ยูนิเวอร์ซัม (Universum) บริษัทผู้นำระดับโลกด้านการวิจัย ให้คำปรึกษา และการสื่อสารแบรนด์ให้แก่องค์กร เผยข้อมูลตลาดแรงงานคนรุ่นใหม่ของไทยล่าสุด ผ่านรายงานผลสำรวจระดับโลก Universum Talent Research ประจำปี 2566 ที่ได้สำรวจความคิดเห็นและความคาดหวังของคนรุ่นใหม่ต่อการทำงานในอนาคต พบว่า นักศึกษาสาขาธุรกิจอยากทำงานอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งเป็นผลจากการที่ผู้คนสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ตามปกติอีกครั้งตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ขณะที่อุตสาหกรรมการผลิตเป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งสำหรับนักศึกษาสาขาวิศวกรรม อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสังเกตุคือ คนไทยรุ่นใหม่สนใจอยากทำงานในอุตสาหกรรมพลังงานเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มขึ้นถึง 19% ในกลุ่มนักศึกษาสาขาวิศวกรรม และเพิ่มขึ้น 3.9% ในกลุ่มนักศึกษาสาขาธุรกิจ หลังประเทศไทยเดินหน้าพัฒนาความยั่งยืนในทุกภาคส่วน
“การที่อุตสาหกรรมด้านพลังงานได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในหมู่คนไทยรุ่นใหม่ สอดคล้องกับเทรนด์ความยั่งยืนที่ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างให้ความสำคัญมากขึ้นในปีนี้ โดยเฉพาะด้านการผลิตและการหันมาใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียน สะท้อนให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่ทุกวันนี้ใส่ใจเรื่องความยั่งยืน และต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างอนาคตที่ดีกับสิ่งแวดล้อมและมีความยั่งยืนมากขึ้น ดังนั้นองค์กรที่สามารถสื่อสารนโยบายและเป้าหมายธุรกิจในด้านความยั่งยืนได้อย่างชัดเจน จะมีโอกาสดึงดูดคนเก่งรุ่นใหม่ให้มาร่วมงานได้มากกว่า” นายไมค์ พาร์สันส์ (Mike Parsons) กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของยูนิเวอร์ซัม กล่าว
โดย 3 อันดับอุตสาหกรรมยอดนิยมที่นักศึกษาสาขาธุรกิจสนใจมากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ (33%) วิจัยการตลาด (28%) และโฆษณา (27%) ขณะที่อุตสาหกรรมการผลิต (35%) ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี (30%) และการปรึกษาด้านไอทีและวิศวกรรม (28%) คือ 3 อุตสาหกรรมที่นักศึกษาสาขาวิศวกรรมสนใจมากที่สุดในปีนี้
ด้านอันดับบริษัทที่นักศึกษาสาขาธุรกิจอยากทำงานด้วยมากที่สุด กูเกิล (Google) ยังคงรั้งอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (GMM Grammy) ยูนิโคล่ (UNIQLO) และไลน์ คอร์ปอเรชั่น (LINE Corporation) ในขณะเดียวกันผลสำรวจยังเผยว่า นักศึกษาสาขาวิศวกรรมอยากทำงานกับปตท. (PTT) มากที่สุด ตามด้วยกูเกิล (Google) ปูนซิเมนต์ไทย (Siam Cement Group: SCG) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
รายงานผลสำรวจปีนี้ ยูนิเวอร์ซัมยังได้จัดแบ่งกลุ่มโปรไฟล์คนรุ่นใหม่ตามความต้องการและความสนใจที่ต่างกันเมื่อต้องเข้าทำงานในองค์กร โดยพบว่า คนไทยส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมตอบแบบสำรวจจัดอยู่ในกลุ่มมองหาไลฟ์สไตล์ที่สมดุล (Balance-Seekers) มากที่สุด (34%) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสมดุลในการใช้ชีวิตและการทำงาน (work-life balance) พวกเขามองหาองค์กรที่มีความมั่นคงและมีบรรยากาศการทำงานที่ดี ให้เงินเดือนที่ไม่น้อยกว่าบริษัทอื่น และมีความยืดหยุ่นที่พวกเขาสามารถบาลานซ์ภาระความรับผิดชอบเรื่องงานและความสนใจด้านอื่น ๆ นอกจากงานได้อย่างเหมาะสม
รองลงมาได้แก่กลุ่มไล่ตามเป้าหมายความท้าทาย (Go-Getters) (24%) ที่พร้อมเปิดรับโอกาสความท้าทายใหม่ ๆ และความรับผิดชอบที่มากขึ้นเพื่อการได้รับการเล็งเห็นถึงศักยภาพความสามารถและการเติบโตในองค์กรแบบก้าวกระโดด ตามมาด้วยกลุ่มเดินทางเพื่อเติมเต็มประสบการณ์การทำงาน (Globe-Trotters) (15%) ที่มองหาโอกาสในการทำงานในองค์กรระดับสากลที่สามารถเดินทางไปต่างประเทศและได้ติดต่อสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานและลูกค้าทั่วโลก และกลุ่มสร้างสรรค์เปลี่ยนแปลงสังคม (Change-Makers) (14%) ที่อยากร่วมงานกับองค์กรที่ทำงานเพื่อสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ไม่ว่าจะเป็นบริการเพื่อสาธารณะหรือองค์กรเพื่อสังคมก็ตาม โดยให้คุณค่ากับเรื่องความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการมีส่วนร่วมในองค์กร (diversity, equity, and inclusion: DE&I) และรู้สึกมีพลังในการทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม
“ปัจจัยด้านผลตอบแทนและวัฒนธรรมองค์กรที่คนไทยรุ่นใหม่ให้ความสำคัญ แม้คนไทยรุ่นใหม่ส่วนใหญ่จะชอบการทำงานแบบระยะไกลหรือ remote working แต่พวกเขาก็รู้สึกกังวลว่าจะต้องทำงานเกินเวลา (48%) และไม่สามารถรักษาสมดุลชีวิตกับการทำงานที่ต้องการได้” พาร์สันส์ กล่าว
ขณะที่ปัจจัยอย่าง “เงินเดือนที่ไม่น้อยกว่าบริษัทอื่น” และ “ผลตอบแทนอื่น ๆ” ยังคงเป็นสองปัจจัยสำคัญที่นักศึกษาไทยให้ความสำคัญมากที่สุด แต่พวกเขาก็มีความต้องการในคุณค่าอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้นด้วย ได้แก่ การร่วมงานกับองค์กรที่มีบรรยากาศการทำงานที่ดี มีความมั่นคงด้านอาชีพการงาน มีความยืดหยุ่นในการทำงาน สามารถรักษาสมดุลชีวิตกับการงาน เปิดโอกาสให้พนักงานแสดงศักยภาพความสามารถได้เต็มที่ มีความเคารพต่อพนักงานอย่างเท่าเทียม และมองเห็นโอกาสการเติบโตในหน้าที่การงานที่ชัดเจน
” ตลาดงานปัจจุบันมีการแข่งขันกันสูงมากขึ้น องค์กรจึงต้องให้ความสำคัญกับปัจจัยคุณค่าเหล่านี้เพื่อดึงดูดคนเก่งรุ่นใหม่ นอกจากการให้เงินเดือนและผลตอบแทนที่ไม่น้อยกว่าบริษัทอื่นแล้ว องค์กรควรสร้างวัฒนธรรมและบรรยากาศการทำงานที่สนับสนุนและส่งเสริมพนักงาน ให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน มีความยืดหยุ่น ส่งเสริมให้ทุกคนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร พร้อมมอบโอกาสการเติบโตในเส้นทางอาชีพ เมื่อองค์กรกำหนดนโยบายและผลักดันคุณค่าองค์กรเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะสามารถดึงดูดคนเก่งรุ่นใหม่ให้มาร่วมงาน รวมถึงเสริมชื่อเสียงขององค์กรในฐานะบริษัทที่คนอยากร่วมงานด้วยมากที่สุดด้วย “พาร์สันกล่าวย้ำ
ส่วนช่องทางการหา ข้อมูลขององค์กรที่พวกเขาสนใจทำงานด้วย นักศึกษาไทย 80% บอกว่าหาทาง เฟซบุ๊ก หัวข้อที่คนรุ่นใหม่สนใจมากที่สุด ได้แก่ เรื่องความหลากหลายและการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม เงินเดือนและผลตอบแทน และโอกาสในการเติบโตในอาชีพการงาน
