ชุมชนบ้านแปดอุ้ม..รักษ์ไม้พะยูง นำร่องใช้นวัตกรรมNCAP ‘ต้นแบบ’จิตอาสาเฝ้าระวังป่า 

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่มีป่าไม้พะยูงที่สมบูรณ์  ในขณะที่การลักลอบตัดไม้ทำลายป่าในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยกำลังขยายวงกว้างขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในบริเวณที่เรียกขานกันว่า “สามเหลี่ยมมรกต”  ซึ่งเป็นตะเข็บชายแดนเชื่อมระหว่างประเทศไทย-ลาว-กัมพูชา 

​ป่าบริเวณอำเภอน้ำยืน ของจังหวัดอุบลราชธานี จึงกลายเป็น “เป้านิ่ง” ที่บรรดา “มอดไม้” แก๊งลักลอบตัดไม้เพื่อส่งออกไปยังประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จ้องตาเป็นมัน เพราะความต้องการไม้เนื้อแข็งลายงดงาม อีกทั้งมีชื่ออันเป็นมงคลยังมีอย่างต่อเนื่อง และสนนราคาก็สูงจนพ่อค้าและกลุ่มผู้มีอิทธิพลในบริเวณสามเหลี่ยมมรกตยอมเสี่ยง ทั้งๆที่เป็นการลงทุนที่ผิดกฎหมายก็ตาม

​ทั้งนี้ สถิติย้อนหลัง 8 ปี จากปี 2553 ถึง 2561 ไม้พะยูงทั่วประเทศไทย ถูกลับลอบตัดไปถึง 6,100 ตารางเมตร หรือประมาณพื้นที่สนามฟุตบอลของสนามกีฬาแห่งชาติ คิดเป็นมูลค่าถึง 3,000 ล้านบาท สถิติความเสียหายทางกฏหมายและเศรษฐกิจเพื่อลดความเสี่ยงด้านป้องกันคิดเป็นจำนวน 51,100 ท่อน ไม้พะยูงถูกลักลอบตัด4,450 จำนวนคดี จากผู้ต้องหา 2,827 ราย

การมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ ถือเป็นการช่วยปกป้องและอนุรักษ์ไม้พะยูงให้อยู่ในป่าของประเทศไทยอย่างสมบูรณ์และยั่งยืน 

โครงการนำร่องนวัตกรรม NCAP 

​ “ป่าชุมชนบ้านแปดอุ้ม” ในตำบลโดมประดิษฐ์ อำเภอน้ำยืน ของอุบลราชธานี เป็นป่าที่อยู่ในเขตสามเหลี่ยมมรกต และสามารถกล่าวได้ว่า เหลือต้นพะยูงอยู่ในพื้นที่ป่ามากที่สุดในภาคอีสาน 

ป่าชุมชนที่มีเนื้อที่ประมาณ 500 ไร่ กับต้นพะยูงกว่า 20 ต้น จึงเป็น “ต้นแบบ” ของการมีส่วนร่วมของชุมชนในการเฝ้าระวังรักษาป่าพะยูง และเป็นโครงการนำร่องแห่งแรกในประเทศไทยที่มีการนำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่เรียกว่า NCAP (เอ็นแคป) มาเป็นตัวช่วยในการเฝ้าระวังป้องกันการลักลอบตัดไม้ในป่า ภายใต้การสนับสนุนของ UN-REED (โครงการความร่วมมือแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการตัดไม้ทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่าในประเทศกำลังพัฒนา) ร่วมกับกรมป่าไม้และหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ

“แคทรีนา บอร์โรมิโอ”  เจ้าหน้าที่โครงการและการสื่อสาร โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) อธิบายว่า บ้านแปดอุ้ม เป็นต้นแบบที่แสดงให้เห็นถึงพลังและความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างชุมชนท้องถิ่นและหน่วยงานภาครัฐในการปกป้องพื้นที่ป่าจากการถูกทำลาย 

​“ โมเดลบ้านแปดอุ้มเรียกร้องให้สมาชิกในชุมชนท้องถิ่นทำหน้าที่เป็นอาสาสมัคร เฝ้าระวังสภาพแวดล้อมในป่าอย่างใกล้ชิด โดยร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ หากพบพฤติกรรมต้องสงสัยหรือการลักลอบตัดไม้ชาวบ้านสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ได้ทันทีผ่านช่องทางสื่อสารต่างๆ เช่น แอปพลิเคชันพิทักษ์ไพรของกรมป่าไม้ ” บอร์โรมิโอ กล่าว

