'คานส์'เส้นทางโรยกลีบกุหลาบ'หนังไทย'

เทศกาลหนังเมืองคานส์ เริ่มครั้งแรกเมื่อค.ศ.1939  อาจกล่าวได้ว่า ที่มาของงานเทศกาลหนังเมืองคานส์  เกิดขึ้นจากการต่อต้านลัทธินาซีของฮิตเลอร์ ผู้นำเยอรมันขณะนั้น  Philippe Erlanger  นักประวัติศาสตร์ศิลปะ ชาวฝรั่งเศส รับไม่ได้กับผลการตัดสินการประกวดภาพยนตร์ ในเทศกาลหนังเมืองเวนิสในปี 1938 ที่ทางคณะกรรมการผู้จัดงาน ที่เป็นประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นประเทศอักษะกับเยอรมัน ยกให้หนังเยอรมัน ได้รับรางวัลทั้งที่หนังอเมริกัน มีแนวโน้มควรได้รับรางวัลมากกว่า  ฟิลิปส์ เป็นตัวตั้งตัวตี ก่อตั้งเทศกาลหนังเมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศสขึ้น และเริ่มเทศกาลในวันที่   20 กันยายน ปี1939 ซึ่งเป็นปีที่สงคราม โลกครั้งที่2 ปะทุขึ้น โดยการประกาศสงครามของเยอรมัน จากจุดกำเนิดเทศกาลหนังที่ควรปราศจากการเมือง  จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้”การเมืองระดับโลก”ที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึก

ปัจจุบันเทศกาลหนังเมืองคานส์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นเทศกาลหนังที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก ทั้งในแง่ของการได้รับความสนใจจากคนทั่วโลก การแจกรางวัลหนังที่เข้าประกวด ที่ได้รับการยอมรับในคุณภาพการตัดสิน  ที่สำคัญยังมีสถานะเป็นเทศกาลหนัง ที่ถือว่าเป็นตลาดซื้อ-ขายหนังที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วยเช่นกัน

เมืองคานส์


ประเทศไทยได้เข้าร่วมเทศกาลหนังเมืองคานส์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2547  หรือ 1ปีหลังจากหนังเรื่ององค์บากเข้าฉาย และประสบความสำเร็จโด่งดังไปทั่วเอเชีย และออกฉายไปทั่วโลกในเวลาต่อมา โดย ลุก แบซง ผู้กำกับชื่อดังชาวฝรั่งเศส  ได้ซื้อลิขสิทธิ์ฉายในยุโรปและประเทศอื่นๆ  ด้วยสไตล์แอ็คชั่นของหนัง ที่เล่นจริงเจ็บจริง แตกต่างจากหนังแอคชั่นของเฉินหลง ที่มีคิวบู๊เดาทางได้ และคนเริ่มคุ้นจนออกจะเบื่อๆ ได้จุดประกายให้ต่างประเทศหันมาสนใจหนังไทยเป็นครั้งแรก  

หลังจากองค์บาก ก็มีหนังไทยเรื่องอื่นๆ ที่โด่งดังตามมาอีกหลายเรื่องในตลาดต่างประเทศ  เช่น ชัตเตอร์กดติดวิญญาณ หนังผีที่ฮอลลีวู้ดเอาไปรีเมคทำใหม่ ,จอมขมังเวทย์ หนังแนวไสยศาสตร์ ที่ให้บรรยากาศลึกลับพิศดารแตกต่างไปจากหนังแนวนี้ของฝั่งตะวันตก    หรือเรื่องฉลาดเกมโกง ร่างทรง รวมทั้ง ผลงานของเจ้ย  อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล  ที่คว้ารางวัลใหญ่สูงสุด ปาล์มทองคำ หรือ Palme d’Or จากหนัง ลุงบุญมี ระลึกชาติ  ในปี 2010 จากก่อนหน้านี้เขาก็เคยได้รับรางวัล Un Certain Regard มาก่อนแล้วในปี 2002 จากเรื่อง สุดเสน่หา

กล่าวได้ว่าว่าเส้นทางอุตสาหกรรมหนังในประเทศไทย หลังจากเปิดตัวในเทศกาลหนังเมืองคานส์เมื่อปี 2547 เป็นต้นมา มีวิวัฒนาการเติบโตมาตลอด   ภาครัฐให้การสนับสนุนอย่างชัดเจน ซึ่งสร้างความเชื่อมั่นให้ต่างชาติ โดยมีการโรดโชว์เชิญชวนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนถ่ายทำหนังในประเทศไทย  เพราะไทยมีความพร้อมในเรื่องของสตูดิโอ อุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือ รวมทั้งทักษะความเชี่ยวชาญของคนทำงานในอุตสาหกรรมหนัง จนประเทศไทยเป็นที่รู้จักในวงการอุตสาหกรรมหนังระดับนานาชาติเป็นอย่างดี โดยที่ขณะนั้น ยังไม่มีคำว่า “Soft Power”เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายเหมือนเวลานี้  


แม้ในช่วงท่ามกลางการเกิดวิกฤตการระบาดของโควิด 19 เมื่อปี 2564 แต่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ในไทยยังขับเคลื่อน มีมูลค่า 34,075 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 11% ของส่วนแบ่งทางการตลาดในอุตสาหกรรมคอนเทนต์ในไทย ที่มีมูลค่าสูงถึง312,827 ล้านบาท  ในแง่สถิติถ่ายทำภาพยนตร์ของต่างประเทศในทย ปี2565 มีจำนวน 348 เรื่อง มูลค่า6,400 ล้านยาท และในปี2566 (มกราคม-เมษายน) มีจำนวน 171 เรื่อง คิดเป็นมูลค่า 1,299  ล้านบาท

พาวิเลียนของไทย

ในเทศกาลหนังเมืองคานส์ครั้งล่าสุด ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่  76  มีขึ้นระหว่างวันที่ 16-28 พฤษภาคม 2566 ไทยเป็นหนึ่งใน 60 ประเทศ ที่ได้เปิดพาวิเลียนใน อาณาบริเวณพื้นที่จัดงานเทศกาล  นอกเหนือจาก การเปิดบูธโซนพื้นที่หนังไทยภายในตัวอาคาร ซึ่งปีนี้มี 12บริษัท ผู้ผลิตหนังของไทย นำผลงานมาโชว์พร้อมกับตั้งโต๊ะเปิดการเจรจาทางธุรกิจ ซึ่งทั้งพาวิเลียนและบูธหนังไทย เป็นการผสานความร่วมมือของ 3กระทรวง คือ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

 12 บริษัทที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้ามาเปิดบูธหนังไทย ได้แก่  Benetone Films, BrandThink, Film Frame Productions, GDH 559, Halo Productions, Kantana Motion Pictures, M Pictures, Right Beyond, Sahamongkolfilm International Yggdrazil Group เนรมิตรหนังฟิล์ม และเวลา ฟิล์ม

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วธ.ถ่ายรูปร่วมกับบริษัทผู้ผลิตหนังของไทยบริวเณพื้นที่บูธหนังไทยเทศกาลหนังเมืองคานส์ครั้งที่ 76

นอกจากนี้ ทางกระทรวงวัฒนธรรม ยังเลือกโปรเจ็กหนัง 2เรื่อง ได้แก่ ทองหล่อคิดส์ โดย อาทิตย์ อัสสรัตน์ และ เจ้าหงิญ โดย เอมอัยย์ พลพิทักษ์  มาตั้งโต๊ะเปิดรับการร่วมลงทุนจากผู้สนใจต่างชาติ หรือที่เรียกว่าเป็นกิจกรรม Thai Film Pitching Project 2023

การเปิดพาวิลเลียนของไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่งมีนายนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.)นางยุพา ทวีวัฒนะเกียรติบวร ปลัดวธ. และนายอารัญ  บุญชัย   ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ร่วมเปิดงาน เป็นไปอย่างคึกคัก คับคั่งไปด้วยชาวต่างชาติ   โดย รมว.วธ.  ตอกย้ำว่าหนัง เป็นหนึ่งใน Soft Power  ใน  5 F ของไทย ได้แก่ แฟชั่น (Fashion)มวยไทย( Fighting )อาหาร( Food)   หนัง(Films )และงานประเพณี(Festival) ที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญส่งเสริม เพราะก่อนช่วงโควิด 19 สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้หลายหมื่นล้านบาท และในปี 2565 มีบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนถ่ายทำหนังในไทยมูลค่าประมาณ 6,400 ล้านบาท    พร้อมกับยืนยันว่าอุตสาหกรรมหนังของไทย ถือได้ว่าพัฒนามาถึงขึ้นที่เรียกว่าเป็น”ฮับ”อุตสาหกรรมหนังแห่งหนึ่งของโลกก็ว่าได้

นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดวธ.พูดคุยกับคายหนังที่มาโรดโขว์

รวมว.วธ.ยังเน้นย้ำว่า ในงานเทศกาลหนังเมืองคานส์ปีนี้ ถือว่าเป็นการ”เปิดตัวครั้งแรก”ของมาตรการส่งเสริมสร้างแรงจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนถ่ายทำหนังในไทย โดยปรับเพดานวงเงิน Cash Rebate  หรือการคืนเงินสดจากเงินลงทุน   ซึ่งถือว่าเป็นมาตรการที่เป็นสิทธิประโยชน์( Incentive )ให้กับบริษัทต่างประเทศจาก 75 ล้านบาท เป็น 150 ล้านบาท  นอกจากนี้รัฐบาลไทยยังปรับมาตรการ Cash Rebate เพิ่มเป็น 30%  เพื่อสร้างแรงจูงใจต่างประเทศที่หนักหน่วงขึ้นกว่าเดิม  ภายใต้เงื่อนไขเบื้องต้น ที่ต้องส่งเสริมในเชิงบวกต่อประเทศไทยทางใดทางหนึ่ง

สอดคล้องกับ กิจกรรมส่งเสริมภาพลักษณ์ธุรกิจบันเทิงไทย  เป็นการโชว์ศักยภาพอุตสาหกรรมหนังของไทย ผ่านกิจกรรมงาน Thai Night ที่มีขึ้นทุกปี และปีนี้กำหนดหัวข้อว่า “Thailand Transformed” ซึ่งเป็นการนำเสนอก้าวใหม่ในทุกมิติที่เป็นจุดแข็งของอุตสาหกรรมหนังของไทย ให้ต่างชาติรับทราบ อาทิ บุคลากรที่มีความสามารถเฉพาะทาง สถานที่ถ่ายทำที่มีความสวยงาม และเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย ทั้งในขั้นตอนของ  Production  และ Post-Production

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วธ. นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดวธ.และนายอารัญ บุญชัย ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาฯ ในพิธีการเปิดพาวิเลียนไทยอย่างเป็นทางการ

ผลสรุปภาพรวม”การโรดโชว์”อุตสาหกรรมหนังของไทย ในงานเทศกาลหนังเมืองคานส์ ตั้งแต่วันที่ 16-27 พ.ค. 66 มีผู้ผลิตภาพยนตร์ต่างชาติและผู้สนใจเข้าสอบถามข้อมูลในคูหาประเทศไทยมากกว่า 600 ราย โดยสนใจสอบถามข้อมูล เรียงลำดับ ดังนี้ 1 ข้อมูลด้านภาพยนตร์และวีดิทัศน์ของไทย 2 การร่วมลงทุนด้านภาพยนตร์ Co – production3 Film Festival in thailand และ 4 film fund  โดยส่วนใหญ่เป็นการสอบถามว่าประเทศไทยมีทุนให้สร้างหนังต่างชาติหรือไม่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องCash Rebate    

นอกจากนี้  ยังมีบริษัทหนังที่มีความสนใจเข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย จำนวน 21 ราย คาดว่าจะนำเงินลงทุนกว่า 3,800 ล้านบาท  แบ่งเป็น จากสหรัฐอเมริกาและแคนาดา จำนวน 9 ราย  จากทวีปยุโรป เช่น ฝรั่งเศส กรีซ สวิส เนเธอร์แลนด์ จำนวน 9 ราย จากอินเดีย 2 ราย และจากออสเตรเลีย 1 ราย

ทางด้าน Thai Film Pitching Project 2023 ในโปรเจ็กหนัง 2 เรื่อง ทองหล่อคิดส์ และ เจ้าหงิญ  มี 43 บริษัทต่างชาติ ที่ให้ความสนใจเข้าร่วมลงทุน ในมูลค่าประมาณกว่า 100 ล้านบาท  

การเดินพรมแดงของผู้บริหารวธ.

ในด้านการจับคู่เจรจาการค้า ของบริษัทผู้ผลิตหนังไทย  10 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีบางรายที่ได้ผลิตหนังโดยตรงแต่เป็นส่วนของPost Production  มีผลสรุป  ดังนี้ ภาพรวมมีการเจรจาทั้งหมด 271 ครั้ง   มูลค่า 1,986 .495 ล้านบาท หรือ 56.757 ล้านเหรียญ   โดย Highlight ที่ได้รับความสนใจ ได้แก่ การร่วมผลิตภาพยนตร์ (Co-production) การเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในไทย และการขายลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ เป็นต้น

พรมแดงที่ดาวดังจากทั่วโลกจะมาเดินเฉิดฉาย ถือว่าเป็นไฮไลท์ทุกปีของเทศกาลหนังเมืองคานส์

จะเห็นได้ว่าภาพรวม การเข้าร่วมงานเทศกาลหนังเมืองคานส์ของไทยในปี2566 นับว่าประสบความสำเร็จพอสมควร สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เห็นเป็นรูปธรรมแล้วจากงานนี้  ไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท  ที่สำคัญในปี2566 นี้ ยังมีทุนใหญ่จากค่ายหนังฮอลลีวู้ด  ที่พร้อมจะเข้ามาลงทุนถ่ายทำหนังในประเทศไทย ในมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นทุนท่่สูงมาก เพราะเป็นการลงทุนเจ้าเดียว ผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากโปรเจ็กใหญ่นี้ นอกจากเม็ดเงินลงทุนที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพแล้ว  เชื่อว่าไทยยังได้ชื่อ ได้เครดิต จากหนังฟอร์มยักษ์ของฮอลลีวู้ด  ช่วยกระดับอุตสาหกรรมหนังของเราให้ยืนอยู่ในแถวหน้า ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของโลกได้อีกทาง.

 -‘ขายได้’ แต่ยังขาด’ มือเขียนบท’

กิจกรรมบูธหนังไทย ในเทศกาลหนังเมืองคานส์ปี2566 ซึ่งมี  12 บริษัทที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้ามาเปิดบูธ   ได้แก่  Benetone Films, BrandThink ,Film Frame Productions, GDH 559, Halo Productions, Kantana Motion Pictures, M Pictures, Right Beyond, Sahamongkol film International ,Yggdrazil Group เนรมิตรหนังฟิล์ม และเวลา ฟิล์ม โดยให้ความร่วมมือในหลากหลายกิจกรรม อาทิ กิจกรรมตลาดซื้อขายภาพยนตร์ และนิทรรศการคูหาประเทศไทย (Thailand Pavilion) ถือว่ามีความเคลื่อนไหวไม่เงียบเหงา

