ปัจจุบันแนวปะการังเป็นระบบนิเวศทางทะเลที่ถูกคุกคามมากที่สุด โดนตั้งแต่มลพิษ การทําประมงเกินขนาด ไปจนถึงการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ( CO2) สู่ชั้นบรรยากาศ จนทําให้มหาสมุทรมีอุณหภูมิสูงขึ้น เกิดผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ยิ่งโลกร้อนขึ้น ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงปะการังสูญพันธ์
จากข้อมูลสหประชาชาติ (UN) ที่เผยแพร่แสดงให้เห็นว่า 0.5 องศาที่ต่างกัน ในอีก 77 ปีข้างหน้า น้ำแข็งละลาย น้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นอีก 1 เมตร เมื่อเทียบกับ 1.5 องศา จะเกิดน้ำท่วมทั้งกรุงเทพฯ และที่ราบลุ่มชายฝั่งต่างๆ ปะการังตายเพราะฟอกขาว 99% แทนที่จะเป็น 70% สิ่งที่ชีวิตที่อาศัยแนวปะการังหายไป ส่วนฤดูร้อนไร้น้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติก ขั้วโลกเนือ จะเกิดทุก 10 ปี แทนที่จะเป็นทุกๆ 100 ปี สื่อตัวเลข 0.5 องศามีความหมายต่อสมดุลทะเล
ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวมักจะพบในช่วงเดือนเมษายน – เดือนมิถุนายน ช่วงฤดูร้อนของทุกปี โดยในช่วงนี้อุณหภูมิน้ำทะเลจะสูงเกิน 30 องศาเซลเซียส ต่อเนื่องกันหลายวัน และมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของเหล่าปะการัง
อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น ส่งผลปะการังฟอกขาว
รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคําแหง ประธานอนุกรรมการจัดทำรายงานสถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทย กล่าวว่า จากรายงานข้อมูลของ NASA จากดาวเทียม Sentinel-6 Michael Freilich พบคลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นในทะเลและมหาสมุทรกําลังก่อตัวและเคลื่อนผ่านมหาสมุทรแปซิฟิกจากตะวันออกไปตะวันตก คลื่นนี้มีความกว้างหลายร้อยกิโลเมตร ปรากฏการณ์นี้เป็นสัญญาณของเอลนีโญที่จะทําให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและอุณหภูมิเฉลี่ยของมหาสมุทรร้อนกว่าปกติ ซึ่งมีโอกาส 90% ที่จะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญในปีนี้ และคาดว่า โอกาสเป็นเอลนีโญระดับปานกลางมีอยู่ 80% และระดับรุนแรงประมาณ 55% โดยจะทําให้อุณหภูมิมหาสมุทรสูงขึ้นอีก 1.5 องศาเซลเซียส
จากบทเรียนในอดีต ปะการังฟอกขาวรุนแรงที่สุด ปี 2541 ผลจากอุณหภูมิน้ำทะเลร้อนขึ้น ความเสียหายเกิดในพื้นที่กว้าง พบปะการังฟอกขาว 80% และตาย 90% ปี 2553 เป็นอีกครั้งที่ไทยเผชิญปะการังฟอกขาวรุนแรง ส่วนภาพรวมแนวปะการังไทยขณะนี้อยู่ในภาวะคงที่และฟื้นฟูขึ้นมาตามลำดับ มีบางพื้นที่ถูกรบกวนจากกิจกรรมท่องเที่ยว
ปะการังฟอกขาว สัญญาณเตือนปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง
สถานการณ์ปะการังฟอกขาวในปัจจุบันของประเทศไทย รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ กล่าวว่า ช่วงฤดูร้อนของทุกปี เป็นช่วงที่อุณหภูมิน้ำทะเลจะสูงเกิน 30 องศาเซลเซียส ต่อเนื่องกันหลายวัน และมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของเหล่าปะการัง จากรายงานของกรมอุทยานแห่งชาติฯ อ่าวไทย อุณหภูมิน้ำทะเลอยู่ในช่วง 31-33 องศาเซลเซียส พบปะการังเริ่มมีสีซีดจาง ร้อยละ 5-10 ยกเว้นเกาะช้างพบปะการังฟอกขาวในบางพื้นที่ร้อยละ 20 ส่วนทะเลอันดามัน อุณหภูมิอยู่ในช่วง 31-32 องศาเซลเซียส พบปะการังเริ่มมีสีซีดจาง ร้อยละ 5-20 เห็นชัดที่หมู่เกาะสุรินทร์
แล้วยังมีจากรายงานอื่นๆ จ.ภูเก็ต ตรัง สงขลา ชุมพร ประจวบฯ ระยอง และชลบุรี พบปะการังน้ำตื้นมีสีจางลงในบางพื้นที่ประมาณ 5-30% และพบปะการังฟอกขาวประมาณ 5-10% ในพื้นที่ จ.ระยอง
“ จากสถิติเห็นแนวโน้มอุณหภูมิน้ำทะเลสูงเกิน 31 องศาเซลเซียส จะเกิดต่อเนื่องยาวนานขึ้น ภายใน 5-10 ปี ข้างหน้า อาจจะต่อเนื่องเป็นเดือน ซึ่งอุณหภูมิน้ำทะเลไม่ควรสูงเกิน 30 องศาเซลเซียส เพราะมีผลต่อการดำรงชีวิตของปะการัง ยิ่งอุณหภูมิสูงผิดปกติต่อเนื่องหลายวัน จะทำให้ปะการังมีสีซีดจาง การเติบโตของปะการังผิดปกติ สร้างเซลล์สืบพันธุ์ได้น้อยลง ไม่ตาย แต่ไม่โต ไม่ออกลูกออกหลาน เป็นผลกระทบทางอ้อม แต่บ้านเราดูแค่ฟอกขาวมั้ย ตายมั้ย ไม่ได้วิจัยเชิงลึกติดตามทางวิชาการถึงการสืบพันธุ์ของเหล่าปะการัง ประชากรลดลงมั้ย ยังไม่พูดถึงรายงานหญ้าทะเล ตายไป และไม่ออกดอก“ รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ระบุ
นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลเน้นว่า ในเวทีโลกไม่ต้องการให้อุณหภูมิขึ้น 1.5 องศา เพราะปะการังจะหายไปจากโลก วงเจรจา IPCC ปะการังเสียงดัง เพราะกระทบรุนแรง ถือเป็นกรณีศึกษาใหญ่สู่การกลับมาทบทวนและกำหนดลดอุณหภูมิโลก หากภาคธุรกิจยังไม่ลดการปลดปล่อยคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง ชั้นบรรยากาศโลกมีปัญหาขึ้นแน่นอน ปะการังฟอกขาว เป็นสัญญาณเตือนดังๆ อีกทั้งปะการังติดอันดับต้นๆ สิ่งมีชีวิตที่ได้รับการประเมินเสี่ยงสูญพันธุ์ แต่ด้วยอยู่ใต้ทะเล ทำให้คนมองข้ามความสำคัญ
แปลงอนุบาลในแนวปะการังบนพื้นที่นำร่อง จ.ชลบุรี
ความเสียหายของปะการังที่สะสมบวกกับหลากหลายปัจจัย ทำให้ปะการังหลายพื้นที่เสื่อมโทรม แม้จะมีแนวโน้มฟื้นตัว และมีซากปะการังอยู่ แต่การฟื้นฟูตามธรรมชาติใช้เวลา เป็นที่มาของโครงการฟื้นฟูปะการังของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรทางทะเล หนึ่งในนั้น คือ โครงการการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการฟื้นฟูปะการัง: เทคนิคการทําชิ้นส่วนปะการังขนาดเล็กการเชื่อมโคโลนีปะการัง และการรักษาความหลากหลายทางพันธุกรรมของประชากรปะการัง โดย รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน และคณะ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ม.รามคําแหง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
จุดเด่นของโครงการนี้ รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ หัวหน้าคณะดำเนินงานโครงการฯ บอกว่า เป็นการสืบพันธุ์ปะการังแบบไม่อาศัยเพศ ด้วยเทคนิคการทําชิ้นส่วนปะการังขนาดเล็ก (coral micro-fragmentation) และการเชื่อมโคโลนีปะการัง (coral colony fusion) เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เริ่มพัฒนาในต่างประเทศกับปะการังบางชนิด แต่ยังไม่มีการทดลองในไทย
การเชื่อมโคโลนีชิ้นส่วนปะการังแต่ละชนิดเทคโนโลยีใหม่
ที่สำคัญมีการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ปะการังที่มีความทนต่อความเครียดสูง ทนต่ออุณหภูมิและความเข้มของแสงจากปะการังหลายชนิด และรักษาความหลากหลายทางพันธุกรรมของปะการังในแปลงฟื้นฟูแนวปะการังให้ใกล้เคียงกับปะการังตามธรรมชาติ แก้จุดอ่อนที่มีข้อโจมตีวิธีไม่อาศัยเพศ ทำให้พันธุกรรมไม่หลากหลาย ถือเป็นเทคนิคและวิธีการฟื้นฟูแนวปะการังด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่เพิ่มประสิทธิภาพและความสําเร็จการฟื้นฟูแนวปะการัง นําไปปฏิบัติจริงในพื้นที่ได้ง่าย ทำได้ในพื้นที่ขนาดใหญ่และใช้งบประมาณต่ำ
แปลงอนุบาลในโรงเพาะเลี้ยงในโครงการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อฟื้นฟูปะการัง
ส่วนผลการศึกษาอัตราการรอดตายของชิ้นส่วนปะการังขนาดเล็กที่มีความทนต่ออุณหภูมิ ความเค็ม ความเข้มแสง ความโปร่งใส ความเป็นกรด-ด่าง ปริมาณออกซิเจนละลาย ปริมาณตะกอนแขวนลอย อัตราการตกตะกอน ใน โรงเพาะเลี้ยงและแปลงอนุบาลในแนวปะการังมีค่าสูงกว่าร้อยละ 80 สำหรับชิ้นส่วนปะการังขนาดเล็กในโรงเพาะเลี้ยงและแปลงอนุบาลในแนวปะการังสามารถเชื่อมกันเป็น โคโลนีขนาดใหญ่ได้ภายในระยะเวลา 9 เดือน
“ ตอนนี้มีการคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมสําหรับจัดทําแปลงอนุบาลในแนวปะการัง 3 พื้นที่นำร่อง ได้แก่ เกาะค้างคาว เกาะขามน้อย และเกาะล้าน จ.ชลบุรี ผลสำเร็จจะมีความสําคัญและเป็นเครื่องมือที่จะช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพโครงการฟื้นฟูปะการังที่ดําเนินการในไทย และเสริมสร้างความสมบูรณ์ของระบบนิเวศแนวปะการังให้สามารถรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และยังคงสภาพบทบาททางนิเวศวิทยาและนิเวศบริการอย่างยั่งยืน เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจสีน้ําเงิน และโมเดลเศรษฐกิจ BCG หน่วยงานที่สนใจสามารถนําเทคโนโลยีใหม่เพื่อการฟื้นฟูปะการังไปใช้ในโครงการฟื้นฟูแนวปะการัง เพิ่มพื้นที่แนวปะการังสมบูรณ์ของไทยได้ “ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลมั่นใจเป็นแนวทางฟื้นฟูปะการังเสื่อมโทรม เพื่อเป็นแนวปะการังที่สมบูรณ์ของสิ่งมีชีวิตและใช้ประโยชน์ด้านต่างๆมากมาย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
วิจัยเฝ้าระวัง รับมือ ก.ย.-ต.ค.เสี่ยงน้ำท่วมสูง
สถานการณ์อุทกภัยสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งประสบอุทกภัยหนักสุด ส่งผลกระทบกับประชาชนแล้วกว่า 2 ล้านคน ส่วนภาคอีสานเริ่มเจอน้ำท่วมในหลายพื้นที่ รวมถึงพื้นที่เสี่ยงภัยจังหวัดต่างๆ ในภาคกลางยังต้องเฝ้าระวัง ติดตามสภาพอากาศ
กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงมีพระราชดำรัสการแก้ปัญหาประเทศสำเร็จด้วยงานวิจัย
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ ไปเป็นประธานพิธีเปิดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567” หรือ Thailand Research Expo 2024 ซึ่ง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม เตือน ภาวะโลกเดือด เปิดประตูสู่นรก
ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า
ปะการังฟอกขาวระดับหายนะ วิกฤตทะเลเดือด
เมื่อโลกร้อนทะเลเดือด อุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อแนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลไทย ภาพแนวปะการังขาวโพลนที่เกิดขึ้นตามจุดต่างๆ ในทะเล
อุทยานแห่งชาติฯพีพี เร่งปิดจุดดำน้ำตื้น-ดำน้ำลึกบางจุด หลังพบปะการังฟอกขาว
นายยุทธพงค์ ดำศรีสุข หน.อช.หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี เปิดเผยว่า ตามข้อสั่งการ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนา