คุณค่า’ประเพณีสงกรานต์’ ปีใหม่ไทย 4 ภาค

ประเพณีสงกรานต์ สะท้อนถึงวิถีปฏิบัติอันงดงามของคนไทยในแต่ละท้องถิ่นที่สืบทอดกันมา เต็มเปี่ยมไปด้วยมนต์เสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก วันสงกรานต์ ยังเป็นประเพณีขึ้นปีใหม่ของไทยมาตั้งแต่โบราณ มีกิจกรรมเป็นที่รู้จักไปโลก คนไทยเช้าวัดทำบุญสงกรานต์ ก่อเจดีย์ทราย  ทำบุญอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลแก่ผู้ที่ล่วงลับ มีการรดน้ำดำหัว ขอพรจากผู้สูงอายุ  การละเล่นสาดน้ำของหนุ่มสาว

สำหรับประเพณีสงกรานต์แต่ละท้องถิ่นมีความเชื่อและวิธีปฏิบัติและเรียกขานแตกต่างกันออกไปตามแต่ภูมิภาค สงกรานต์ภาคเหนือ  ปาเวณีปีใหม่  ชื่อเรียกของวันสงกรานต์ภาคเหนือ จัดขึ้น 3-5 วัน วันที่ 13 เมษายนว่า “วันสงกรานต์ล่อง” หมายถึง วันปีที่ผ่านไปหรือวันสังขารร่างกายแก่ไปอีกปี  ตอนเช้าชาวล้านนาจะจุดประทัดขับไล่เสนียดจัญไร ทำความสะอาดบ้านเรือน   อีกทั้งยังนำพระพุทธรูปบูชาประจำบ้านมาชำระและสรงน้ำอบโดยใช้น้ำขมิ้นส้มป่อย รวมทั้งแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าใหม่ต้อนรับปีใหม่   วันที่ 14  เมษายน  “วันเนา” หรือ “วันเน่า” เป็นวันที่ห้ามพูดจาหยาบคาย เชื่อว่าจะทำให้ปากเน่า ไม่เจริญ และวันที่ 15 เมษายน “วันพยาวัน”  หรือ “วันเถลิงศก”   เป็นวันเริ่มต้นปีใหม่ ชาวบ้านจะมาทำบุญที่วัด เลี้ยงพระ อุทิศส่วนกุศล  สรงน้ำพระพุทธรูปและพระสงฆ์ นำไม้ค้ำต้นโพธิ์ วันที่ 16 เมษายน วันพยาวัน  ทำพิธีสะเดาะเคราะห์ พิธีสืบชะตา ทำบุญขึ้นท้าวทั้งสี่ จุดเทียนต่ออายุชะตาภายในบ้าน  วันสุดท้ายคือวันปากเดือน เป็นวันเริ่มเดือนใหม่ มีรดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่ เล่นสาดน้ำ  


สงกรานต์อีสาน ชื่อเรียกงานบุญเดือน 5 เป็นประเพณีหนึ่งในฮีตสิบสองที่ชาวอีสานถือปฏิบัติกันมาแต่โบราณถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า  “วันสังขารล่วง” (วันเน่า) วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า วันเนา วันที่ 15 เมษายน เรียกว่า วันสังขารขึ้น (วันขึ้นปีใหม่) เป็นวันทำบุญตักบาตร แล้วสรงน้ำพระภิกษุ ตลอดจนสรงน้ำผู้สูงอายุในชุมชน เรียกว่า รดน้ำขอพร นำน้ำอบน้ำหอมไปสรงน้ำพระพุทธรูปที่วัด ทางวัดจะจัดสถานที่อัญเชิญพระพุทธรูปมาประดิษฐานไว้ให้ชาวบ้านมาสรงน้ำพระพุทธรูป และตามบ้านชาวบ้านจะนำพระพุทธรูปมาสรงน้ำสามวันเต็ม

สงกรานต์ภาคใต้  เรียกประเพณีสงกรานต์ว่า “ประเพณีวันว่าง”  ถือเป็นวันละวางกายและใจจากการทำงานทุกชนิด  อีกจะจัดขึ้น  3 วัน คือ วันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี นับเป็นโอกาสที่จะแสดงความกตัญญูต่อผู้ใหญ่ โดยการจัดหาผ้าใหม่ การอาบน้ำ ระหัว และขอพรจากผู้ใหญ่ วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า วันเจ้าเมืองเก่า เชื่อว่าเทวดารักษาบ้านเมืองกลับไปชุมนุมกันบนสวรรค์ จะทำความสะอาดบ้านเรือน รวมทั้งทำพิธีสะเดาะเคราะห์  ลอยเคราะห์ สรงน้ำพระพุทธรูป วันที่ 14  เมษายน เรียกว่า “วันว่าง”  วันที่ปราศจากเทวดาที่รักษาเมือง ชาวใต้จะทำบุญที่วัดและรดน้ำขอพรผู้ใหญ่  วันที่ 15  เมษายน เรียกว่า “วันรับเจ้าเมืองใหม่” นำอาหารไปทำบุญที่วัดกัน  ปล่อยนก ปล่อยปลา ก่อเจดีย์ทรายและเล่นสาดน้ำกันเหมือนกับภาคอื่น ๆ สมัยก่อนแต่ละหมู่บ้านจะมีคณะเพลงบอกออกไปร้องตามชุมชน ร้องเป็นตำนานนางสงกรานต์ 

