หมอแจกแจง แต่ละเครื่องดื่มคลายร้อน ให้ความหวานเกินพิกัด 'สารให้ความหวาน'ก่อมะเร็ง เมนู 'อิ๊วโซดา' น่าตกใจคิดได้ไง น้ำเปล่าดีที่สุด

25 เม.ย.2566- ศ.พญ. ชุติมา ศิริกุลชยานนท์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยลัยรังสิต กล่าวถึงช่วงหน้าร้อนที่คนไทยส่วนใหญ่มักจะโหยหาน้ำดื่ม เพื่อดับกระหายและคลายร้อน การดื่มน้ำเปล่า จะดีที่สุดสำหรับร่างกายโดยเฉพาะช่วงเวลาอากาศร้อน ร่างกายของเราจะสูญเสียน้ำตลอดเวลา การดื่มน้ำจะช่วยให้ร่างกายลดอุณหภูมิได้ดี

เมื่อถามถึงเครื่องดื่มที่มีรสหวาน ทั้งน้ำอัดลม และเครื่องดื่มชงตามท้องตลาด ศ.พญ. ชุติมา กล่าวว่า หลายปีก่อนนักศึกษาโครงการการศึกษาความรอบรู้เฉพาะเรื่อง สนับสนุนโดยเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ทำการสำรวจเครื่องดื่มริมบาทวิถี เครื่องดื่มชง ย่านถนนราชวิถี รอบบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และถนนสีลม โดยนำข้อมูลมาวิเคราะห์หาปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มชงยอดฮิต ทั้งกาแฟเย็น ชาเย็น น้ำแดงโซดา ชาเขียวเย็น ชานมไข่มุก ฯลฯ พบปริมาณน้ำตาลเกินความต้องการที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน ตั้งแต่ 10-15 ช้อนชา/แก้ว ซึ่งคำแนะนำไม่เกิน 6 ช้อนชา/วัน

“การสำรวจพฤติกรรมการบริโภคหวานในกลุ่มคนไทย ไม่ว่าจะในเมือง หรือคนต่างจังหวัด วันนี้เราจะพบ เครื่องดื่มชงริมทางแบบนี้เต็มไปหมด ทั้งร้านขายกาแฟ ขายชานมไข่มุก จึงเชื่อว่า ข้อมูล ณ ปัจจุบันไม่ต่างกันมากนัก นับวันเครื่องดื่มชงร้านค้าริมทาง ปริมาณความหวานไม่ต่างจากน้ำอัดลมเลย มีแต่จะหวานมากขึ้นเรื่อยๆ ความหวานมาจากน้ำตาลที่ร้านค้าริมทางเติมเข้าไปไม่ต่ำกว่า 14-15 ช้อนชา ทั้งชาไข่มุก โกโก้ ซึ่งเครื่องดื่มบางชนิดก็จะหวานกว่านี้มาก ซึ่งนอกจากตัวน้ำตาลแล้ว อย่างชาไข่มุกจะมีแป้ง ร่างกายก็จะได้รับพลังงานสูงขึ้นไปอีก” ศ.พญ. ชุติมา ให้ข้อมูล และเห็นว่า การที่หลายคนดื่ม 1-2 แก้วต่อวัน ทำให้ร่างกายได้รับน้ำตาลเกินวันละ 6 ช้อนชา เมื่อหวานมาก พลังงานเยอะ เกิดการสะสม สิ่งที่จะตามมาคือ โรคอ้วน

ศ.พญ. ชุติมา กล่าวถึงการใส่น้ำเชื่อมกลูโคสไซรัปในเครื่องดื่มก็เช่นกัน ซึ่งกลูโคสไซรัปทำจากแป้งมันสำปะหลัง แป้งข้าวโพด แป้งข้าวเจ้า ผ่านขบวนการทางเคมี มีความเข้มข้นมาก ฉะนั้น ผู้บริโภคที่คิดว่า ไม่ได้กินน้ำตาลทราย แต่กลูโคสไซรัปมีความเข้มข้นมากได้รับพลังงานมากเช่นกัน

สำหรับเครื่องดื่มที่มีโซดาซึ่งเป็นน้ำที่มีการอัดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปเป็นส่วนประกอบ และคุณสมบัติรวมกับน้ำเป็นกรด เป็นฟองฟู่ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ ชี้ชัดว่า ตามหลักโภชนาการไม่ควรให้เด็กวัยเรียนดื่มน้ำอัดลม แนะนำให้หลีกเลี่ยง เพราะจะไประคายเคืองกระเพาะ จากการเป็นหมอเด็ก พบเด็กที่ป่วยมาโรงพยาบาลด้วยอาการปวดท้อง ส่วนใหญ่เกิดจากดื่มน้ำอัดลม ส่วนการดื่มน้ำอัดลมสูตร zero น้ำตาล 0% สิ่งที่เรากังวล คือ เรื่องกรด กับแก๊ส ที่จะไประคายเคืองกระเพาะอาจทำให้เป็นโรคกระเพาะ และกรดไหลย้อนได้

