'ไซเบอร์บูลลี่' ภัยโลกออนไลน์ในเด็กและเยาวชน

ความรุนแรงในสถานศึกษา เป็นอีกปัญหาที่เรื้อรังมานาน เช่น การทำร้ายทางร่างกาย วาจา การขู่กรรโชก การบีบบังคับ การกลั่นแกล้งกัน ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะแค่การกระทำซึ่งหน้าเท่านั้น แต่ยังลุกลามไปถึงการใช้โซเชียลในการโพสต์รูปภาพ หรือเขียนข้อความที่ส่งผลกระทบต่ออีกฝ่ายในเชิงตำหนิ หยาบคาย ดูถูกเหยียดหยาม ให้เกิดความอับอาย เรียกว่าเป็นภัยการบูลลี หรือการระรานทางไซเบอร์ (Cyber Bully) ที่ไม่ใช่เพียงแค่นักเรียนกับนักเรียน แต่ยังพบว่ามีในกรณีที่เป็นครูกับนักเรียนด้วย

สอดคล้องกับผลสำรวจสถานการณ์เด็กไทยกับภัยออนไลน์ ในปี 2565 โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กรมกิจการเด็กและเยาวชนร่วมกับ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ในการสำรวจเด็กอายุ 9-18 ปี จำนวน 31,965 คน จาก 77 จังหวัด พบว่า เด็กไทยมีความเสี่ยงภัยออนไลน์สูงมาก เฉลี่ยเด็ก 81% มีสมาร์ทโฟนเป็นของตัวเอง  และใช้โซเชียลมีเดียทุกวันเฉลี่ย  85% การสำรวจครั้งนี้ยังพบว่า เด็ก 26% ถูกกลั่นแกล้งรังแกทางออนไลน์ (Cyber Bullying) รวมไปถึงการถูกละเมิดทางเพศ  เสพติดเกม การพนัน และความรุนแรง นับเป็นอีกปัญหาที่ต้องระดมหาแนวทางในการแก้ไข ไม่ว่าจะทางกฎหมาย หรือทางการแพทย์ ในการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยา ตำรวจ  รวมไปถึงตัวบุคคลทั้ง นักเรียน ผู้ปกครอง และคุณครู ที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการหาทางออกร่วมกัน

ท่ามกลางสังคมยุคดิจิทัลที่เด็กและเยาวชนไม่อาจหลีกเลี่ยงการใช้โซเชียลได้ เพื่อสะท้อนแนวทางในการแก้ไข และสร้างความรู้ความเข้าใจโดยเริ่มต้นจากในรั้วโรงเรียน  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ โกลบิช อคาเดเมีย (ไทยแลนด์) จึงได้จัดเสวนา Teacher Conference  “Stop Violence in Schools” เยาวชนไทยห่างไกลความรุนแรง” ครั้งที่ 2 เพื่อผลักดันการแก้ไขและยุติปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนและสถานศึกษา

 ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์

การบูลลี่ทางไซเบอร์ ซึ่งสร้างความเจ็บปวดในเด็กที่โดนทำร้าย  ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ กล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาไซเบอร์บูลลี่ในประเทศไทย พบว่าเยาวชนกว่า 50% มีประสบการณ์เกี่ยวกับการกลั่นแกล้งรังแกทางโลกไซเบอร์ ซึ่งจากการศึกษาในปี 2566 การรังแกทางโลกไซเบอร์ในนักเรียนระดับมัธยมศึกษา จำนวนกว่า 2,400 คน  ในจำนวนนี้แบ่งเป็นผู้ที่เห็นเหตุการณ์ 40.7% ผู้ระราน 31% และผู้ถูกระราน 28.3% ที่น่าสนใจคือยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้ออกมาบอกว่าตนตกเป็นเหยื่อ ทั้งการโจมตีหรือการใช้วาจาหยาบคาย การคุกคามทางเพศ การแอบอ้างตัวตนของผู้อื่น การแบล็คเมล์กัน การหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ การสร้างกลุ่มเพื่อโจมตีบุคคลที่ตัวเองไม่ชอบ