สงกรานต์ภาคกลาง  ประเพณีจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี วันที่ 12 เมษายน ถือว่าเป็นวันจ่าย สำหรับหาซื้อของสำหรับทำบุญในวันรุ่งขึ้น ในอดีตนั้นชาวบ้านนิยมทำขนมกวนจำพวกกวนข้าวเหนียวแดงและกาละแม  เพื่อนำไปถวายพระและแจกจ่ายในช่วงเทศกาล ธรรมเนียมปฏิบัติช่วงเทศกาลสงกรานต์  ได้แก่ กรทำบุญตักบาตรเลี้ยงพระ  ก่อพระทราย  ปล่อยนกปล่อยปลา  สรงน้ำพระ  สรงน้ำผู้ใหญ่ บังสุกุลอัฐิ แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว เล่นสาดน้ำสนุกสนาน

ในท้องถิ่นภาคกลางบางแห่งมีการจัดประเพณีสงกรานต์แตกต่างไปจากถิ่นอื่นๆ ได้แก่  ประเพณีวันไหล  เป็นการทำบุญวันขึ้นปีใหม่ของชาวจังหวัดชลบุรี มีกำหนดจัดหลังวันมหาสงกรานต์ 5-6 วัน ระหว่างวันที่ 17-18 เมษายนของทุกปี มีการทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระพุทธรูป การเล่นสาดน้ำ การก่อพระเจดีย์ทราย เป็นต้น  

ส่วนสงกรานต์มอญใน จ.นนทบุรี จ.ปทุมธานี จ.ราชบุรี จ.สมุทรปราการ จ.สมุทรสงคราม ฯลฯ มีขนบธรรมเนียมปฏิบัติชาวมอญที่สืบทอดจนถึงปัจจุบัน แสดงอัตลักษณ์ชาวมอญอย่างชัดเจน วันที่ 12 เมษายน เรียกว่า วันสุกดิบหรือวันเตรียมสงกรานต์ ฝ่ายหญิงจะเตรียมทำอาหารสำหรับถวายพระและจัดเลี้ยง เช่น ข้าวแช่ กวนกาละแม ส่วนฝ่ายชายจะเตรียมไม้และผ้าขาวมาปลูกศาลเพียงตาสำหรับวางเครื่องสังเวยถวายนางสงกรานต์ในวันรุ่งขึ้น  วันที่ 13 เมษายน  วันมหาสงกรานต์  เรียกว่า “วันกรานต์ข้าวแช่” เช้ามืดนำข้าวแช่ไปวางไว้บนศาลเพียงตาที่จัดทำไว้เพื่อสังเวยรับนางสงกรานต์  เมื่อเสร็จพิธีรับนางสงกรานต์ แบ่งคนแยกย้ายไปถวายข้าวแช่แด่พระตามวัด แล้วนำข้าวแช่ไปส่งแสดงคารวะแด่ญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ จะมีการละเล่นลูกช่วง เล่นสะบ้า เล่นทรงเจ้าเข้าผี เช่น ผีนางด้ง ผีลิงลม เป็นต้น

วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า “วันเนา”  วันที่ 15 เมษายน เรียกวันเถลิงศก ชาวมอญจะประชุมสรงน้ำพระพุทธรูปและพระสงฆ์ที่วัด จากนั้นบังสุกุลอุทิศส่วนกุศลแด่บรรพบุรุษ มีการขนทรายเข้าวัด มีความเชื่อว่าเพื่อให้อายุยืนยาวและเป็นศิริมงคลในวันปีใหม่ อีกทั้งยังมีการค้ำโพธิ์พร้อมกับอธิษฐานให้หมดเคราะห์และมีความร่มเย็น

