จับตาอุณหภูมิ 'ค่าอากาศร้อนไทย'ปรับฐานใหม่หลายจังหวัด 

เมษายนปีนี้เป็นเดือนที่ร้อนที่สุดอีกครั้งในประวัติศาสตร์ไทยที่บันทึกมา ค่าดัชนีความร้อน ( Heat Index ) พุ่งสูงทะลุ 50 องศาเซลเซียส ในเขตบางนา กรุงเทพฯ นับเป็นปรากฎการณ์สภาพอากาศที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน ขณะที่อีกหลายจังหวัดในประเทศไทยก็มีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าที่เคยเป็นมาไม่แพ้กัน   ส่งผลให้หน้าร้อนปีนี้มีรายงานผู้เสียชีวิตและเข้าโรงพยาบาลด้วยอาการโรคฮีทสโตรกหรือภาวะลมแดดหลายราย   หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประกาศเตือนแนะนำประชาชน งดออกไปกลางแจ้งในช่วงระหว่างเวลาที่ร้อนจัด เพราะมีความเสี่ยงทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดแคลนน้ำได้

ดร.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา  กล่าวว่า ช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมของทุกปี เราจะพบกับอากาศร้อน ปีนี้ประเทศไทยพบกับอากาศร้อนถึง 44.6 องศา รวมถึงค่าดัชนีความร้อน (Heat Index )ตามภูมิภาคสูงเกิน 54 องศา  เพราะฤดูร้อนในประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนจำนวนมาก  ถ้าดัชนีความร้อนมากกว่า 41-54 องศา อันตราย  จะมีอาการเพลียแดด  และเกิดภาวะลมแดดได้ถ้าสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน  แต่ถ้ามากกว่า 54 องศา อันตรายมาก  เกิดภาวะลมแดด (Heat Stroke) ถึงขั้นเสียชีวิตได้ ช่วงนี้กรมเน้นสร้างความเข้าใจและความตระหนักรู้ให้กับชุมชน ประชาชน กลุ่มเสี่ยง  กลุ่มเปราะบาง รับทราบอุณหภูมิของอากาศที่ตรวจวัดได้จริงกับระดับอุณหภูมิที่เรารู้สึกได้ในขณะนั้น หรือ  Heat Index เพื่อเตรียมพร้อมในการใช้ชีวิต ถือเป็นการปรับการแจ้งเตือนรูปแบบใหม่ให้แก่ประชาชน ซึ่งคนเข้าใจมากขึ้น เราแบ่งระดับผลกระทบเป็นสีต่างๆ  สีแดง อันตรายมาก สีส้ม อันตราย สีเหลือง เตือนภัย และสีเขียวอ่อน เฝ้าระวัง

“ อุณหภูมิจริง 35 องศา แต่มีความชื้นสัมพันธ์ของอากาศมากกว่า  หรือร่างกายระบายความร้อนได้ช้า  ไม่ได้ทานน้ำ ไม่มีการขับเหงื่อออกจากร่างกาย อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็น 50 องศา  เป็นอันตราย    ซึ่งมีข้อแนะนำการใช้ชีวิตในช่วงหน้าร้อน ควรลดกิจกรรมการแจ้ง ดื่มน้ำบ่อยๆ สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี  สวมหมวก แว่นกันแดด  ปกป้องตัวเองจากความร้อน จากการศึกษาเมื่อรังสี UV ทะลุสู่ร่างกาย เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ และเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งผิวหนัง โรคกระจกตาอักเสบ และโรคอื่นๆ เราทำงานร่วมกับกรมอนามัย กรมควบคุมโรค แจ้งเตือนภัยด้านสุขภาพอากาศร้อนผ่านค่าดัชนีความร้อน  Heat Index  “ ดร.ชมภารี กล่าว

ฤดูร้อนปีนี้ใกล้เคียงปี 59 ที่สถิติร้อนสุด

อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ปีนี้ฤดูร้อนของประเทศไทยเริ่มต้นในช่วงต้นเดือนมีนาคม ซึ่งช้ากว่าปี65 กว่าสองสัปดาห์ และคาดการณ์ว่า ฤดูร้อนจะสิ้นสุดช้ากว่าปีที่แล้ว อาจจะเป็นช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ก่อนจะประกาศเข้าสู่ฤดูฝนของไทย  ซึ่งมาจากอิทธิพลของความกดอากาศต่ำ เนื่องจากความร้อนที่เริ่มปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ทำให้หลายพื้นที่ของประเทศไทยตอนบนเริ่มมีอุณหภูมิสูงขึ้น และมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยเฉพาะในช่วงปลายเดือนมีนาคมมีพื้นที่ส่วนใหญ่มีอุณหภูมิสูงขึ้นชัดเจน และอากาศร้อนทั่วไปกับมีอากาศร้อนจัดในบางพื้นที่ของภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง  

ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา วันที่ 15 เม.ย.2566 อ.เมือง จ.ตาก วัดอุณหภูมิสูงที่สุดได้ 44.6 องศาเซลเซียส เป็นสถิติอุณหภูมิสูงที่สุดของประเทศไทย เท่ากับสถิติเดิมที่เคยตรวจวัดได้ที่ จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2559 ขณะที่ อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ เมื่อวันที่ 15 เม.ย. 2566 วัดได้ 43.5 องศา  สูงกว่าสถิติเดิมที่เคยวัดได้ 43.3 องศา  เมื่อปี 2559

สำหรับเดือนเมษายน หย่อมความกดอากาศต่ำ เนื่องจากความร้อนได้ปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบนอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีอากาศร้อนอบอ้าวโดยทั่วไป โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือบริเวณ จ.แม่ฮ่องสอน น่าน ลำพูน  ลำปาง สุโขทัย ตาก และเพชรบูรณ์ที่พื้นที่ดังกล่าวมีอากาศร้อนจัด มีอุณหภูมิสูงสุดอยู่ในช่วง 40-43 องศา ติดต่อกันนานนับสัปดาห์ และวัดได้ถึง 44 องศาที่ตาก

นอกจากนี้ บางพื้นที่ของภาคอีสานและภาคกลวงบริเวณ จ.หนองคาย เลย อุดรธานี หนองบัวลำภู  ขอนแก่น  นครราชสีมา นครสวรรค์ ลพบุรี  และกาญจนบุรี มีอากาศร้อนจัดติดต่อกันหลายวัน

เปรียบเทียบสภาพอากาศฤดูร้อนปี 59 กับปี 66

ดร.ชมภารี กล่าวว่า ปี 59 เป็นปีที่เกิดปรากฎการณ์เอลนีโญกำลังแรง ส่งผลให้อุณหภูมิในพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลก รวมทั้งประเทศไทยสูงกว่าค่าที่เคยตรวจวัดไดในอดีต ในช่วงเดือน เม.ย.  บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีอากาศร้อนจัดต่อเนื่องเกือบตลอดทั้งเดือน โดยเฉพาะภาคเหนือ  ภาคกลางตอนบน  และบางส่วนของภาคอีสาน มีการทำลายสถิติอุณหภูมิสูงสุดในหลายพื้นที่

ปี 66  เข้าสู่ฤดูร้อนช่วงต้นเดือนมี.ค. และอากาศร้อนอย่างต่อเนื่องจนถึงช่วงเดือนเมษายน ประกอบกับเกิดภาวะแล้ง ฝนน้อย ตั้งแต่ปลายปี 65  ส่งผลให้อากาศร้อนจัดมากกว่า 40 องศา ในหลายพื้นที่ บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ยังครอบคลุมพื้นที่น้อยกว่า ปี 59

อากาศร้อนจัดจากภาวะโลกร้อน

ดร.ชมภารีเน้นอุณหภูมิที่สูงขึ้นเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ  เช่น การผันแปรของสภาพภูมิอากาศ  ร้อนจัด หนาวจัด ปรากฎการณ์เอลนีโญ-ลานีญา ไฟป่าที่ลุกลาม การเผาป่าเพื่อการเกษตร ที่เกิดจุดความร้อน (Hot spot)   และฝนแล้ง เพิ่มความร้อนให้มากขึ้นในสภาพอากาศ  อีกปัจจัยเป็นฝีมือของมนุษย์ เช่น การเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจก  การตัดไม้ทำลายป่า ภาคอุตสาหกรรม  มลภาวะทางอากาศ  รวมถึงการขยายตัวของเมือง ก็เป็นสาเหตุสำคัญ

อธิบดีระบุในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผลกระทบจากปรากฎการณ์ลานีญา ส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนตกมาก อากาศไม่ร้อนมาก  เหมิแนหลายปีก่อนหน้า เช่น ปี 59 ที่เกิดปรากฎการณ์เอลนีโญ เป็นปีที่หลายๆ พื้นที่ของประเทศไทยทำลายสถิติอุณหภูมิสูงสุด ช่วงปลายปี 65 ถึงต้นปี 66 ประเทศไทยมีอากาศหนาวยาวนานนานส่งผลให้เกิดความแห้งแล้งเป็นบริเวณกว้าง  อีกทั้งมีการเผาป่า ในหลายพื้นที่  จนเข้าสู่ช่วงฤดูร้อน ที่มีอุณหภูมิสูงมากกว่าฤดูร้อนปี 65 รวมถึงสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้อุณหภูมิสูงขึ้น ซึ่งแนวโน้มค่าเฉลี่ยอุณหภูมิสูงสุดของประเทศไทย ปี 2494-2564  ไทยมีทิศทางอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อนาคตไทยร้อนขึ้น 2 องศา

