วันเดียวเที่ยวเมืองเพชร เข้าสวนทำขนมตาล ลิ้มรสข้าวห่อใบบัว

เขาวังอีกหนึ่งสัญลักษณ์เมืองเพชร

“เขาวังคู่บ้าน ขนมหวาน เมืองพระ เลิศล้ำศิลปะ แดนธรรมะ ทะเลงาม” นี่คือคำขวัญประจำจังหวัดเพชรบุรี ที่สะท้อนถึงตัวตนและเอกลักษณ์ของจังหวัด ได้อย่างดี  เพราะเมืองเพชรมีทั้งป่าเขา ทะเล และมีความเก่าแก่ของบ้านเมืองตลอนจนวิถีชีวิตของผู้คน นอกจากนั้น ในด้านศิลปะ โดยเฉพาะในเชิงช่าง ถือว่ามีเอกลักษณ์เป็นหนึ่ง ไม่รองใครในประเทศไทย  ยิ่งขนมหวานก็ขึ้นชื่อลือชา

มุมไกลๆเห็นยอดของพระปรางค์ มหาธาตุ

ถ้าไปสัมผัสเพชรบุรีด้วยตัวเอง แล้วจะรู้ว่าคำขวัญจังหวัดไม่เกินความเป็นจริง  ซึ่งการเดินทางมาเที่ยวที่เพชรบุรีใครใคร่สะดวกมารถส่วนตัวก็ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯราวๆ 2 ชั่วโมง หากอยากจะใช้เวลาให้คุ้มค่ากับการเดินทาง  ลองเลือกมาทางรถไฟก็ไม่เลว  ได้ชมวิวของจังหวัดทางผ่าน ลิ้มรสอาหารบนรถไฟก็เข้าท่าดี เพียงแต่ว่าอาจจะต้องทำใจกับเวลาที่ช้าไปนิด หรืออีกทางเลือกก็มีรถโดยสารจากท่ารถสายใต้ หรือหมอชิต คณะเราไปโดยรถตู้เพราะไปกันหลายคน แวะหลายจุด ซึ่งแต่ละจุดก็มีความสวยงามและน่าสนใจ  

นั่งรถชิวๆชมเมืองเก่าเพชรบุรี

จากกรุงเทพฯมุ่งหน้าสู่ตัวเมืองเพชรบุรี จุดหมายแรกแวะรองท้องยามเช้าเบาๆกันที่ นาบุญข้าวหอม ต.ไร่ส้ม อ.เมือง โดยมีลุงจี๊ด-นริศ เจียมอุย เจ้าของนา ที่ริเริ่มในการทำพื้นที่เรียนรู้การทำนาด้วยภูมิปัญญาโบราณ และวิธีการแบบสมัยใหม่  ผสมผสานไปกับการท่องเที่ยวด้วย ซึ่งหากนักท่องเที่ยวเดินทางมาใรช่วงหน้าทำนาก็จะได้ชมพิธีแรกนา การนวดข้าวด้วยควาย ลีลาการเกี่ยวข้าว เป็นต้น  วันที่คณะได้เดินทางไปตรงกับวันเสาร์พอดี  เพราะทุกเสาร์ที่นี่จะมี”ตาหลาดนาพาเพลิน” เปิดตั้งแต่ 06.00-10.00 น.  ซึ่งชาวบ้านก็จะนำพืชผลทางเกษตร อาหาร ขนมหวานพื้นบ้านต่างๆ มาขาย สร้างความคึกครื้นเป็นสีสันให้กับนักท่องเที่ยว โดยกิจกรรมหลักก็จะมีการตักบาตรถวายข้าวใหม่กับพระภิกษุ  และทานอาหารเช้าสไตล์พื้นบ้าน ปลุกความเป็นแม่ครัวในตัวเรา

