เนื่องในโอกาสประเพณีสงกรานต์ปีใหม่ของไทย กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) จัดงาน “สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจ สู่สากล” ณ วัดสุทัศนเทพวราราม มุ่งเน้นเรื่องคุณค่าและสาระของวัฒนธรรม ประเพณีสงกรานต์ที่มีสืบทอดมาอย่างต่อเนื่องเป็นหนึ่งใน Soft Power ด้านการอนุรักษ์และขับเคลื่อนเทศกาลประเพณีสู่ระดับโลกของรัฐบาล
นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า งานจัดขึ้นเพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณีสงกรานต์ในฐานะที่เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของประเทศไทย ได้รับความอนุเคราะห์จากเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวรารามเรื่องสถานที่การจัดงานและสิ่งอำนวยความสะดวกภายในงาน รวมถึงได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี
ส่วนกิจกรรมที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมทั้ง 5 วัน ประกอบด้วย การแสดงทางศิลปวัฒนธรรม 4 ภาค อาทิ การแสดงดนตรีไทยจากนักเรียนในโครงการดนตรีไทย 100 % เพลงฉ่อย เพลงเรือ ฟ้อนมาลัย เซิ้งโปงลาง และโนรา การสาธิตทางวัฒนธรรม ร้านของดี 50 เขต และการไหว้พระสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัด
นอกจากนี้ จะมีการมอบรางวัลให้แก่ผู้ได้รับรางวัลจากกิจกรรมการประกวดก่อพระเจดีย์ทรายและการประกวดพานรดน้ำรวม 20 รางวัล โดยนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และรางวัลขวัญใจอนุรักษ์วัฒนธรรม มอบโดยเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวรารามอีกด้วย
งานสืบสานประเพณีสงกรานต์ ณ วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ที่จัดระหว่างวันที่ 12-16เมษายน 2566 เวลา 16.00-20.00 น.นอกจากกิจกรรมการแสดงทางวัฒนธรรมที่หาชมได้ยากแล้ว ยังมีกิจกรรมสาธิตทางวัฒนธรรม อาทิ การสาธิตเครื่องหอมไทยในเทศกาลสงกรานต์ การสาธิตข้าวแช่ชาววัง และมะยงชิดลอยแก้ว การสาธิตงานหัตถศิลป์ปีใหม่ไทย : พัดบุหงา บุหงารำไป มาลัยผ้าเช็ดหน้า การพับใบเตยหอม การสาธิตกวนกาละแม การสาธิตการละเล่นสะบ้ามอญ/บ่อนสะบ้า การสาธิตการทำตุงไส้หมู (ภาคเหนือ) การสาธิตการทำมาลัยกรจากผ้าขาวม้า (ภาคกลาง) และการสาธิตการทำลูกปัดโนรา-สืบสานตำนานโนราเติม วิน วาด (ภาคใต้) กิจกรรมภายในงานสร้างความสุขให้ประชาชนและสร้างความประทับใจให้นักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี
นอกจากงานประเพณีสงกรานต์ที่วัดสุทัศน์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม และหน่วยงานในสังกัด ร่วมกับภาคีสืบสานประเพณีสงกรานต์ ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด “สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจ สู่สากล” อาทิ งานสืบสานประเพณีสงกรานต์ไทยพุทธศักราช 2566 ระหว่างวันที่ 8 – 15 เมษายน 2566 ณ ริมคลองผดุงกรุงเกษม ฝั่งสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ประกอบด้วย สรงน้ำพระพุทธรูป ออกร้านอาหารไทย สินค้าทางวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น การการแสดงพื้นบ้าน 4 ภาค ประกอบด้วย ระบำตารีกีปัส ระบำตุมปัง ฟ้อนขันดอก ฟ้อนนกกิงกะหร่า เอิ้นขวัญ ภูไทสามเผ่า เอ้ดอกคูณ และเพลงพื้นบ้านภาคกลาง
ทั้งยังสนับสนุนสภาวัฒนธรรม 50 เขต ในกรุงเทพมหานคร จัดกิจกรรมสืบสานคุณค่าสาระประเพณีสงกรานต์ กับสำนักงานเขต 50 เขต ของกทม. ในช่วงประเพณีสงกรานต์ ส่วนกรมศิลปากรร่วมกับสยามพารากอนจัดงาน “สงกรานต์ประเพณีไทย สายน้ำแห่งวัฒนธรรม” โดยอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญ 9 องค์ มาให้ประชาชนได้สักการะ รดน้ำขอพร เพื่อความเป็นสิริมงคล เนื่องในประเพณีสงกรานต์ ปี 2566วันที่ 12-16 เมษายน 2566 ณ แฟชั่น แกลลอรี่ ชั้น 1ศูนย์การค้าสยามพารากอน ประกอบด้วย 1.พระพุทธรูปปางถวายเนตร 2. พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร 3. พระพุทธรูปไสยาสน์ 4. พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร 5. พระพุทธรูปปางป่าเลไลย์ (พระพุทธรูปบูชาแทนพระราหู) 6. พระพุทธสิหิงค์จำลอง (ปางสมาธิ) 7. พระพุทธรูปปางรำพึง 8. พระพุทธรูปปางนาคปรก และ 9.พระเกตุพระหายโศก ปางสมาธิเพชร (พระพุทธรูปบูชาแทนพระเกตุ) โดยมีการสาธิตน้ำอบน้ำปรุง การทำแป้งพวง และการร้อยมาลัยดอกไม้ด้วย
ส่วนงานเทศกาล “สงกรานต์วัดพระเชตุพน”ประจำปี 2566 ชมการสาธิตศิลปะแม่ไม้มวยไทย โดยแชมป์มวยไทย เยี่ยมชมกิจกรรมและการออกร้านภายในวัดอีกมากมาย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชัดๆจาก ‘พิชิต’..ระบอบทักษิณ ต้นเหตุรัฐประหาร | ตรงปก ตรงประเด็น กับ...สำราญ รอดเพชร
ตรงปก ตรงประเด็น กับ...สำราญ รอดเพชร : วันพุธที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567
‘อย่าย่ามใจ’ ม็อบจุดไม่ติด I ห้องข่าวไทยโพสต์
ห้องข่าวไทยโพสต์ : วันพุธที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567
MOU โมฆะ-ครม.อวสาน? | ตรงปก ตรงประเด็น กับ...สำราญ รอดเพชร
ตรงปก ตรงประเด็น กับ...สำราญ รอดเพชร : วันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567
เบื้องลึก MOU 44 ของ 'ทักษิณ-ฮุนเซน I ห้องข่าวไทยโพสต์
ห้องข่าวไทยโพสต์ : วันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567