​ นายจงสถิตย์ อังวิทยาธร ผู้ประสานของ UN-REDD เน้นย้ำว่า การดูแลป่านั้น นอกจาก software และ hardware แล้ว  peopleware เป็นส่วนสำคัญที่สุด ซึ่งบ้านแปดอุ้มได้ทำหน้าที่จิตอาสาในการเฝ้าดูแลผืนป่าชุมชนของตัวเองได้อย่างน่าชื่นชม เพราะ “ผู้นำ” หรือผู้ใหญ่บ้าน ได้ทำงานทางความคิด สร้างความเข้าใจของสมาชิกในชุมชนเกี่ยวกับความสำคัญของป่า ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างแข็งขันในการตรวจสอบพื้นที่บ้านของพวกเขา ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น และยังส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐในการอนุรักษ์ป่า

​” ก่อนหน้านี้มีความรุนแรงมากในการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ปี 2558 -2559 รุนแรงที่สุด โครงการนำร่องที่แรกของประเทศที่ใช้กล้อง NCAP ซึ่งปกติใช้กับอุทยานเท่านั้น เป็นเครื่องมือให้ชาวบ้านในการระวังรักษาป่า ลดปัญหาความรุนแรงระหว่างคนลักลอบตัดไม้และชาวบ้าน   มันเป็นระบบตรวจจับความเคลื่อนไหว ช่วยในเรื่องภาพถ่ายเก็บเป็นหลักฐาน ชาวบ้านมีแอป เมื่อมีใครเข้ามาบุกรุก ก็จะขึ้นบนจอมือถือทันที และชาวบ้านก็จะแจ้งเหตุกับเจ้าหน้าที่ได้ ” นายจงสถิตย์ อธิบาย 

4 นวัตกรรมพิทักษ์ป่า

อ้อมจิตร เสนา นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ ส่วนส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้ กล่าวว่า กรมป่าไม้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยในการตรวจจับผู้กระทำผิด เช่น แอปพลิเคชัน “พิทักษ์ไพร” ระบบการลงทะเบียนต้นไม้ e-Tree รวมถึงระบบกล้อง NCAP  ที่ในการตรวจจับผู้ต้องสงสัย รวมถึงใช้โดรนในการบินตรวจสอบพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถตรวจจับและแก้ไขปัญหาการลักลอบตัดไม้ได้อย่างทันท่วงที

“เทคโนโลยีเหล่านี้ถูกนำมาใช้ที่บ้านแอปดอุ้ม จ.อุบลราชธานี ซึ่งแสดงออกถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีผสานการทำงานร่วมกับชุมชนและภาครัฐ” อ้อมจิตร กล่าว 

​ แอปพลิเคชัน พิทักษ์ไพร เป็นแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน ที่สามารถส่งการแจ้งเตือนเกี่ยวกับพฤติกรรมการบุกรุกในพื้นที่ต้องสงสัยว่าอาจจะเกิดการกระทำผิดกฎหมาย รวมถึงการแจ้งเตือนและติดตามสถานการณ์ไฟป่าได้อย่างทันท่วงที 

​นอกจากนี้ ยังมีแพลตฟอร์มดิจิทัล e-TREE ที่มุ่งยกระดับการติดตามและตรวจสอบการบริหารจัดการป่าไม้ ช่วยในการขึ้นทะเบียนต้นไม้และตรวจสอบย้อนกลับต้นไม้ ซึ่งพิสูจนแล้วว่าเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการส่งเสริมการค้าไม้อย่างยั่งยืน

ขณะที่ NCAP เป็นระบบการทำงานระยะไกล ที่ประกอบด้วยกล้องและเซ็นเซอร์เพื่อเฝ้าระวังการลักลอบตัดไม้ในพื้นที่เสี่ยง ทำงานร่วมกับหน่วยลาดตระเวนภาคพื้นดินซึ่งสามารถบันทึกและแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ เมื่อตรวจพบการเคลื่อนไหวที่น่าสงสัยผ่านกล้องได้ จึงช่วยลดความเสี่ยงของการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่อาสาสมัครในพื้นที่ และผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ลักลอบตัดไม้ นอกจากนี้ กล้องยังสามารถบันทึกภาพเพื่อใช้เป็นหลักฐานดำเนินคดีในชั้นศาลได้อีกด้วย ความสามารถนี้ช่วยให้ชุมชนสามารถติดตามภัยคุกคามที่เกิดขึ้นในป่าของชุมชนโดยรอบได้ดีขึ้น รวมทั้งลดความเสี่ยงในการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า

บ้านแปดอุ้มจึงเป็นพื้นที่ต้นแบบการอนุรักษ์ป่า ที่ชุมชนทำงานประสานกับหน่วยงานรัฐ และนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการบริหารจัดการและดูแลพื้นที่ป่าอย่างมีประสิทธิภาพ เรื่องราวความสำเร็จนี้เป็นกรณีศึกษาสำหรับชุมชนอื่นๆ เพื่อช่วยให้ชุมชนเหล่านั้นสามารถปรับตัวและใช้รูปแบบการคุ้มครองป่าโดยชุมชนที่คล้ายคลึงกับกรณีของบ้านแปดอุ้มได้  

​ท้ายที่สุดการอนุรักษ์ป่าไม้เป็นหนึ่งในกิจกรรมของ UN-REDD เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการตัดไม้ทำลายป่า ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำให้ป่าเสื่อมโทรม ด้วยความพยายามร่วมกัน UN-REDD ให้อำนาจแก่ชุมชนในการทำงานร่วมกับภาครัฐ เพื่อส่งเสริมแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนซึ่งจะอนุรักษ์ป่าไม้ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และปูทางสู่อนาคตที่ยั่งยืนมากขึ้น

peopleware หัวใจสู่ความยั่งยืน

​นอกจากเทคโนโลยีทันสมัย เครื่องมือที่พร้อม แรงสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอย่างสหประชาชาติแล้ว ไม่อาจมองข้ามความสำคัญของ “จิตอาสา” ในชุมชน ซึ่งทำให้พื้นที่ป่าชุมชนที่บ้านแปดอุ้มกลายเป็น “ต้นแบบ” ของการเรียนรู้อยู่กับป่า และตระหนักรู้ถึงความสำคัญของป่าที่มีต่อชุมชน สังคม ไปจนประเทศ และโลกภายนอก 

นายบุญทัน พรมโคตร์ ผู้ใหญ่บ้านทุ่งสมเด็จ หมู่ 17 ตำบลโดนประดิษฐ์   แสดงความรู้สึกแทนชุมชนบ้านแปดอุ้มที่ได้รับการชื่นชมหยิบยกเป็นต้นแบบและเป็นพื้นที่นำร่องในการใช้นวัตกรรม NCAP เป็นแห่งแรกในประเทศไทยเพื่อการดูแลเฝ้าระวังป่าว่า ความใส่ใจของเจ้าหน้าที่ป่าไม้  การได้ความรู้จากUN-REDD  และการสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมือที่ทันสมัย ทำให้ชาวบ้านผ่อนคลาย การนำกล้องมาติดในป่าเป็นเครื่องมือที่ดี ช่วยให้เก็บข้อมูลได้ ถือเป็นเรื่องใหม่ ที่ชาวบ้านต้องเรียนรู้ 

​” ตั้งแต่มีการบังคับใช้ พรบ.ป่าชุมชน ชาวบ้านอยู่กับป่าได้สบายขึ้น รู้สึกว่าป่าเป็นของตัวเอง และต้องช่วยกันดูแลรักษา เหมือนมันเป็นทรัพย์สมบัติของเรา” ผู้ใหญ่บุญทัน กล่าว และย้อนความหลังว่า เมื่อก่อนนั้น แค่ชาวบ้านเข้าไปเก็บเห็ดในป่า หรือเก็บไม้มาทำฟืน ก็จะถูกจับ จนเกิดการต่อต้าน แต่ปัจจุบันนี้ชาวบ้านสามารถอยู่กับป่าได้โดยมีขอบเขต และมีการทำความเข้าใจกันและกันว่า อะไรที่ทำได้ และอะไรที่ทำไม่ได้  

​อย่างไรก็ตาม คนหมู่มาก ย่อมมีอุปสรรคอยู่บ้าง ท่ามกลางจิตอาสาเข้มแข็ง ที่มีการแบ่งเวร และแบ่งทีมกันเฝ้าระวังต้นพะยูงในป่าชุมชนบ้านแปดอุ้มที่เหลืออยู่มากที่สุดในอุบลราชธานีอย่างเอาจริงเอาจังนั้น ก็ยังมีชาวบ้าน บางส่วนใช้วิถีชีวิตเดิม  เผาป่าถากถางปลูกมันสัมปะหลัง  ซึ่งก็ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ

​ ” NCAP ช่วยพวกเราได้เยอะมาก แรกเริ่มเราได้มา 4 ตัว แต่ติดไปแค่ 1 เดือนก็ถูกขโมยไป 1 ตัว ซึ่งก็ต้องช่วยกันกำจัดอุปสรรคแบบนี้บ้าง และล่าสุดเมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา ต้นพะยูงอายุกว่า 20 ปีในวัดป่าแปดอุ้มเจริญธรรมก็ถูกมือดีตัดไปเหลือแต่ตอ  NCAP ช่วยให้เห็นกลุ่มคนที่เข้ามา และบันทึกไว้ทุกนาที ชาวบ้านที่ได้รับสัญญาณเตือน ก็เร่งรีบจะไปสกัด แต่ก็เกิดอุบัติเหตุอาวุธปืนในมือขัดลำกล้อง จึงได้แต่นำหลักฐานไปให้เจ้าหน้าที่ติดตามหากลุ่มลักลอบตัดไม้พะยูงต่อไปเท่านั้น” นายบุญทันเล่า 

