ดื่มด่ำความงามพระพุทธรูปสำคัญในพิพิธภัณฑ์

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โปรดมีพระบัญชาให้สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เลขานุการสมเด็จพระสังฆราชเป็นผู้แทนพระองค์ เปิดนิทรรศการพิเศษ เรื่อง “พระพุทธรูปสำคัญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ”ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร   เนื่องในโอกาสสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเจริญพระชนมายุครบ 8 รอบ 96 พรรษา นับเป็นมหามงคลสมัยยิ่ง กรมศิลปากรจึงได้จัดนิทรรศการพิเศษ เรื่อง “พระพุทธรูปสำคัญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” จัดแสดงเรื่องราวของคตินิยมในการสร้างรูปแทนพระพุทธเจ้าเพื่อสักการบูชา การออกแบบท่าทางหรือการแสดงปางอันมีความหมายทางประติมานวิทยา และได้คัดเลือกพระพุทธรูป จำนวน 81 องค์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปโบราณที่มีพุทธศิลป์งดงามในแต่ละสกุลช่าง  โดยเป็นพระพุทธรูปสำคัญที่จัดแสดงและเก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ทั่วประเทศ

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์เปิดนิทรรศการพิเศษ อธิบดีกรมศิลปากรนำชมพระพุทธรูปสำคัญ

พระพุทธรูปเก่าแก่ ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นถึงศิลปะการสร้างพระพุทธรูปในแต่ละยุคสมัยที่แตกต่างกันเท่านั้น แต่เล่าเรื่องราวการสร้างพระพุทธรูปในอดีตที่ส่งอิทธิพลมาถึงปัจจุบัน รวมถึงคติความเชื่อทางศาสนาต่อการสร้างพระพุทธรูปในลักษณะต่างๆ 

จากแผนที่แสดงสมัยเริ่มแรกของพระพุทธรูปที่จัดแสดงให้ชมในนิทรรศการ นักวิชาการ เชื่อว่าพระพุทธรูปอาจจะสร้างขึ้นครั้งแรกในสมัยพระเจ้ากนิษกะ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 7 ที่การปกครองของชนชาติซิเถียนแห่งจักรวรรดิกุษาณะ โดยพระเจ้ากนิษกะ พระองค์เป็นชาวตะวันตก ทรงนับถือเทพเจ้า นิยมการสร้างเทวรูป หลังจากที่พระองค์หันมานับถือพุทธศาสนา จึงได้สร้างรูปเคารพบุคคลขึ้น มีลักษณะห่มจีวร หรือเป็นเหรียญทองของพระเจ้ากนิษกะที่ 1 ซึ่งด้านหน้าจะเป็นรูปพระเจ้ากนิษกะ ส่วนด้านหลังจะเป็นภาพพระพุทธรูปยืนแบบคันธาระ ใบหน้ามีความเป็นชาวตะวันตก เกล้าผมมวยขึ้น 

พระพุทธรูปศิลปะศรีวิชัย

อินเดียที่อยู่ภายใต้การปกครองของพระเจ้ากนิษกะก็สร้างรูปเคารพขึ้นในช่วงสมัยมถุรา และเริ่มแพร่หลายในชมพูทวีปและดินแดนที่นับถือพระพุทธศาสนา แต่ละพื้นที่มีอุดมคติในการสร้างพุทธรูปของตนเอง และได้รับอิทธิพลผ่านการเผยแพร่ตามเส้นทางการค้าขายระหว่างประเทศในข่วงเวลานั้น และใช้วัตถุดิบสร้างพระตามพื้นที่

ทั้งนี้ เมื่อแรกสร้างพระพุทธรูปเป็นเวลาหลังจากพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วหลายร้อยปี จึงไม่ทราบรูปลักษณ์ที่แท้จริง พระพุทธรูปสร้างขึ้นตามหลักสำคัญทางพุทธศาสนา คือ พระพุทธเจ้าทรงเป็นมนุษย์ มิใช่ ทิพยบุคคล มีพระสรีรกายเหมือนมนุษย์ แต่ทรงเป็นบุรุษพิเศษจึงมีบุคลิกลักษณะต่างจากบุคคลทั่วไป 

