สายพันธุ์ลูกผสม XBB ยึดครองเรียบร้อย กรมวิทย์ฯเผยพบผู้ติดเชื้อกระจายทุกเขตสุขภาพแล้ว

9 พ.ค. 2566- นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ อัพเดทสถานการณ์ การเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 และสายพันธุ์ที่เฝ้าติดตามในประเทศไทย โดย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับ เครือข่ายห้องปฏิบัติการ ติดตามการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์เชื้อไวรัส SARS-CoV-2 อย่างต่อเนื่อง โดยสองสัปดาห์ก่อนองค์การอนามัยโลก (WHO) ปรับชนิดสายพันธุ์ที่ติดตามใกล้ชิด โดยเพิ่ม XBB.1.16 เป็นสายพันธุ์ที่เฝ้าระวัง หรือ Variants of Interest (VOI) ล่าสุดต้นเดือนพฤษภาคม 2566 องค์การอนามัยโลกปรับเพิ่ม XBB.1.9.2 เป็นสายพันธุ์ที่ต้องจับตามอง หรือ Variants under monitoring (VUM)
1) VOI 2 สายพันธุ์ ได้แก่ XBB.1.5 และ XBB.1.16
2) VUM 7 สายพันธุ์ ได้แก่ BA.2.75, CH.1.1, BQ.1, XBB, XBB.1.9.1, XBB.1.9.2 และ XBF
สถานการณ์สายพันธุ์เชื้อ SARS-CoV-2 ทั่วโลกอ้างอิงจากฐานข้อมูลกลาง GISAID ในรอบสัปดาห์ 10-16 เมษายน 2566 พบสัดส่วนของสายพันธุ์แตกต่างจากรอบ 1 เดือนก่อนหน้า ดังนี้

XBB.1.5* รายงานจาก 106 ประเทศ คิดเป็นร้อยละ 46.7 ลดลงจากร้อยละ 49.3

XBB.1.16* รายงานจาก 40 ประเทศ คิดเป็นร้อยละ 5.7 เพิ่มจากร้อยละ 2.0

XBB , XBB.1.9.1 และ XBB.1.9.2 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

BA.2.75, CH.1.1, BQ.1 และ XBF มีแนวโน้มลดลง


สถานการณ์ล่าสุดในไทยรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 1-7 พฤษภาคม 2566 มีการถอดรหัสพันธุกรรม เชื้อก่อโรคโควิด 19 จำนวน 372 ราย พบเป็นสายพันธุ์ลูกผสม 323 ราย คิดเป็น 86.8% โดยพบผู้ติดเชื้อกระจายทุกเขตสุขภาพ สัดส่วนสายพันธุ์ที่ตรวจในสัปดาห์นี้ พบสายพันธุ์ลูกผสมมากกว่า 74 % ในทุกเขตสุขภาพ ยกเว้นเขตสุขภาพที่ 5 ซึ่งมีตัวอย่างส่งตรวจน้อย พบมากที่สุดเป็นสายพันธุ์ XBB.1.16 คิดเป็น 27.7 % รองลงมาคือสายพันธุ์ XBB.1.5 คิดเป็น 22.0 % ในขณะที่ BN.1 ซึ่งเคยเป็นสายพันธุ์หลักในไทยตั้งแต่ช่วงสิ้นปี 2565 มีสัดส่วนลดลง


นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวต่อว่า ตามที่ WHO ได้ประกาศยุติภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขโลก (Public Health Emergency of International Concern) ของโรคโควิด 19 ที่ใช้มานานกว่า 3 ปี หลังพบตัวเลขผู้เสียชีวิตลดลง และผู้คนกลับมาใช้ชีวิตปกติ อย่างไรก็ตาม WHO ยังย้ำว่า แม้สถานการณ์ฉุกเฉินจะจบลง แต่ก็จะยังคงเฝ้าระวังเชื้อก่อโรค โควิด 19 สายพันธุ์ใหม่ที่เป็นอันตรายต่อสถานการณ์สาธารณสุขโลกต่อไป รวมทั้งประเทศไทยเองยังคงมีมาตรการรับมือ โควิด 19 เช่นเดิม สำหรับประชาชนแนะนำให้ระมัดระวังในการปฏิบัติตัว ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัยหากต้องไป ร่วมกิจกรรมที่มีคนจำนวนมากหรือไปในที่สาธารณะ และการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ยังมีความจำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเปราะบางหรือกลุ่มเสี่ยง 608 จะช่วยลดอาการหนักและเสียชีวิตได้


“กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ประสานขอให้โรงพยาบาลทั่วประเทศส่งตัวอย่างผู้ป่วยโควิด 19 ทั่วประเทศ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาตรวจสายพันธุ์เพิ่มขึ้น ขอให้ความมั่นใจว่ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และเครือข่ายจะยังคง เฝ้าระวังติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อ SARS-CoV-2 อย่างต่อเนื่อง และเผยแพร่บนฐานข้อมูลสากล GISAID อย่างสม่ำเสมอ” นายแพทย์ศุภกิจ กล่าว

ด้านนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า แม้องค์การอนามัยโลกจะออกประกาศยกเลิกให้โรคโควิด 19 เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ ทำให้ประชากรทั่วโลกสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ แต่โรคโควิดยังคงมีอยู่เหมือนโรคไข้หวัดใหญ่ คือ เมื่อถึงช่วงหนึ่งที่ภูมิคุ้มกันในคนลดลงจะทำให้มีการระบาดเพิ่มขึ้น แต่จะไม่มีการระบาดใหญ่เหมือนที่ผ่านมา ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ปรับมาตรการรองรับ โดยการฉีดวัคซีนโควิด 19 ประจำปี พร้อมทั้งเฝ้าระวังการระบาดในคนและการกลายพันธุ์ของเชื้อ โดยรณรงค์ให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนโควิด 19 พร้อมกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพื่อป้องกันก่อนเข้าหน้าฝนที่จะมีการระบาดของทั้ง 2 โรค ซึ่งหลังดำเนินไปตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา เบื้องต้นยังไม่พบผลข้างเคียงของการรับวัคซีนคู่ ดังนั้น ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงสามารถเข้ารับบริการได้ตามความสมัครใจ โดยจะรับวัคซีนอย่างใดอย่างหนึ่งก่อน หรือจะรับวัคซีนทั้ง 2 ชนิดพร้อมกันก็ได้

“ช่วงเปิดเทอม เป็นสถานการณ์หนึ่งที่มีความเสี่ยงจะเกิดการระบาดของโรคทางเดินหายใจได้ เนื่องจากมีการรวมตัวของเด็กนักเรียน มาตรการสำคัญจึงเป็นเรื่องของการเฝ้าระวัง โดยหากเด็กมีอาการป่วย พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรให้หยุดพักรักษาตัวที่บ้าน หากอาการไม่ดีขึ้นให้พาไปพบแพทย์ รวมถึงพาเด็กเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ตามกำหนด ส่วนโรงเรียนหากพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนหรือมีความผิดปกติ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไปตรวจสอบ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดในสถานศึกษา” นายแพทย์โอภาสกล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอยง' ชี้ 'โควิด' ระบาดหนัก แต่รุนแรงลดลง เข้าใกล้ไข้หวัดใหญ่

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า โควิด 19

‘เศรษฐา’ ลาป่วยติดโควิด กลับมาปฎิบัติงานวันที่ 19 มิ.ย.นี้

นายกรัฐมนตรี ได้พบแพทย์ หลังจากมีอาการป่วย อ่อนเพลียเล็กน้อย ตั้งแต่วันศุกร์ ที่ 14 มิถุนายน ที่ผ่านมา ผลการตรวจพบว่าติดโควิด

ทุบสถิติปีนี้! ไทยติดโควิดใหม่รายสัปดาห์ทะลุ 2.7 พันคน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 2 - 8 มิถุนายน 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ รักษาในโรงพยาบาล