‘เอลนีโญ’ลากยาว 3 ปี เตือนไทยรับมือแล้ง

ปรากฏการณ์เอลนีโญในมหาสมุทรแปซิฟิกเริ่มขึ้นแล้ว หลังจาก 3 ปีที่ผ่านมาเกิดปรากฏการณ์ลานีญาลากยาวมาอย่างต่อเนื่อง นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า จะเกิดความแห้งแล้งมากกว่าปกติ และอาจก่อให้เกิดสภาพอากาศแปรปรวนหลายพื้นที่ ขณะที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติประกาศประเทศไทยเข้าสู่ปรากฎการณ์เอลนีโญอาจทำให้หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบทั้งฝนทิ้งช่วง และน้ำท่วม ขอให้ทุกหน่วยงานติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด  โดยเฉพาะการเตรียมแหล่งเก็บกักน้ำสำรองไว้ให้ใช้ได้มากที่สุดและแผนจัดสรรน้ำ

เวที “การจัดการน้ำภายใต้ปรากฏการณ์เอลนีโญ 2566-2570” ณ ห้องประชุม 1 สกสว. เหล่าคณะวิจัยและผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำและภูมิอากาศยืนยันไทยกำลังเผชิญกับภาวะเอลนีโญอีกครั้ง พร้อมฉายภาพจากการติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ แนวโน้มของสภาพน้ำท่า และทางออกของการจัดการปัญหาด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.)  โดยมี รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นประธานเปิด

​ สภาพอากาศและแนวโน้มของปริมาณฝนจากนี้ไป ดร.ชลัมภ์ อุ่นอารีย์ นักวิจัยศูนย์ภูมิอากาศ กองพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า หลายปีที่ผ่านมาเกิดปรากฎการณ์เอลนีโญสลับไปมา มีผลต่อร่องฝนทำให้ฝนมากผิดปกติ หรือฝนน้อย เอลนีโญมี 3 สภาวะ คือ ร้อน เย็นและช่วงที่สภาวะเป็นกลาง แต่ละแบบส่งผลกระทบต่างกัน  ซึ่งเอลนีโญในสภาวะร้อนจะเกิดขึ้นเป็นวงจรทุก 2-7 ปี โดยน้ำอุ่นจะเคลื่อนตัวขึ้นมายังผิวน้ำใกล้กับบริเวณชายฝั่งของอเมริกาใต้ ก่อนจะแผ่กระจายไปทั่วทั้งมหาสมุทร ทำให้บรรยากาศของโลกอุ่นขึ้น

“ ช่วงโควิดเกิดปรากฎการณ์ลานีญา 3 ปีติด ตอนนี้กลับมาเกิดเอลนีโญ ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาอุณหภูมิผิวน้ำทะเลสูงกว่าค่าเฉลี่ย 0.7 องศา ถือว่าเข้าสู่เงื่อนไขเอลนีโญ และสถานการณ์เอลนีโญพัฒนาตัวมากขึ้น   จากการใช้แบบจำลอง 7+1 คาดการณ์ว่า มีโอกาสจะเกิดเอลนีโญในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า โดยในช่วงปี 2566 – 2571  จะเกิดปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติ ทำให้เกิดความแห้งแล้ง ในปี 2568  ภาคใต้จะแล้งรุนแรง  และในปี 2571  จะเกิดความแห้งแล้งเป็นบริเวณกว้าง อีกแบบจำลองคาดการณ์ตรงกันปี 63-64 จะเกิดภาวะแห้งแล้ง อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำอย่างเดียวไม่ได้บอกถึงความแห้งแล้ง งานวิจัยอีกชิ้นจึงได้ศึกษาปริมาณน้ำฝนที่สัมพันธ์กับน้ำท่า สามารถเตือนได้ล่วงหน้า 3 เดือน หากน้ำน้อยจริงจะได้รับมือ รวมถึงหาความสัมพันธ์ของปริมาณน้ำท่ากับความชื้นในดิน ก็ 3 เดือนล่วงหน้า เพื่อการเตรียมตัวรับมือ “ ดร.ชลัมภ์ กล่าว

ดร.กนกศรี ศรินนภากร หัวหน้างานภูมิอากาศและสภาพอากาศ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) บอกว่า สสน.ใช้แบบจำลองเชิงตัวเลขในการคาดการณ์สภาพอากาศในระยะสั้น 7 วัน รายฤดูกาล และศึกษาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเพื่อวางแผนระยะยาวให้ปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงได้ โดยพัฒนาเทคนิคใช้ machine learning ประยุกต์ใช้กับการคาดการณ์ระยะยาว 5 ปี เช่นเดียวกับการคาดการณ์ฤดูกาล ทั้งนี้ ผลกระทบจากเอนโซ่ (เอลนีโญและลานิญา) จะต้องพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ประกอบด้วย เช่น ปัจจัยทางทะเล ลมมรสุม มหาสมุทรทั้งสองฝั่งทั้งมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย 

จากสถิติปี 2493-2566 ในรอบ 74 ปี โลกเผชิญเอลนีโญทั้งหมด 26  ครั้ง เป็นแบบรุนแรง 5 ครั้ง รุนแรงมาก 3 ครั้ง เอลนีโญทั้งหมด 45 ปี ต่อเนื่อง 2 ปี ติดกัน 7 ครั้ง และจำนวนปีต่อเนื่องสูงสุด6 ปี ส่วนภาวะลาณีญา 25 ครั้ง แบบรุนแรง 7 ครั้ง ลานีญาทั้งหมด 38 ปี ต่อเนื่อง 2 ปี และ 3 ปีติดกันทั้งหมด 3  ครั้ง จำนวนปีต่อเนื่องสูงสุด 8 ปี ส่วนปีที่มีทั้งเอลณีโยและลานีญา ทั้งหมด 13 ปี

“ จากการศึกษาแบ่งเป็น  3 กรณี จะเกิดเอลนีโญต่อเนื่อง  กรณีแรกปีนี้จะเริ่มเป็นซุปเปอร์เอลนีโญ อยู่ระหว่าง 1.5 องศา แต่มีโอกาสปีที่ 2 และปีที่ 3 ปริมาณฝนน้อยกว่าปกติ กรณีที่ 2 เริ่มเอลนีโญและลากยาว 2 ปี  กรณีที่ 3 เอลนีโญอยู่ยาว แต่ภาวะอ่อน อย่างไรก็ตามทุกแบบปีหน้าน่ากลัว  มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้น ทำให้ฝนน้อยและเกิดความแห้งแล้ง ดังนั้น การเตรียมพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนจึงเป็นสิ่งจำเป็น “ ดร.กนกศรี คาดการณ์สภาพอากาศรุนแรงจะเกิดถี่ขึ้น รุนแรงขึ้น 

สำหรับสถานการณ์ในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศที่มีปริมาณน้ำน้อยจนน่ากังวล  บนเวทีมีการประเมินปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับฤดูแล้งปี 2566/2567 ผศ.ดร.จุติเทพ วงษ์เพ็ชร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  บอกว่า ผลจำลองการพยากรณ์ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำล่วงหน้า 6 เดือน   คาดว่า เขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำเข้าอ่างประมาณ 7,987 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือมากกว่าค่าเฉลี่ย 23 ปี คิดเป็นร้อยละ 44 ส่วนเขื่อนสิริกิติ์มีแนวโน้มประมาณ 3,216 ล้านลูกบาศก์เมตร น้อยกว่าค่าเฉลี่ย คิดเป็นร้อยละ 46  จะมีปริมาณน้ำไหลเขาอ่างเก็บน้ำรวมเท่ากับ 11,202 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีปริมาณน้ำใช้การของเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์รวมกัน 10,889 ล้าน ลบ.ม.   ส่วนการพยากรณ์น้ำท่าที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติน้อยกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 15 ปี คิดเป็นร้อยละ 28

ความกังวลต่อปรากฎการณ์เอลนีโญนั้น ผศ.ดร.จุติเทพ กล่าวว่า จากการประเมินผลกระทบระยะยาวของปรากฏการณ์เอลนีโญ โดยใช้ปีตัวแทนในการประเมินปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำ พบว่า เอลนีโญอาจส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำต่อเนื่องในระยะยาวได้ 

“ ผลจากแบบจำลองเป็นที่ชัดเจนว่าน้ำท่าตามธรรมชาติมีแนวโน้มลดลง อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ยังมีความผันแปร โดยรวมแล้วปีนี้ยังไหว มีน้ำเพียงพอสำหรับฤดูแล้งปีหน้า แต่ก็กังวลปีต่อไปว่า ผลของเอลนีโญจะรุนแรงเพียงใด หากรุนแรงมากจะทำให้น้ำที่เติมสู่แหล่งน้ำน้อยลง กระทบต่อการปลูกข้าวนาปรัง จำเป็นต้องติดตามทิศทางความรุนแรงของเอลนีโญว่าจะเข้มข้นขึ้นหรือลดลง “ ผศ.ดร.จุติเทพ ย้ำ

ส่วนมาตรการรับมือฤดูฝนและเอลนีโญ  ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน เผยว่า สถานการณ์ปัจจุบันฝนสะสมต่ำกว่าค่าปกติ 28% ขณะที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีฝนน้อย การใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำในขณะนี้เทียบเท่ากับการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปีนี้ฝนทิ้งช่วงจะตกในช่วงกรกฎาคม-สิงหาคม   

“จากการคาดการณ์ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่งในช่วงฤดูฝนปีนี้ คาดการณ์ปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่า ปี 65  11,484 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่คาดการณ์ปริมาณน้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา 1 พ.ย. 2566 มีปริมาณน้ำเก็บกัก 15,699 ล้าน ลบ.ม. หรือ 63% ส่วนปริมาณน้ำใช้การ คาดว่าจะมี 9,000 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าปี 65  5,000 ล้าน ลบ.ม. “

ดร.ธเนศร์ กล่าวต่อว่า ต้องกำหนดแนวทางการจัดการน้ำในสภาพเอลนีโญ  โดยเก็บกักน้ำเต็มประสิทธิภาพในแหล่งน้ำทุกประเภทช่วงปลายฤดูฝนให้มากที่สุด คาดจะมีน้ำใช้การ 9,000 ล้าน ลบ.ม. ต้องวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างต่อเนื่อง ไทยเผชิญฝนต่อแล้ง แล้งต่อฝน คุณภาพน้ำ น้ำอุปโภคบริโภคต้องไม่ขาดแคลน

ผลกระทบจะเกิดขึ้นในภาคเกษตร ผอ.สำนักบริหารจัดการน้ำฯ ระบุ การจัดการน้ำภาคการเกษตร ต้องวางแผนพื้นที่เพาะปลูกในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีพื้นที่ปลูกข้าว 2 ล้านไร่ ไม่ว่ายังไงก็ปลูก  ควบคู่รณรงค์ปลูกพืชใช้น้ำน้อย ลดการใข้น้ำ จนกระทั่งมาตรการพักนา ต้องนำมาปฏิบัติ  นอกจากนี้ กรมชลประทานมี 6 แนวทางปฏิบัติ อาทิ  เก็บเต็มประสิทธิภาพ คาดการณ์พื้นที่เสี่ยง หลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวาง  ระบบชลประทานเร่งระบาย

ส่วนมาตรการรองรับแล้ง ดร.ธเนศร์ กล่าวว่า ต้องบริหารน้ำในอ่างให้อยู่ในเกณฑ์บริหารจัดการน้ำและเพียงพอกับความต้องการ จัดหาแหล่งน้ำสำรองกรณีเสี่ยงภัยแล้ง ตรวจสอบความต้องการใช้น้ำทุกกิจกรรมตามลำดับความสำคัญ จัดสรรตามกิจกรรมหลัก สำรองน้ำเก็บกักไว้ต้นฤดูฝนกรณีฝนทิ้งช่วง และประเมินผลและประชาสัมพันธ์ข่าวสารให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ

ด้าน รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ประธานแผนงานวิจัยเข็มมุ่งด้านบริหารจัดการน้ำ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า  ประเทศไทยจะพบกับวัฏจักรน้ำท่วมน้ำแล้งไปตลอด ติดกับ เกษตรกรรายได้น้อย จะต้องหยุดวัฎจักรนี้ใช้การจัดการความเสี่ยงเชิงระบบและระยะยาวมากขึ้น ใช้ข้อมูลข่าวสารที่พยากรณ์ให้เป็นประโยชน์ ปรับการช่วยเหลือเชิงเดี่ยวเป็นการช่วยปรับตัว ยกระดับแบบเฉพาะเจาะจงและยั่งยืนมากขึ้นภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและด้อยโอกาส  จำเป็นต้องมีนโยบายสนับสนุนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำและอาชีพกับประชาชนระดับรากหญ้า

นอกจากนี้ ควรมีมาตรการเพิ่มแหล่งน้ำขนาดเล็กของชุมชนเพื่อเป็นแหล่งน้ำสำรอง โดยพัฒนาทีมงานในระดับพื้นที่ร่วมกับ อปท. ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณและทรัพยากรจากจังหวัดและหน่วยงานเทคนิค ทั้งนี้ การจัดการภัยแล้งแบบบูรณาการ ต้องติดตาม พยากรณ์ และแจ้งเตือน ประเมินความเปราะบางและผลกระทบ มีมาตรการช่วยเหลือเพื่อลดผลกระทบ และการจัดการเชิงรุกตามความเสี่ยงของพื้นที่

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตอนบนของประเทศ ฝนลดลง ชป.เดินหน้าเก็บกักน้ำปลายฤดูฝน สำรองไว้ใช้แล้งหน้าให้มากที่สุด

เมื่อวันนี้ 15 ต.ค. 67 ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (swoc) อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำกู กรมชลประทาน ถนนสามเสน ผศ.ดร.สิตางศ์ พิสัยหล้า ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา