ตั้งหน้าตั้งตาคอยกันมานาน สำหรับ”สวนปทุมวนานุรักษ์” สวนสาธารณะใจกลางกรุงเทพฯ อยู่ข้างเซ็นทรัลเวิล์ด ที่มีข้อพิพาทและยืดเยื้อเป็นระยะเวลาหลายปีจากบ้าน 3 หลังที่อยู่ในพื้นที่และไม่ยอมย้ายออก แม้ศาลจะมีคำสั่งให้ย้ายออก ต้องใช้การเจรจาอยู่นาน เพิ่งยอมย้ายออกเมื่อต้นปี 2566 ที่ผ่านมา
ตอนนี้สวนปทุมวนานุรักษ์ได้เปิดอย่างไม่เป็นทางการวันแรกเมื่อวันเสาร์ที่ 20 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา บรรยากาศมีประชาชนเข้ามาเที่ยมชม เดินเล่นในสวนสวยเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ ตลอดจนนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่มาช้อปปิ้งห้างดังย่านราชประสงค์-ปทุมวัน ร่วมใช้บริการสวนกลางเมืองแห่งนี้ ช่วงเย็นชิลๆ กับดนตรีในสวนกับวง Bangkok Trio ส่วนเย็นวันทิตย์นี้พบกับ วง BMO Youth String Quartet ต่อด้วยวง Bangkok String Ensemble
สวนปทุมวนานุรักษ์ เป็นสวนชุมชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน พิกัดตั้งอยู่ทางทิศเหนือของศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และทางทิศใต้ของคลองแสนแสบ บนพื้นที่ของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ อยู่ภายใต้การดูแลมูลนิธิปทุมวนานุรักษ์ ในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และกรุงเทพมหานคร
สวนสาธารณะปอดใหญ่กลางกรุงนี้มีพื้นที่รวม 27 ไร่ ประกอบด้วย สวนหย่อม ซึ่งออกแบบให้เป็นรูปเลข ๙ ไทย เพื่อเฉลิมพระเกียรติในหลวง ร.9 บึงรับน้ำ ตลอดจนพื้นที่บำบัดน้ำเสีย โดยจำลองพื้นที่บำบัดตามธรรมชาติ และลานกิจกรรม มีอัฒจันทร์สำหรับชมการแสดง เบื้องต้นเปิดให้บริการสวนปทุมวนานุรักษ์ให้คนเมืองมีส่วนร่วมทดลองใช้ในบริเวณพื้นที่สวนหย่อม ส่วนที่ติดกับถนนราชดำริ สำหรับเป็นพื้นที่นันทนาการ พักผ่อนหย่อนใจ แหล่งท่องเที่ยว และออกกำลังกาย เติมเต็มคุณภาพชีวิตที่ดีกับคนเมือง อีกทั้งหวังเป็นที่ฟอกปอดและลดน้ำท่วมมหานครกรุงเทพฯ
ช่วงแรกนี้จะเปิดให้ใช้บริการตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น. โดยกรุงเทพมหานครและมูลนิธิปทุมวนานุรักษ์จะรวบรวมข้อมูล ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ อันเป็นประโยชน์จากประชาชนทุกเพศทุกวัยผู้มาใช้บริการ เพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงก่อนจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในโอกาสต่อไป
ย้อนประวัติศาสตร์พื้นที่สวนปทุมวนานุรักษ์ มีจุดเริ่มต้นความเป็นมานับตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเขตพระราชฐาน “พระราชวังปทุมวัน” พร้อมขุดสระใหญ่ ไขน้ำจากคลองแสนแสบ และสร้างพระอารามวัดปทุมวนารามและโรงเรียน
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ พระราชทานพื้นที่เพื่อสร้างวังสระปทุม สำหรับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และวังเพ็ชรบูรณ์ สำหรับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย จากนั้น วังเพ็ชรบูรณ์ถูกโอนมาอยู่ในกรรมสิทธิ์ของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ต่อมาที่ดินบางส่วนถูกเช่าเพื่อเป็นห้างสรรพสินค้า และบางส่วนเป็นชุมชนที่มีผู้อาศัยหลากหลาย
ปีพ.ศ. 2538 เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542 ของรัชกาลที่ 9 ทางสำนักงานทรัพย์สินฯ ได้มีการจัดสรรที่ดิน เพื่อพัฒนาเป็นอุทยานเฉลิมพระเกียรติ โดยการดำเนินงานในช่วงแรกเป็นการทำงานของอาสาสมัครในภาคส่วนต่างๆ ร่วมศึกษาพื้นที่ประมาณ 7 ไร่ จนสรุปการออกแบบเป็นสวนป่า ปรับปรุงดิน ขุดบึงรับน้ำ และปลูกต้นไม้ โดยจะปล่อยให้ต้นไม้ได้เติบโตระยะหนึ่งจึงจะออกแบบอาคารและทางเดินแทรกเป็นองค์ประกอบใต้สวนป่านี้
ปี พ.ศ. 2551 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานชื่อสวนแห่งนี้ว่า “ปทุมวนานุรักษ์” พร้อมทรงรับมูลนิธิปทุมวนานุรักษ์อยู่ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2551 ได้เสด็จฯ มาทรงปลูกต้นไม้ในสวนแห่งนี้
ต่อมาสำนักงานทรัพย์สินฯ ได้รับคืนพื้นที่จากชุมชนเพิ่มอีกราว 10 ไร่ และได้มอบพื้นที่ให้มูลนิธิฯ เช่าใช้สร้างเป็นสวนปทุมวนานุรักษ์ส่วนเพิ่มเติม งานออกแบบสวนส่วนนี้เริ่มในปี พ.ศ. 2554 แต่ด้วยปัญหาเรื่องที่ดินและผู้บุกรุกจึงเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2557 และก่อสร้างเสร็จในเดือนสิงหาคม 2558
สวนส่วนนี้มีแนวคิดการออกแบบเพื่อเผยแพร่หลักคำสอน งานโครงการอันเนื่องจากพระราชดำริ ในลักษณะพื้นที่นิทรรศการกลางแจ้ง อาคารอเนกประสงค์ สนามและลานเพื่อการจัดกิจกรรมต่างๆ ผสมผสานกับการนำเสนอการอยู่ร่วมกันระหว่างเมืองและธรรมชาติ สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับเมือง รวมทั้งเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของประชาชนทั่วไป สวนป่า และสวนนิทรรศการ แม้จะก่อสร้างเสร็จแล้วก็ยังไม่อาจเปิดให้ประชาชนเข้าชมพื้นที่ได้ ด้วยยังติดปัญหาเรื่องการเข้าถึงสวนโดยสะดวกและปลอดภัย และผู้บุกรุกที่ยังอยู่ในสวนไม่ยินยอมย้ายออก
ในปี พ.ศ. 2560 มูลนิธิปทุมวนานุรักษ์ได้รับที่ดินเพิ่มเติมจากสำนักงานทรัพย์สินฯ เป็นที่ดินที่ต่อเนื่องติดกับถนนราชดำริ ทำให้สวนปทุมวนานุรักษ์เปิดทางเข้าออกที่สะดวกและปลอดภัยมากขึ้น รวมถึงการสร้างสะพานเดินเชื่อมย่านราชประสงค์ที่เปิดมุมมองให้เห็นสวนปทุมวนานุรักษ์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
การออกแบบสวนในพื้นที่ใหม่ที่ได้รับเพิ่มเติมบนที่ดินประมาณ 8 ไร่ มีแนวความคิดต่อเนื่องกับพื้นที่นิทรรศการกลางแจ้ง ออกแบบลานสนามหญ้าและทางเดินเพื่อรองรับกิจกรรมและการปลูกต้นไม้สำคัญ พร้อมบึงหน่วงน้ำกลางสวน ซึ่งจะเป็นอีกพื้นที่ซับน้ำให้กับเมือง สวนส่วนขยายนี้ก่อสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2561 แต่ด้วยเหตุผู้บุกรุกในสวนที่ไม่ยินยอมย้ายออก ทำให้ยังคงไม่สามารถเปิดสวนปทุมวนานุรักษ์ได้
ช่วงปี พ.ศ. 2563-2564 เกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นวงกว้าง จึงชะลอการเจรจากับผู้บุกรุกเพื่อย้ายออกจากพื้นที่ จนกระทั่งโรคระบาดเริ่มเบาบางลง จึงมีการเจรจาร่วมกับการบังคับคดีอีกครั้ง ในที่สุดผู้บุกรุกที่ยังเหลือยินยอมย้ายออกจากพื้นที่สวนปทุมวนานุรักษ์ทั้งหมดเมื่อต้นปี พ.ศ. 2566 ทำให้สวนปทุมวนานุรักษ์สามารถปรับปรุงพื้นที่เพื่อเปิดให้บริการได้อย่างเรียบร้อยและปลอดภัย
ทั้งนี้ กทม.ตระหนักถึงความสำคัญในการสืบทอดเจตนารมณ์การสร้วงสวนปทุมวนานุรักษ์ จึงเข้ามามีส่วนร่วมประสานความร่วมมือกับมูลนิธิปทุมวนานุรักษ์ รวมทั้งอาสาสมัครจากภาคส่วนต่าง ๆ ดำเนินการปรับปรุงสวนปทุมวนานุรักษ์ให้เรียบร้อยเหมาะสมกับการเปิดอย่างไม่เป็นทางการ
กอบแก้ว แผนสท้าน ชาวสุขุมวิท กล่าวว่า อยากให้ขยายเวลาให้บริการสวนปทุมวนานุรักษ์ เพื่อให้สวนนี้ตอบโจทย์คนทุกกลุ่ม พนักงานออฟฟิศที่อยากมาออกกำลังกายช่วงเช้าก่อนเข้าทำงาน หรือหลังเลิกงาน รวมถึงนักเรียนในย่านใกล้เคียงจะได้มาพักผ่อนหลังเลิกเรียนแทนเดินห้างอย่างเดียว ตอนนี้เปิดสายไป เย็นก็ปิดเร็ว ถ้าอยากทดลองต้องเปิดให้ยาวกว่านี้ คนจะได้ใช้บริการจริง เสาร์อาทิตย์นอกจากกิจกรรมดนตรีในสวน อยากให้จัดเวิร์คช็อปด้านวัฒนธรรมไทย ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการ เช่น ขนมไทย ร้อยมาลัย เพราะย่านนี้นักท่องเที่ยวเยอะ เป็นการโชว์ Soft Power ไทย และถ้าใช้พื้นที่ทำกิจกรรมส่งเสริมอาชีพคนเมือง ช่วยต่อยอด สร้างรายได้ยิ่งดี
เปิดสวนน้องใหม่กลางกรุงแล้ว อยากชวนทุกคนร่วมทดลองใช้บริการสวนปทุมวนานุรักษ์ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นข้อเสนอแนะได้ที่เต้นท์บริเวณสวนปทุมวนานุรักษ์ที่จัดเตรียมไว้ และผ่านช่องทางต่างๆ ของ กทม. หรือส่งมายังอีเมล [email protected] เพื่อนำไปปรับปรุงการให้บริการและพัฒนางานส่วนที่เหลือสำหรับการเปิดสวนปทุมวนานุรักษ์อย่างเป็นทางการต่อไป ไปร่วมออกความคิดเห็นและแนะนำกันได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'พี่เอ้' เสนอนำร่อง 16 เขตกทม.ชั้นใน เป็นโซนมลพิษต่ำ ตั้งด่านเก็บค่าธรรมเนียมสู้ฝุ่นพิษPM2.5
นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอ “Bangkok Low Emission Zone” หรือ “B-LEZ” (บีเลส) เพื่อแก้ปัญหาฝุ่น
รีบเช็ค! 5 อันดับพื้นที่ กทม. ค่าฝุ่น PM2.5 ปริมาณสูงสุด
รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในกรุงเทพมหานคร ประจำวันที่ 13 มกราคม 2568
'จักรภพ' ได้ฤกษ์ 7 ก.พ. ควงคนรักจดทะเบียนสมรส เถ้าแก่ 'ทักษิณ' สักขีพยาน
'จักรภพ' ได้ฤกษ์! ควงคนรักจดทะเบียนสมรส 7 ก.พ. เขตบางรัก เถ้าแก่ 'ทักษิณ' ลงนามเป็นสักขีพยาน ลั่นรู้สึกชื่นใจเสียงตอบรับล้นหลาม
กรมอุตุฯพยากรณ์อากาศ 24 ชม. ทั่วประเทศอากาศเย็นลง ‘กทม.’ ต่ำสุด 18 องศาฯ
กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงปกคลุมประเทศไทยตอนบน
4 จังหวัด คลุกฝุ่น PM2.5 กระทบสุขภาพคนกรุง 2 พื้นที่
ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศประจำวันที่ 30 ธันวาคม 2567 ณ 07:00 น. สรุปดังนี้
รีบเช็กก่อน! กรุงเทพมหานคร อัปเดต 17 จุด อนุญาตจุดพลุปีใหม่
เพจกรุงเทพมหานคร อัปเดต 17 จุด อนุญาตจุดพลุ ปีใหม่ ข้อมูล ณ วันที่ 28 ธ.ค. 67