ส่วนการคาดการณ์ในอนาคตความร้อนในประเทศไทย อธิบดีกรมอุตุฯ  กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงในอนาคตของอุณหภูมิรายปี  โดยภาพรวมของประเทศไทยจาก RCP8.5 และ  RCP4.5  พบว่า มีแนวโน้มสูงขึ้นเหมือนกัน ทั้งอุณหภูมิต่ำสุดและอุณหภูมิสูงสุด  แต่เป็นการเพิ่มขึ้นทีละน้อย และประมาณ ปี 2613  คาดการณ์ว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศมากกว่า 2 องศา ปัจจุบันอุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทยอยู่ที่ 35.5 องศา

จังหวัดที่ร้อนทะลุ 40 – 43 องศา ขยายกว้างขึ้น

ดร.ชมภารี กล่าวว่า สภาพภูมิอากาศของประเทศไทยในอนาคต มีแนวโน้มที่อุณหภูมิสูงสุดและต่ำสุดจะเพิ่มขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย แต่พื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าเดิมมากกว่า 40-43 องศา จะแผ่ขยายครอบคลุมมากขึ้น เมื่อก่อนเป็นเฉพาะภาคเหนือตอนบน ตอนนี้ขยายมาเป็นภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคอีสานตอนบนด้วย นอกจากนี้ ระยะเวลาที่มีอากาศร้อนในรอบปีหรือฤดูร้อนจะยืดยาวขึ้นมากด้วย จะเข้าสู่ฤดูฝนช้าลง   

รุกเฝ้าระวังติดตามสภาพอากาศ

อธิบดีกรมอุตุฯ กล่าวว่า ทิศทางการพัฒนากรมอุตุนิยมวิทยาให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ มุ่งเน้นพัฒนาโครงข่ายการตรวจวัด ระบบเฝ้าระวังและติดตาม   ปัจจุบันเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิอัตโนมัติยังไม่เพียงพอและครอบคลุมพื้นที่  เรามีโครงการจะติดตั้งเครื่องมือดังกล่าวเพิ่ม 1,100 ตัว จะทยอยติดตั้งภายในปีนี้ ยิ่งติดถี่ ข้อมูลคาดการณ์จะแม่นยำมากขึ้น สะดวกมากขึ้นได้ข้อมูลเรียลไทม์  ควบคู่กับใช้ความเชี่ยวชาญของนักอุตุนิยมวิทยาวิเคราะห์และเฝ้าระวังสภาพอากาศ ปัจจุบันกรมบูรณาการข้อมูลกับหน่วยงานอื่นๆ ที่ติดตั้งเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิอัตโนมิติ อาทิ กรมชลประทาน  สสน. กรมฝนหลวง รวมถึงกรุงเทพมหานคร มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน นอกจากนี้มีเครือข่ายตรวจอวกาศการบิน มีการใช้คอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง มีการส่งเสริมและพัฒนางานด้าน เอไอ บิ๊กดาต้าเก็บข้อมูลย้อนหลังเพื่อช่วยงานพยากรณ์อากาศ  

“ จากสภาพอากาศสุดขั้ว มีการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัน ถ้ามีการแจ้งเตือนล่วงหน้า 1 ชั่วโมง จะเกิดประโยชน์ต่อการเฝ้าระวัง เตรียมตัว ช่วยป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน  โดยโมเดลนี้จะนำร่องพื้นที่กรุงเทพฯ หากสำเร็จจะขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศไทย ปัจจุบันสิงค์โปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น และจีน ทำแล้ว ซึ่งจีนทำความร่วมมือกับกรุงเทพมหานครแล้ว ปัจจุบันไทยไม่มีดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาของตนเอง เราใช้ข้อมูลดาวเทียมจากญี่ปุ่น อนาคตจะใช้ข้อมูลภูมิอากาศจากดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาของจีน การพยากรณ์เตือนภัยจะแม่นยำยิ่งขึ้น “ ดร.ชมภารี กล่าว