ปีนี้หลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนกลับมาจัดกิจกรรมประเพณีสงกรานต์หลังหยุดไป 3 ปี เพราะโควิด-19 อาทิ  จังหวัดเชียงใหม่ จัดงานย้อนยุคสงกรานต์วิถีล้านนา “ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่” 12-16 เม.ย.  จังหวัดขอนแก่น จัดประเพณีสุดยอด สงกรานต์อีสานเทศกาลดอกคูนเสียงแคน และถนนข้าวเหนียว ประจำปี 2566 “สาดซิ่ง สาดศิลป์” ณ บริเวณบึงแก่นนคร และศาลหลักเมืองขอนแก่นและถนนข้าวเหนียว ระหว่างวันที่ 8-15 เม.ย.  จังหวัดชลบุรี จัดงานวันไหลบางแสน ระหว่างวันที่ 16-21  เม.ย. จังหวัดนครศรีธรรมราชจัดงานเทศกาลมหาสงกรานต์ แห่นางดานเมืองนคร (วิถีพุทธ-พราหมณ์) ระหว่างวันที่ 13-15 เม.ย. และ จังหวัดสมุทรปราการ จัดประเพณีสงกรานต์พระประแดง ระหว่างวันที่ 21-23 เม.ย.  
ด้านกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ขอความร่วมมือภาคีเครือข่ายทางวัฒนธรรมทั้งภาครัฐและเอกชน ให้จัดกิจกรรมตามแนวทางและมาตรการการจัดงานประเพณีสงกรานต์ปี 2566  ภายใต้แนวคิด “สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจ สู่สากล” เพื่อเผยแพร่คุณค่าสาระ แสดงอัตลักษณ์ของประเพณีสงกรานต์ในท้องถิ่นต่างๆ และรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงสุขอนามัย บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เป็นเจ้าบ้านที่ดีต้อนรับนักท่องเที่ยว เพื่อให้สงกรานต์เป็นช่วงเวลาแห่งความสุของทุกคน พร้อมช่วยกันสืบสานอนุรักษ์และสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามให้คงอยู่เป็นที่ภาคภูมิใจแก่อนุชนรุ่นหลังสืบไป 

อีกทั้งมีแนวทางจัดกิจกรรมประเพณีสงกรานต์ เพื่อส่งเสริมให้ภาครัฐ เอกชน และประชาชน ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเพณีสงกรานต์ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และนานาชาติ ในโอกาสที่สงกรานต์ในประเทศไทยเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติที่เข้าสู่การพิจารณาของยูเนสโก

ทั้งนี้ จากการที่ ครม. มีมติ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 เห็นชอบเอกสารนำเสนอสงกรานต์ในประเทศไทย ขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก ขณะนี้กระบวนการดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของยูเนสโก คาดยูเนสโกจะพิจารณาการขึ้นทะเบียนสงกรานต์ในประเทศไทยเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติภายในเดือนธันวาคม 2566

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมูเด้ง' ซุปตาร์ดันวัฒนธรรมไทยสู่ระดับโลก

“หมูเด้ง”ซุปเปอร์สตาร์ฮิปโปแคระที่โด่งดังเป็นไวรัลทั่วโลกจากความน่ารักขี้เล่น  สื่อต่างประเทศนำไปลงข่าว นิตยสาร TIME พาดหัวข่าวเป็นไอคอนไลฟ์สไตล์ที่กิน นอน และแอคชั่นดราม่า สร้างปรากฎการณ์หมูเด้ง  ช่วยให้ยอดนักท่องเที่ยวเข้าชมสวนสัตว์เปิดเขาเขียว จ.ชลบุรี เพิ่มทวีคูณ 

ประเพณีถือศีลกินผักภูเก็ต อัตลักษณ์แห่งศรัทธาสืบทอดมา 199 ปี

จังหวัดภูเก็ต พร้อมหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน คณะกรรมการอ๊าม (ศาลเจ้า) และองค์กรต่าง ๆ พร้อมใจกันจัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในงานประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ต ประจำปี 2567  โดยมี นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล

ประกาศเกณฑ์รับเงินอุดหนุนงานวัฒนธรรมปี68

28 ก.ย. 2567 - นายประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 นี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดทำโครงการงบประมาณ หมวดเงินอุดหนุนทั่วไป เงินอุดหนุนส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาการดำเนินงานของเครือข่ายทางวัฒนธรรม

เปิดงาน'ไทยฟรุ้ง ปรุงไทย' ดึงชุมชนร่วมรักษามรดกภูมิปัญญา

ยิ่งใหญ่กับการเปิดงาน“ไทยฟุ้ง ปรุงไทย” (Thai Taste Thai Fest 2024)  โดย นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธาน พร้อมด้วย นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายประสพ เรียงเงิน อธิบดีกรม

'ประเพณี12เดือน' ภาพถ่ายทันสมัย เปิดมุมมองใหม่

มุมมองใหม่ๆ ที่เปิดเผยความงดงามของประเพณีไทยและบอกเล่าวิถีชีวิตผ่านเลนส์กว่า 200 ภาพ ในนิทรรศการภาพถ่าย“ประเพณี 12 เดือน ร้อยมุมมองวิถีไทย” ไม่เพียงสะท้อนถึงความเป็นไทยที่น่าภาคภูมิใจเท่านั้น แต่ยังพัฒนาวงการถ่ายภาพของประเทศไทย เห็นได้จากที่มี

เปิดบ้าน'เกริก ยุ้นพันธ์'ศิลปินแห่งชาติ ผู้สร้างพิพิธภัณฑ์เด็กเมืองอยุธยา

ถนนอู่ทอง ใน ต.ท่าวาสุกรี อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นถนนที่เชื่อมแหล่งท่องเที่ยวโบราณสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์  ไม่ว่าจะเป็นพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาสน์ วัดพนมยงค์ วัดศาลาปูนวรวิหาร วัดตึก วัดเชิงท่า ภายในถนนเส้นนี้มีบ้านที่จัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ล้านของเล่นเกริกยุ้นพันธ์