ไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นน่าจับตา พบระบาดเป็นกลุ่มก้อน 15 เหตุการณ์ โรงเรียน เรือนจำ วัด ค่ายทหาร เตือนรีบฉีดวัคซีน

10 พ.ค. 2566 - นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงนี้ในหลายพื้นที่มีสภาพอากาศแปรปรวนและพายุฝนฟ้าคะนอง ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนประมาณสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม กรมควบคุมโรค จึงขอให้ประชาชนป้องกันตนเองไม่ให้ป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่โดยการล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงสถานที่ผู้คนแออัดหรือสวมหน้ากากหากจำเป็นต้องเข้าไป เนื่องจากระยะนี้ใกล้เข้าสู่ฤดูกาลการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ นอกจากนี้เป็นช่วงเวลาที่สถานศึกษาใกล้เปิดภาคเรียน หากไม่มีการป้องกันที่ดี อาจมีการแพร่ระบาดของโรคได้ง่ายในกลุ่มเด็กนักเรียนและเด็กเล็ก สำหรับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงป่วยรุนแรง หากมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น ไข้สูง มีน้ำมูก ไอ เจ็บคอ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อย ตามตัว ให้รีบพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาโดยเร็ว

อธิบดี ฯ กล่าวอีกว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นในกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะประชากร 7 กลุ่ม ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปีทุกคน ผู้มีโรคเรื้อรัง ดังนี้ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน ผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไป โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) โรคอ้วน (น้ำหนัก> 100 กิโลกรัม หรือ BMI > 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร) และผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ที่เสี่ยงสูงต่อภาวะป่วยหนักและเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งกลุ่มเหล่านี้มีความเสี่ยงป่วยหนักจากโรคโควิด 19 ด้วยเช่นกัน การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต่อทั้งสองโรคควบคู่กันจึงเป็นอีกหนึ่งมาตรการสำคัญที่จะช่วยปกป้องกลุ่มเสี่ยงและคนรอบข้างได้ และปีนี้เริ่มการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันทั้ง 2 โรคพร้อมกันภายในวันเดียวกัน โดยฉีดที่ต้นแขนคนละข้าง


นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเสริมว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในปีนี้เพิ่มขึ้นอย่างน่าจับตา รายงานเฝ้าระวังโดยกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 มีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ จำนวน 45,500 ราย มากกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง มีผู้ป่วยเสียชีวิต 1 ราย กลุ่มที่พบอัตราป่วยสูงสุด ได้แก่ อายุ 0-4 ปี เท่ากับ 346.2 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาเป็นอายุ 5-14 ปี (244.4) และอายุ 15-24 ปี (51.2) ผู้ป่วยเป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิงเล็กน้อย จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูง 10 อันดับแรก ได้แก่ พะเยา อัตราป่วย 222.2 ต่อประชากรแสนคน รองลงมา คือ แพร่ (219.1) พัทลุง (216.8) อุบลราชธานี (196.2) ภูเก็ต (149.9) นราธิวาส (126.3) นครศรีธรรมราช (120.5) มุกดาหาร (116.5) และน่าน (116.2) ตามลำดับ

นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า ข้อมูลการเฝ้าระวังสายพันธุ์เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ขณะนี้พบไวรัสสายพันธุ์ A/H3 ร้อยละ 53 มากที่สุด รองลงมาเป็น สายพันธุ์ B และ A/H1 2009 ร้อยละ 31 และ 16 ตามลำดับ การเฝ้าระวังเหตุการณ์การระบาดโรคไข้หวัดใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 1 พฤษภาคม 2566 พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อน 15 เหตุการณ์ และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น มากที่สุดในโรงเรียน พบการระบาด 7 เหตุการณ์ รองลงมาเป็นเรือนจำ 5 เหตุการณ์ วัด 2 เหตุการณ์ และค่ายทหาร 1 เหตุการณ์ จึงขอให้ผู้รับผิดชอบสถานที่เหล่านี้ เข้มงวดมาตรการป้องกันโรค ได้แก่ สวมหน้ากากเมื่อมีอาการป่วยเพื่อลดการแพร่เชื้อ ล้างมือบ่อยๆ เลี่ยงการอยู่ในที่มีผู้คนแออัดหรือสวมหน้ากาก นอกจากนี้แนะนำประชากรกลุ่มเสี่ยงเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่และวัคซีนป้องกันโควิด 19 ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผวา! ไข้หวัดใหญ่พุ่ง ดับแล้ว 1 ราย เร่งฉีดวัคซีน 7 กลุ่มเสี่ยง

ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ดร.ทรงยศ คำชัย หัวหน้ากลุ่มงาน ควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเปิดให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง

‘หมอมนูญ’ เผยข้อมูลระบาดวิทยา พบ ‘โควิด-ไข้หวัดใหญ่’ ยังแพร่เชื้อต่อเนื่อง

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่ยังมีต่อเนื่อง ไวรัสไข้หวัดใหญ่กำลังพุ่งสูงขึ้นตามฤดูกาล เข้าฤดูฝนแล้ว เชื้อไวรัสทางเดินหายใจทุกชนิดจะกลับมาระบาดหนักอีก

'หมอยง' ชี้ 'โควิด' ระบาดหนัก แต่รุนแรงลดลง เข้าใกล้ไข้หวัดใหญ่

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า โควิด 19

ทุบสถิติปีนี้! ไทยติดโควิดใหม่รายสัปดาห์ทะลุ 2.7 พันคน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 2 - 8 มิถุนายน 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ รักษาในโรงพยาบาล