นอกจากนี้ กรมฯ บริการสารสนเทศภูมิอากาศ  การศึกษา วิจัย แบบจำลองพยากรณ์และคาดการณ์สภาพอากาศ  มีแพลตฟอร์มที่ต่อประสานกับผู้ใช้   การพัฒนาสมรรถนะกรมอุตุนิยมวิทยา การพัฒนาระบบการให้บริการข้อมูลภูมิอากาศ  การบริการข้อมูลภูมิอากาศเฉพาะด้าน แบ่งเป็นเกษตร สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม  ทรัพยากรน้ำ ท่องเที่ยว  และเมือง

แนวทางรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ดร.ชมภารี กล่าวว่า กรมอุตุนิยมวิทยา มุ่งเน้นแผนงานโครงการตามแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ การลดก๊าซเรือนกระจก  แผนพัฒนาเศรษบกิจและสังคมแห่งชาติ  แผน 13 ประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  โมเดลเศรษฐกิจสีเขียว BCG  และ สมาร์ท ซิตี้    พัฒนาระบบตรวจวัด ติดตาม เฝ้าระวัง รวมถึงการศึกษา วิจัย การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ การสนับสนุนสารสนเทศภูมิอากาศสำหรับการดำเนินการตามเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050  และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2065   มุ่งเน้นการพัฒนาการให้บริการสารสนเทศภูมิอากาศให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ปรับใช้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ   ส่งเสริมองค์ความรู้และสร้างความตระหนักรู้ให้กับชุมชน ประชาชน กลุ่มเสี่ยง  กลุ่มเปราะบาง

ขยายความร่วมมือแจ้งเตือนภัย

ส่วนความคืบหน้าการขยายความร่วมมือในการแจ้งเตือนภัย พยากรณ์อากาศไปยังประชาชน อธิบดีกรมอุตุฯ กล่าวด้วยว่า งานพยากรณ์อากาศเกี่ยวข้องกับชีวิตของประชาชน กรมอุตุฯ ได้สร้างและขยายความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษา  เอกชน และหน่วยงานต่างประเทศ  ยึดหลักมีมาตรฐาน มีประสิทธิภาพ และมีความแม่นยำ โดยมี MOU กับหน่วยงานต่างประเทศ  จับมือกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทำระบบ SMS แจ้งเตือนภัย นอกจากนี้ เร่งพัฒนาปรับปรุงเว็บไซต์ ควบคู่การสร้างความตระหนักรู้ผ่านช่องทางออนไลน์  ทั้ง เฟสบุ๊ค ยูทูป ไลน์   นอกจากเรื่องความดัชนีความร้อน ยังมีการติดตามและคาดการณ์สภาพอากาศเพื่อการเฝ้าระวังฝุ่น PM2.5   และพัฒนาเครือข่ายภาคประชาชน อธิบดีเน้นย้ำในท้ายปัจจุบันมีการวิเคราะห์แผนที่ภาพถ่าย ทำทุก 6 ชม. 4 ครั้งต่อวัน ส่วนข้อมูลเรดาร์ดาวเทียมจากญี่ปุ่นจะติดตามสภาพอากาศตลอด 24 ชม. ถ้าสถานการณ์ปกติจะพยากรณ์ทุก 3 ชม. แต่หากมีสถานการณ์ต้องเฝ้าระวังติดตามอย่างใกล้ชิดจะพยากรณ์ทุก 1 ชม. ส่วนการพยากรณ์รายวันมีทุก6 ชม. รายสัปดาห์วันละ 1 ครั้ง เจ้าหน้าที่กรมอุตุฯ จะประขุมในห้องวอลรูมทุกวันเพื่อประเมินสถานการณ์และแลกเปลี่ยนข้อมูลกับศูนย์อุตุนิยมวิทยาใน 5 ภูมิภาค สรุปเป็นข้อมูลที่ออกมาเป็นประกาศพยากรณ์อากาศอย่างเป็นทางการ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรมอุตุฯ เผยลมหนาวแผ่ลงมาต่อเนื่องช่วงปีใหม่ 28 ธ.ค. ถึง 9 ม.ค.68

กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตผลการพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน 15 วันล่วงหน้า ระหว่าง 26 ธ.ค.67 - 9 ม.ค.68 init. 2024122512 จากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป

กรมอุตุฯ ประกาศพายุดีเปรสชันฉบับ 3 เตือนฝนตก 25-26 ธ.ค.

นางสาวสุกันยาณี ยะวิญชาญ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุดีเปรสชัน บริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง ฉบับที่ 3 โดยมีใจความว่า

อุตุฯ เตือนอากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิสูงขึ้น 1-2 องศา ใต้ฝนฟ้าคะนอง 10-20%

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้าว่า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน และภาคใต้ตอนบนเริ่มมีกำลังอ่อนลง