จิตรกรรมยูโอบี หนุนศิลปินไทยโลดแล่นเวทีสากล 

การประกวดจิตรกรรมยูโอบี เป็นอีกเวทีประชันผลงานศิลปะและเป็นสะพานเชื่อมให้เหล่าศิลปินได้นำเสนอผลงานคุณภาพสู่เวทีในระดับสากล  ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย เปิดการประกวดจิตรกรรมยูโอบี ครั้งที่ 14 เชิญชวนให้ศิลปินอาชีพ ศิลปินรุ่นใหม่ และศิลปินสมัครเล่นที่มีความสามารถในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีเอกลักษณ์ร่วมส่งผลงานเข้าประกวด เน้นความมีอิสระในการรังสรรค์ผลงานโดยไม่จำกัดหัวข้อหรืออายุ

ธรรัตน โอฬารหาญกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า  เชื่อว่า ศิลปะจะช่วยพัฒนาสังคมและยกระดับจิตใจมนุษย์ ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และความไม่มีขอบเขตของศิลปะจะเป็นตัวเชื่อมมนุษย์เข้าด้วยกัน ดังนั้น  จะต้องมีการส่งเสริมศิลปะอย่างต่อเนื่องการประกวดจิตรกรรมยูโอบีเข้าสู่ปีที่ 14 เป็นอีกเวทีให้ศิลปินได้แสดงฝีมือ และมีความแตกต่างจากเวทีอื่นๆ ในการต่อยอดผลงานของศิลปินไทยไปสู่การแข่งขันในเวทีต่างประเทศ รวมถึงการแสดงผลงานในเวทีระดับโลก ที่สำคัญ คือ ศิลปินได้มีโอกาสพบเจอกับศิลปินต่างชาติหรือคิวเรเตอร์ด้วย 

ส่วนความพิเศษของปีนี้ ธรรัตน กล่าวว่า ได้ขยายประเทศที่เข้าร่วมประกวดในสิงคโปร์ จากเดิมที่มีไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ จะเพิ่มเวียดนามร่วมแข่งขันด้วย เป็นอีกความท้าทายของเหล่าศิลปิน ปีที่ผ่านมาภาคภูมิใจกับ ชมรวี สุขโสม  ศิลปินไทยที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในระดับภูมิภาค สะท้อนการประกวดที่จัดขึ้นในประเทศไทยพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และความสามารถของศิลปินไทย เกิดผลงานที่สนับสนุนไปแข่งในระดับนานาชาติ รวมถึงการแบ่งปันประสบการณ์จากศิลปินรุ่นพี่สู่ศิลปินรุ่นน้องในการไปแข่งขันเวทีต่างประเทศ

อ.อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์  ประธานคณะกรรมการตัดสินการประกวดจิตรกรรมยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า ศิลปะเป็นศาสตร์ที่มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสิ่งใหม่อยู่ตลอดเวลา ในปัจจุบันปัญญาประดิษฐ์ หรือ  AI เข้ามามีส่วนในการเปลี่ยนแปลงวงการศิลปะ แต่จะมีบางส่วนที่ AI ยังทำสู้คนไม่ได้  คือ ลายเส้น เทียบผลงานต้นฉบับกับให้ AI ทำจะไม่เหมือนกัน ดังนั้น เส้นทางการใช้เทคโนโลยีจะแยกกับเส้นทางการสร้างผลงานด้วยมนุษย์ ดังนั้น ตัวศิลปินจึงมีความคิดใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ในช่วงโอกาส สำหรับประเทศไทยมีศิลปินหลากหลายประเภทแตกต่างกันตามฝีมือและความชอบในการสร้างงาน มีพิพิธภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงใช้ศิลปะร่วมกับธุรกิจ เวทีนี้จะเพิ่มประสบการณ์ให้เหล่าศิลปิน  

“ หากมองศิลปะในระดับภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ เป็นพื้นที่เป้าหมายศิลปะใหม่ของโลก อย่าง ประเทศสิงคโปร์ที่นำศิลปะมาใช้ในการพัฒนาประเทศ หรือธุรกิจต่างๆ ประเทศอินโดนีเชีย เป็นแหล่งผลิตศิลปินที่แข็งแรงพอๆกับประเทศไทย ส่วนประเทศฟิลิปปินส์มีศิลปินระดับโลกมากมาย และมีความรู้ทางศิลปะที่เข้มข้น   เวียดนามเป็นอีกประเทศที่การเรียนการสอนศิลปะแข็งแรง ศิลปินเวียดนามกระจายอยู่ทั่วโลก งานเทศกาลศิลปะระดับโลกจะต้องมีศิลปินเวียดนามเกี่ยวข้องด้วย นับเป็นความแข็งแกร่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่าจะยังไม่เป็นเสือเต็มตัว แต่มีเสียงคำรามที่ดังพอสมควร” อ.อำมฤทธิ์ แสดงทัศนะการเติบโตของวงการศิลปะในภูมิภาค

