20ปีโครงการแว่นแก้ว ตั้งป้าแจกแว่นสายตา 10,000 คน 

“ดวงตา “เปรียบเสมือนบานหน้าต่างที่ทำให้เรามองเห็นทุกๆสิ่ง แต่ด้วยวิถีชีวิตในปัจจุบันที่คนต้องใช้สายตาหนัก มากขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นการเพ่งจ้องจากคอมพิวเตอร์ การจ้องโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานานๆ ซึ่งในบางวันอาจจะไม่รู้ตัวเลยว่าเวลาใช้อยู่บนหน้าจอนั้นนานกว่า 8-10 ชั่วโมง หรืออาจจะมากกว่านั้น ส่งผลให้สุขภาพจอตาเสื่อมลง เริ่มมองเห็นในระยะไกลไม่ชัด มองระยะสั้นก็มัวๆ การแก้ปัญหาเบื้องต้นง่ายๆ หลายคนจึงจำเป็นที่ต้องสวมใส่แว่นสายตา และทานอาหารเพื่อบำรุงสายตาเสริมไปด้วย

ถึงอย่างนั้นการตัดแว่นสายตาก็มีค่าใช่จ่ายราวๆ 1,000- 3,000 บาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับปัญหาทางสายตา กรอบและเลนส์ ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้ทำให้ประชากรที่รายได้น้อย มีโอกาสเข้าถึงค่อนข้างน้อย ด้วยเหตุนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) และกรุงเทพมหานครจัดกิจกรรม “ครบรอบ 20 ปี โครงการแว่นแก้ว”  โดยในปีนี้นำร่องออกหน่วยโครงการแว่นแก้ว 1 – 3 เมษายนที่ผ่านมาที่ ศูนย์เยาวชนคลองเตย โดยมีผู้เข้ารับบริการกว่า 2,000 คน ทั้งนี้ได้ตั้งเป้าในปี 2566 จะออกหน่วยบริการ 20 ครั้ง คาดว่าจะช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาสายตาได้กว่า 10,000 คน

โดยที่ผ่านมาโครงการแว่นแก้วตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน  ระยะเวลา 20 ปี โครงการฯได้ออกหน่วยให้บริการไปแล้ว 504 หน่วย ครอบคลุมพื้นที่ถึง 63 จังหวัด มีผู้รับบริการรวม 290,000 คน และได้รับแว่นตาไปทั้งสิ้น 286,000 อัน

ประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน

ประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า โครงการแว่นแก้วเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2546 เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุครบ 48 พรรษา โดยการออกหน่วยวัดสายตาประกอบแว่นโดยไม่คิดมูลค่า  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชุมชนโดยรอบโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ซึ่งในปีนี้ถือเป็นปีที่ 20 ของการดำเนินโครงการ จึงมีแผนออกตรวจวัดสายตา 20 หน่วย คาดว่าสามารถให้ความช่วยเหลือผู้มีปัญหาสายตาได้ประมาณ 10,000 คน  นับเป็นการสร้างโอกาสการเข้าถึงการบริการด้านสาธารณสุขขั้นพื้นฐานให้กับประชาชนได้เป็นอย่างดี

นพ.เอกชัย อารยางกูร รองผู้อำนวยการภารกิจด้านจักษุวิทยา โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง)  กล่าวว่า ปัญหาที่สำคัญและสามารถแก้ไขได้ง่ายในเบื้องต้น คือ สายตา เพราะจากสถิติหากผู้ที่มีปัญหาทางสายตาได้สวมใส่แว่นตาจะช่วยลดอุบัติเหตุได้ 2.5 เท่า และยังส่งผลให้การใช้ชีวิตดีขึ้น โดยการร่วมออกหน่วยกับทางกฟผ. ก็จะมีการใช้เทคโนโลยีการวัดความดันตา หรือการวัดค่าสายตาด้วยระบบ Automated และจะมีผู้เชี่ยวชาญทำการประเมินเรื่องสายตาอีกครั้ง เพื่อให้ผู้เข้ารับบริการได้รับแว่นตาที่เหมาะสมและมีคุณภาพดี ทั้งนี้ปัญหาสุขภาพตาเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงวัย เป็นปัญหาสำคัญซึ่งส่งผลต่อการดำเนินชีวิตค่อนข้างมาก

 นพ.เอกชัย อารยางกูร

“โดยในผู้สูงอายุก็จะมีโรคอื่นๆตามมา เช่น โรคต้อหิน ต้อกระจก วัยทำงาน ก็มีค่าสายตาที่ผิดปกติ เนื่องจากการทำงานที่ใช้สายตามากเกินไป  และในช่วงวัย 50 ปี ก็จะพบกับโรคสายตายาวตามอายุ ซึ่งทั่วโลกเป็นโรคนี้ราวๆ 800 ล้านคน การแก้ปัญหาที่ง่ายคือการใส่แว่น เพื่อจะช่วยให้การมองเห็นได้ดีขึ้น ดังนั้นทุกคนที่เกิดมาบนโลกในช่วงชีวิตหนึ่งจะต้องมีปัญหาเกี่ยวกับสายตาอย่างแน่นอน ความรุนแรงมากน้อยอาจจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับปัจจัยการใช้ชีวิตและอาหารที่รับประทานด้วย” นพ.เอกชัย กล่าว

ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช  รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า ในชุมชนของกรุงเทพฯ ที่จะมีทั้งกลุ่มเด็ก โดยโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯมีทั้งหมดรวม 896 โรงเรียน  ซึ่งมีเด็กที่มีปัญหาทางสายตา ส่งผลต่อการเรียนรู้ อีกกลุ่มคือ ผู้สูงอายุ ซึ่งทางกรุงเทพฯ สามารถออกพื้นที่ให้บริการได้ประมาณเดือนละ 2 ครั้ง โดยมูลนิธิช่วยการสาธารณสุขชุมชน ในพระอุปภัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ได้สนับสนุนแว่นตา 300 อัน ต่อการออกพื้นที่ 1 ครั้ง ซึ่งตลอด 7 เดือนที่ผ่านได้แจกแว่นให้ประชาชนไปแล้วกว่า 2,900 อัน ซึ่งก็ยังไม่ครอบคลุมและเพียงพอต่อจำนวนผู้สูงอายุ จึงจำเป็นต้องการแว่นตาเพิ่ม ซึ่งโครงการแว่นแก้วก็ได้เข้ามาช่วยสนับสนุนตรงนี้ ทำให้กระจายความเข้าถึงได้มากยิ่งขึ้น กรุงเทพฯ พร้อมเป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมผลักดันให้โครงการดังกล่าวบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย โดยในการออกหน่วยของโครงการแว่นแก้วในช่วง 1-3 เมษายนนี้ก็มีผู้เข้ารับบริการกว่า 2,000 คน  

 ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช

สัจจวัฒน์ พิมลพันธุ์ อายุ 58 ปี ผู้เข้ารับบริการในโครงการแว่นแก้ว ชุมชนอยู๋ดีร่วมใจพัฒนา เขตบางพลัด กรุงเทพฯ เล่าว่า เนื่องจากเป็นชุมชนที่อยู่โดยรอบโรงงานไฟฟ้าของ กฟผ. ได้เห็นข่าวประชาสัมพันธ์ของโครงการฯ จึงได้เข้ารับบริการ ทั้งตนและลูกสาว ซึ่งมีสายตามองไม่ชัด สายตาสั้น 500 กว่าเลย ซึ่งปกติก็ใช้แว่นที่ตัดมาจากบริษัทแว่นแต่ใส่ได้สักพักก็เริ่มมองไม่ชัด จึงได้มารับบริการ ทางโครงการก็มีการตรวจวัดสายตา มีแพทย์ที่ซักถามอย่างละเอียด สามารถลองแว่นก่อนได้ทำให้เลือกกรอบที่เหมาะ ใช้เวลารอแว่นประมาณ 1 เดือน ซึ่งใส่แล้วรู้สึกสบายตา มองชัดเจนขึ้น และกรอบมีน้ำหนักเบา

พัศกร เงินโพธิ์ อายุ 94 ปี ชุมชนวัดฉัตรแก้วจงกลณี เขตบางพลัด เล่าว่า ได้ทราบข่าวว่าจะมีโครงการแว่นแก้วจากศูนย์อนามัย ซึ่งปกติก็ใส่แว่นมาตลอดแต่สายตาเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงมองไม่ชัด จึงได้เข้ารับบริการ โดยการบริการของโครงการฯดีมาก และแว่นที่ได้มาก็ถูกใจ จึงอยากให้มีโครงการดีๆแบบต่อไปเรื่อยๆ ให้เข้าถึงคนในชุมชนต่างๆ ที่ไม่มีเงินในการตัดแว่นด้วย นอกจากนี้ กฟผ. ยังมีกิจกรรมหาทุนทรัพย์สบทบทุนโครงการฯ เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการต่อไปได้ในระยะยาว อาทิ กิจกรรมประมูลแว่นตาจากดาราศิลปินดัง  ซึ่งในงานแถลงข่าวครั้งนี้มียอดประมูลถึง 90,000 บาท โดยจะนำไปจัดซื้อแว่นตาเพื่อใช้ในการออกหน่วยครั้งต่อไป และยังมีบริการซ่อมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าโดยวิทยาลัยในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) การสอนทำน้ำยาเอนกประสงค์จากจุลินทรีย์ EM สำหรับประชาชนใกล้เคียงและให้ผู้เข้ารับบริการ
———————-

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ' แบตเตอรี่ยักษ์กักเก็บพลังงานสะอาด

ความท้าทายในการก้าวข้ามขีดจำกัดของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่กำลังมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นในระบบไฟฟ้าเพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ คือ การบริหารจัดการความผันผวนของพลังงานหมุนเวียนที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียงบางช่วงเวลา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

'โรงไฟฟ้า SMR' ตัวเปลี่ยนเกมพลังงานสะอาด

ภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องและแรงกดดันจากมาตรการทางการค้าถือเป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งให้ทั่วโลกพยายามดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เดินหน้าเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

Fitch Ratings คงอันดับความน่าเชื่อถือของ กฟผ. ในระดับสากลที่ระดับ 'BBB+'

บริษัท Fitch Ratings (Fitch) ประกาศผลการทบทวนการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของ กฟผ. ในระดับสากลที่ระดับ “BBB+” ซึ่งเป็นระดับเทียบเท่ากับอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย และให้มุมมองความน่าเชื่อถือ (Outlook) ของ กฟผ. อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable)

“สวนผักทางไฟ” พลิกพื้นที่แห้งแล้งใต้แนวสายส่งไฟฟ้าสู่แหล่งอาหารบ้านโนนยาง

“เคล” ราชินีแห่งผักใบเขียว หรือคะน้าใบหยิก ที่กำลังเตรียมตัดขายในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เป็นภาพที่เกษตรกรบ้านโนนยาง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด

กฟผ. ร่วมส่งความสุขล้นใจแบบรักษ์โลก เป็นของขวัญปีใหม่ 2568 ให้คนไทยฉลองแบบแฮปปี้

กฟผ. เตรียมของขวัญปีใหม่ 2568 ให้คนไทยในรูปแบบ 3 ส่วนลดพิเศษ ส่วนลดผลิตภัณฑ์เบอร์ 5 30,000 สิทธิ์ ส่วนลดค่าชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า

กฟผ.หนุน'ยกน้ำหนัก–เรือพาย'ต่อ สร้างพลังใจดันนักกีฬาไทย สู่ระดับโลก

กฟผ. สนับสนุนงบประมาณ สมาคมยกน้ำหนักฯ สมาคมเรือพายฯ ต่อเนื่องอีก 4 ปี  มุ่งพัฒนาศักยภาพนักกีฬาไทยสู้ศึกทั้งในไทยและต่างประเทศ เพื่อสร้างรอยยิ้ม และความสุขให้คนไทย