รถรางคันโก๋ พาชมเมืองเพชร

สำหรับมื้อเช้านี้ลุงจี๊ดบอกว่า เป็นเมนูข้าวห่อใบบัว โดยใช้ใบบัวหลวง ข้าวกล้องหอมมะลิที่มาจากนาผืนนี้ พร้อมใส่กับข้าวคือ ปลาทูทอด ชะอมทอดไข่ กุ้ง ไข่เค็ม หมูหวาน น้ำพริกมะขามและผักตามใจชอบ ลุงจี๊ดลองให้ห่อใบบัวที่ใส่ข้าวและกับข้าวไว้แล้ว ทีแรกดูเหมือนง่ายแต่ก็ไม่ง่ายเสียทีเดียว เพราะวิธีการมัดจะต้องมีความระมัดระวังไม่ให้กับข้าวหกออกมา จะต้องใส่ปริมาณข้าวให้เหมาะสมกับขนาดของใบบัวด้วย หลังจากที่มัดใบบัวเสร็จเรียบร้อย เราถึงได้เข้าใจว่าเอกลักษณ์ของข้าวห่อใบบัวคือ กลิ่นในระหว่างที่ข้าวร้อนๆอบอยู่ในใบบัวจะมีข้าวหอมเฉพาะตัวๆ ชวนให้อยากกินมากยิ่งขึ้น

ศาลาการเปรียญ วัดใหญ่สุวรรณาราม

หลังจางท้องอิ่มมีเรี่ยวแรงขึ้นมา ก็ไปต่อที่กิจกรรม นั่งรถรางชมเมืองเพชร เป็นเหมือนการเที่ยวตัวเมืองเพชรบุรีฉบับย่อที่จะทำให้เราสัมผัสความเป็นมาของเพชรบุรี ในอดีตที่เป็นเมืองเก่าแก่ มีความเจริญรุ่งเรืองมากในช่วงอยุทธยาตอนปลาย ทำให้มีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรมของวัดเก่าแก่มากมาย และชมวิถีของชาวเมืองเพชรที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองแห่งน้ำตาลโตนด เกลือ และข้าวได้แบบรวบรัด   โดยจุดขึ้นรถจะอยู่ตรงสถานีดีจัง บริเวณเชิงทางขึ้นเขาวัง ผู้โดยสารพร้อม รถรางก็เคลื่อนตัวออกทันทีเราใช้เวลาบนรถราราวๆ 1 ชั่วโมง พร้อมกับวิทยากรที่ให้ความรู้

ภายในศาลาการเปรียญ วัดใหญ่สุวรรณารามฯ

เข้าสู่ถนนโบราณเส้นเขาบันอิฐ มองรอบนอกจะได้เห็นบรรยากาศของเมืองเพชรบุรีที่ล้อมไปด้วยภูเขาถึง 4 ลูก ได้แก่ เขาบันไดอิฐ เขาวัง เขาพนมขวด และเขาหลวง ซึ่งเขาแต่ละลูกล้วนเป็นที่ตั้งของศาสนสถานที่สำคัญ สะท้อนให้เห็นถึงความรุ่งเรืองของเมืองเพชรบุรี  เมื่อวิ่งเข้ามาในเขตเมืองเก่าที่เต็มไปด้วยวัดจำนวนมากไม่ต่ำกว่า 30 วัด  บ่งบอกได้เป็นอย่างดีเลยว่า ในอดีตเพชรบุรีเป็นแหล่งการค้าเมืองมั่งคั่ง ทำให้ผู้คนมีทรัพย์และความศรัทธาต่อพุทธศาสนา แสดงออกด้วยการนำเงินมาทำนุบำรุงศาสนา อย่างที่รถรางได้แล่นผ่านวัดคงคารามวรวิหาร วัดโคก วัดยาง วัดกุฏีดาว

