เตรียมตัวไว้!!! ปลัดสธ.เผย'ชลบุรี-บางนา' ส่อร้อนถึง 49 – 50 องศาฯ เสี่ยงเกิดฮีทสโตรก /25 จังหวัด รังสียูวีพุ่งสูงจัด เสี่ยงทำผิวหนังเกรียม ทำลายDNA

5 เม.ย. 2566- นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงฤดูร้อน ทำให้กลางวันมีสภาพอากาศร้อนจัดซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้ง เป็นต้น เนื่องจากร่างกายจะขับความร้อนออกมาทางเหงื่อ ทำให้สูญเสียน้ำและเกลือแร่จำนวนมาก เกิดอาการเพลียแดด หรืออาจรุนแรงถึงขั้นเป็นโรคลมแดดหรือฮีทสโตรกได้ โดยการวินิจฉัยว่าเป็นโรคฮีทสโตรกจะดูจาก 1.มีอุณหภูมิร่างกายสูง 40.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป 2.มีอาการผิดปกติทางสมอง เช่น สับสน เพ้อ เวียนศีรษะ ตอบสนองช้า หรือชัก และ 3.อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอากาศร้อน ซึ่งอาการจะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปและใช้ระยะเวลาจนเกิดอาการผิดปกติ ส่วนใหญ่การเสียชีวิตมักจะมีปัจจัยร่วมกับโรคอื่นๆ ด้วย เช่น โรคหัวใจหรือภาวะความดันโลหิตสูง

นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า จากข้อมูลพยากรณ์ค่าดัชนีความร้อนสูงสุด ของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า วันที่ 5 เมษายน 2566 ภาคเหนือ ที่ จ.ตาก 41 องศาเซลเซียส, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ศรีสะเกษ 38.4 องศาเซลเซียส, ภาคกลาง เขตบางนา กทม. 45.5 องศาเซลเซียส, ภาคตะวันออก จ.ชลบุรี 45.8 องศาเซลเซียส และภาคใต้ จ.พังงา 43.3 องศาเซลเซียส ส่วนวันที่ 6 เมษายน 2566 ภาคเหนือ จ.เพชรบูรณ์ 40.6 องศาเซลเซียส, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ศรีสะเกษ 41.5 องศาเซลเซียส, ภาคกลาง เขตบางนา กทม. 50.2 องศาเซลเซียส, ภาคตะวันออก ที่แหลมฉบัง จ.ชลบุรี 49.4 องศาเซลเซียส และภาคใต้ จ.ภูเก็ต 47.9 องศาเซลเซียส ซึ่งสภาพอากาศที่ร้อนเกิน 41 องศาเซลเซียส จัดอยู่ในระดับอันตราย อาจทำให้มีอาการตะคริวที่น่อง ต้นขา หน้าท้อง หรือไหล่ ทำให้ปวดเกร็ง มีอาการเพลียแดด และอาจเกิดภาวะฮีทสโตรกได้ ดังนั้น ขอให้ดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ ไม่ต้องรอให้กระหายน้ำ หลีกเลี่ยงชา กาแฟ น้ำอัดลม และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หากต้องทำงานกลางแจ้งควรทำงานเป็นกลุ่ม และเมื่อเกิดอาการผิดปกติ เช่น หน้ามืด เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ หายใจเร็ว ให้รีบแจ้งบุคคลที่อยู่ใกล้เพื่อช่วยปฐมพยาบาลทันที

นพ.โอภาสกล่าวอีกว่า นอกจากอุณหภูมิที่ร้อนจัด อีกเรื่องที่ต้องระมัดระวังคือ รังสีอัลตราไวโอเลต (ยูวี) จากข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่า ช่วงวันที่ 3-9 เมษายน 2566 กรณีท้องฟ้าโปร่งเวลา 12.00 น. มี 25 จังหวัดที่มีค่าดัชนียูวีอยู่ในระดับสูงจัด (มากกว่า 11 ขึ้นไป) ซึ่งจะทำให้เกิดผิวหนังเกรียมแดด (Sun Burn) ส่งผลเสียต่อดวงตาได้ในเวลาไม่กี่นาที และระยะยาวจะทำลาย DNA ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน ลำปาง หนองคาย สกลนคร ขอนแก่น อุบลราชธานี บุรีรัมย์ นครราชสีมา กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ กาญจนบุรี มีค่าดัชนียูวี 11, กทม. จันทบุรี ชลบุรี มีค่าดัชนียูวี 12 และตราด ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ภูเก็ต สงขลา และนราธิวาส มีค่าดัชนียูวี 13 จึงขอให้หลีกเลี่ยงการออกแดดโดยเฉพาะช่วงเวลา 09.00-15.00 น. หากจำเป็นควรใช้เวลาให้น้อยที่สุด สวมเสื้อผ้าสีอ่อน ระบายความร้อนได้ดี สวมหมวกปีกกว้าง แว่นกันแดด และทาครีมกันแดด

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอยง' ชี้สถานการณ์โควิดเปลี่ยนตามกาลเวลา ปีนี้ยุติแล้ว แต่ไวรัสยังอยู่ต่อไป

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า 5 ปี โควิด 19 กาลเวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน

'สมศักดิ์' ดึง สสส. ช่วย 'นับคาร์บ' ชวนคนไทยลดโรค NCDs ต้นเหตุคร่าชีวิตคนไทยชั่วโมงละ 45 คน ผจก.สสส.เดินหน้าพัฒนาฐานข้อมูลเชื่อมท้องถิ่นลดเสี่ยง

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุน สสส. คนที่ 1 กล่าวในการเป็นประธานประชุมกรรมการกองทุนฯ ครั้งที่ 8/2567 ว่า จากข้อมูลพบว่ามีผู้เสียชีวิตจาก NCDs 400,000 คนต่อปี คิดเป็นชั่วโมงละ 45 คน