‘สงกรานต์’ สาดความสุขแบบอินเตอร์

ประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทยสะท้อนอัตลักษณ์ความเป็นไทยและได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก ประเพณีสงกรานต์ยังติดอันดับ 1 ใน 3 เทศกาลสำคัญของเอเชียจาก International Festival and Events Association (IFEA) ในปี 2564 เพื่อยกระดับงานประเพณีพื้นเมืองไทยสู่สากล  สงกรานต์ปีนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัด “เทศกาลเย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์” ประจำปี 2566 พร้อมกับงานเทศกาลสาดความสุขสนุกแบบอินเตอร์ INTERNATIONAL AMAZING SPLASH 2023 ถือเป็นครั้งแรกที่ยกเทศกาลงานวัฒนธรรมนานาชาติทั้ง เทศกาลโคลนจากเมืองโพเรียง เกาหลี เทศกาลสาดสีโฮลีจากอินเดีย เทศกาลเซ็ตซึบุนปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายจากญี่ปุ่น และสงกรานต์สิบสองปันนาประเทศจีน มาสร้างความสนุกและความสนุก ตั้งแต่วันที่ 13 – 15 เมษายนนี้ ณ บริเวณซอยจุฬาลงกรณ์ 5 ถนนอุทยาน 100 ปี กรุงเทพฯ

“ ประเพณีสงกรานต์ของประเทศไทยถือเป็นหนึ่งใน 5F ซึ่งเป็น Soft Power of Thailand คือ F Festival และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (Cultural Tourism) ของไทยสะท้อนอัตลักษณ์ความเป็นไทยและได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั่วทุกมุมโลก เทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงททท.กำหนดจัดงาน เทศกาลสาดความสุข สนุกแบบอินเตอร์ INTERNATIONAL AMAZING SPLASH 2023 ซึ่งจะนำเทศกาลที่เป็นที่รู้จักระดับโลกมาร่วมจัดแสดงควบคู่ไปกับงานเทศกาล “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์” ระหว่างวันที่ 13 – 15 เมษายนนี้ “  ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวถึงการร่วมสืบสานประเพณีไทยในรูปแบบใหม่ 

สำหรับกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วยขบวนแห่สงกรานต์นานาชาติสุดอลังการ INTERNATIONAL CARAVAN ชวนชมขบวนแห่ประเพณีสงกรานต์และวัฒนธรรมนานาชาติจาก 5 ประเทศ  ในวันที่  13 เมษายน  ประเทศไทยเสริมสิริมงคลวันปีใหม่ไทยกับขบวนแห่พระแก้วมรกตประดิษฐานบนรถบุษบกงดงาม     พร้อมขบวนรถนางสงกรานต์ กิมิทาเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกจงกลนี อาภรณ์แก้วบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ      พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จนั่งมาเหนือหลังมหิงสา (ควาย) เป็นพาหนะ โดย ใบเฟิร์น พิมพ์ชนก  แสดงเป็นนางสงกรานต์ปีนี้

 ประเทศจีนนำเสนอขบวนสีสันความสุขของชาวสิบสองปันนามณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีนในชุดแต่งกายวัฒนธรรมพื้นเมือง งดงามเป็นเอกลักษณ์ และหาชมได้ยาก  ประเทศอินเดียจัดเต็มกับขบวนแห่ที่เต็มไปด้วยสีสันความสนุกในรูปแบบของเทศกาลโฮลี่ หรือการสาดสี พร้อมโชว์สนุกๆ ในสไตล์​ Bollywood เต้นรำกันสนั่นเมืองแน่นอน

ประเทศญี่ปุ่นนำเสนอรถขบวนเซ็ตซึบุนจากแดนอาทิตย์อุทัย    นำทีมด้วยจังหวะกลองสร้างความตื่นตัว พร้อมปีศาจ การโยนถั่ว และตกแต่งด้วยเสาโทริอิกับซากุระสีชมพู ดอกไม้งามแห่งเกาะญี่ปุ่น    ส่วนประเทศเกาหลีมาพร้อมขบวนแห่บอนยองเกาหลี สื่อถึงความสดใสจากท้องทะเล สนุกสนานในแบบเฟสติวัลริมทะเลแดนกิมจิ สาวกกิมจิต้องไม่พลาด

ไฮไลท์ถัดมา กิจกรรม AMAZING SPLASH OF THE WORLD จำลองบรรยากาศประเพณีวัฒนธรรมของต่างประเทศที่มีความใกล้เคียงกับประเพณีสงกรานต์ประเทศไทยมานำเสนอกลางกรุง ชวนนักท่องเที่ยวแลกเปลี่ยนเรียนรู้พร้อมเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สำหรับประเทศไทยนำเสนอ“เทศกาลเย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์” พบกับเอกลักษณ์ประเพณีสงกรานต์5 ภูมิภาคทั่วประเทศ ผ่านรูปแบบการสาธิตผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของท้องถิ่นที่เชื่อมโยงถึงประเพณีสงกรานต์  เทศกาลนี้ยังเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้มีส่วนร่วมลงมือทำ DIY ด้วยตนเอง เริ่มที่ภาคเหนือนำเสนอการทำตุงล้านนา น้ำศักดิ์สิทธิ์ น้ำส้มป่อย สำหรับใช้ในพิธีรดน้ำดำหัวตามวิถีล้านนา 

ภาคกลางนำเสนออาหารคาวหวานในช่วงงานเทศกาลสงกรานต์ อย่างเมนูข้าวแช่ อาหารคลายร้อนที่มีเครื่องเคียงทั้งคาวหวาน พิถีพิถันตั้งแต่การคัดสรรวัตถุดิบชั้นเลิศ ขั้นตอนการทำที่ใส่ใจในทุกรายละเอียด จนได้ข้าวแช่เลิศรส อร่อย สดชื่น  เชื่อว่า ทุกคนต้องถูกใจสิ่งนี้  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนำเสนอประเพณีผูกเสี่ยว ประเพณีเก่าแก่ของชาวอีสาน การผูกเสี่ยว คือ การสัญญาที่จะเป็นเพื่อนรักร่วมเป็นร่วมตายกัน โดยใช้ฝ้ายมงคลผูกข้อมือของแต่ละคนเพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่ทั้งคู่ เที่ยวสงกรานต์ในอีสานยังมีประเพณีเสียเคราะห์ เป็นการสะเดาะเคราะห์  ปัดเป่าสิ่งไม่ดี

ส่วนภาคตะวันออกนำเสนอพิธีก่อเจดีย์ทรายข้าวเปลือกของชาวไผ่ดำ อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา หรือพิธีก่อเจดีย์ทราย จ.ชลบุรี เป็นต้น  ขณะที่ภาคใต้นำเสนอประเพณีแห่นางดาน จ.นครศรีธรรมราช ที่มีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย กิจกรรมสาธิตภูมิปัญญาท้องถิ่น และ DIY รวมทั้งกิจกรรมการสรงน้ำพระและก่อเจดีย์ทราย การแสดงศิลปะวัฒนธรรมไทย 

เกาหลีใต้นำเสนอ“เทศกาลโคลนจากเมืองโพเรียง”พบกับสระโคลนที่ได้นำเข้าโคลนมาจากเมืองโพเรียง ประเทศเกาหลีใต้ โดยจะมีกิจกรรมต่างๆ ทั้งการลงแช่โคลน, การทาโคลนทั่วตัว, การแข่งเกมชิงรางวัลกลางสระโคลน พร้อมบรรยากาศที่เร้าใจจากดีเจชาวเกาหลี 

สงกรานต์ของชาวอินเดียนำเสนอ“เทศกาลโฮลี”สนุกสนานตามประเพณีของอินเดียที่ใช้ผงสี แสดงถึงมิตรภาพ พร้อมการแสดงดนตรี การเต้นร้อนแรงของสาวอินเดียในสไตล์ Bollywood นอกจากนี้ ยังมีจุดให้ผู้ร่วมงานได้เข้าสักการะพระพิฆเนศเพื่อความสำเร็จในชีวิตอีกด้วย 

จีนมีการจัดสงกรานต์เฉลิมฉลองปีใหม่เหมือนบ้านเรา ไม่ต้องไปไกลถึงเมืองเชียงรุ้ง มางานนี้พบกับ “เทศกาลสงกรานต์สิบสองปันนา” พบกับการนำเสนอเครื่องแต่งกายตามประเพณีของชาวไทลื้อ มณฑลยูนนาน จีน     พร้อมรับชมการแสดงเชิงวัฒนธรรมฟ้อนรำ เพื่อทำพิธีขอน้ำ ขอฝน จากเทวดา ฟ้าดิน  มีการสาดน้ำสนุกสนาน คึกคักไม่แพ้บ้านเรา

ญี่ปุ่นชวนต้อนรับสิ่งดีๆ ในเทศกาลสงกรานต์ กับ“เทศกาล เซ็ตซึบุน”มาเรียนรู้ธรรมเนียมปาถั่วปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย และขอพรให้มีสุขภาพที่ดี เป็นธรรมเนียมต้อนรับปีใหม่แบบโบราณ วิธีการจะโปรยถั่วใส่ยักษ์ หลังปาถั่วแล้ว จะกินถั่วพร้อมอธิษฐานขอพรให้สุขภาพแข็งแรงไม่มีโรคร้ายมาเยือน  ใครอยากรู้จักเทศกาลเซ็ตซึบุนมากันได้

ตลอดการจัดงานเพิ่มบรรยากาศแห่งความสนุกแบบ NON-STOP ไปกับกิจกรรม SPLASH ความสนุกบนเวที พบกับศิลปินนักร้องดีเจชาวไทย และชาวต่างชาติ เช่น ศิลปิน โจอี้บอย, อ๊อฟ ปองศักดิ์, วง LAZ1, วง No One Else, ซานิ, วง Yes Indeed, ดีเจจากประเทศเกาหลี อินเดีย ญี่ปุ่น และจีน  การแสดงวัฒนธรรมนานาชาติ พร้อมจัดเต็มด้วย WATERBOMB และอุโมงค์น้ำตลอด 3 วันจัดงาน

ชุ่มฉ่ำกับการสาดน้ำ สาดสี สาดโคลน ปาถั่วแล้ว ท้องหิวพากันไปโซน AMAZING FOODนำบูธอาหาร และ Food Truck เติมความอร่อยแบบนานาชาติ ทั้งเกาหลี ญี่ปุ่น จีน อินเดีย และไทย รวมกว่า 30 ร้านค้า อิ่มเอมกับวัฒนธรรมอาหารของประเทศต่างๆ สำหรับใครที่ไม่มีแพลนไปฉลองสงกรานต์ต่างจังหวัด ชวนกันไปสาดความสุขแบบอินเตอร์กันได้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เซเว่นฯ เปิดตัว แสตมป์เสน่ห์ไทย ให้ลูกค้าสะสม

เซเว่นฯ จับมือ ททท. สร้างปรากฎการณ์ “แสตมป์เสน่ห์ไทย ใครๆ…ก็หลงรัก” ผ่านแคมเปญสุดจึ้งแห่งปีโดยมี “โดราเอมอน” มาสร้างความสนุก ผสมผสานความเป็นไทยครั้งแรก!!! จัดใหญ่ทั่วไทย…แจกใหญ่ทั่วถึงสะสมได้ทั้งรูปแบบดวงแสตมป์ และ M-Stamp บน 7 App ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม ถึง 15 ธันวาคม 2567

ททท. กางแผนปี 68 ดึงต่างชาติเที่ยวทะลุ 40 ล้านคน สร้างรายได้ 3.4 ล้านล้าน

ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวในงานประชุมบูรณาการแผนปฏิบัติการ ททท. ปี 2568 (Tourism Authority of Thailand Action Plan 2025 : TATAP 2025) ว่า ททท.ตั้งเป้าหมายในปี 2568 สร้างรายได้รวมเพิ่มจากที่ทำได้ในปี 2567 ไปอีก 7.5%