​ในขณะที่บรรดาจิตอาสา ก็ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่างๆ อย่างกระตือรือร้นว่า  แก๊งลักลอบตัดต้นพะยูงจะมากันเป็นกลุ่มอย่างน้อย 3 คันรถ พร้อมเครื่องมือเลื่อยยนต์ที่ทันสมัย แม้พวกเขาเห็น ก็ไม่อาจจะเข้าไปปะทะได้ ” อยากเสนอว่า เราควรจะเพิ่มเสียงหวอขึ้นมา พอได้ยินเสียงเตือนจาก NCAP ว่ามีผู้บุกรุก และเห็นจากกล้อง หากมีเสียงหวอดังตามออกมา บรรดาแก๊งลักลอบน่าจะตกใจ เพราะชาวบ้านทั้งชุมชนก็ต้องตื่นขึ้นมาทั้งหมด ไม่ใช่แค่จิตอาสาที่อยู่เวรยามเพียง 4-5 คนต้องเผชิญหน้าแค่กลุ่มเดียว ” 

..ความรู้สึกและความเห็นของจิตอาสาและชาวบ้านในชุมชนบ้านแปดอุ้ม ไม่ว่าจะสบายใจ คลายกังวล หรือยังคงเคร่งเครียดกับการดูแลเฝ้าระวังป่าพะยูงที่เหลือน้อยเต็มที ต้องนับว่าเป็นภาพสะท้อนให้เห็นชัดเจนถึงการได้รับการยกย่องเป็น “ต้นแบบ” จิตอาสาเฝ้าระวังไม้พะยูง และบรรลุเป้าหมายของโครงการโดยความร่วมมือของสหประชาชาติและกรมป่าไม้ เพื่อลดการตัดไม้ทำลายป่าและกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมโดยชุมชนและเพื่อชุมชนนั่นเอง 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ทนายอนันต์ชัย' ไล่บี้คนด่า-กล่าวหาพระ ว.วชิรเมธี ออกมาขอโทษ อย่าเงียบเป็นเป่าสาก

นายอนันต์ชัย ไชยเดช ทนายความ มูลนิธิทนายกองทัพธรรม โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กว่า วันนี้ กรมป่าไม้ ชี้แจงแล้ว ท่าน ว.วชิรเมธี ไม่บุกรุกป่าไม้

เคลียร์ชัด! 'กรมป่าไม้' ตรวจสอบแล้ว 'ไร่เชิญตะวัน' พระ ว.วชิรเมธี ไม่บุกรุกป่า

นายบรรณรักษ์ เสริมทอง รองอธิบดีกรมป่าไม้ ในฐานะโฆษกกรมป่าไม้ กล่าวว่า จากกรณีที่สาธารณชนและสื่อมวลชนให้ความสนใจและติดตามข่าวการอนุญาตใช้ประโยชน์และอยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยปุย

โค่นสวนยางพาราทิ้ง 407 ไร่ ในเขตป่าสงวนฯ ตรวจพบตั้งแต่ปี 58 แต่ไม่มีผู้ต้องหา

นายวิทยา ณวิพันธ์ ผอ.สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 สาขาพิษณุโลก สั่งการให้ นายธวัชชัย ปุริเกษม ผอ.ส่วนป้องรักษาป่าและควบคุมไฟป่าและนายธีรพล กาญจนโกมล เจ้าพนักงานป่าไม้ชำนาญงาน ทำหน้าที่หัวหน้าชุดปฏิบัติการร่วมกับหัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่า

กรมป่าไม้ อนุรักษ์ “พลองใหญ่” ต้นไม้ทรงปลูกในสมเด็จพระพันปีหลวง เพื่อสืบสาน รักษา ต่อยอดพรรณไม้ให้เพิ่มมากขึ้น

การอนุรักษ์พรรณไม้มีค่าให้คงอยู่ และสามารถขยายพันธุ์ได้มากขึ้น ถือเป็นหนึ่งในการดำเนินงานสำคัญที่จะทำให้พรรณไม้มีค่าได้เจริญเติบโตและงอกงามสมบูรณ์ ดังนั้นในปี 2567 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมป่าไม้ จึงได้ร่วมกับ

กรมป่าไม้ ชวนคุณลูกพาคุณแม่ท่องเที่ยว 3 ป่านันทนาการ ฟรี! เนื่องในวันแม่แห่งชาติ 12 สิงหานี้

นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และวันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม 2567