“นอกจากนี้ คนไทยรุ่นใหม่ยังอยากรู้แนวคิดของผู้บริหารองค์กรทั้งด้านคุณค่าที่องค์กรยึดถือ รวมถึงแผนธุรกิจในอนาคต องค์กรจึงควรสื่อสารประเด็นเหล่านี้ให้ชัดเจนในช่องทางออนไลน์เพื่อดึงดูดความสนใจและการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ และสะท้อนความมุ่งมั่นขององค์กรในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่สนับสนุนช่วยเหลือพนักงาน พร้อมสร้างความเชื่อมั่นด้านโอกาสการเติบโตในหน้าที่การงานที่ดีในแต่ละอุตสาหกรรมในอนาคตด้วย” พาร์สันส์ กล่าวเสริม
สำหรับความคาดหวังด้านเงินเดือน ผลสำรวจปีนี้เผยว่า เงินเดือนโดยเฉลี่ยที่คนรุ่นใหม่คาดหวังอยู่ที่ 466,379 บาทต่อปี ลดลง 3% จากปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 479,000 บาทต่อปี โดยเงินเดือนที่นักศึกษาสาขาธุรกิจคาดหวังอยู่ที่ 441,195 บาทต่อปี ขณะที่เงินเดือนที่นักศึกษาสาขาวิศวกรรมคาดหวังในปีนี้อยู่ที่ 464,538 บาทต่อปี ความแตกต่างของเงินเดือนที่คาดหวังระหว่างเพศชายและหญิงปีนี้อยู่ที่ 10% โดยเงินเดือนที่คนรุ่นใหม่เพศชายคาดหวังอยู่ที่ 484,303 บาทต่อปี ส่วนเงินเดือนที่คนรุ่นใหม่เพศหญิงคาดหวังอยู่ที่ 437,455 บาทต่อปี
รายงานผลสำรวจ Universum Talent Research ปี 2566 ของประเทศไทย มาจากการจัดทำแบบสอบถามนักศึกษา 8,437 คนที่เรียนสาขาวิชา 112 สาขาจากมหาวิทยาลัยและสถานศึกษา 23 แห่งทั่วประเทศ ระหว่างเดือนกันยายน 2565 – กุมภาพันธ์ 2566 โดยผู้ตอบแบบสำรวจได้ประเมินและจัดอันดับองค์กรไทยและสากลจำนวน 128 ราย ซึ่งลิสต์จัดอันดับใช้ขั้นตอนการคัดเลือกและประเมินอิสระ
5 อันดับองค์กรที่คนรุ่นใหม่อยากร่วมงานด้วยมากที่สุด มาจากการจัดทำแบบสอบถามนักศึกษา 8,437 คนที่เรียนสาขาวิชาธุรกิจและพาณิชย์ วิศวกรรม ไอที วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ มนุษยศาสตร์/ศิลปศาสตร์/ครุศาสตร์ นิติศาสตร์ และสุขภาพ/การแพทย์ ใน 112 สาขาวิชาจากมหาวิทยาลัยและสถานศึกษา 23 แห่งทั่วประเทศ ระหว่างเดือนกันยายน 2565 – กุมภาพันธ์ 2566 โดยผู้ตอบแบบสำรวจได้ตอบคำถามเกี่ยวกับคุณค่าความต้องการด้านอาชีพ ความคาดหวัง และปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน เพื่อประเมินและจัดอันดับองค์กรไทยและสากลจำนวน 128 ราย ที่มีการคัดสรรและจัดอันดับผ่านขั้นตอนการคัดเลือกและประเมินอิสระที่มีระบบเพื่อป้องกันไม่ให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งแทรกแซงผลการประเมิน โดยการจัดอันดับดังกล่าวมาจากการคัดเลือกองค์กรที่ได้รับการประเมินว่าเป็นองค์กรที่นักศึกษาอยากร่วมงานด้วยผ่านกระบวนการคัดกรองที่เป็นระบบ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทำเว็บไซต์ให้ติดหน้าแรก Google ได้ง่าย ๆ ด้วย Local SEO
การทำให้เว็บไซต์ติดหน้าแรกของ Google เป็นสิ่งที่หลายธุรกิจต้องการอย่างมาก เพราะช่วยเพิ่มโอกาสในการดึงดูดกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ และสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ของคุณได้
ปลุก 'ผู้สมัคร สว.' เก็บหลักฐานฮั้ว อาชญากรการเมืองไม่รอดแน่
ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เรียนผู้สมัคร สว ทุกท่าน ที่พบเห็นกระบวนการฮั้ว!