“โดยช่องทางหลักของการแสดงความรุนแรงมักเป็นทางโซเชียล ความรุนแรงยิ่งเพิ่มขึ้นมีในโลกของโซเชียลสามารถโพสต์ได้โดยการไม่ระบุตัวตน และการใช้นามแฝง ทั้งนี้ โซเชียลมีเดียไม่ว่าจะเป็นไลน์ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ติ๊กต็อก ask.fm ฯลฯ ในการศึกษาเชิงพฤติกรรม เด็กโตสามารถเลือกพฤติกรรมแสดงบนแพลตฟอร์มแตกต่างกัน ตัวอย่างพฤติกรรม เช่น การมีแอคเคาน์หลุม หรือ Finsgram มาจาก Friend Only หรือ Fake Instragram บัญชีที่ถูกสร้างขึ้นมาจากบัญชีที่ใข้อยู่เป็นประจำ และถือเป็นวัฒนธรรมใหม่ที่แพร่หลาย โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น อย่างไรก็ตาม แอคเคาน์หลุม มีทั้งบวกและลบแต่หากมองภาพกว้างจะเห็นว่าการกลั่นแกล้งทั้งในชีวิตจริงและโลกออนไลน์มีความเชื่อมโยงกัน  ซึ่งผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจะต้องได้รับผลกระบทั้งการเข้าสังคม ความหวาดระแวงหรือความอับอาย ความเครียดหรือการหนีเรียน ความคิดในการทำร้ายตัวเอง รวมไปถึงการนำไปสู่โรคซึมเศร้า” ผศ.ดร.ณัฐสุดา กล่าว

ผศ.ดร.ณัฐสุดา กล่าวเสริมว่า จากงานวิจัยพบว่าคนที่ตกเป็นเหยื่อไซเบอร์บูลลี่ มีความสัมพันธ์กับการฆ่าตัวตาย การป้องกันในเบื้องต้นจึงมีความสำคัญ เพื่อไม่ให้ปัญหาใหญ่เกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้นจึงต้องมีแนวทางในการดูแล เช่น การที่มีหลักยึดเหนี่ยวทางจิตใจ การสร้างสภาพแลวดล้อมที่เอื้อต่อการช่วยเหลือ โดยเฉพาะตัวบุคคลรอบข้างทั้งผู้ปกครอง คุณครู การสร้างช่องทางในการแจ้งข่าวที่ปลอดภัย หรือสร้างกลุ่มนักเรียน เพื่อเป็นพื้นที่สื่อสารกับนักเรียนด้วยกัน นอกจากนี้คือการมีนักจิตวิทยาในการรับฟังและช่วยเหลือ  

ในทางกฏหมาย ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ได้กล่าวว่า ในโรงเรียนควรมีกลไกที่คุ้มครองผู้ที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงเรียน ไม่ว่าระหว่างนักเรียนด้วยกันเอง นักเรียนกับครู หรือกระทั่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากบุคคลภายนอก ที่เข้ามากระทำกับครูหรือนักเรียน โดยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ ประมวลกฎหมายอาญา พ.ร.บ.การกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ซึ่งฎหมายข้อนี้มีความเกี่ยวเนื่องในความผิดกรณีที่เด็กเข้าข่ายการค้ามนุษย์ ส่วนความผิดไซเบอร์บูลลี่ ส่งผลต่อชื่อเสียงและจิตใจ ผู้กระทำจะมีความผิดฐานหมิ่นประมาท ความผิดฐานดูหมิ่น และความผิดลหุโทษ เช่น ความผิดฐานกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ถ้าเป็นการกระทำในที่สาธารณะหรือต่อหน้าธารกำนัลในลักษณะล่วงเกินทางเพศ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และการกระทำที่อาศัยด้วยเหตุของผู้กระทำที่มีอำนาจเหนือผู้ถูกกระทำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท

ผศ.ดร.ปารีณ เพิ่มเติมอีกว่าในการดำเนินคดีอาญา ผู้เสียหายสามารถร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนได้ที่สถานีตำรวจ หรือ การฟ้องร้องต่อศาลด้วยตนเอง เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม โดยเมื่อมีการพิพากษาว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิด จะต้องมี 3 หน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้องคือ กรมราชทัณฑ์ กรมคุมประพฤติ และกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และในส่วนของผู้ถูกกระทำจะต้องมีมาตรการบำบัดเยียวยา การรักษาฟื้นฟูร่างกาย สิทธิของผู้เสียหายตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา สิทธิที่ได้รับเงินค่าตอบแทนความเสียหายในคดีอาญาตามกฎหมาย สิทธิในการได้รับความคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กตามกฎหมาย สิทธิของเด็กเยาวชนในคดีอาญาการคุ้มครองพยาน ทั้งนี้ในทางออกของปัญหาไม่สามารถแก้ได้ด้วยการใช้ความรุนแรงได้ไม่ว่าในทางใด

ตรีประดับ อุทัยเศรษฐวัฒน์

ตรีประดับ อุทัยเศรษฐวัฒน์ นักจิตวิทยาประจำโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ กรุงเทพฯ เล่าว่า ปัญหาที่เกี่ยวไซเบอร์บูลลี่ ส่วนใหญ่ก็รับรู้ปัญหาจะผ่านทางเพื่อนของนักเรียนที่จะมากระซิบบอกว่า เพื่อนมีท่าทีที่เปลี่ยนไปจากการโพสต์ข้อความผ่านสตอรี่ไอจี จึงมาขอคำแนะนำหรือการทำให้นักเรียนรู้สึกปลอดภัยเหมือนมีพื้นที่พึงพาทางใจ แต่หากเกินความสามารถของครูก็จะต้องส่งต่อให้กับผู้เชี่ยวชาญในการหาแนวทางแก้ปัญหาต่อไป ซึ่งในปัจจุบันข่าวเกี่ยวกับพฤติกรรมครูที่มีต่อเด็ก ทางโรงเรียนจะต้องมีแนวทางในการปกป้องเด็กเพื่อให้ปลอดภัย เพราะไม่ใช่คุณครูทุกคนจะมีพฤติกรรมที่เสี่ยงเป็นภัยต่อเด็ก ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการให้ความรู้และความเข้าใจต่อเด็ก เพราะเขามีสิทธิที่จะตัดสินใจในการเข้าไปปรึกษากับครูที่รู้สึกว่าปลอดภัย หรือบอกถึงพฤติกรรมของครูที่ตัวนักเรียนรู้สึกว่าไม่ปลอดภัยได้ ในการจัดงานเสวนาครั้งนี้ทำให้เข้าใจกระบวนการที่ทางโรงเรียนสามารถดำเนินการวางแผนในการดูแลเด็กทั้งด้านร่างกายและจิตใจ

อเนชพันธ์ นิธินันท์นฤมิตร

อเนชพันธ์ นิธินันท์นฤมิตร ครูแนะแนวโรงเรียนทวีธาภิเศก กรุงเทพฯ แสดงความเห็นว่า สำหรับโรงเรียนทวีธาภิเศก เป็นโรงเรียนชายล้วนไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมหรือคำพูดก็จะมีความเป็นผู้ชายสูง ก็อาจจะมีความแตกต่างจากโรงเรียนแบบสหศึกษาที่มีทั้งชายและหญิง ซึ่งปัญหาไซเบอร์บูลลี่นับว่าพบเยอะมาก เพราะหากมองผิวเผินเด็กผู้ชายจะไม่คิดอะไร แต่เขาจะมีมุมที่ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกตัวเอง เช่น การบูลลี่เรื่องแฟน หน้าตา เป็นต้น และในโรงเรียนชายล้วนก็ไม่ได้มีเพียงแค่เพศชาย แต่ยังมีนักเรียนที่เป็นเพศทางเลือก LGBTQ จึงพบการบูลลีในเพศที่ 3 ด้วย ดังนั้นจึงมีการให้ความสำคัญกับปัญหาไซเบอร์บูลลี่อย่างมาก เพราะบางครั้งเด็กอาจจะไม่กล้าที่จะเข้าไปแก้ปัญด้วยตัวเอง แต่อาจจะเป็นการหลบปัญหา อย่าง การไม่มาโรงเรียน ปรึกษาคนอื่นที่ไม่สนิท หรือโรงเรียนอาจจะมีการเรียกปรับความเข้าใจทั้งตัวเด็กและผู้ปกครอง ซึ่งการเข้าสัมนาในครั้งนี้สิ่งสำคัญคือ ครูที่ต้องตระหนักรู้ว่านี่คือปัญหาของไซเบอร์บูลลี่ การสื่อสารกับเด็กก็จะเข้าใจและง่าย ในการสร้างความไว้วางใจให้เด็ก พร้อมที่จะเป็นที่พึงให้เขาได้ 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เขื่อน ภัทรดนัย' ไถผมตัวเอง เพื่อเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

เขื่อน ภัทรดนัย ได้ออกมาเผยความในใจผ่าน คลื่นคูลฟาเรนไฮต์ ถึงความหมายของการไถผมของตัวเอง ว่ามันเปรียบเหมือนการ Set Zero ให้ตัวเองจากความกลัวการร้องเพลงคนเดียว เพราะถูกไซเบอร์บูลลี่ในอดีตเรื่องการเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งถือเป็นการทลายความอ่อนแอและอ่อนไหวที่เคยเก็บซ่อนไว้ ให้กลับมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

สสส. ห่วงคนไทยเสี่ยงฆ่าตัวตายปี 65 พุ่ง เหตุ เครียดจัด! จัดกิจกรรม “ThaiHealth Watch 2022 The Series : เรื่องใจเรื่องใหญ่” แนะวิธีจัดการความเครียด สังเกตตัวเอง-ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ร่วม จุฬาฯ พัฒนานวัตกรรมปรึกษาสุขภาพจิตออนไลน์ ผ่านเพจ “Here to Heal” เข้าถึงง่าย

นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพจิตเป็น 1