"ขอโทษครับ ขอทางหน่อย" คือเสียงของหุ่นยนต์ 4 ล้อที่ร้องออกมาขณะหลบคนตามท้องถนนนอกกรุงโตเกียว โดยหุ่นยนต์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในการทดลองบริการของบรรดาธุรกิจต่างๆ ที่หวังว่าจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานและความโดดเดี่ยวในชนบท
ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป กฎหมายจราจรฉบับแก้ไขจะอนุญาตให้หุ่นยนต์ส่งของที่ขับเคลื่อนตัวเอง สามารถเดินทางไปตามท้องถนนทั่วประเทศญี่ปุ่นได้
ผู้นำเสนอกฏหมายดังกล่าวหวังว่าในที่สุดเครื่องจักรจะสามารถช่วยผู้สูงอายุในพื้นที่ชนบทห่างไกลให้สามารถเข้าถึงสินค้าได้ ในขณะเดียวกันก็แก้ปัญหาการขาดแคลนพนักงานจัดส่งในประเทศที่เรื้อรังมานาน
บริษัท ZMP ซึ่งเป็นเจ้าของบริการหุ่นยนต์ส่งของในโตเกียว มั่นใจในศักยภาพของเหล่าหุ่นยนต์ว่าจะสามารถทำงานตามคำสั่งได้เป็นอย่างดี แต่ก็ยังคงกังวลใจด้านความปลอดภัยเพราะธุรกิจนี้ยังถือเป็นเรื่องใหม่ในสังคม และผู้คนอาจจะต้องใช้เวลาปรับตัวกับการที่มีหุ่นยนต์ 4 ล้อวิ่งไปมาทั่วเมือง
อย่างไรก็ตาม หุ่นยนต์ส่งของทั้งหมดจะไม่ทำงานโดยลำพัง แต่จะมีเจ้าหน้าที่คอยเฝ้าติดตามจากระยะไกลและสามารถแทรกแซงการปฏิบัติงานได้ในสภาวะฉุกเฉิน แต่สิ่งสำคัญคือหุ่นยนต์เหล่านี้ต้องมีความน่ารักและอ่อนน้อมถ่อมตนเพื่อสร้างความประทับใจและได้รับความเมตตากลับมา ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในระหว่างการทำงาน
หุ่นยนต์ส่งของเหล่านี้มีชื่อเรียกว่า "เดลิโร (DeliRo)" มีรูปร่างเป็นเอกลักษณ์ มีดวงตาที่กลมโตและสามารถสื่ออารมณ์ด้วยการร้องไห้ได้ หากโดนกีดขวางทางขณะวิ่งปฏิบัติงาน
ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีประชากรอายุมากที่สุดในโลก โดยเกือบ 30% มีอายุมากกว่า 65 ปี หลายคนอาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทห่างไกลซึ่งไม่สามารถเข้าถึงสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันได้ง่าย
อีกทั้งการขาดแคลนแรงงานในเมือง รวมไปถึงกฎหมายแรงงานฉบับใหม่ที่จำกัดการทำงานล่วงเวลาสำหรับคนขับรถบรรทุก ทำให้ธุรกิจต่างๆ ยากที่จะรับมือกับความต้องการด้านอีคอมเมิร์ซและการจัดส่งอย่างรวดเร็วตามยุคสมัย
บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่อย่างพานาโซนิคเองก็เล็งเห็นว่าการขาดแคลนคนงานในภาคการขนส่งจะเป็นความท้าทายใหญ่ในอนาคต จึงได้เริ่มทดลองใช้หุ่นยนต์ส่งของในโตเกียวและเมืองฟูจิซาวะที่อยู่ใกล้เคียง
หุ่นยนต์ส่งของในรูปแบบเดียวกันนี้ มีการใช้งานแล้วในประเทศต่างๆ เช่น สหราชอาณาจักรและจีน แต่ในญี่ปุ่นยังต้องพัฒนาอีกหลายด้านในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะความเสียหายของหุ่นยนต์ที่ถูกชนขณะวิ่งส่งของ ไปจนถึงการถูกโจรกรรมสินค้าที่จัดส่ง
ข้อบังคับตามกฏหมายจราจรฉบับแก้ไข กำหนดความเร็วสูงสุดของหุ่นยนต์ส่งของไว้ที่ 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หมายความว่าโอกาสที่จะได้รับบาดเจ็บรุนแรงในกรณีที่เกิดการชนกันนั้นค่อนข้างน้อย แต่ถ้าหุ่นยนต์เคลื่อนออกจากทางเท้าและชนเข้ากับรถยนต์เนื่องจากความคลาดเคลื่อนระหว่างข้อมูลตำแหน่งที่ติดตั้งไว้ล่วงหน้ากับสภาพแวดล้อมจริง จะส่งผลลัพธ์ในทางเสียหายและกลายเป็นปัญหาใหญ่ทันที
โดยพื้นฐาน หุ่นยนต์ถูกพัฒนาให้สามารถตัดสินใจได้โดยอัตโนมัติว่าเมื่อใดควรเลี้ยว ตลอดจนสามารถตรวจจับสิ่งกีดขวาง เช่น การก่อสร้างและจักรยานที่ใกล้เข้ามา และทำการหยุดเคลื่อนไหวเองได้ ในอีกด้าน เจ้าหน้าที่ควบคุมจะคอยเฝ้าติดตามหุ่นยนต์ผ่านกล้องพร้อมๆ กัน และจะได้รับการแจ้งเตือนโดยอัตโนมัติเมื่อใดก็ตามที่หุ่นยนต์หมดพลังงานหรือถูกหยุดโดยสิ่งกีดขวาง
จนถึงตอนนี้ การทดสอบหุ่นยนต์ส่งของมีตั้งแต่การส่งยาและอาหารให้กับชาวเมืองฟูจิซาวะ ไปจนถึงการเร่ขายอาหารในโตเกียวด้วยคำพูดน่ารักๆ เช่น "อากาศหนาวอีกแล้วนะ รับเครื่องดื่มร้อนๆ สักแก้วไหม"
ทางการญี่ปุ่นเชื่อว่าการใช้หุ่นยนต์ส่งของบนท้องถนนจะเป็นกระบวนการแบบค่อยเป็นค่อยไปและจะไม่ส่งผลต่อการแย่งงานของมนุษย์ในเวลาอันใกล้นี้ และการนำหุ่นยนต์ออกไปปรับใช้ในพื้นที่ชนบทที่มีประชากรเบาบางก่อน จะเป็นการเริ่มต้นที่เหมาะสมที่สุด แล้วค่อยพัฒนาต่อยอดไปเป็นบริการเชิงพาณิชย์มากขึ้นในเขตเมืองใหญ่เพื่อตอบสนองด้านสินค้าให้มีประสิทธิภาพทดแทนการขาดหายไปของแรงงานมนุษย์นั่นเอง.
# สนับสนุนภาพประกอบและวีดีโอโดย AFP #
--------------------------------------------------------------------------
กด Subscribe & กดกระดิ่ง ได้ที่ / https://www.youtube.com/@ThaipostTV
--------------------------------------------------------------------------
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมของไทยโพสต์ได้ทุกช่องทางที่
Website : https://www.thaipost.net/
Youtube : https://www.youtube.com/c/ThaipostTV
TikTok : https://www.tiktok.com/@thaiposttk
Facebook : https://www.facebook.com/thaipost
Twitter : https://twitter.com/thaipost
Instagram : https://www.instagram.com/thaipost_ig/
Line : https://lin.ee/ukteb32
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นรกขุม 14 | ห้องข่าวไทยโพสต์สุดสัปดาห์
นรกขุม 14 | ห้องข่าวไทยโพสต์สุดสัปดาห์
2 สว. 'พิสิษฐ์-ชาญวิศว์' ปักธงพิทักษ์ รธน. ปกป้องสถาบันฯ I อิสรภาพแห่งความคิด กับ..สำราญ รอดเพชร
อิสรภาพแห่งความคิด กับ..สำราญ รอดเพชร : วันเสาร์ที่ 21 ธันวาคม 2567
เรื่องนี้ 'ทักษิณ' ต้องอ่าน
ใครไม่อ่านวันนี้ ห้ามคุยเป็นแฟนคลับ "เปลว สีเงิน! เนื้อหาทั้งหมด นำมาจาก The room 44 ประทับใจหาดูได้ในช่องยูทูบ
'ให้มันรู้ไปว่าเหนือกรรม'
เข็มยาว "นาฬิกากรรม" กระดิกไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน เข็มสั้น "นาฬิกาเวร" บนข้อมือทักษิณ ริกๆ รออยู่ "แดน ๔" พื้นที่คุมขังและเรือนนอนของผู้ต้องขังชาย!
“พิพัฒน์” เยือนญี่ปุ่น ถกรัฐมนตรีแรงงาน นายจ้างญี่ปุ่นต้องการแรงงานทักษะ16 สาขา 820,000คน ที่แรกกรุงโตเกียว
วันที่ 19 ธันวาคม 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ผู้บริหารกระทรวงแรงงานเข้าพบเข้าพบ Mr. Takamaro FUKUOKA
สัประยุทธ์ 'ธรรมะ-อธรรม'
"กฎหมาย" มีไว้สร้างสมดุลทาง "สังคมเป็นธรรม" แต่ทุกวันนี้ คนใน "๓ สถาบันอำนาจ" คือ อำนาจนิติบัญญัติ, อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ "บางคน"