สนับสนุนให้ศิลปินรุ่นใหม่ได้สร้างสรรค์ผลงานคุณภาพออกเผยแพร่แก่สาธารณชนอย่างต่อเนื่องผ่านนิทรรศการ “ศิลปนิพนธ์ยอดเยี่ยม ปี 2566” ซึ่งหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จัดนิทรรศการขึ้นเป็นประจำทุกปี ปีนี้ยิ่งใหญ่ขึ้น รวบรวมผลงานศิลปะของนิสิต นักศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ชั้นปีสุดท้ายของปีการศึกษา 2565 ที่มีความมุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานจากสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนด้านศิลปะ 46 แห่ง 55 คณะ ทั่วประเทศ รวม 172 ชิ้น มาจัดแสดงร่วมกันตั้งแต่วันที่ 4 พ.ค. – 27 มิ.ย. 2566 ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
สำหรับนิทรรศการศิลปนิพนธ์ยอดเยี่ยม ครั้งที่ 15 นี้ คณาจารย์ของแต่ละสถาบันได้คัดเลือกผลงานโดดเด่นทั้งแนวคิดและเทคนิคการสร้างสรรค์ที่หลากหลายเข้าร่วมแสดงอย่างละลานตา แบ่งเป็นผลงานของระดับปริญญาโท 13 ชิ้น และระดับปริญญาตรี 157 ชิ้น ประกอบด้วยผลงานจิตรกรรม ประติมากรรม สื่อผสม งานจัดวาง และงานมัลติมีเดีย แต่ละชิ้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แสดงถึงการพัฒนาของวงการศิลปกรรมบ้านเรา
นิทรรศการนี้ไม่เพียงแต่ช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงของสถาบันการศึกษา และเปิดพื้นที่เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคนิคทางศิลปะเท่านั้น แต่ยังเป็นการแนะนำนิสิต นักศึกษา ซึ่งเป็นศิลปินรุ่นใหม่ให้เป็นที่รู้จักแก่สังคมและนำไปสู่การยอมรับในผลงานสร้างสรรค์อีกด้วย
โกเมนทร์ เชื้อเจริญ จาก มทร.รัตนโกสินทร์ วิทยาลัยเพาะช่าง เจ้าของงานจิตรกรรมสุดประณีต ”สักการะรอยพระพุทธบาท” เทคนิคสีฝุ่น กล่าวว่า ผลงานสื่อรอยพระพุทธบาทเปรียบดั่งตัวแทนขององค์พระพุทธเจ้า เป็นการประทับพระศาสนาในดินแดนพุทธศาสนา การสักการะรอยพระพุทธบาท แสดงให้เห็นถึงการสักการะสูงสุด แม้แต่พระบาทของพระองค์ก็นับเป็นมงคลมากกว่ามงคลใดในจักรวาล
ด้าน จันทนา ชัยโอภานนท์ นศ.ปริญญาโท คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ เจ้าของผลงาน”No.1” บอกถึงแนวคิดว่า ศิลปะของเด็กมีความอิสระ สดใส ซื่อตรง ภาพวาดของเด็กวัย 4-5 ปี เกิดจากจินตนาการมากกว่าความสวยงามหรือความหมาย เป็นกระบวนการเปลี่ยนความคิดให้ออกมาเป็นภาพ ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการพัฒนาแนวคิดและการทำงาน ในรูปแบบศิลปะกับปฏิสัมพันธ์ระหว่างตนเองและเด็กในสถานที่ธรรมชาติ แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของจินตนาการ เรื่องราว การใช้สี รูปแบบ ฟอร์มที่ถูกซ้อนทับ ผสมผสาน และดัดแปลงร่วมกันอย่างอิสระ
ส่วน เตชสิทธิ์ สุทธางคกูล ม.เชียงใหม่ นำผลงาน” นักษัตรหิมพานต์ 1” ที่บรรจงเขียนลวดลายอย่างประณีต บอกว่า มีความสนใจในคติเกี่ยวกับ 12 นักษัตรจีน กับการเขียนลวดลายอย่างลายรดน้ำ และลักษณะของวัฏจักรของปีนักษัตรที่วนเวียนมาทุกปี ตั้งแต่ปีชวดจนถึงปีกุน นำมาสู่การสร้างผลงานเทคนิคสีอะคริลิคใต้แผ่นอะคริลิคชิ้นนี้ร่วมแสดง
เช่นเดียวกับ ธนภัทร สุขพัฒน์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ที่สร้างผลงานภาพพิมพ์หินชื่อว่า “ความงามในการผลัดเปลี่ยน หมายเลข 2” กล่าวว่า ซากสัตว์เป็นสิ่งที่ต่อชีวิตให้สัตว์อื่นๆ ที่กำลังกินซาก สื่อถึงความไม่แน่นอน การเปลี่ยนแปลงที่เชื่อมโยงกับหลักความเชื่อ วัฏจักรชีวิต ความหม่นหมองของบรรยากาศโดยรวม ก่อเกิดเป็นผลงานที่สะท้อนมุมมองทางความคิด แสดงความรู้สึกผ่านความงาม ที่เป็นไปตามสัจจะของชีวิต ซึ่งล้วนเป็นกฎของธรรมชาติ
ธนพล แสนอุ่น คณะมัณฑนศิลป์ ม.ศิลปากร กล่าวถึงงานศิลปะชื่อ”ล่องสู่ฝัน”ว่า เสนอภาพฝันของเด็กชนบท ที่อยากทดแทนพระคุณของพ่อแม่ด้วยการบวช อีกทั้งยังเป็นการบันทึกเครื่องบวชที่มีคุณค่าของอำเภอทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย ที่สะท้อนและเชิดชูความเป็นเอกลักษณ์แบบล้านนาของไทย โดยใช้รูปทรงของเรือผสมผสานกับรูปทรงกระบวยกะลามะพร้าว ที่มักพบมากในภาคเหนือของประเทศไทย แสดงถึงวิถีชีวิตระดับพื้นถิ่นที่มีความโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื่อเผื่อแผ่
ผู้สนใจเข้าชมนิทรรศการ ศิลปนิพนธ์ยอดเยี่ยม ปี 2566 เพื่อร่วมเสริมสร้างกำลังใจและสนับสนุนให้ศิลปินรุ่นใหม่ ได้ ตั้งแต่วันนี้ – 27 มิ.ย. ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ถนนราชดำเนินกลาง เปิดให้เข้าชมทุกวัน (ปิดวันพุธ) เวลา 10.00 – 19.00 น.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นายกฯ หมื่นล้าน สะพัดปรับ ครม. | ห้องข่าวไทยโพสต์
ห้องข่าวไทยโพสต์ : วันศุกร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2568
ตีปี๊บ '30 รักษาทุกที่' เต็มรูปแบบ ครอบคลุมทุกพื้นที่ 77 จังหวัดของไทย
รัฐบาล ประกาศ '30 รักษาทุกที่' เต็มรูปแบบ ด้วยโอกาสของคนไทยนับจากนี้ ต้องมีชีวิตดี สุขภาพดี เริ่มแล้วครอบคลุมทุกพื้นที่ 77 จังหวัดของประเทศไทย