ประเทศไทยมีวัฒนธรรมประเพณีที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ดนตรีและการแสดงพื้นบ้านเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ แต่วิถีชีวิตและสื่อใหม่ในปัจจุบัน ทำให้สิ่งเหล่านี้เลือนหายไป การขยายผล ต่อยอดการแสดงพื้นบ้าน โดยพัฒนาทักษะและเทคนิคการแสดงผ่านการจัดประกวดจึงเปิดเวทีประกวดดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พุทธศักราช 2566 ภายใต้แนวคิด “รวมศิลป์ แผ่นดินสยาม” ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้และภาคเหนือ ที่จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม และสมาคมศิลปินพื้นบ้าน เพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่สืบสานวัฒนธรรมควบคู่กับการยกระดับดนตรีและการแสดงพื้นบ้านสู่สากล
อิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่าดนตรีและการแสดงพื้นบ้านเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์ไว้ ซึ่งแต่ละภูมิภาคจะมีศิลปะการแสดงที่แสดงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ
ในปัจจุบันดนตรีและการแสดงพื้นบ้านได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสโลก หากไม่ช่วยกันอนุรักษ์ สืบสาน รักษาและต่อยอด อาจเสี่ยงต่อการสูญหาย กระทรวงวัฒนธรรม มีความมุ่งมั่นในการส่งเสริม อนุรักษ์ ผลักดันให้ ดนตรี และการแสดงพื้นบ้านทั้ง 4 ภาค ยังคงอยู่กับประเทศไทย
“ เวทีนี้เปิดโอกาสให้คณะนักแสดงได้สร้างสรรค์ชุดการแสดงที่บ่งบอกถึงวิถีชีวิต ความเชื่อ พิธีกรรม วรรณคดี วรรณกรรมพื้นบ้าน ประเพณี สะท้อนอัตลักษณ์ของแต่ละภูมิภาค ทั้งนี้ มีทีมสมัครเข้าประกวด 40 ทีม ความพิเศษตรงที่ไม่จำกัดอายุของผู้เข้าประกวด เพื่อมุ่งส่งเสริม รักษา ต่อยอด และเปิดพื้นที่ให้ศิลปินพื้นบ้านแขนงต่าง ๆ ทั้งเด็ก เยาวชน และประชาชน ได้มีโอกาสร่วมถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมการแสดง และมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมท้องถิ่นไปสู่สายตาประชาชน “ รมว.วธ. กล่าว
ด้าน โกวิท ผกามาศ อธิบดี สวธ. กล่าวว่า การจัดประกวดเป็นการเปิดพื้นที่ให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชน สร้างมิติใหม่ให้วัฒนธรรมมีความร่วมสมัย ยกระดับขีดความสามารถของดนตรี พัฒนาเทคนิคทางการแสดง ให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณฯ พระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศ ในการประกวดของแต่ละปีอย่างต่อเนื่อง โดยจัดประกวด 4 ประเภท การประกวดรวมศิลป์พื้นบ้านภาคกลาง เริ่มในวันที่ 16 พ.ค. 2566 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา การประกวดรวมศิลป์พื้นบ้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วันที่ 23 พ.ค. ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด การประกวดรวมศิลป์พื้นบ้านภาคใต้ วันที่ 31 พ.ค. ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา จ.สงขลา และ จบการประกวดรวมศิลป์พื้นบ้านที่ภาคเหนือ วันที่ 7 มิ.ย. ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่
ทั้งนี้ ทีมผู้ชนะการประกวดจะได้รับเงินรางวัลรวม 4 ภาค 1,000,000 บาท ประกอบด้วยรางวัลชนะเลิศ ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานฯ เงินรางวัล 100,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้รับถ้วยรางวัลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เงินรางวัล 80,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้รับถ้วยรางวัลจากปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เงินรางวัล 50,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร และ รางวัลชมเชย ภาคละ 2 รางวัล ได้รับเงินรางวัล ๆ ละ 10,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร ติดตามรายละเอียดกิจกรรมการประกวดได้ทาง www.culture.go.th หรือ เฟสบุ๊คกรมส่งเสริมวัฒนธรรม และ line@วัฒนธรรม
สำหรับคณะกรรมการตัดสินการประกวด 4 ภูมิภาค ประกอบด้วย นายธนวัฒน์ ราชวัง ประธานกรรมการตัดสินการประกวดภาคเหนือ ผศ.ขวัญใจ คงถาวร กรรมการตัดสินการประกวดภาคกลาง ผศ.สุขสันติ แวงวรรณ กรรมการตัดสินการประกวดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และนายพงศ์พันธ์ เพชรทอง กรรมการตัดสินการประกวดภาคใต้ ต้องติดตามและให้กำลังใจเหล่าเยาวชนคนรุ่นใหม่และประชาชนทั่วไปที่จะสร้างสรรค์ผลงานในการประกวดแต่ละประเภท เพื่อให้ประสบความสำเร็จและชนะใจกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แสดง'โขน-โนรา'สานสัมพันธ์ที่เขมร
25 พ.ย.2567 - นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มีนโยบายนำมิติทางศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมมาส่งเสริมความร่วมมือและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศไทยในภูมิภาคอาเซียนและเวทีนานาชาติ
ย้อนเวลา 4 วัด 1 วัง เมื่อครั้งต้นกรุงฯ
ชวนแต่งชุดไทยเดินทางย้อนเวลากลับไปสู่ช่วงต้นกรุงศรีอยุธยา ดื่มด่ำกับบรรยากาศโบราณสถานยามค่ำคืนที่งดงามในงาน “ 4 วัด 1 วัง เมื่อครั้งต้นกรุงฯ” ภายใต้แนวคิด “ย้อนเวลา ส่องวิถี ปลุกแสงสี พระนครศรีอยุธยา” โดยจะจัดกิจกรรมตามวัดและโบราณสถานที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์
สืบสานประเพณีถวายผ้าพระกฐินวัดหนองแวง แหล่งรวมมรดกวัฒนธรรม
5 พ.ย.2567 - นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า เนื่องในเทศกาลกฐิน พุทธศักราช 2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานผ้าพระกฐินให้กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) นำไปถวายพระสงฆ์ที่จำพรรษา
'หมูเด้ง' ซุปตาร์ดันวัฒนธรรมไทยสู่ระดับโลก
“หมูเด้ง”ซุปเปอร์สตาร์ฮิปโปแคระที่โด่งดังเป็นไวรัลทั่วโลกจากความน่ารักขี้เล่น สื่อต่างประเทศนำไปลงข่าว นิตยสาร TIME พาดหัวข่าวเป็นไอคอนไลฟ์สไตล์ที่กิน นอน และแอคชั่นดราม่า สร้างปรากฎการณ์หมูเด้ง ช่วยให้ยอดนักท่องเที่ยวเข้าชมสวนสัตว์เปิดเขาเขียว จ.ชลบุรี เพิ่มทวีคูณ
ลอยกระทงวิถีไทย สืบสานประเพณีงดงาม
วันลอยกระทงปีนี้ ตรงกับวันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน 2567 จัดเป็นเทศกาลประเพณีสำคัญของคนไทยที่จะได้ร่วมกันสืบสานคุณค่าประเพณีอันดีงาม โดยการทำกระทงสวยงามหลากหลายรูปแบบ นำไปลอยตามแม่น้ำลำคลอง เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