KBTG เผยวิสัยทัศน์และมุมมอง AI ต่อเติมศักยภาพคน - อยู่ร่วมกับมนุษย์ได้

ต้องยอมรับว่า AI หรือปัญญาประดิษฐ์ จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเมื่อไม่นานมานี้  นักวิทยาศาสตร์ ได้เปิดตัว Chat GPT  ที่เป็นแชทบอทปัญญาประดิษฐ์ ต้นแบบที่พัฒนาโดยโอเพนเอไอ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการสนทนา  สร้างความตื่นตะลึงให้กับทั้งโลก และตระหนักว่าการพัฒนาเทคโนโลยีช่างไปไกลเหลือเกิน พร้อมกับต้องยอมรับว่าการพัฒนาใช่ว่าจะหยุดเพียงแค่นี้

ความสามารถของChat GPT ในเวอร์ชั่นล่าสุดGPT -4  มีความสามารถสูงอย่างน่าตกใจ  โดยไอแซค โคเฮน (Isaac Kohane) นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ที่ฮาร์วาร์ด และแพทย์ ได้ร่วมมือกับเพื่อนร่วมงานอีก 2 คนเพื่อทดสอบไดรฟ์ GPT-4 โดยมีเป้าหมายเพื่อดูว่าโมเดลปัญญาประดิษฐ์ใหม่ล่าสุดจาก OpenAI ทำงานอย่างไรในสภาพแวดล้อมทางการแพทย์ และพบว่า GPT-4  สามารถวินิจฉัยสภาวะหรือโรคที่หายากได้ แม้จะยังมีข้อผิดพลาดอยู่บ้าง

เมื่อความสามารถของ AI  มีแนวโน้มว่าจะล้ำหน้ามนุษย์ แล้วเราจะอยู่ร่วมกับ AI ได้อย่างไร เรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) เปิดเผยว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลายธุรกิจมองว่า AI หรือปัญญาประดิษฐ์ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในหลายส่วน โดยเฉพาะ Generative AI อย่าง ChatGPT ที่มาแรงอยู่ขณะนี้ จนเกิดเป็นกระแสว่าในอนาคตอันใกล้ AI อาจจะเข้ามาแทนที่การทำงานของมนุษย์ได้ทุกอย่าง แท้ที่จริงแล้วการที่จะใช้ AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนที่สุดคือการที่ “มนุษย์” กับ “AI” ทำงานร่วมกัน กลายมาเป็นแนวคิด Augmented Intelligence หรือการใช้ AI ยกระดับการทำงานและความสามารถของมนุษย์ ที่ไม่ได้หมายความว่าทดแทน ผ่านการสร้างโมเดล Machine Learning ที่วางคนเป็นศูนย์กลาง (Human-Centric) โดย AI สามารถรับฟีดแบ็คและประสบการณ์ต่างๆ จากมนุษย์ พัฒนาข้อมูลออกมาเป็นแนวทางที่กลับมาช่วยให้มนุษย์สามารถทำการตัดสินใจและกระทำการบางอย่างได้อย่างถูกต้องและแม่นยำมากยิ่งขึ้น

และจากแนวคิด Augmented Intelligence นี้ ทาง KBTG ได้นำมาพัฒนาต่อยอดสู่การวิจัยด้าน AI และพัฒนาผลิตภัณฑ์บริการให้กับธนาคารกสิกรไทย เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นให้ลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing – NLP) ที่เป็นกลไกเบื้องหลัง Chatbot ช่วยแนะนำการตอบปัญหาลูกค้าผ่านช่องทางโซเชียลต่างๆ จนปัจจุบันช่วยประหยัดเวลาของลูกค้าในการใช้งานจริงไปกว่า 300,000 ชั่วโมง หรือ Wealth PLUS ฟีเจอร์แนะนำการลงทุนบนแอป K PLUS เป็นต้น

ทั้งนี้ สำหรับการวิจัยและพัฒนาต่อยอดงานด้าน AI ที่ KBTG ทำร่วมกับ MIT Media Lab ก่อนหน้านี้เคยได้มีการเปิดตัวผลงาน “Future You” แพลตฟอร์ม AI ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถสนทนากับ Digital Twin ของตัวเองในอนาคตผ่านโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (GPT) ที่ปรับให้เหมาะสมตามข้อมูลเป้าหมายในอนาคตและนิสัยส่วนบุคคลของผู้ใช้ เพื่อให้การสนทนารู้สึกเหมือนจริงและเพิ่มความน่าเชื่อถือ ระบบจะสร้างความทรงจำสังเคราะห์เฉพาะบุคคลของผู้ใช้งานในอนาคตในวัย 60 ปี พร้อมปรับให้ภาพเหมือนของผู้ใช้เปลี่ยนไปตามอายุ

