ภัยคุกคาม 'นาก' 5 จังหวัดฝั่งอันดามันรุนแรงสุด

นากถูกนำมาเลี้ยง

นาก เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ออกลูกครั้งละ 3-4 ตัว ธรรมชาติของนากมีทั้งที่รวมกลุ่มกันเป็นฝูงและอยู่ตัวเดียว พบได้บ่อยในพื้นที่ชุ่มน้ำและแหล่งน้ำตามธรรมชาติ รวมทั้งพื้นที่ชายฝั่ง โดยเฉพาะป่าชายเลนทางภาคใต้ของไทย นากมีสถานภาพเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่ไม่มีการอนุญาตให้ล่าหรือเพาะเลี้ยงเพื่อการค้า ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่ามีจำนวนคงเหลือเท่าใด แต่มีแนวโน้มลดลงจากภัยคุกคามในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะการนำนากมาเป็นสัตว์เลี้ยงซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและเสี่ยงทำให้นากอายุสั้นจากการเลี้ยงที่ไม่ถูกต้องตามนิเวศวิทยาของสัตว์            นาก จะเติบโตและขยายพันธุ์ได้ดีในธรรมชาติ การนำมาเลี้ยงโดยไม่เข้าใจเรื่องสุขภาพของนากและเลี้ยงเหมือนสัตว์เลี้ยงอื่นๆ (เลี้ยงในกรง) อาจทำให้นากอายุสั้น และไม่ขยายพันธุ์ในรุ่นต่อๆ ไป หรือพอเลี้ยงโตแล้วนำไปปล่อยก็มีโอกาสรอดยากและเสี่ยงต่อการนำโรคไปสู่นากในธรรมชาติ

ผศ. ดร. นฤมล ตันติพิษณุ และนายอนุชา ขำจริง นักวิจัยจากสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้ทำวิจัยในโครงการประเมินภัยคุกคาม และการจัดลำดับความสำคัญของการจัดการเพื่อการอนุรักษ์นากอย่างยั่งยืนในพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งภาคใต้ของประเทศไทย ฝั่งอันดามัน  โดยได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และทุนวิจัยจากมูลนิธิกระจกอาซาฮี เพื่อศึกษาภัยคุกคามที่ทำให้ประชากรนากลดลง ประเมินพื้นที่ที่มีระดับภัยคุกคามรุนแรง และเสนอแนวทางการจัดการที่เหมาะสมต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


ผศ.ดร.นฤมลกล่าวว่า นากเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ในทวีปเอเชีย มีนาก 5ชนิด ส่วนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มี 4ชนิด ประกอบด้วยหนึ่ง 1.นากใหญ่ธรรมดา อยู่ภาคเหนือ ค่อนมาตะวันตก ไม่พบในกลางและใต้เป็นนากทั่วไปพบได้ถึงยุโรปและเอเชีย2. นากใหญ่ขนเรียบ พบได้ทั่วไป เหนือถึงใต้3.นากเล็กเล็บสั้น พบได้ทั่วไป เหนือถึงใต้4.นากจมูกขน พบในป่าพรุภาคใต้ พบยากสุด แถวๆ นครศรีธรรมราช พัทลุง พรุโต๊ะแดง นอกจากไทยก็มีที่กัมพูชา  และอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นป่าพรุ  ส่วนการทำวิจัยภาคใต้พบนากชนิดที่ 2-3 เป็นหลัก วงจรชีวิตของนากส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ริมน้ำ บกสลับน้ำ เพราะต้องหาอาหารที่เป็นสัตว์น้ำเป็นหลัก พวกปลา ปู กุ้ง รวมถึงกบเขียด งู  นากจัดเป็นห่วงโซ่อาหารสูงสุดของสัตว์ผู้ล่าในป่า เป็น apex predator  พื้นที่ชุ่มน้ำพื้นที่แห่งไหนมีนาก  แสดงว่า  มีปลา ปู กุ้งตามธรรมชาติในน้ำแถวนั้น

ในการทำวิจัยเ พื่อประเมินภัยคุกคามต่อการอยู่รอดของนาก ทำในพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งอันดามัน 5 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา กระบี่ ตรัง สตูล  โดยการสัมภาษณ์ชาวบ้านเพื่อสอบถามถึงรูปแบบและระดับของภัยคุกคามนากในแต่ละพื้นที่ ทำการเก็บข้อมูลในระดับตำบลที่มีโอกาสพบนาก โดยทำการสัมภาษณ์ทั้งหมด 640 ครั้งใน 270 หมู่บ้าน 117 ตำบล 25 อำเภอ  และยังมีการสัมภาษณ์ชาวบ้านที่เคยเกี่ยวข้องกับนาก ทั้งเคยพบเห็นหรือรู้เรื่องราวของนาก อาทิ คนหาปลา ผู้ใหญ่บ้าน ผู้สูงอายุ (คนเก่าแก่ในพื้นที่) จำนวน 1,035 คน

ทีมวิจัยสัมภาษณ์ชาวบ้าน

 “ข้อมูลที่ได้ทำให้รู้ว่า นากที่มีจำนวนมากที่สุดมี 2 ชนิด คือ นากเล็กเล็บสั้น (Aonyx cinereus) และ นากใหญ่ขนเรียบ (Lutrogale perspicillata) คนกับนากอยู่ร่วมกันมาตั้งแต่ในอดีต คนส่วนใหญ่ในพื้นที่รู้จักนากและมีทัศนคติที่ดี เข้าใจธรรมชาติของนากที่เป็นสัตว์ผู้ล่าขนาดเล็กในพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่ง ซึ่งในภาคใต้ฝั่งอันดามันมีป่าชายเลนผืนใหญ่ค่อนข้างสมบูรณ์ ทำให้มีอาหารในธรรมชาติเพียงพอสำหรับนาก จึงไม่ค่อยมีปัญหาความขัดแย้งกับคน แต่กิจกรรมของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อมในช่วงที่ผ่านมา อาทิ การขยายพื้นที่ทำประมง บ่อปลา บ่อกุ้ง รวมถึงกิจกรรมท่องเที่ยวชายฝั่ง ทำให้ป่าชายเลนมีพื้นที่ลดลงหรือสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลกระทบต่อแหล่งอาหารของนาก ทำให้นากออกมาหาอาหารนอกพื้นที่และเกิดความขัดแย้งกับคน แต่ปัญหาความขัดแย้งนี้ยังไม่รุนแรงนัก เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่รู้ว่าเป็นธรรมชาติของนากและไม่ได้รบกวนบ่อยจนกระทบรายได้ มีเพียงหาวิธีป้องกันเพื่อช่วยให้นากลงกินสัตว์เลี้ยงได้น้อยลง” ผศ.ดร.นฤมล กล่าว

แผนที่แสดงจุดพื้นที่ ที่มีการคุกคามนากรุนแรง

แต่ขณะเดียวกัน จากการวิเคราะห์และประเมินระดับภัยคุกคามต่อการอยู่รอดของนาก จากข้อมูลที่ได้ พบว่า ประมาณร้อยละ 20 ของหมู่บ้านที่สำรวจมีระดับภัยคุกคามในระดับสูงและสูงมากต่อการอยู่รอดของนาก และสมควรต้องกำหนดเป็นพื้นที่ที่ต้องการการจัดการเร่งด่วน (Conservation hotspot) ในหลายตำบลของจังหวัดพังงา ตรัง สตูล และกระบี่ ตามลำดับ จากการศึกษาพบว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีนากเล็กเล็บสั้นและนากใหญ่ขนเรียบถูกฆ่าเพื่อนำเนื้อมากิน ถูกฆ่าเนื่องจากสร้างปัญหาให้มนุษย์ ถูกสุนัขกัด ถูกรถชน และที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือการถูกนำมาเลี้ยง

ด้าน นายอนุชา กล่าวว่า “จากการสำรวจในระหว่าง พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ถึงกรกฎาคม พ.ศ. 2564 พบว่า มีนากมากกว่า 67 ตัวถูกนำมาเลี้ยง มีนากอย่างน้อย 7 ตัวที่โดนฆ่าเพื่อนำมาประกอบอาหาร อย่างน้อย 4 ตัวที่โดนฆ่าเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งกับมนุษย์ อย่างน้อย 7 ตัวที่ตายจากการโดนสุนัขกัด และอย่างน้อย 3 ตัวที่ตายจากการโดนรถชน ซึ่งการลดจำนวนนากจากประชากรหลักในธรรมชาติด้วยภัยคุกคามเหล่านี้อาจส่งผลกระทบให้จำนวนนากในธรรมชาติลดลงจนเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในระดับท้องถิ่น

นากในพื้นที่ธรรมชาติ

“หากเทียบระดับความรุนแรงนากถูกคุกคาม 0-5 แถบอันดามันมีความรุนแรงประมาณ 3-4 เพราะการเอานากจากธรรมชาติมาเลี้ยง ผลการศึกษาฝั่งอันดามัน พบว่า จังหวัดตรังและพังงาเป็นพื้นที่ที่มีนากเยอะและสถานการณ์รุนแรงด้วยคือสองจังหวัดนี้มีกิจกรรมที่ทำให้นากลดลงสูง รวมถึงมีส่วนอื่นที่ไม่ใช่ทางตรง เช่น การท่องเที่ยว ที่ทำให้สภาพพื้นที่แย่ลง ส่วนฝั่งอ่าวไทย จะเป็นปัญหาเชิงขัดแย้งกับคนในพื้นที่ แต่อ่าวไทยยังประเมินไม่เสร็จ   “นายอนุชากล่าว

การเลี้ยงนากที่กำลังเป็นเทรนด์  ผศ.ดร. นฤมล  กล่าวว่า ที่เห็นใน social mediaที่เห็นความสนใจเลี้ยงนากมากขึ้น  แม้ตอนนี้ จะไม่ทราบชัดเจนว่า  ความต้องการเลี้ยงนากนี้ ทำให้นากลดจำนวนลงมากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าดูจากราคาที่คนยอมจ่าย จากเดิมตัวละ 500  บาท แต่เพิ่มเป็น 2-3 พันบาท เมื่อขายให้กับคนนอกพื้นที่ ก็พอจะทำให้เห็นว่ามีแนวโน้มสูงที่นากจะถูกจับมาขายมากขึ้น

นากในธรรมชาติ

นักวิจัยกล่าวอีกว่าการเลี้ยงนากตอนนี้  เปลี่ยนจากเดิมที่การเลี้ยงเกิดจากชาวบ้าน ไปเจอลูกนากอยู่ลำพังและกลัวจะมีสัตว์อื่นมาทำร้ายเลยนำกลับไปเลี้ยง หรือบางครั้งไปพบนากได้รับบาดเจ็บจึงนำกลับมารักษา แต่จากกระแสความนิยมเลี้ยงนากในปัจจุบัน รวมถึงคลิปที่โชว์ความน่ารักของนากผ่านสื่อโซเชียล กระตุ้นให้เกิดกระแสความสนใจเลี้ยงนากมากขึ้น เริ่มมีการจับนากจากพื้นที่ธรรมชาตินำมาขายให้กับคนในพื้นที่และคนนอก โดยเฉพาะนากเล็กเล็บสั้น ซึ่งเมื่อย้อนไปในช่วงก่อนหน้าจะพบว่านากถูกนำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558-2562 มีนาก 179 ตัวถูกนำมาเลี้ยง และในปี 2553-2557 มีนาก 118 ตัวถูกนำมาเลี้ยง

“บางคนเห็นจากคลิปก็คิดว่านากน่ารักจึงอยากเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง ซึ่งความจริงแล้วสิ่งที่คนยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเลี้ยงนากคือ เมื่อนากโตขึ้นก็ไม่ได้น่ารักเหมือนลูกนาก นอกจากนี้อาหารที่คนเลี้ยงให้ ยังไม่ใช่ปลา ปู หรือกุ้งสดๆ  แต่กลับเป็นอาหารสัตว์เลี้ยงทั่วไป เช่น ข้าว ไข่ทอด ไก่ทอด ลูกชิ้นทอด ไส้กรอก อาหารคน อาหารแมว ซึ่งนอกจากจะทำให้อ้วนเกินไปแล้ว ยังทำให้นากมีอายุสั้น จากที่นากตามธรรมชาติควรมีอายุ 20ปี ถ้าเอามาเลี้ยงก็จะเหลือประมาณ  5ปี  และนากที่นำมาเลี้ยงไม่สามารถขยายพันธุ์ในรุ่นต่อไปได้ ส่งผลให้จำนวนประชากรนากในธรรมชาติลดลง เพราะนากที่นำมาเลี้ยงทั้งหมดล้วนลักลอบนำออกมาจากพื้นที่ธรรมชาติ”

ในแง่ความสำคัญของนากต่อระบบนิเวศ ผศ.ดร.นฤมล กล่าวว่า ตามทฤษฎีเก่า ถือว่านากเป็นตัวควบคุมปริมาณสัตว์ริมน้ำ ไม่ให้สัตว์เหล่านี้มีมากเกินไป เช่น กลุ่มงู  แต่ปัจจุบันการพัฒนาชุมชน ทำให้มนุษย์คุมงูได้มาก นากจึงมีความสำคัญด้านนี้ลดลง    หรือหากเทียบกับเสือโคร่ง ที่ควบคุมสัตว์กินพืช นากก็อาจไม่สำคัญเท่า แต่ประโยชน์จริงๆ ของนากยังมีอยู่ เช่น การช่วยควบคุม alien species เช่น ปลาหมอคางดำ ที่มารุกรานสัตว์ท้องถิ่น  หรือมูลของนากที่เป็นประโยชน์เป็นปุ๋ยธรรมชาติ

สภาพนากที่ถูกนำมาเลี้ยง โดยกระแสในโซเชียลมีเดีย เป็นตัวกระตุ้นให้คนอยากเลี้ยงนากมากขึ้น และเป็นสาเหตุทำให้นากถูกจับจากธรรมชาติมากขึ้น

ข้อเสนอของงานวิจัยนี้ ผศ.ดร.นฤมล กล่าวว่า  จากการไปเก็บข้อมูล หากดูพื้นที่อุทยาน ทั้งบกและน้ำ จะไม่ใช่พื้นที่ที่นากอยู่อาศัย แต่พื้นที่ที่นากอยู่จะเป็นพื้นที่ภายใต้การดูแลของ ทช. ซึ่ง ทช. จะดูเฉพาะต้นไม้ ทำให้การป้องกันดูแลน้อยหรือไม่สนใจนากเลย เพราะมองว่าเป็นหน้าที่ของกรมอุทยานมากกว่า ทางด้านชาวบ้าน จากการได้ไปพูดคุยกับชาวบ้าน ทำให้ทราบว่าชาวบ้านก็พยายามปรับตัวเข้าหานากเหมือนกันหากนากไม่กวนเขามากเขาก็พยายามอยู่กันไป ยกเว้นพื้นที่ที่โดนกวนหนัก บางที่ชาวบ้านก็เลิกทำประมง บางที่ก็พยายามจะสู้กันอยู่  