รูปแบบศิลปะอยุธยาประตูจำหลักไม้ลายก้านขด

มาถึงถนนนอกซึ่งเป็นตรอกโบราณ ที่มีการนำลูกตาลสดเข้ามาขาย บ้านเรือนบริเวณนั้น ยังเป็นบ้านไม้ หรือบ้านทรงปั้นหยาอยู่ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้เพชรบุรีได้รับการประกาศให้เป็นย่านเมืองเก่า ตรงถนนเส้นนี้จะผ่านวัดมหาธาตุวรวิหาร ซึ่งพระปรางค์มหาธาตุได้มีรูปแบบศิลปะอยู่ในช่วงรัชกาลที่ 7 มีอายุราวๆ 500-600 ปี และมีความโดดเด่นด้วยงานปูนปั้นของช่างเมืองเพชรตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 3  ในย่านนี้ยังขึ้นชื่อเรื่องก๋วยเตี๋ยวอร่อย ผ่านวัดพลับพลาชัย อีกวัดโบราณสำคัญ ที่ในปัจจุบันมีการสืบสานภูมิปัญญาการแสดงหนังใหญ่

จิตรกรรมบนกำแพงไม้ของศาลาการเปรียญ

ผ่านสะพานจอมเกล้า สะพานปูนแห่งแรกของจังหวัดเพชรบุรี สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งก็ได้มีการบูรณะเนื่องจากสะพานเดิมมีการชำรุด เข้าสู่ถนนพงสุริยาเพื่อชมบรรยากาศของตลาดสดที่มีอาหารคาว ขนมหวาน และของสด ผักผลไม้ขายหลากหลาย มาแวะที่วัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหาร เป็นจุดเดียวที่รถรางจะจอดให้ชาวคณะลงจากรถไปชื่นชมความสวยงามของวัด

พระพุทธรูปประธานภายพระอุโบสถ วัดใหญ่สุวรรณารามฯ

วัดใหญ่สุวรรณารามแห่งนี้ เป็นแหล่งรวมศิลปสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาที่มีคุณค่าเพราะรอดพ้นจากการในช่วงที่มีสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยา และยังคงสภาพให้เราได้เห็นในปัจจุบัน เวลาที่จำกัดเราจะพาไปชมจุดสำคัญของวัดคือ ศาลาการเปรียญ ซึ่งเดิมเป็นพระตำหนักเป็นของเจ้าฟ้าพระขวัญ และต่อเนื่องมาถึงพระสรรเพชญ์ที่ 8 หรือพระเจ้าเสือ  ในสมัยกรุงศรีอยุทธยา ต่อมาได้มีการรื้อโครงสร้างเพื่อนำถวายพระสังฆราชแตงโม มีลักษณะเป็นโครงสร้างไม้ยกพื้น หน้าบันทิศตะวันตกมีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมเรียกว่า มุขประเจิด ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของงานช่างอยุธยา เดินขึ้นมาจะพบกับประตูจำหลักไม้ลายก้านขด ฝาผนังเป็นภาพจิตรกรรมเขียนสีฝุ่น เสายึดอาคารทุกต้นมีการลงรักปิดทองมีลวดลายแตกต่างกันไปตามจินตนาการของช่วงในสมัยนั้น

น้ำตาลปึก เคี่ยวสดๆใหม่ๆ

จากนั้นก็เข้าไปสักการะพระพุทธรูปประธาน ประจำพระอุโบสถ ซึ่งด้านในพระอุโบสถงดงามด้วยจิตรกรรมรูปเทพชุมนุม ซึ่งเอกลักษณ์ของงานศิลป์ที่นี้ใบหน้าของเทพหรืออสูรจะเป็นลักษณะคล้ายกับใบหน้าบุคคล แม้ว่าตัวพระอุโบสถจะมีรูปแบบของศิลปอยุธยา แต่ศาลาคตที่ล้อมรอบนั้นก่อสร้างขึ้นในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงจะสร้างขึ้นคนละยุคสมัยแต่ก็มีความงดงามอย่างลงตัว

ขนมตาลกิจกรรมทำในสวนต้นตาล

วิทยากรเรียกรวมพลขึ้นรถรางเพื่อกลับไปยังสถานีดีจัง จบกิจกรรมนั่งรถราง ซึ่งคุ้มค่ามากๆ เพราะสำหรับบางคนที่อาจมีเวลาเที่ยวที่จำกัดแต่อยากเที่ยวให้ครบทุกที่ แถมยังได้ความรู้เกี่ยวกับเมืองเพชร การนั่งรถรางก็ถือว่าดีทีเดียว สำหรับกิจกรรมรถรางจะทุกวันเสาร์ และในเสาร์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคม 2566 นี้จะสิ้นสุดการให้บริการกิจกรรมรถรางแล้ว สำหรับผู้สนใจสามารถโทร.สอบถามได้ที่กลุ่มลูกหว้า เพชรบุรี 082-0859780

ข้าวห่อใบบัว อาหารพื้นบ้านที่สุดแสนจะมีเสน่ห์

ปิดทริปเพชรบุรี ที่ศูนย์เรียนรู้ ทุ่งนาป่าตาล ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านไร่กร่าง ต.ไร่สะท้อน อ.บ้านลาด เพราะอำเภอนี้ชื่อว่ามีการปลูกต้นตาลมากที่สุดในจังหวัด จึงมีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ขึ้น ตั้งการเคี่ยวน้ำตาลโตนด เพื่อมาทำเป็นน้ำตาลปึก ซึ่งขั้นตอนกระบวนต้องใช้เวลาตั้งแต่เช้า เรามาถึงนั้นน้ำตาลโตนดก็เกาะตัวกันแปรสภาพเป็นน้ำตาลปึกแล้ว อีกส่วนการทำขนมตาล น่าจะเป็นกิจกรรมที่หลายๆคนชื่นชอบ เพราะจะได้เรียนรู้ทั้งสวนผสม วิธีการทำ จนออกมาเป็นขนมตาลรสชาติไม่หวานจนแสบคอ แค่หวานกำลังพอดีเลย น้ำตาลโตนด จึงไม่แปลกเลยที่จะเห็นสวนต้นตาลอยู่มากมาย  

ขนมครกเตาถ่านร้อนๆ ที่ตาหลาดนาพาเพลิน

จริงๆแล้ว เพชรบุรียังมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกมาก สำหรับวันเดย์ทริปกับกิจกรรมที่ได้ทำถือว่าได้สัมผัสเพชรบุรีในอีกมุมที่ฉายภาพความศรัทธาของผู้คนต่อแห่งพุทธศาสนา  แหล่งผลผลิตทางเกษตรช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับชุมชน และแน่นอนว่าเราจะต้องกลับไปเที่ยวเพชรบุรีอีกสักครั้ง

บรรยากาศตลาดสดในเมืองเพชร

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แปลงใหญ่กล้วยน้ำว้า เพชรบุรี วางแผนกู้วิกฤต

นายวีรศักดิ์ บุญเชิญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตร เช่นเดียวกับเกษตรกรแปลงใหญ่กล้วย หมู่ 2,3,6

สปส.มอบสุข ตรวจเยี่ยมและติดตามคุณภาพชีวิตผู้ประกันตนทุพพลภาพ จ. เพชรบุรี

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้ นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ลงพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี โดยมี นางวันทนา ณัฐพูลวัฒน์ ผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม นางรัศมี สุจโต ประกันสังคมจังหวัดเพชรบุรี นางสาวสรันยา สุวรรณวัฒน์

“ถ้ำเสือ” จากตำนานสู่การจัดการป่า สร้างฝายมีชีวิต สร้างเศรษฐกิจชุมชน อย่างยั่งยืน

มีตำนานเล่าขานของบ้านถ้ำเสือในอดีต สภาพบริเวณแถวนี้เป็นป่าดงดิบที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีสัตว์นานาชนิดอาศัยอยู่ และยังมีสัตว์ป่าดุร้าย ช้างป่า ม้า เสือ