมระบุตำแหน่ง และซ้อมแผนชุมชน 30,000 แห่ง ปรับปรุงสถานีดับเพลิง ความโปร่งใสมีแผนปรับปรุงกฎหมายควบคุมอาคาร  ลดดุลยพินิจในการตัดสินใจ มีการบริการกทม. ออนไลน์  100%  ผ่าน OSS  

นอกจากนี้ มีแผนจะปรับปรุงศูนย์บริการสาธารณสุข  30 แห่ง สร้างใหม่ 38 แห่ง  ส่วนปัญหารถติดในกทม. จะประสานกับตำรวจ รวบรวบข้อมูลทั้งหมดและใช้เทคโนโลยีในการเปิดสัญญาณไฟเขียว- แดง ให้สอดคล้องกับความต้องการจริงๆ โดยเริ่มนำร่องถนนพหลโยธิน

“ ด้านสิ่งแวดล้อมจะมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ปลูกต้นไม้ครบล้านต้น มีสวน 15 นาที 500 แห่ง และต้องเพิ่มการคัดแยกขยะต้นทางเป็น 3,000 ตันต่อวันให้ได้  ร่วมกับรัฐบาลออกข้อบัญญัติเขตมลพิษต่ำ หรือ Low Emission Zone ให้รถทุกคนที่วิ่งเข้ากทม.  จ่ายค่าธรรมเนียมมลพิษทางอากาศ  “ ผู้ว่าฯ กทม. ระบุ

 ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวอีกว่า จุดอ่อนขณะนี้ลุยเรื่องเศรษฐกิจไม่ได้เต็มที่มาก ยังทำได้ไม่ดี  ต้องพัฒนาให้เกิดการลงทุนเพิ่มเติมจากนักลงทุนต่างชาติ ผลักดันเมืองเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ต้องแก้กฎหมายให้กทม. มีอำนาจจัดเก็บภาษี เช่นภาษีโรงแรม ภาษีน้ำมัน พัฒนาย่าน  3 คลอง ในเขตเมืองชั้นใน คลองผดุงกรุงเกษม  คลองโอ่งอ่าง และคลองคูเมือง  สร้าง Branding ทั้ง 50 ย่าน ส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่น  ร่วมกับผู้ประกอบการเอกชน พัฒนาหลักสูตรฝึกอาชีพ รวมถึงพัฒนาย่านเศรษฐกิจ โบ๊เบ๊ พาหุรัด คลองถม รวมถึงจุดอ่อนด้านตลาด 111 แห่ง ยังทำไม่ดี ทั้งตลาดจตุจักร ตลาดสดอีกหลายแห่ง  มิติสังคมจ้างงานคนพิการในกทม. มากกว่า  660 ตำแหน่ง

แถลงผลงานครบ 1 ปีช่วงท้ายนายชัชชาติให้คะแนนการทำงาน 365 วันที่ผ่านมาของตัวเอง  5 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10  แล้วชาว กทม. ให้คะแนนผ่านหรือไม่ผ่าน!!!!

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คน กทม. เกินครึ่งไม่เห็นด้วยมาตรการเก็บค่าธรรมเนียมรถติด

นย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจ ของประชาชน เรื่อง “สองมาตรการใหม่ คน กทม. จะเอาไง” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 27-29 พฤศจิกายน 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กระจายระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความคิดเห็นของคนกรุงเทพมหานคร หากมีการใช้มาตรการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการเก็บขยะและค่าธรรมเนียมรถติด