ด้าน ชมรวี สุขโสม ผู้ชนะการประกวดจิตรกรรมยูโอบีระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำปี 2565 เล่าประสบการณ์ว่า ดีใจมากที่ได้เข้าร่วมทั้งเวทีระดับประเทศและระดับภูมิภาค ในอนาคตจะจัดนิทรรศการของตนเอง การประกวดปีที่แล้วตั้งใจใช้ความสามารถทั้งหมดทุ่มเททำผลงานออกมาให้ดี  ใช้สีน้ำมัน สีอะคริลิก การติดทองคำเปลว วาดเส้นด้วยดินสอ เชื่อที่ว่าจิตรกรรมยูโอบีจะพาผลงานของตนไปสู่ระดับสากลได้  ซึ่งผลงานดิสโทเปียที่ส่งประกวดใช้เวลาถึง 1 ปี สื่อโลกที่ล่มสลาย ตรงข้ามกับยูโทเปียที่มีความหมายถึงความสงบสุข ผลงานนี้พูดถึงมนุษย์กับสังคมในโลกดิสโทเปีย ไม่ว่าจะการเมือง สงคราม โรคระบาด ภัยธรรมชาติ และความเหลื่อมล้ำของความเป็นมนุษย์ ผลงานมีการซ้อนทับเรื่องราว จิตรกรรมชิ้นนี้เหมือนบันทึกไดอารี่ ผู้ชมผลงานในระยะใกล้หรือไกล จะให้ความรู้สึกที่แตกต่างกัน 

นริศรา เพียรวิมังสา ศิลปินที่มีประสบการณ์เข้าร่วมโครงการศิลปินในพำนักในประเทศญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และสหรัฐ เล่าว่า การได้ไปเป็นศิลปินในพำนักต่างแดน ทำให้ได้มุมมองและประสบการณ์ รวมถึงไอเดียใหม่ๆ พัฒนาผลงาน นอกจากนี้ ได้สัมผัสถึงแนวความคิดผลงานของศิลปินอื่นๆ ความหลากหลายนี้จะทำให้เรามีมุมมองพัฒนางานของตัวเอง ซึ่งตนที่ทำงานจิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบ และการสร้างงานศิลปะผ้าปัก ที่มีเอกลักษณ์ คือ การ์ตูนตาโต สะท้อนความเป็นตัวเอง 

สำหรับศิลปินสามารถส่งผลงานศิลปะผ่านระบบดิจิทัล www.uob.co.th/poy ตั้งแต่วันที่ 9 พ.ค.- 15 ส.ค. 2566 และรับชมวิดีโอแบ่งปันความรู้ได้ตั้งแต่เดือนก.ค. 2566 เป็นต้นไป ผ่าน UOB และ www.uob.co.th/uobandart

โดยผลงานที่ชนะเลิศจะได้มีโอกาสรับคัดเลือกเป็นศิลปินในพำนัก ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย ฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น ระยะเวลา 1 เดือน และรับสิทธิเข้าแข่งขันในระดับภูมิภาคร่วมกับผลงานจากประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนามที่เพิ่งเพิ่มเข้ามา

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ครูสลา - โอม ค็อกเทล - แม็ก เดอะ ดาร์คเคสท์ โรแมนซ์' คว้ารางวัลอันทรงเกียรติ

ครูสลา คุณวุฒิ ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2564 สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล - ประพันธ์เพลงไทยลูกทุ่ง) พร้อมด้วย โอม-ปัณฑพล ประสารราชกิจ นักร้องนำวงค็อกเทล (Cocktail) และ แม็ก-ธิติวัฒน์ รองทอง นักร้องนำและมือเบสวง เดอะ ดาร์คเคสท์ โรแมนซ์ (The Darkest Romance) ได้รับรางวัล "เพชรในเพลง" ประจำปี 2567

12 ศิลปินแห่งชาติมือฉมัง ปั้นนักเขียนคลื่นลูกใหม่ก้าวสู่มืออาชีพ

เป็นอีกครั้งที่ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ชื่อดังมาถ่ายทอดความรู้ และแบ่งปันประสบการณ์บนถนนนักเขียนเพื่อจุดประกายให้นักเขียนรุ่นใหม่มีความรู้และแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์วรรณกรรมให้แก่ผู้ที่มีความสนใจในการเขียนทั้งนวนิยาย  เรื่องสั้น  สารคดี และกวีนิพนธ์ กว่า 80 คน

สิ้นศิลปินแห่งชาติ ฤกษ์ฤทธิ์ แก้ววิเชียร

6 มิ.ย. 2567 - นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เปิดเผยว่า ตนได้รับรายงานว่า นายฤกษ์ฤทธิ์ แก้ววิเชียร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรมภายใน และมัณฑนศิลป์) พ.ศ. 2565 ได้ถึงแก่กรรมอย่างสงบ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน 2567

ศิลปินนักร้องชื่อดังหลากรุ่น ร่วมเชิดชู 'สมาน กาญจนะผลิน'

จบลงอย่างสวยงาม กับคอนเสิร์ต เชิดชูครูเพลง 103 ปี ชาตกาล "เพลงคู่...ครูสมาน กาญจนะผลิน" เมื่อวันนี้ บ่ายวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ณ โรงมหรสพหลวงศาลาเฉลิมกรุง เปิดงานช่วงแรกด้วย 2 พิธีกร โกมุท คงเทศ และ ขวัญรวี กาญจนะผลิน ที่ชวน จิรวุฒิ กาญจนะผลิน ทายาทครูสมาน มาเล่าเรื่องราว การประพันธ์เพลงของครูสมาน กาญจนะผลิน ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง(เพลงไทยสากล) ปี 2531ให้ฟังกัน

ศิลปินแห่งชาติ แพร่บทความเรื่องการใช้เงินให้เป็น กรณีสกายวอล์กแยกปทุมวัน

นายวินทร์ เลียววาริณ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ โพสต์เฟซบุ๊กว่า สองวันนี้มีหลายคนถามผมว่าคิดอย่างไรกับงานออกแบบอัตลักษณ์เมือง (พวกเขาใช้คำฝรั่งว่า City Branding) ของกทม. ผมจะไม่แสดงความคิดเห็นในเรื่องการออกแบบ เพราะมันเป็นเรื่อง subjective บางคนชอบ บางคนไม่ชอบ เป็นเรื่องธรรมดา