งานวิจัยชิ้นนี้พัฒนามาจากทฤษฎีทางจิตวิทยาที่ศึกษา “ความต่อเนื่องของตัวเองในอนาคต” หรือ “Future Self Continuity” ว่าด้วยความความเชื่อมโยงที่บุคคลรู้สึกกับตัวเองในอนาคต ซึ่งจากผลจากการศึกษาเบื้องต้นกับผู้เข้าร่วม 188 คน ผู้ใช้ที่ได้สนทนากับตัวเองในอนาคตผ่านเทคโนโลยี Future You สามารถช่วยลดความรู้สึกด้านลบ เช่น ความวิตกกังวล และเพิ่มความการคิดเชิงบวกเเละเเรงจูงใจในการใช้ชีวิตได้ รวมถึงมีทัศนคติต่ออนาคตในทางบวกมากขึ้น มีเเรงบันดาลใจในการทำเป้าหมายในอนาคตให้สำเร็จ

นอกจากนี้ KBTG และ MIT Media Lab ยังได้พัฒนาต่อยอด AI ไปสู่งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง คือ K-GPT (Knowledge-GPT) ซึ่งเป็นการใช้ความสามารถของ ChatGPT ในการให้ความรู้เชิงลึกเฉพาะด้าน โดยปรับให้ใช้ภาษาในการสนทนาที่เป็นมนุษย์มากขึ้น รวมถึงเสริมความเชี่ยวชาญด้านภาษาไทยให้มากยิ่งขึ้น สามารถตอบคำถามและแนะแนวทาง เสมือนเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้ถามในแง่มุมที่แตกต่างกันพร้อมๆ กันได้ โดย KBTG Labs และนักศึกษาจาก MIT Media Lab ได้ร่วมกันสร้างงานวิจัย Proof of Concept ที่ชื่อว่า “คู่คิด” ผ่าน AI น้องคะน้าและคชาที่จะตอบคำถามในมุมที่ต่างกัน เพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้ใช้งาน

สำหรับสองงานวิจัยนี้ KBTG ต้องการที่จะทดลองและสาธิตเห็นว่า AI สามารถให้ข้อมูลที่ช่วยให้การตัดสินใจของมนุษย์ดีขึ้น ด้วยการปรับเปลี่ยนปัจจัยในแง่มุมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปลักษณ์  ภาษา ความลึกของความรู้ และอารมณ์  

โดยล่าสุด KBTG ได้ร่วมมือกับ NECTEC และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสวนาหารือความเป็นไปได้ในการเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจในการนำ AI ไปใช้งาน หรือ AI Literacy ให้เกิดขึ้นในวงกว้างของประเทศ โดยทั้งสามสถาบันกำลังร่วมกันเขียน Whitepaper เพื่อเป็นไกด์ไลน์เผยแพร่ให้กับบุคคลทั่วไปที่ต้องการมีทักษะในการใช้งาน AI อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากการสร้างผลงานวิจัยและการพัฒนาในภาคธุรกิจแล้ว การพัฒนาคนด้าน AI ของประเทศไทยในมุมของภาครัฐบาลก็เป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาควบคู่กันไป ในการที่จะสร้างความตระหนักด้าน AI (AI Awareness) รวมถึงแนวทางให้กับคนไทย เพื่อให้คนสามารถอยู่ร่วมกับ AI และใช้งาน AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้ที่สนใจในการพัฒนาต่อยอดเรื่องของ AI ในประเทศไทยร่วมกับทาง KBTG สามารถติดต่อได้ที่ [email protected]

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

”พิพัฒน์“ เปลี่ยนกระทรวงสู่ยุคAI สร้างทักษะการใช้ AI บริการหางาน พัฒนาฝีมือ แจ้งข้อร้องเรียน รับสิทธิประกันสังคม ให้สะดวก รวดเร็วขึ้น .

วันที่ 23 ธันวาคม 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในงานการประชาสัมพันธ์ด้านปัญญาประดิษฐ์และการนำไปใช้สำหรับบุคลากรภาครัฐ (Kick off Artificial Intelligence Literacy for Government officer)

'ทักษิณ' ลั่นล้านเปอร์เซ็นต์ 'เกาะกูด' ของไทย ไม่บ้ายกให้กัมพูชา จ่อติวเข้ม สส. แจงปชช.

'ทักษิณ' ลั่นล้านเปอร์เซ็นต์ 'เกาะกูด' เป็นของไทย โต้เฟกนิวส์ใช้เอไอปล่อยข่าวมั่ว ชี้ใครจะบ้ายกให้ เตรียมติว สส. เพื่อไทย แจงประชาชนถึงที่มา MOU 44

แนะธุรกิจรพ.-คลินิก เปลี่ยนผ่านสู่ยุค AI ด้วยการเชื่อมโยง HIS กับ ERP ยกระดับการให้บริการสาธารณสุขไทย

การขยายสิทธิประโยชน์ของบัตรทองในปี 2568 ภายใต้นโยบายของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มุ่งหวังให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

“สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา Better Regulation for Better Life : โอกาสและความท้าทายในยุคเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)”

การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน