สูบกัญชาในที่สาธารณะก่อเหตุรำคาญผิดกฎหมาย แจ้งท้องถิ่นคุมเข้มเฝ้าระวังการจัดงานสุ่มเสี่ยง

20 เม.ย.2566-นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในวันที่ 20 เมษายน เป็นวันกัญชาโลก กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เน้นย้ำประชาชน และผู้ประกอบการต้องระวังการจัดกิจกรรมที่สุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมาย เนื่องจากอาจมีการจัดงานสูบบ้องเลียนแบบต่างประเทศ ซึ่งกัญชาควรใช้ในทางการแพทย์ และภายใต้การควบคุมเท่านั้น นอกจากนี้ การสูบกัญชาก่อให้เกิดกลิ่นและควัน ถือเป็นเหตุรำคาญตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ พ.ศ. 2565 โดยมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ 15 มิถุนายน 2565 เพราะการใช้กัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด ในทางที่ไม่เหมาะสม เช่น สันทนาการ อาจส่งผลกระทบต่อสภาวะความเป็นอยู่ที่เหมาะสม และเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยควันของพืช ดังกล่าวข้างต้นจะมีอนุภาคขนาดเล็กที่สามารถเข้าสู่ปอดได้ด้วยการการหายใจเอาควันเข้าไป ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย เช่น โรคปอด หอบหืด และหลอดลมอักเสบได้
นพ.อรรถพล กล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุขยังได้ออกคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุขเรื่อง แนวทางควบคุมเหตุรำคาญจากการกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด พ.ศ. 2565เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 โดยให้เจ้าพนักงานท้องถิ่น เจ้าพนักงานสาธารณสุข หรือผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข มีหน้าที่และอำนาจในการควบคุมและกำกับดูแลการกระทำที่อาจก่อให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด จนเป็นเหตุรำคาญ เมื่อเจ้าพนักงานประสบเหตุ หรือได้รับเรื่องร้องเรียนว่ามีผู้ก่อให้เกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญจากการกระทำที่ก่อให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เจ้าพนักงานมีหน้าที่และอำนาจตรวจสอบการกระทำนั้น หากพบเป็นที่ประจักษ์หรือมีพยานหลักฐานว่ามีการกระทำดังกล่าวจริง ให้ดำเนินการไต่สวนผู้เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ก่อเหตุ ผู้ร้องเรียน ผู้อยู่ใกล้เคียง ถึงพฤติการณ์ของผู้ก่อเหตุได้กระทำการดังกล่าวเป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญหรือไม่ และให้บันทึกถ้อยคำผู้เกี่ยวข้องไว้เป็นหลักฐาน

จากนั้น เจ้าพนักงานมีอำนาจออกคำแนะนำให้ผู้ก่อเหตุรำคาญระงับหรือป้องกันเหตุรำคาญนั้นภายในระยะเวลาอันสมควร หลังจากนั้น จะติดตามตรวจสอบการดำเนินการตามคำแนะนำที่กำหนด หากผู้ก่อเหตุรำคาญไม่ดำเนินการตามคำแนะนำ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นออกคำสั่งเป็นหนังสือ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 27 กรณีเหตุเกิดขึ้นในที่หรือทางสาธารณะ หรือมาตรา 28 กรณีเหตุเกิดในสถานที่เอกชน แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม แล้วแต่กรณี เพื่อให้ผู้ก่อเหตุดำเนินการปรับปรุงแก้ไข หรือระงับเหตุรำคาญภายในเวลาอันสมควร หรือกำหนดวิธีการเพื่อป้องกันมิให้มีเหตุรำคาญเกิดขึ้นอีกในอนาคตได้ ในกรณีผู้ก่อเหตุรำคาญไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นดำเนินการส่งเรื่องให้ผู้มีอำนาจเปรียบเทียบตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข โดยอัตราโทษกรณีไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นดังกล่าวข้างต้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 25,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นการกระทำดังกล่าว สามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนเหตุรำคาญแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ทันที เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ หรือในกรณีที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจตราเชิงรุกเพื่อเฝ้าระวังแล้วพบเห็นการกระทำดังกล่าวด้วยตนเอง สามารถดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายข้างต้นต่อไป” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นักวิชาการสิ่งแวดล้อม' แฉ โรงงานสีเทาผิดกฎหมายจำนวนมาก ตั้งอยู่ในพื้นที่ของท้องถิ่น

ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์เฟซบุ๊กว่า

กรมอนามัย ชวน ชาวเน็ต ‘เล่น’ TikTok ‘เล่า’ ผ่านคลิป ‘ลุ้น’รางวัลรวม กว่า 30,000 บาท

กองส่งเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จัดกิจกรรมการประกวด TikTok Challenge เชิญชวนคนไทยแจกสูตรเด็ดเคล็ดลับ สุขภาพดี ทั้งกินดี นอนดี หรือ

ผงะ! ผลตรวจพบ 8 คนงาน มีสารแคดเมียมสูงเกินมาตรฐาน

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยผลการปฏิบัติงานเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพเพิ่มเติม กรณีพบกากแคดเมียมและกากสังกะสีผลการเก็บตัวอย่างแคดเมียมในปัสสาวะของพนักงานโรงงาน

Food Waste ปัญหาใหญ่ที่ซ่อนในศูนย์อาหาร

ศูนย์อาหารถือเป็นสวรรค์ของนักกิน เพราะเป็นแหล่งรวมอาหารนานาประเภท บางแห่งมีร้านดัง สะดวกสบายเพราะจัดพื้นที่ให้นั่งรับประทาน พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก มีเมนูอร่อย จานด่วน ราคาสบายกระเป๋า ทำให้เป็นแหล่งรวมร้านอาหารและผู้บริโภคจำนวนมาก