เมื่อเดินชมนิทรรศการ เราจะได้เห็นพัฒนาการของพระพุทธรูปในประเทศไทย เริ่มที่พระพุทธรูปรุ่นแรกจำนวนมากที่พบทางภาคใต้ แถบชายฝั่งทะเลทางตะวันออก แพร่กระจายไปยังภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเข้ามาพร้อมกับการติดต่อค้าขาย เป็นพระพุทธรูปศิลปะอินเดีย 3 แบบ คือ ศิลปะแบบอมราวดี มีพระรัศมีรูปเปลว นิยมสร้างในศิลปะลังกา จัดเป็นพระพุทธรูปแบบอนุราธปุระ เป็นองค์หล่อสัมฤทธิ์ขนาดเล็ก  ,ศิลปะแบบคุปตะและหลังคุปตะ ทำด้วยสัมฤทธิ์และศิลา ,ศิลปะแบบปาละ มีอิทธิพลในการส่งต่อพุทธรูปแบบทวารวดีตอนกลางและปลาย พระพุทธรูปล้านนารุ่นแรกในไทย 

เรายังได้ชมพระพุทธรูปศิลปะทวารวดี อายุประมาณ 1,000-1,400 ปี  ระยะแรกได้รับอิทธิพลศิลปะแบบคุปตะและหลังคุปตะ อย่างการยืนแบบตริภังค์ แสดงปางด้วยพระหัตถ์ขวา ส่วนพระหัตถ์ซ้ายยึดชายจีวรไว้  พระพักตร์ค่อนข้างกลม เป็นต้น ก่อนจะเริ่มมีส่วนผสมของศิลปะลพบุรี มีพระพักตร์ค่อนข้างยาว ขมวดพระเกศาเล็กแหลม พระนลาฏกว้าง เป็นต้น 

ส่วนพระพุทธรูปศิลปะศรีวิชัย  ด้วยอาณาจักรศรีวิชัยที่ตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าขายได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมที่หลากหลายทั้งอินเดีย ชวา ทวารวดี จาม และเขมร ศาสนาที่รุ่งเรืองจึงมีทั้งพราหมณ์หรือฮินดูและพุทธ การสร้างพระพุทธรูปศรีวิชัยมีทั้งในยุคศิลปะอินเดีย ศิลปะทวารวดี ศิลปะอินเดีย-ชวา  และศิลปะเขมร  ลองมาชมในนิทรรศการ

ต่อที่พระพุทธรูปศิลปะลพบุรี มีอิทธิพลของศิลปะเขมร เป็นช่วงที่วัฒนธรรมเขมรแพร่เข้ามาในไทยบริเวณภาคตะวันออกและภาคอีสาน  หนึ่งในพระพุทธรูปพบเป็นศิลปะแบบบายน จีวรห่มเฉียงมีชายผ้าสี่เหลี่ยมพาดบนพระอุระด้านซ้าย เมื่อศิลปะแบบบายนเริ่มคลี่คลาย เอกลักษณ์แบบท้องถิ่นเข้ามา พระพักตร์จะยาวกว่าในศิลปะขมร เป็นต้น 

บริเวณห้องโถงกลางจัดแสดงพระพุทธรูปศิลปะล้านนา อาณาจักรล้านนาเจริญขึ้นในทางภาคเหนือ ส่วนใหญ่ชาวล้านนานับถือพุทธศาสนาแบบเถรวาทดั้งเดิมที่ได้รับอิทธิพลจากหริภุญไชยกับฝ่ายมหายาน พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นจึงมีพระพักตร์กลม พระโอษฐ์อมยิ้ม พระวรกายอวบอ้วน พระอุระนูน เป็นต้น 

งดงามพระพุทธรูปปางลีลา ศิลปะสุโขทัย

ส่วนจัดแสดงตรงข้ามกันเป็นพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย แม้ว่าศิลปกรรมสุโขทัยจะได้รับคตินิยมจากกัมพูชา พม่า ลังกา และล้านนา แต่พัฒนาจนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นับว่าเป็นยุคทองของศิลปะไทย งดงามที่สุด คือ พระพุทธรูปปางลีลา ที่มีเอกลักษณ์พระอริยบถก้าวพระบาทข้างหนึ่งไปข้างหน้า ส่วนอีกข้างยกส้นพระบาทไปทางด้านหลัง พระวรกายมีความอ่อยช้อย   พระพักตร์หน้ารูปไข่ พระนาสิกโด่งปลายงุ้มมีพระรัศมีเปลวเพลิง และยังมีอิทธิพลในการสร้างพระพุทธรูปในสมัยอยุธยาและสมัยรัตนโกสินทร์ในระยะเวลาต่อมา 

ต่อด้วยพระพุทรูปศิลปะอยุธยา ตอนต้นอยุธยาเป็นศิลปะแบบอู่ทอง พระพุทธรูปจะพัฒนามาจากศิลปะทวารวดี ลพบุรี และสุโขทัย แต่อยุธยาแท้ๆ จะอยู่ในช่วงตอนกลาง ได้อิทธิพลจากสุโขทัย มีลักษณะเด่น เช่น พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระโขนงโก่ง เปลือกพระเนตรป้ายเป็นแผ่น ขมวดพระเกศาเล็กแบบหนามขนุน รัศมีเปลวเพลิงแบบสุโขทัย ส่วนอยุธยาตอนปลายนิยมสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ถอดแบบมาจากเครื่องทรงของกษัตริย์ 

พระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ ศิลปะรัตนโกสินทร์

เข้าสู่โซนสุดท้าย พระพุทธรูปศิลปะรัตนโกสินทร์ อย่างสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีแนวคิดสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องอย่างจักรพรรดิราช และการสร้างพระพุทธรูปให้เมือนบุคคลจริง ยุคนี้เริ่มมีศิลปินตะวันตกเข้ามาสร้างสรรค์งานศิลปะในไทย เกิดพระพุทธรูปที่มีความร่วมสมัย การสร้างพระพุทธรูปลีลา อย่างพระประธานพุทธมณฑล ที่ออกแบบโดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี  ผสมผสานระหว่างประเพณีนิยมแบบศิลปะสุโขทัยและแนวคิดแบบเหมือนจริง  

อย่างไรก็ตาม การพัฒนารูปแบบพระพุทธรูปไทยประเพณีมีความเสื่อมคลายลงไปเป็นการสร้างพระพุทธรูปเชิงพาณิชย์มากยิ่งขึ้น โดยมักสร้างหรือจำลองพระพุทธรูปสำคัญให้คนมากราบไหว้ หรือสร้างตามเค้าโครงแบบพระพุทธรูปโบราณ เช่น พระพุทธรูปอู่ทอง พระพุทธรูปสุโขทัย พระพุทธรูปล้านนา ซึ่งเชื่อว่าทำให้เกิดความสุข ความเจริญ ความมั่งคั่ง เพื่อส่งเสริมศรัทธาในหมู่พุทธศาสนิกชน 

พระพุทธรูปแต่ละองค์ที่นำมาจัดแสดงหาชมยาก สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการพระพุทธรูปสำคัญในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ได้ตั้งแต่วันนี้ -10  กันยายน 2566 ทุกวันพุธ – วันอาทิตย์ ณ  พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ในหลวง ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินวัดราชบพิธฯ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธี ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน

เบรกแรง! 'สมเด็จพระมหาวีรวงศ์' เตือนมหันตภัยต่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนา

เว็บไซต์สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง ได้มีการเผยแพร่คำปราศรัยของ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ แม่กองธรรมสนามหลวง เนื่องในวันเปิดสอบนักธรรมชั้นตรี ประจำปี 2567 ว่า

โบราณสถานเวียงกุมกามเสียหายหนักจากน้ำท่วม

7 ต.ค.2567 - นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เพื่อติดตามผลกระทบของสถานการณ์อุทกภัยที่มีต่อโบราณสถานสำคัญของจังหวัด โดยพบว่า พื้นที่เวียงกุมกามที่เป็นเมืองโบราณสมัยพญามังรายปฐมกษัตริย์ล้านนา ที่ตั้งอยู่ในอำเภอสา

คนรักศิลปฯแย้งผู้ว่าฯทุบปูนปั้นครูทองร่วง ยันผู้เสียหายคือสาธารณะ เตือนผิดม.157

นายวรา จันทร์มณี เลขาธิการชมรมคนรักศิลปวัฒนธรรม อดีตเลขาฯศิลปินแห่งชาติ อังคาร กัลยาณพงศ์ โพสต์เฟซบุ๊ก กรณีทุบปูนปั้นครูทองร่วง เอมโอษฐ ที่วัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดเพชรบุรี (ตอนที่ 2) ระบุว่า