เสียงสะท้อนจาก 16 ศิลปินถึง'สุพรรณบุรี'

สุพรรณบุรีเป็นจังหวัดที่รุ่มรวยประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม ในอดีตสุพรรณบุรีเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญในสมัยอาณาจักรอยุธยา เห็นได้จากมีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์มากมายให้เยี่ยมชมแล้ว สุพรรณบุรียังมี ‘1984+1 gallery’ แกลเลอรีที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัวในพื้นที่จัดแสดงกว่า 4,000 ตารางเมตร โดยปรีชา รักซ้อน ศิลปินร่วมสมัยชาวสุพรรณบุรี ปรับปรุงจากโกดังเก่าของโรงสีข้าวบูรณะกิจ ธุรกิจของครอบครัว

ช่วงนี้มีกิจกรรมพิเศษ  เพราะ 1984+1 gallery จัดนิทรรศการกลุ่มครั้งแรกที่รวบรวมผลงานของศิลปินไทยมากถึง 16 คนเข้าไว้ด้วยกัน ในชื่อ “ SUPHAN’S Echoes “  เป็นนิทรรศการที่รวบรวมเสียงสะท้อนจากเหล่าคนทำงานศิลปะทั้งชาวสุพรรณบุรีและพื้นที่อื่นๆ  เพื่อสร้างบทสนทนาและแลกเปลี่ยนมุมมองเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ชุมชน ความเชื่อ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ผ่านรูปแบบงานจิตรกรรม ประติมากรรม มัลติมีเดีย และศิลปะการแสดง  ที่สะท้อนบริบทหลากหลายมิติของเรื่องราวใน จ.สุพรรณบุรี

ผลงานภาพถ่ายสะท้อนสุพรรณฯ ในมุมต่างๆ

นิทรรศการกลุ่มครั้งนี้เป็นผลผลิตจากการที่แกลเลอรี 1984+1 ร่วมกับสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย  (สศร.) ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยการส่งเสริมการดำเนินงานของหอศิลป์และแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมในส่วนภูมิภาค ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ถือเป็นหนึ่งในแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมในส่วนภูมิภาค ตามแผนงานจะมีนิทรรศการและกิจกรรมศิลปะเกิดขึ้นใน 1984+1 gallery ต่อเนื่อง กระตุ้นการเรียนรู้ใน จ.สุพรรณบุรี และภาคกลางให้คึกคัก

สำหรับ “SUPHAN’S Echoes” เปิดโอกาสให้ศิลปินอาวุโสและศิลปินหน้าใหม่ 16 คน ถ่ายทอดเรื่องสุพรรณบุรี ซึ่งมีความซับซ้อนในมิติวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ความเป็นชุมชน เศรษฐกิจ ตลอดจนสิ่งแวดล้อม ผ่านการสร้างสรรค์ผลงานสื่อประเด็นเหล่านี้ รวมถึงพื้นที่แกลเลอรี 1984+1 เองที่มีบริบทจำเพาะการเป็นโกดังโรงสีข้าวเก่า

การแสดง Sound Art แบบสดของ พชร ปิยะทรงสุทธิ์ 

ผลงานสร้างสรรค์ในนิทรรศการฯ อาทิ การแสดงนาฏศิลป์ร่วมสมัย (Contemporary Dance) ในชุด “โรงสี” ของนักศึกษาจากวิทยาลัยนาฏศิลปสุพรรณบุรี ที่รังสรรค์ขึ้นใหม่สำหรับนิทรรศการนี้โดยเฉพาะ โดยชานนท์ ทัสสะ ผู้กำกับการแสดง  ร้อยเรียงเรื่องราวตั้งแต่จุดเริ่มต้นของอารยธรรมโบราณอู่ทอง สู่ความเชื่อและวิถีชีวิตที่ผูกติดกับสังคมเกษตรกรรม วัฒนธรรมข้าวและการมาถึงของยุคอุตสาหกรรม พร้อมเพลงประกอบการแสดงที่ใส่เสียงต่าง ๆ จากโรงสีข้าวเป็นพื้นหลัง การแสดง Sound Art แบบสดของพชร ปิยะทรงสุทธิ์ ผู้สร้างเครื่องดนตรีจากอะไหล่ต่าง ๆ ที่ได้แนวคิดจากโรงสีข้าวแห่งนี้ ซึ่งเขาเคยเห็นเมื่อครั้งยังเปิดทำการ

นอกจากนี้ มีผลงานชุด “บ้านเรา” (Our Home) ของวิสูตร สุทธิกุลเวทย์ ศิลปินภาพถ่ายชาวสุพรรณบุรี ผู้นำเสนอผลงานภาพถ่ายในมุมต่าง ๆ ที่ทั้งคุ้ยเคยและแปลกตาในสุพรรณบุรี จัดแสดงพร้อมกับชุดผลงานภาพถ่ายของลูกชายศิลปินที่กำลังศึกษาในโครงการแลกเปลี่ยน AFS ณ ประเทศอิตาลี เพื่อสร้างบทสนทนาในความเป็น ‘บ้านเขา’ และ ‘บ้านเรา’ หรือกระปุกออมสินปูนปลาสเตอร์ งานสร้างสรรค์ร่วมกันของชญานิษฐ์ ม่วงไทย และพรยมล สุทธัง สะท้อนมุมมองของนักท่องเที่ยวจากจ.นครปฐมที่มีต่อกระปุกออมสิน ของที่ระลึกที่วางขายตลอดสองข้างทางระหว่างนครปฐมสู่สุพรรณบุรี กระปุกออมสินหลากสีสันในรูปแบบปลาสลิด มังกร กระทั่งแมวที่พบในโรงสี จัดแสดงบนรถเข็นหาบเร่ ผลงานเหล่านี้ล้วนส่งเสียงสะท้อนถึงความเป็นสุพรรณบุรีในมิติที่แตกต่างกันไป

นิทรรศการกลุ่ม“SUPHAN’S Echoes”

รายชื่อศิลปินที่ร่วมแสดง อัญชลี อนันตวัฒน์ , วัชรนนท์ สินวราวัฒน์ , รุจน์ ถวัลย์อรรณพ , วาฬร์ จิรชัยสกุล ,กริช จันทรเนตร ,วิศิษฐ พิมพิมล , นพนันท์ ทันนารี , ชานนท์ ทัสสะ ,วิสูตร สุทธิกุลเวทย์ , ชญานิษฐ์ ม่วงไทย ,พรยมล สุทธัง , ประกิต กอบกิจวัฒนา และนพพร พลวิฑูรย์ (sensei k.a) , วิทธวัช สุกใส ,ตฤณภัทร ชัยสิทธิศักดิ์ ,ของพชร ปิยะทรงสุทธิ์ และขวัญชัย สินปรุ  

SUPHAN’S Echoes จัดขึ้นที่ 1984+1 gallery อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน – 6 สิงหาคม เวลา 10.00 – 18.30 น.  

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สืบนครบาลรวบ 'สมโคลท์ พันกระบอก' ขายปืนเถื่อนออนไลน์ ตกใจฉี่ราด

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มีนโยบายปราบปรามอาวุธปืน โดยเฉพาะทางโลกออนไลน์เพื่อป้องกันเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่ ชุดลาดตระเวนออนไลน์

ประติมากรรมเพื่อชุมชน แหล่งรวมคนเมืองแห่งใหม่

ใจกลางกรุงเทพฯ นอกจากสวนสาธารณะพื้นที่สีเขียว สถานที่พักผ่อนหย่อนใจและเป็นปอดให้กับคนเมืองแล้ว การมีสวนประติมากรรมให้เที่ยวชมย่านใจกลางเมือง เป็นแหล่งนัดพบชาวเมืองแห่งใหม่ เต็มเต็มความสุขของการใช้ชีวิตในเมืองด้วยผลงานศิลปะที่ชวนให้เราหยุดพัก

7 ศิลปินรางวัล'ศิลปาธร' ต้นแบบคนรุ่นใหม่

ศิลปินศิลปาธรล้วนเป็นศิลปินร่วมสมัยรุ่นกลางที่ทุ่มเทพลังความคิด สติปัญญา และจิตใจมุ่งมั่น สร้างผลงานศิลปะร่วมสมัยที่มีอัตลักษณ์โดดเด่น ปีนี้ กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.)ยกย่องเชิดชูเกียรติให้แก่ศิลปินร่วมสมัยดีเด่นรางวัล’ศิลปาธร’ จำนวน  7 สาขา