“การใส่สารให้ความหวานในเครื่องดื่ม ก็เป็นอีกเรื่องที่น่าห่วง เพราะว่า ในระยะแรกยังไม่มีการศึกษาถึงเรื่องสารให้ความหวาน เดิมใช้แซ็กคาริน (saccharin) หรือขัณฑสกร เป็นสารให้ความหวานชนิดหนึ่ง หลังจากนั้นระยะหนึ่งพบว่า เป็นสารก่อมะเร็ง (Carcinogen)” และเช่นเดียวกับ Aspatame ซึ่งใช้ในปัจจุบันมาหลายปีเริ่มมีรายงานในการศึกษาต่างประเทศมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง

ศ.พญ. ชุติมา กล่าวอีกว่า การรณรงค์ให้บริโภคหวานน้อยลง ลดหวานในอาหาร และเครื่องดื่ม แต่การดื่มเครื่องดื่มที่ใส่สารให้ความหวานแทนน้ำตาล เหมือนเราไม่ได้ลดการกินหวาน เพราะความชอบ (หวาน) ก็ยังอยู่ ยังยึดติดกับความหวาน ฉะนั้น การไม่กินหวาน น่าจะดีที่สุดสำหรับสุขภาพของคนไทยเวลานี้

“ยิ่งเราทานหวาน ก็จะยิ่งติดหวานไปเรื่อยๆ เราอยากให้ลดน้ำตาล และลดการทานหวานลง”

สุดท้ายเมื่อถามถึง ซีอิ๊วโซดา ที่เป็นกระแสในโซเชียลก่อนหน้านี้นั้น ศ.พญ. ชุติมา แสดงความเห็นทิ้งท้ายว่า เป็นเรื่องน่าตกใจ ผู้คนที่ได้ยินก็จะถามว่า คิดได้อย่างไร เพราะเราไม่คิดว่า เครื่องปรุงอาหาร จะนำมาทำเป็นเครื่องดื่มได้ เดิมเรากลัวเรื่องหวานอย่างเดียว วันนี้เราต้องกลัวเรื่องความเค็มด้วย

“ซีอิ๊วโซดา เป็นสิ่งที่น่าตกใจมาก ไม่น่าจะเป็นอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพเลย โดยเฉพาะการทำตลาดกับวัยรุ่นที่มีความอยากรู้อยากลอง เท่าที่เข้าไปดูสูตรซีอิ๊วสูตร 1 พบว่าซิอิ๊ว 1 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณน้ำตาล 24 กรัม หรือเท่ากับ 6 ช้อนชา หากดื่มซีอิ๊วโซดาตามสูตรที่ให้ลองกัน เท่ากับว่า วันนั้นเราจะกินน้ำตาล หรือกินอาหาร กินขนมที่มีน้ำตาลอีกไม่ได้แล้ว ถ้าเติมโซดาประเภทที่มีน้ำตาลก็จะยิ่งได้น้ำตาลเพิ่มไปอีก ขณะที่ไอศกรีมที่ราดซีอิ๊ว ก็เช่นกัน ปกติไอศกรีม 1 สคูป จะให้พลังงาน 200-300 แคลอรี ให้พลังงานสูงมากหากมีการราดซีอิ๊วอย่างที่ทดลองกัน นอกจากห่วงเรื่องความหวานในตัวไอศกรีมแล้วยังได้จากซีอิ๊วเพิ่มอีกด้วย”

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พยากรณ์ 10 วันล่วงหน้า ตั้งแต่ 18 พ.ย. อากาศเริ่มเย็นลงอีกครั้ง

กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตผลการพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน (ทุกๆ 24 ชม. : (นับตั้งแต่ 07.00 น. ถึง 07.00 น.วันรุ่งขึ้น) และลมที่ระดับ 925hPa (750 ม.) 10 วันล่วงหน้า ระหว่าง 15 -24 พ.ย. 67

กรมอุตฯ ประกาศเตือนพายุ 'โทราจี' ฉบับสุดท้าย

นางสาวสุกันยาณี ยะวิญชาญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุ “โทราจี” ฉบับที่ 10 โดยมีใจความว่า

อุตุฯ เตือนฝนฟ้าคะนอง 31 จังหวัด 'เหนือ-อีสาน' อุณหภูมิสูงขึ้น

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้าว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ตอนบนมีฝน/ฝนฟ้าคะนอง

กรมอุตุฯ ประกาศฉบับ 13 ไต้ฝุ่น 'หยินซิ่ง' อ่อนกำลังเป็นพายุโซนร้อนแล้ว

นางสาวสุกันยาณี ยะวิญชาญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุ “หยินซิ่ง” ฉบับที่ 13 โดยมีใจความว่า

อุตุฯ เตือนอากาศเปลี่ยนแปลง เหนือ-อีสานเย็น ยอดภูหนาว ใต้ฝนตกหนัก

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้าว่า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนปกคลุมภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทะเลจีนใต้

อุตุฯ ประกาศฉบับ 2 อัปเดตเส้นทางไต้ฝุ่น 'หยินซิ่ง'

นางสาวสุกันยาณี ยะวิญชาญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุ “หยินซิ่ง” ฉบับที่ 2 โดยมีใจความว่า