“ก็เลยมองว่าจริงๆ ในพื้นที่ที่ปัญหาไม่รุ่นแรงมาก อย่างฝั่งอันดามัน หากเราทำความเข้าใจกับเขาได้ว่านากสำคัญอย่างไร และวิธีปฏิบัติ เช่น ไม่เอานากมาเลี้ยงอย่างน้อยสุด ทำให้เขาสามารถอยู่ร่วมกันได้    แต่ในพื้นที่ปัญหาน้อยก็พอคุยๆ กันได้  อย่างสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเยอะ และโดนนากหนักๆและมีการประมงต่างจากฝั่งอันดามัน  คือเราเห็นภาพความต่างของอันดามันและไทย นอกจากนี้ในอันดามันเองแต่ละที่ก็ปัญหาต่างกัน”

ในแง่การสื่อสารเรื่องนากกับคนเมือง ผศ.ดร.นฤมลบอกว่า  มีบางคนที่เลี้ยงนากอย่างดีแล้วรอดจริง  แต่ต้องสื่อสารให้เห็นว่าการเลี้ยงนาก  จะทำให้นากถูกนำออกจากป่ามากขึ้น  ซึ่งตนเคยคิดว่า จะแก้ปัญหาโดยแกักฎหมายให้คนเลี้ยงนากได้  แต่ก็จะมีปัญหาตามมาอีก คือ พอเอานากมาเพาะเลี้ยง ก็จะมีความพยามยามเพาะให้ออกลูกหลาน แต่เป็นไปได้ยากมาก ในไทยยังไม่สามารถทำได้  หรือถ้าจะทำก็จะมีค่าใช้จ่ายสูง  จึงทำให้คนไปหาทางเลือกที่ง่ายกว่า คือ การลักลอบจับนากในธรรมชาติไปเลย   เหมือนกรณีนกปรอทหัวโขนที่พอมีกฎหมายให้เลี้ยง ก็มีข้อมูลว่ามีการนำออกมาจากธรรมชาติมากขึ้น

” ขณะที่กฎหมายไทยห้ามเลี้ยงนาก แต่ญี่ปุ่นไม่ห้าม ก็จะเห็นว่า youtube ช่องเลี้ยงนากเยอะขึ้นมาก ทำให้คนเลี้ยงเปิดช่องให้คนดู บางส่วนอาจกระตุ้นให้เกิดการ import นากจากบ้านเรา โดยนากที่ญี่ปุ่น ตัวละเป็นหมื่นบาท ซึ่งจากเราเคยมีการตรวจพบที่สุวรรณภูมิ และเก็บตัวอย่างนากที่ยึดได้ มาศึกษาพบว่ามาจากภาคใต้   จริงๆ โครงการที่ทำร่วมกับอาจารย์อีกท่าน เราเก็บตัวอย่างเลือดนากไทย กับนากที่ญี่ปุ่นจะพบว่านากที่ญี่ปุ่น ก็มาจากเมืองไทยทางภาคใต้เหมือนกัน “

สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงคนเข้ามาใช้พื้นที่ที่เคยเป็นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของนากมากขึ้น

ผศ.ดร.นฤมล ตบท้ายว่า  นอกเหนือจากการศึกษาเพื่อหาแนวทางการจัดการที่เหมาะสม ที่ทางคณะวิจัยมีแผนจะดำเนินการต่อภายใต้โครงการวิจัยการวางแผนการจัดการอนุรักษ์สัตว์ผู้ล่าขนาดเล็กในพื้นที่ชุ่มน้ำภาคใต้เพื่อการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และสัตว์อย่างยั่งยืนแล้ว การทำให้คนในสังคมไทยได้ตระหนักว่า “นากไม่ใช่สัตว์เลี้ยง” ก็เป็นสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันทำอย่างจริงจัง เพื่อให้สัตว์ผู้ล่าขนาดเล็กชนิดนี้ สามารถทำหน้าที่ของมันในธรรมชาติได้อย่างสมบูรณ์ และเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศชายฝั่งที่สมบูรณ์และเป็นแหล่งทรัพยากรให้กับคนในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน.
————————

เพิ่มเพื่อน