หอศิลป์แห่งชาติแห่งใหม่ที่ตั้งโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ข้างศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ย่านรัชดา เปิดพื้นที่สู่การเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรรมของไทยและอาเซียนให้กับประชาขน มีโปรแกรมศิลปะ นิทรรศการที่นำผลงานศิลปะร่วมสมัยระดับมาสเตอร์พีซมาจัดแสดงเป็นระยะ
ศูนย์กลางองค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมใจกลางเมือง
ความคืบหน้าโครงการพัฒนาศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ให้เป็นพื้นที่บริการทางวัฒนธรรมระดับนานาชาติ นางสาวฐิต์ณัฐ สมบัติศิริ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะรองโฆษกกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า โครงการพัฒนาศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยเริ่มตั้งแต่ปี 2550 และได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ การสร้างสรรค์และการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนเปิดพื้นที่สำหรับจัดแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัยระดับชาติและนานาชาติ เป็นแหล่งนัดพบระหว่างศิลปินแขนงต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ได้เข้ามาใช้พื้นที่จัดแสดงผลงาน และเป็นพื้นที่สำหรับสร้างสรรค์ผลงานด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยหลากหลายรูปแบบระยะที่ 1 ประกอบด้วย การก่อสร้างอาคารที่ทำการ วธ. และอาคารหอศิลป์แห่งชาติ ระยะที่ 2 คือ โรงละคร Super Theatre โรงละครแบบ Black Box Theatre ห้องประชุมย่อย และห้อง Workshop ด้านวัฒนธรรม ห้องฉายภาพยนตร์ ห้องประชุมสัมมนา และศูนย์ข้อมูลวัฒนธรรมและลานวัฒนธรรมกึ่งภายนอก
หอศิลป์แห่งชาติออกแบบโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์
สำหรับการการดำเนินการระยะที่ 1 ได้ก่อสร้างหอศิลป์แห่งชาติแล้วเสร็จเมื่อปี 2563 ตัวอาคาร 3 ชั้น ตั้งอยู่ใกล้กับศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 19,000 ตารางเมตร โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์ เมื่อดำเนินการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อย มีการบริหารจัดการและจ้างตกแต่งภายในอาคาร พร้อมครุภัณฑ์ประจำอาคาร สิ่งอำนวยความสะดวกภายใน ในขณะเดียวกันได้ศึกษารูปแบบและแนวทางการบริหารงานหอศิลป์แห่งชาติ ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และเมื่อปี 2564 ได้ตกแต่งภายในอาคารหอศิลป์แห่งชาติ พร้อมครุภัณฑ์เครื่องมือ การออกแบบองค์ประกอบเรขศิลป์ต่างๆ ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกแล้วเสร็จเมื่อพฤษภาคม ปี 2564
จัดแสดงผลงานประติมากรรม “เรือรักของแม่”
หลังจากปรับปรุงภูมิทัศน์ทั้งภายในและภายนอกอาคารแล้ว นางสาวฐิต์ณัฐ กล่าวว่า ในช่วงปี 2565 วธ. ได้ใช้พื้นที่ทั้งจัดกิจกรรมด้านศิลปะหลากหลายรูปแบบ มีกิจกรรม “ดื่มกาแฟแลงานศิลป์” เพื่อสร้างการรับรู้ในเรื่องพื้นที่กิจกรรม และการเข้าถึงของประชาชนในพื้นที่หอศิลป์แห่งชาติ โดยเชิญศิลปินร่วมสมัย นายวศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ผู้สร้างสรรค์ประติมากรรมสุนัข “ไอ้จุด” และ น.ส.ลูกปลิว จันทร์พุดซา ศิลปินผู้สร้างสรรค์ประติมากรรม “เรือรักของแม่” มาจัดแสดง ณ ลานกลางแจ้ง หอศิลป์ฯ ที่ได้รับความสนใจอย่างมาก
ประติมากรรมสุนัข”ไอ้จุด” จัดแสดงลานกลางแจ้งหอศิลป์แห่งชาติ
นอกจากนี้ มีการจัด “นิทรรศการเผยแพร่องค์ความรู้ของผลงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย”ผลงานสะสมปี พ.ศ. 2565 (2022 Acquisitions Office of Contemporary Art and Culture) ณ ห้องนิทรรศการ 4 ชั้น 1 จัดแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัยกว่า 79 ชิ้น จาก 20 ชุดผลงาน ที่สร้างสรรค์โดยศิลปินร่วมสมัย 16 คน ที่ได้รับการยอมรับระดับนานาชาติ 16 คน เป็นที่สนใจของคนรักงานศิลปะที่ได้เห็นผลงานเหล่านี้ นอกจากนี้ ยังได้จัดกิจกรรมสร้างการรับรู้เกี่ยวกับหอศิลป์แห่งชาติ ณ ลานวัฒนธรรมสร้างสุข จัดเทศกาลดนตรี Ministry of Culture Music Festival : Summer Hit Songs และกิจกรรมเรียนรู้ดูหอศิลป์ของกลุ่มเด็กและเยาวชนอีกด้วย
พัฒนาพื้นที่ด้วยนิทรรศการผลงานศิลปะร่วมสมัย
เมื่อพูดถึงแผนการพัฒนาหอศิลป์แห่งชาติปี 2566 -2567 ผู้ช่วยปลัด วธ. กล่าวว่า วธ. ได้จัดทำโครงการเพื่อขอรับงบประมาณจากรัฐบาลในการบริหารจัดการและพัฒนาพื้นที่ให้เป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ และแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมระดับชาติและนานาชาติอย่างเต็มรูปแบบมากยิ่งขึ้น โดยมีแผนจัดกิจกรรม อาทิ พิธีเปิดหอศิลป์แห่งชาติ การจัดนิทรรศการผลงานศิลปะร่วมสมัยกว่า 6 นิทรรศการ การจัดแสดงผลงานศิลปะ Multimedia Art ผลงานจากศิลปินไทยและต่างประเทศ การเสวนาทางวิชาการ จัดกิจกรรมการเรียนรู้และกิจกรรมประชาสัมพันธ์พื้นที่หอศิลป์แห่งชาติ เพื่อสร้างการรับรู้แก่ประชาชนทั้งในและต่างประเทศ
หมุดหมายใหม่จัดแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัย พร้อมภัณฑารักษ์ที่มีความรู้
ในขณะที่แผนพัฒนาบุคลากรรองรับหอศิลป์แห่งชาติ รองโฆษก วธ. ระบุเตรียมจัดฝึกอบรมบุคลากร โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาถ่ายทอดความรู้ ได้แก่ ภัณฑารักษ์ ผู้ช่วยภัณฑารักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดแสดงผลงาน ผู้เชี่ยวชาญด้านการระดมทุน ผู้เชี่ยวชาญด้านการคิด Content และนิทรรศการศิลปะ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบเสียง และ Acoustic Facility Manager เป็นต้น ซึ่งทุกกิจกรรมมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อพัฒนาหอศิลป์แห่งชาติให้พร้อมให้บริการอย่างสมบูรณ์แบบ และเปิดพื้นที่ให้กลุ่มศิลปินแขนงต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศได้เข้ามาใช้พื้นที่จัดแสดงผลงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้งานศิลปะ ได้สร้างสุนทรียศาสตร์ สร้างความรู้ สร้างจินตนาการ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชน นำไปสู่การสร้างสรรค์คุณค่าทางสังคม และเกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในอนาคต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สวธ.ชวนประกวดเยาวชนต้นแบบมารยาทไทย ชิงรางวัลถ้วยพระราชทานกรมสมเด็จพระเทพฯ
กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ร่วมกับ กองทุน ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศจัดการประกวด "เยาวชนต้นแบบด้านมารยาทไทยและมารยาทในสังคม ปี 2568"
วธ. แถลงข่าวโครงการที่ได้รับการส่งเสริมจากกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ปีงบประมาณ 2568 จำนวน 113 โครงการ รวมกว่า 44 ล้านบาท
นายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในงานแถลงข่าวโครงการที่ได้รับการส่งเสริมจากกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยมี คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย นางเกษร กำเหนิดเพ็ชร
สุดม่วน! วธ.จัด ‘หมอลำเฟสติวัลร้อยแก่นสารสินธุ์’ หนุนยูเนสโกขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมจับต้องไม่ได้
กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับจังหวัดขอนแก่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และภาคเอกชนระดับประเทศ อาทิ หอการค้าไทยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย บริษัท ขอนแก่น อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด Sustainable Brands (SB) Thailand และ บริษัท
บอร์ด ICH ขึ้นบัญชี 10 มรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรม ‘งานนมัสการพระธาตุพนม-เสื่อกกจันทบูร-ผ้าหม้อห้อม-ตำนานสุบินกุมาร‘
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมครั้งที่ 3/2567 พิจารณาเห็นชอบให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม