18 มิ.ย.2566-ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเรื่อง “ต้องรู้เป็นสมองเสื่อมหรือไม่…แต่เนิ่นๆ” ระบุว่า สมองเสื่อมมีหลายยี่ห้อแล้วแต่ชนิดของโปรตีนพิษบิดเกลียว ที่จะมีทางวิ่งไปยัง สมองส่วนต่างๆไม่เหมือนกัน ดังนั้นทำให้อาการที่ปรากฏขึ้นนั้น มีความผิดแผกแตกต่างกันได้ แต่ทั้งนี้ กลไกการเกิดและการทำลายสมองนั้นใกล้เคียงหรือเหมือนกัน
ที่ทั่วโลกรู้จักก็คือยี่ห้อ อัลไซเมอร์ และพาร์กินสัน โดยที่โรคแรกนั้น ปรากฏอาการออกมาในรูปของความจำและดำเนินไปเรื่อยจนสูญเสียความมีเหตุมีผล การตัดสินใจ การพูดจา สื่อสารติดต่อ การทำงาน การใช้ชีวิตประจำวัน และเกิดอารมณ์แปรปรวนต่อเนื่องไป จนกระทั่งนอนติดเตียง พาร์กินสันนั้น ปรากฏอาการออกมาในรูปของการเคลื่อนไหวผิดปกติ เกร็งซีกใดซีกหนึ่งก่อน และลามไปทั้งตัว โดยจะมีสั่นมากหรือน้อยก็แล้วแต่ จนสูญเสียการทรงตัวและจบลงที่นอนติดเตียง ทั้งนี้ ทั้งสองโรคนั้นอาจจะเกิดในคนเดียวกันได้ (co-pathology) การที่ต้องรู้แต่เนิ่นๆ หมายความว่า รู้ตั้งแต่มีอาการน่าสงสัยแม้แต่จะเพียงเล็กน้อยก็ตาม รวมทั้งถ้ามีคนในครอบครัวเป็นสมองเสื่อม และจนกระทั่งในปัจจุบัน ปี 2023 ทุกสำนักมีความเห็นตรงกันว่า ยิ่งรู้เร็วตั้งแต่ยังไม่มีอาการใดๆทั้งสิ้น จะได้เปรียบโดยที่ต้องทำการป้องกันชะลอ ไม่ให้ลุกลามไปได้
ทั้งนี้ การสู้กับโรคมีได้ทั้งสองแบบก็คือโปรตีนพิษ ยังคงอยู่ในสมอง แต่อาการไม่แสดงออกและยังดูเหมือนเป็นคนปกติอยู่ และในแบบที่สองที่ยิ่งดีใหญ่ ก็คือโปรตีนพิษเหล่านี้ถูกทำลายหรือถูกขับทิ้งออกไปได้ และแน่นอน อาการไม่ปรากฏ การที่ยิ่งรู้เร็วยิ่งดี จะนำไปสู่การปรับตัว มีวินัยอย่างเข้มข้น โดยประกอบไปด้วย การต้องออกกำลัง ไม่ว่าจะเป็นแบบหนัก แบบคาร์ดิโอ หรือตามสังขารตามอายุ คือเดินเข้าใกล้ 10,000 ก้าว ตากแดด ปรับอาหารเข้าใกล้มังสวิรัติ งดแป้ง ไม่กินเนื้อสัตว์ กินปลาได้ กิจกรรมแลกเปลี่ยน เพื่อฝึกสมองไม่ใช่ไปเล่นเกมกด และพบปะสังสรรค์ผู้คน เป็นต้น และที่ดีไปกว่านั้นอีก ก็คือมียาที่เริ่มพิสูจน์แล้วว่าสามารถป้องกันการก่อตัวสะสมจนกระทั่งถึง เลาะออกของโปรตีนพิษ ตลอดไป จนกระทั่ง เพิ่มการสร้างเซลล์ใหม่และปรับสภาพการทำงานเชื่อมโยงของสมองพูดภาษาชาวบ้านก็คือเหมือนกับวางระบบสายไฟใหม่ ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย มีเครือข่ายโยงใย ไม่รกรุงรัง
ยาพื้นบ้านที่เรามีอยู่แล้วมีได้ตั้งแต่ สารเรสเวอลาทรอล ที่มีการให้ความสนใจตั้งแต่มีการประชุมของสถาบันทางวิทยาศาสตร์ นิวยอร์ก (NY Academy of Science) ตั้งแต่ปี 2012 จนถึงปัจจุบัน ยากันชง ที่เป็นการกระตุ้น CB2 และกรดไขมันอิ่มตัวสายกลาง คาร์พริลิค ที่เป็นอาหารให้สมองที่เริ่มใช้กลูโคสไม่ได้แล้ว กลุ่มยาที่เจ๋งขึ้นไปอีก เป็นยาที่ใช้ในเบาหวานและต่อมาใช้ในการลดน้ำหนัก และมีผลในโรคไขมันเกาะตับ และมีตับอักเสบ (NASH non-alcoholic steatohepatitis) ซึ่งอยู่ในกลุ่ม glucagon-like peptide-1 (GLP-1) มีหลายตัว เช่น Ozempic Wegovy Mounjaro และอยู่ในการทดสอบ ในมนุษย์ เข้าสู่ระยะที่สาม และทำโดยทั้งบริษัทเอง และมหาวิทยาลัย Oxford
ทั้งนี้ ข้อมูลก่อนหน้าในสัตว์ทดลอง ซึ่งทำโดยกลุ่ม Johns Hopkins และตีพิมพ์ในวารสารเนเจอร์ รวมทั้งกลุ่มอื่นด้วย ได้แสดงให้เห็นว่าการกระตุ้นตัวรับ GLP-1 นี้ ให้ผลหลากหลายในการยับยั้งกระบวนการพิษ จากโปรตีน อมิลอยด์ ทาว และอัลฟ่า ซินนูคลิอิน ในหนูที่ปรับแต่งพันธุกรรมให้เป็นโรคแบบมนุษย์ และพบว่าดีขึ้น แต่เมื่อทำการศึกษาในมนุษย์ระยะที่สองในโรคพาร์กินสัน กลับได้ผลไม่ดี ทั้งนี้กลุ่มคณะที่ทำการศึกษาเมื่อทำการวิเคราะห์ข้อมูลแล้วยังพบว่า ยายังสามารถชะลอการทำลายของสมองในคนที่อายุน้อยกว่าและยังไม่มีอาการของโรค ซึ่งพ้องกับ ยิ่งรู้ก่อนยิ่งดี
ทั้งนี้ ตัว GLP–1 นั้น ผลิตจากเซลล์ในลำไส้และมีผลหลากหลายในการควบคุมให้ไม่หิว ปรับการสร้างอินซูลิน และป้องกันการดื้ออินซูลิน และลดการอักเสบในสมอง ในสัตว์ทดลอง กันการเกิดเซลล์แอสโตรเกลียที่เป็นตัวร้าย ที่ผ่านการกระตุ้นจากเซลล์ไมโครเกลีย และกระพือการอักเสบไปใหญ่ รวมทั้งมีการทำลายเซลล์สมองนิวรอน ยาพื้นๆ สำหรับโรคสมองเสื่อมอีกตัวคืออินซูลิน ซึ่งกระบวนการให้จะเป็นการพ่นเข้าจมูกโดยเครื่องพ่นพิเศษ เสมือนกับเป็นอนุภาคนาโน ทั้งนี้ โดยที่มีการพิสูจน์ว่าทำให้คนไข้ที่มีอาการสมองเสื่อมแล้วดีขึ้นได้และเริ่มเข้าการศึกษาในมนุษย์ระยะที่สาม ยาอีกตัวที่เหลือเชื่อก็คือยาละลายเสมหะ bromhexine (หรือชื่อ bisolvon) ซึ่งมีกลไกแบบเดียวกับ resveratrol และยาเบาหวาน metformin และ thiazolid inediones และขมิ้นชัน ให้สมองมีชีวิตยืนยาวใช้พลังงานอย่างประหยัดมัธยัสถ์และ รีไซเคิล หรือ autophagy.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดข้อมูล ‘ไวรัสโควิด’ สร้างได้ในห้องทดลอง มีจดสิทธิบัตรตั้งแต่ปี 2018
การสร้างไวรัสใหม่ชนิดนี้จะสามารถครอบคลุมไวรัสที่จะแพร่และเกิดโรคระบาดในมนุษย์ได้ทั้งสิ้น และสามารถที่จะสร้างวัคซีนให้มนุษย์ก่อนได้
‘หมอธีระวัฒน์’ อธิบายชัด ภาวะที่นอนแล้วลุกขึ้น มีความดันโลหิตร่วง
การตรวจโดยให้นอน 20 นาที และค่อยๆลุกขึ้น เปรียบเทียบความดันขณะนอนและขณะลุกขึ้น
ได้เงินไปรักษาเพียงพอแล้ว แม่เลี้ยงเดี่ยวป่วยมะเร็ง ขอปิดรับบริจาค ขอบพระคุณผู้ใจบุญ
ขอให้ได้ชีวิตใหม่กลับมา ได้เงินไปรักษาพยาบาลเพียงพอแล้ว 539,805 บาท ขอปิดรับบริจาค แม่เลี้ยงเดี่ยว วัย 29 ป่วยมะเร็งกระดูกระยะสุดท้าย กราบขอบพระคุณผู้ใจบุญทั่วประเทศ
'หมอธีระวัฒน์' ชวนร่วมยื่นหนังสือถึง 'สมศักดิ์' สอบบริษัทไฟเซอร์ วัคซีนเทพ!
นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อดีตหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่
'หมอธีระวัฒน์' แจง 5 ข้อ พูดเรื่องผลกระทบการวัคซีนโควิดทำไม ในเมื่อมันผ่านไปแล้ว
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า
อาจารย์หมอ ห่วงป่วยโควิดเพิ่ม นอนรักษาตัวรพ. พุ่งขึ้น 18.26% ต่อเนื่อง 6 สัปดาห์
คาดประมาณจำนวนคนติดเชื้อใหม่ต่อวันอย่างน้อย 7,172-9,961 ราย เมื่อเปรียบเทียบระหว่างปีนี้ และปีก่อน