จากการสอบถามแต่ละราย  โดยเฉพาะค่ายหนังที่ผลิตหนังออกฉายเอง ต่างบอกว่าเป็นเสียงเดียวกันว่า”ขายได้” โดยเฉพาะตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกันถือว่าขายดี มีลูกค้ารายเก่าและรายใหม่ เดินเข้ามาเจรขาซื้อขาย แม้บางเรื่องจะยังเป็นแค่บทภาพยนตร์ ยังไม่ได้ลงมือถ่ายทำ เช่น ค่ายใหญ่สหมงคลฟิล์ม ที่มีหนังวัยรุ่นเรื่อง Mando ถ่ายทำเสร็จแล้ว จะออกฉายเมืองไทยในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า และเรื่อง 14  Again ที่ยังเป็นแค่บทหนัง ก็ล้วนแต่ขายได้  

รวมทั้งเรื่อง ManSuang  หนังย้อนยุคอิงประวัติศาสตร์สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ค่ายBe On  Cloud นำแสดงโดยอาโป – ณัฐวิญญ์ วัฒนกิติพัฒน์ ที่โด่งดังมากในตลาดเอเชียมาก  หรือ Halo Productions ที่ทำหนังวายซีรี่ย์เรื่อง ฤดูหลงป่า ก็ล้วนแต่ขายได้ทั้งสิ้น

หรือBenetone Films บริษ้ทProduction และ Post- Production สัญชาติไทย ที่ทำงานด้านนี้มา2ทศวรรษ เป็นที่รู้จักดีในผู้ผลิตหนังต่างประเทศ มีหนังที่เป็นผลงานโปรดักชั่นส์ของบริษ้ทนี้มากมาย บางเรื่องเข้าฉายในไทย บางเรื่องฉายแต่ในต่างประเทศ

ที่จะไม่พูดถึงคงไม่ได้ คือ หนังนอกกระแส 2 เรื่อง ทั้ง เจ้าหงิญ และเด็กชายทองหล่อ ที่หาทุนสร้างจากผู้ลงทุนต่างประเทศ โดยเรื่องเจ้าหงิญ  มีเอมอัยย์ พลพิทักษ์ คนรุ่นใหม่ เป็น มือเขียนบท และผู้กำกับ เธอบอกว่าต้องการทุนสร้างประมาณ 20 ล้านบาท แม้ตอนนี้จะได้ทุนบางส่วนจากสิงคโปร์ แต่ยังไม่ครอบคลุมงบฯที่ใช้ทั้งหมด และเธอยังอยากได้Production ที่เป็นเกาหลี หรือญี่ปุ่น

“เจ้าหงิญ เป็นเรื่องแนว   coming age  เป็นเรื่องเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง แนวน่ารัก อบอุ่น มีความเป็นสากลแนวดิสนีย์ ผสมผสานความเป็นไทย  ซึ่งคนทุกวัยสามารถดูได้ ” เอมอัยย์กล่าว

ส่วนเรื่อง” เด็กชายทองหล่อ” โปรเจ็กของ อาทิตย์ อัสสรัตน์ ผู้กำกับและเขียนบท  เป็นหนังแนวครอบครัว พ่อลูก เมื่อพ่อ ที่เป็นคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว มีแฟนใหม่ จึงทำให้มีปัญหาให้ต้องขบคิด ปรับความสัมพันธ์ ระหว่างพ่อกับลูก อาทิตย์ เคยได้รับรางวัล จากงานเทศกาลหนังปูซานมาแล้วจากเรื่อง “วันเดอร์ฟูลทาวน์”  อาทิตย์บอกว่า ต้องการทุนสร้างจากต่างประเทศ ซึ่งมีหลายรายที่เข้ามาพูดคุย แต่ถึงสุดท้าย อาจจะหาทุนไม่เพียงพอ แต่อาทิตย์ยืนยันว่า จะยังเดินหน้าสร้างหนังเรื่องนี้ต่อไป

ในคำถามเดียวกัน กับผู้สร้างหนังนอกกระแสทั้งสองเรื่องว่าทำไม ไม่หาทุนจากค่ายหนังในประเทศ ทั้งสองคนบอกคล้ายๆกันว่า หนังของเขาไม่ใช่หนังตลาด เป็นหนังนอกกระแส   นายทุนอาจไม่สนใจ หรืออาจต้องการให้ปรับเปลี่ยนบท  ซึ่งความตั้งใจของเขา ต้องการรักษาแนวทางของเรื่อง

จากการพูดคุยกับค่ายหนังที่มาเปิดบูธขายหนังหลายราย ว่าต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐมากกว่านี้หรือไม่ และสิ่งที่ต้องการสนับสนุนนั้นคืออะไร เกือบทั้งหมด บอกว่า ต้องการให้ถาครัฐสนับสนุนเรื่องเงินลงทุน  

มีเพียงรายเดียว ผู้บริหารจากค่าย  Halo Productions เจี๊ยบ- นภัสริญญ์ พรหมพิลา ผู้กำกับ หนังค่ายนี้ ที่ให้ความเห็นแตกต่างว่า สิ่งที่หนังไทยขาด ไม่ใช่เงินทุน แต่เป็น”คนเขียนบท”มืออาชีพ  จึงอยากให้รัฐส่งเสริม ให้ทุนเรียนทางด้านนี้ เพราะต้องยอมรับว่าหัวใจหลัก ที่ทำให้หนังมีคุณภาพ อยู่ที่”บทหนัง “ถ้าบทดี ยังไงคนก็อยากดู ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือต่างประเทศ

“ถ้าเราพูดว่าอยากให้ซอฟต์เพาเวอร์ ของเรา เป็นแบบเกาหลี  เราต้องมีคนเขียนบทที่ดีก่อน ในบ้านเรา ต้องยอมรับว่า หาคนเขียนบทที่เป็นมืออาชีพจริงๆ ยากมาก”ผู้กำกับหญิงกล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปลัด วธ. ย้ำ จนท.พิธีการศพฝึกฝนเพิ่มทักษะเพื่อประสิทธิภาพงาน

3 ก.ย.2567 - นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจกลุ่มพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต และตรวจเยี่ยมห้องประสานงานขอพระราชทานเพลิงสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต โดย

เที่ยว'บ้านฟ้าหยาด' ยลวัฒนธรรมครบรส

มนต์เสน่ห์ของวิถีวัฒนธรรมและมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ชาวบ้านฟ้าหยาด ต.ฟ้าหยาด อ.มหาชนะชัย  จ.ยโสธร พร้อมใจกันอนุรักษ์ สืบสาน รักษา ต่อยอด โดยเฉพาะประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก ประเพณีหนึ่งเดียวในโลกมีอัตลักษณ์คู่เมืองยโสธร  ที่คนในชุมชนนำข้าวเปลือกมาคั่วใ

วิถี'ปกาเกอะญอ' วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม

ชวนเดินทางไปวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เพื่อพบกับชุมชนชาวปกาเกอะญอ หรือที่เรียกว่า “กะเหรี่ยง”  ที่ยังคงใช้ชีวิตตามวิถีปกาเกอะญอ

ตั้งศูนย์สืบสานอุปรากรจีน สานต่องิ้วศิลปะล้ำค่า

เปิดการแสดงงิ้วถ่ายทอดศิลปะล้ำค่า เชื่อมไมตรีประเทศไทยและประเทศจีนอย่างยิ่งใหญ่ ในโอกาสครบรอบ 42 ปี งิ้วไทย-จีน    การสืบสานงิ้วศิลปะโบราณครั้งนี้เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มูลนิธิส่งเสริมภาษาและวัฒนธรรม สมาคมอุปรากรศิลปะไทย-จีนแห่งประเทศไทย

วธ.ลุยตลาดเมืองคานส์ ชวนลงทุนถ่ายทำหนังในประเทศ

เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ คานส์ ฟิล์ม เฟสติวัล 2024 ที่เมืองคานส์ สาธารณรัฐฝรั่งเศส ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-25 พฤษภาคม 2567 มีนานาประเทศร่วมเทศกาลเพื่อแสดงศักยภาพด้านอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของประเทศ สำหรับประเทศไทย นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม